[เล่มที่ 7 ของปี 2017]
Paul Auster: เขียน
นาลันทา คุปต์: แปล
สำนักพิมพ์กำมะหยี่
“ชายคนหนึ่งตายจากระเบิดของตัวเองข้างถนนทางตอนเหนือของรัฐวิสคอนซิน ไม่มีพยานรู้เห็น
แต่ดูเหมือนเขานั่งอยู่บนพื้นหญ้าข้างรถที่จอดอยู่ตอนระเบิดที่กำลังประกอบเกิดระเบิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ
ตามที่ระบุในรายงานการชันสูตรซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ ชายคนนั้นเสียชีวิตในทันที ร่างแหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
บางชิ้นส่วนของร่างกายถูกพบห่างจากจุดระเบิดถึงห้าสิบฟุต...”
นี่เป็นข้อความแรกในบทแรกของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งถ้าใครที่ผ่านมาเจอหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือแล้วอ่านเพียงแค่นี้ และเลือกที่จะไม่ซื้อกลับไปอ่านต่อที่บ้านก็คงคิดว่าวรรณกรรมฉบับนี้เป็นวรรณกรรมประเภทสืบสวนสอบสวนหรือฆาตรกรรมอะไรทำเทือกนี้แน่ๆ ตอนแรกนี่ก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน และแค่ข้อความแค่นี้แหละเว่ยที่ทำให้เราตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพียงเพราะเข้าใจผิดว่ามันคือหนังสือสืบสวนสอบสวน! แต่พอได้เริ่มอ่านไปซักพักก็เริ่มตะงิดๆ เบาๆว่าทำไมมันปูเรื่องยืดยาวอะไรอย่างนี้ เมื่อไหร่จะเข้าประเด็นซักที อ่านไปเรื่อยๆยิ่งหงุดหงิดว่ามันคือสืบสวนสอบสวนจริงๆมั้ยวะ? เลยเปิดไปเจอคำนิยมของ Time Literary Supplement
“พอล ออสเตอร์ เป็นคนที่หาตัวจับยาก เป็นนักเขียนแนวทดลองที่มีผลงานที่ดึงดูดใจและอ่านรู้เรื่อง”
เราสะดุดคำว่า “นักเขียนแนวทดลอง” แล้วพยายามทำความเข้าใจกับคำนี้ว่ามันหมายความว่ายังไง ยอมรับว่าเพิ่งจะตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะอ่านหนังสือให้เยอะขึ้นในปี 2017 นี้ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเยอะมากจนทำให้รู้จักคำนี้ แล้วก็งงว่าหนังสือแนวทดลอง นี่คืออะไร แต่สุดท้ายก็เลิกวอแวกับจุดนี้แล้วตั้งใจอ่านต่อไปจนจบ พอจบแล้วก็รู้สึกประทับใจกับวิธีการเขียนของพอล ออสเตอร์นะ เล่าเรื่องได้แปลกดีจนเรากลับมามองไอ้คำว่า “นักเขียนแนวทดลอง” อีกครั้งนึง เลยลองไปเสิร์ชหาดูว่ามันคืออะไร แต่ก็ไม่เจออะไรมากนัก เลยนึกขึ้นได้ว่ามีเพื่อนเรียนวารสาร เลยลองไปถามมัน ก็ได้คำตอบว่า งานเขียนแนวทดลอง คือ งานเขียนที่เน้นความคิดสร้างสร้าง ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นงานเขียนประเภทไหนชัดเจน มันเป็นงานที่ออกจากกรอบงานเขียนทั่วไป เราก็เลยอ๋อในส่วนของการเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้ทันที เพราะไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อนจริงๆ เจ๋งดี
เนื้อเรื่องเล่าด้วยภาษาที่ค่อยข้างยากต่อการตีความ เป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่านแล้วรู้เลยว่าหนังสือที่อ่านยากมันเป็นยังไงบวกกับเป็นคนอ่านหนังสือช้า ชอบอ่านซ้ำไปมาเพื่อตีความให้เข้าใจก่อนข้ามไปอ่านประโยคถัดไป
เรื่องนี้เล่าถึงการตายของชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า เบนจามิน แซคส์ ซึ่งตายด้วยสาเหตุที่ตัวเองสร้างขึ้นเอง นั่นก็คือระเบิดที่กำลังประกอบขึ้นเองเกิดระเบิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เบนเป็นเพื่อนสนิทของตัวละครหลักอีกคนก็คือ ปีเตอร์ อารอน และหนังสือก็เล่าเรื่องด้วยการใช้มุมมองของของปีเตอร์นี่แหละเป็นตัวเดินเรื่อง เนื้อเรื่องไม่ใช่แนวสืบสวนสอบสวนอย่างไม่เฉียดเลยแม้แต่น้อย พออ่านไปประมาณเกือบครึ่งเล่มก็เริ่มเข้าใจแล้วว่ากำลังจะสื่ออะไรต่อผู้อ่าน ทั้งปีเตอร์ และเบนล้วนมีอาชีพเป็นนักเขียนทั้งคู่ พอล ออสเตอร์เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาโดยมีคอนเซปท์ คือ เป็นหนังสือที่ปีเตอร์ อารอนเป็นคนเขียนขึ้นในเรื่องนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือพอลสร้างปีเตอร์ขึ้นมาจากจินตนาการเพื่อให้ปีเตอร์เป็นคนเขียนหนังสือที่ชื่อ Leviathan ขึ้นมานั่นเอง แล้วท้ายที่สุดก็ใช้หนังสือเล่มนี้แหละเป็นหลักฐานอธิบายความเชื่อมโยงทั้งหมดของเรื่องต่อการตายของเบนจามิน แซคส์ ซึ่งปีเตอร์ยื่นให้ FBI คนหนึ่งในตอนจบของเล่ม
หนังสือใช้ปีเตอร์เป็นตัวเล่าเรื่องว่าเจอกับเบนยังไง เล่าถึงความสัมพันธ์ของกัน เล่าถึงตัวละครอีก 3 ตัวที่มีอิทธิพลมากๆ ต่อการตายของเบน และที่น่าสนใจมากๆ สำหรับเรา คือวรรณกรรมเล่มนี้พิเศษตรงที่หยิบเอาบรรยากาศสถานการณ์จริงในประวัติศาสตร์อเมริกาในช่วงยุคทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นยุคสงครามเย็นมาใช้สร้างประเด็นให้กับเรื่อง แต่ไม่ได้ใช้เป็นแกนหลักของการเล่าเรื่อง แต่ก็นับว่าเป็นหนึ่งเหตุผลหลักของการตายของเบนเหมือนกัน
สถานการณ์อเมริกาในตอนนั้นคือยุคของโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของอเมริกา คือช่วงยุคที่นักการเมืองฝ่ายขวากำลังขาขึ้น แล้วฝ่ายซ้ายก็แทบจะหายไปหมด พรรคเดโมแครตพังทลาย และเบนก็เป็นตัวละครที่สนับสนุนฝ่ายซ้าย โดยเนื้อเรื่องปูอดีตของเบนได้ดีมากๆ เบนเป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเองตั้งแต่เด็ก มีความเชื่อเป็นของตัวเอง และฉายแววหัวการเมืองมาตั้งแต่วัยรุ่น เบนเคยติดคุกเพราะไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ทั้งที่หนีได้ แต่เลือกที่จะไม่หนีและแสดงจุดยืนต่อต้านจนโดนจับเข้าคุก และที่สุดคือเห็นได้จากประโยคนึงที่ผมชอบมากในหนังสือเล่มนี้ และผมยกให้เป็นประโยคเด็ดของเรื่องเลย รวมทั้งยังเป็นบทสรุปทั้งหมดของการตายของเบนที่เตือนใจคนอ่านอย่างเราไว้ได้ดีมากในยุคที่การเมืองกำลังระส่ำระสายแบบนี้ ก่อนจะถึงประโยคนั้น เรื่องปูให้เบนนึกย้อนไปยังอดีตของตัวเองในวัย 7 ขวบ เขาไปเที่ยวอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพกับแม่ และกำลังจะขึ้นไปบนยอดคบเพลิง โดยที่ทางขึ้นเป็นบันไดเวียนที่ไม่มีราวกั้นบันได แม่ของเบนขึ้นไม่ไหวเพราะกลัวจะตกบันได หลังจากที่เบนนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เขาเลยหันไปพูดกับแม่ ภรรยา และปีเตอร์ว่า
"นั่นเป็นบทเรียนทฤษฎีการเมืองบทแรกของผม" แซคส์ละสายตาจากแม่มามองแฟนนี่กับผม "ผมได้เรียนรู้ว่าเสรีภาพอาจมีอันตราย ถ้าไม่ระวังให้ดี มันก็จะฆ่าเรา"
ถ้าได้อ่านจนจบ ผู้อ่านจะเข้าใจถึงความหมายแฝงในจุดจบของเบนกับประโยคนี้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
เราขอเล่าถึงเหตุผลการตายของเบนเลยละกัน เพื่อให้กระจ่างว่าทำไมเราถึงยกประโยคนี้ขึ้นมา คือ ก่อนหน้านั้นเบนเป็นนักเขียนที่กำลังรุ่ง แต่เมื่อถึงยุคของเรแกน ทุกอย่างก็ค่อยๆ ดาวน์ลงอย่างน่าตกใจ อาชีพนักเขียนของเบนเริ่มสั่นคลอน เพราะหนึ่งในงานหลักของเบนคืองานเขียนที่อิงการเมือง วันขึ้นปีใหม่ครั้งนึง เบนประสบอุบัติเหตุที่ทุกคนคาดว่าเขาน่าจะตายแต่กลับรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ แต่ก็ต้องอยู่โรงพยาบาลหลายสัปดาห์ แล้วหลังเหตุการณ์นั้นเบนก็เปลี่ยนไปเป็นคนล่ะคน ไม่พูดไม่จา เงียบใส่ทุกคนจนคนอื่นคิดว่าเขามีปัญหาที่สมองส่วนที่ควบคุมการพูด แต่ไม่ใช่เลย ปรากฎว่าเป็นเพราะเบนรู้สึกผิดบาปต่อตัวเองและต่อภรรยา เขาคิดว่าเขาทรยศต่อความเชื่อของตัวเองและทรยศต่อภรรยาในช่วงเวลาก่อนเกิดอุบัติเหตุแว้บเดียว และคิดว่าสมควรแล้วที่ตัวเองจะต้องรับโทษนี้ เหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้วเบนไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน แต่มันคือการผลิออกของตัวตนที่แท้จริงของเบนว่าเป็นคนที่ยึดมั่นในความเชื่อของเขามากแค่ไหน และจะอยู่ไม่ได้เลยถ้าทำผิดต่อมัน
เหตุการณ์ก็ดำเนินมาถึงจุดเริ่มต้นของวีรกรรมสำคัญของเบนจามิน แซคส์ มีอยู่วันหนึ่งเขาตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน และได้ลงมือฆ่าชายคนนึงไปเพราะป้องกันตัวเอง แล้วเขาก็พบเงินจำนวนมากในรถของชายคนนั้น แล้วยังพบอีกว่าชายคนนั้นเป็นสามีเก่าของเมียใหม่ตัวเอง เขารู้สึกผิดมหันต์ แต่ในที่สุดเขาก็พบว่าชายคนนี้มีแนวคิดเดียวกันกับเขา มีความเชื่อเดียวกัน และสนับสนุนการเมืองฝ่ายเดียวกัน ประเด็นนี้จุดไฟในตัวเบนให้ลุกฮือขึ้นอีกครั้ง เขาตั้งปณิธานไว้ว่าจะชำระล้างความผิดของตัวเอง ด้วยการใช้เงินของชายคนนี้ทำให้เป้าหมายของทั้งเขาและชายคนนี้เป็นจริง คือ การตอบโต้สถานการณ์การเมืองในตอนนั้น เบนแต่งตั้งตัวเองเป็น ปีศาจเสรีภาพ และลงมืืออย่างลับๆ ด้วยตัวคนเดียว ตระเวนไปทั่วประเทศที่มีรูปปั้นเทพีเสรีภาพจำลอง แล้วจัดการระเบิดรูปปั้นพวกนั้น แล้วทิ้งข้อความประกาศจุดยืนของตัวเอง พูดแทนคนมากมายที่รู้สึกแบบเดียวกันถึงสถานการณ์การเมืองในยุคโรนัลด์ เรแกน
และแล้วภาระกิจสุดท้ายของปีศาจเสรีภาพก็จบลงไปพร้อมกับการตายของตัวปีศาจเองในขณะกำลังทำภาระกิจ จุดจบของเบนจามิน แซคส์ บอกอะไรถึงผู้อ่าน? เราขอให้ย้อนกลับขึ้นไปอ่านข้อความที่เรายกมา และยังมาจากปากของเบนเองอีกด้วย บทสรุปก็คือ ตัวเบนเองนั่นแหละที่ประมาทกับเสรีภาพ จนถูกมันฆ่าเอาในที่สุด
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สนุกอะไรมากมาย ออกจะเครียดๆ ด้วยซ้ำไป แต่เราชอบวิธีการเล่าเรื่อง การไม่ยัดตัวละครเข้าไปเยอะๆ การปูตัวละครที่น่าสนใจ และทุกตัวล้วนมีผลกระทบต่อกันทั้งสิ้น แล้วเรื่องนี้ให้ข้อคิดเยอะมากจริงๆ เราขีดเส้นใต้ประโยคที่ชอบไว้เยอะมาก เช่น
"ประชาธิปไตยไม่ใช่ของที่ให้กันได้ แต่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาอยู่ทุกวัน มิฉะนั้นก็อาจสูญเสียไป"
"หากทอดทิ้งเด็ก ก็เท่ากับเราทำลายตัวเอง เราดำรงอยู่ในปัจจุบันได้เพียงเท่าที่เรามีศรัทธาในอนาคตเท่านั้น"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in