“Somebody’s gotta get off, so the rest of us can live.”
ใครสักคนต้องออกไปเพื่อที่ว่าพวกเราทั้งหมดจะได้รอด
ในช่วงเวลาที่ต้องรอด เราควรจะเสียสละหนึ่งชีวิตเพื่อรักษาชีวิตของคนหมู่มากไว้หรือไม่ ?
ฉากหนึ่งชีวิตแลกหลายชีวิตใน Dunkirk นำคำถามคลาสสิคทางปรัชญาที่หลายๆคนอาจจรู้จักในชื่อ The trolley problem มาเรียบเรียงใหม่ ขอเล่าก่อนว่า The trolley problem เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ว่า มีรถไฟกำลังวิ่งมาบนราง ถ้าปล่อยให้ว่ิ่งต่อไปรถไฟจะชนกลุ่มคนหลายคนที่ถูกผูกติดไว้กับรางรถไฟ แต่เรามีสิทธ์สับรางรถไฟได้ ถ้าสับแล้วรถไฟจะว่ิ่งไปอีกรางที่มีผู้ชายคนเดียวถูกผูกติดไว้ คำถามคือ เราจะสับรางเพื่อฆ่าหนึ่งชีวิตและรักษาอีกหลายชีวิตไว้หรือไม่
ในทางปรัชญาคำตอบของ The Trolley problem นั้นไม่มีถูกมีผิดค่ะ นักปรัชญาเองก็เเบ่งเป็นหลายฝ่ายและทุกฝ่ายก็มีเหตุผลดีๆมารองรับคำตอบของตัวเองทั้งนั้น นักปรัชญาอย่าง Mill หรือ Benthem ที่เชื่อใน Utilitarianism (ประโยชน์นิยม) บอกว่าการรักษาชีวิตคนหลายคนยอมดีกว่าการรักษาชีวิตคนคนเดียว ดังนั้นเราควรสับรางเพื่อรักษาชีวิตคนหมู่มากไว้
แต่มันก็เหมือนที่ Tommy (แสดงโดย Fionn Whitehead) ตะโกนเถียง Alex ในหนังว่า it is not fair !
ความ Fair ของ Tommy คือ ทุกคนบนเรือล้วนแต่เป็นทหารร่วมรบเหมือนกัน เป็นมนุษย์เหมือนๆกัน ทุกคนควรมีสิทธิ์จะอยู่รอดบนเรือลำนี้ ไม่มีใครควรเสียสละ แม้ว่าทหารที่ Alex มองว่าสมควรตายเพื่อช่วยทุกคนจะเป็นทหารฝรั่งเศส (แสดงโดย Aneurin Barnard)ที่แฝงตัวเข้ามาก็ตาม ซึ่งคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมและควรได้รับการยอมรับอย่างแฟร์ๆของ Tommy ก็คล้ายคลึงกับปรัชญาของ Kant นักปรัชญาเยอรมันที่ปรัชญาของเขาเน้นที่คุณค่าของมนุษย์ มากกว่าผลลัพธ์ว่าจะรักษาชีวิตไว้ได้กี่ชีวิต เรียกว่าแบบว่า Alex ก็แฟร์ แบบ Tommy เออ แล้วจะเอายังไงดี ?
บทโต้เถียงเกรี้ยวกราดระหว่าง Tommy และ Alex ฟังเพลินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ตอนดูหนังเรานี่นั่งลุ้นมากกว่าใครจะชนะ เหมือนหนังกำลังถามคนดูว่า ความแฟร์ของคุณคืออะไร คือการรักษาคนหมู่มาก หรือ การที่ทุกคนควรมีโอกาสรอดเท่าๆกัน ? ตอนกำลังลุ้น Nolan ก็ให้คำตอบที่ต่างออกไปกับคนดู นั่นคือน้ำที่ท่วมเข้ามาในท้องเรือ ทำให้ทุกคนเลิกเถียงและต่างพยายามเอาชีวิตรอดในที่สุด
ตอนแรกเราเเอบเสียใจที่หนังไม่ได้เลือกไปตรงๆว่าจะฆ่าไม่ฆ่า แต่พอกลับมานั่งคิดน้ำที่ท่วมเข้ามาดูจะเป็นคำตอบที่ตรงกับชีวิตดี เพราะในชีวิตจริงๆ (และในสงคราม) เราคงไม่มีเวลามานั่งเถียงว่าอะไรแฟร์ที่สุด ในหนัง Alex ก็ขู่ Tommy กลับว่าถ้าพูดมากก็ออกจากเรือไปเองเลย ซึ่ง Tommy เองก็มีอาการลังเล พูดไม่ออก ในชีวิตและสงคราม ถ้าอยากจะมีชีวิตรอดแน่นอนว่าเราไม่มีเวลามานั่งลังเล เพราะถ้าเราลังเล เลือกไม่ถูก มั่วแต่มานั่งคิดว่าอะไรแฟร์ไม่แฟร์ โลกก็จะเลือกให้เราเอง เหมือนกับสายน้ำที่ท่วมเข้ามาและทำให้ ทหารฝรั่งเศสคนนั้นตายไปในเรือ
ซีนนี้เป็นซีนที่สรุปคำพูดหัวร้อนของ Alex ที่ว่า Suvivial is not fair ได้อย่างดี เพื่อเอาชีวิตรอด บางครั้งมันก็ไม่มีคำว่าแฟร์หรือไม่แฟร์ ก็ต้องแค่เอาชีวิตรอด
ความประทับใจอย่างที่สองคือการที่ Nolan เล่นกับค่านิยมต่อผู้ป่วยทางจิตผ่านการเดินทางบนเรือของกัปตัน Dawson (แสดงโดย Mark Rylance) ที่ช่วยนายทหารตัวสั่นๆ (แสดงโดย Cillian Murphy) ขึ้นมาบนเรือ เริ่มฉากกัปตันก็บอกจอร์จ (แสดงโดย Barry Keoghan) ก่อนเลยว่า
He’s shell-shocked. He’s not himself. He may never be himself again.
(เขาโดนแชลช็อก เขาไม่ใช่ตัวเอง บางทีเขาอาจะไม่ได้เป็นตัวเองอีกต่อไป)
[ เผื่อใครไม่รู้นะคะ Shell shock คืออาการทางจิตที่เกิดมากในหมู่ทหารที่ผ่านสงครามค่ะ เจอระเบิดเสียงดัง เจอสงครามแล้วทำให้เกิดอาการแพนนิค ตื่นตกใจและหวาดกลัว ปัจจุบันนี้อาการ shell shock รู้จักกันภายใต้ชื่อโรค post traumatic stress disorder (PTSD) ค่ะ ]
แม้ว่ากัปตันจะพูดดี แต่ความพีคของประเด็นนี้อยู่ที่ Charecter development ของปีเตอร์ (แสดงโดย Tom Glynn-Carney ) ที่มีต่อนายทหารคนนั้นค่ะ
เริ่มต้นจากตอนแรกที่ปีเตอร์ พาทหารคนนั้นไปพักในห้องเก็บของตามคำสั่งของกัปตัน จะเห็นว่ากล้องในหนังฉายที่กลอนประตูและความลังเลใจของปีเตอร์ว่าควรจะล็อกห้องขังทหารคนนี้ไว้รึเปล่า ซึ่งคนดูก็ลุ้นไปกับปีเตอร์ว่าจะล็อกไม่ล็อก ทหารคนนี้ก็ดูเป็นตัวปัญหากวนแต่จะให้หมุนเรือกลับอังกฤษ สุดท้ายปีเตอร์ก็ล็อคประตูขังไว้เป็นการตัดปัญหาในที่สุด
สิ่งที่ซ่อนอยู่ในฉากนี้คือการรักษาผู้ป่วยทางจิตในสมัยก่อนที่ทำการรักษาโดยการขังคนที่ป่วยทางจิตแยกไว้จากคนปกติ กีดกันไม่ให้มาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นจะได้ไม่สร้างปัญหา ซึ่งวิธีการักษาแบบนี้เป็นที่วิจารณ์กันมากในโลกตะวันตกมาเนิ่นนานแล้วค่ะ ในปัจจุบันค่านิยมต่อผู้ป่วยทางจิตก็ยังคงเป็นการแยกพวกเขาออกจากคนอื่น คิดว่าพวกเขาแปลกแยก สร้างปัญหา และควรขังแยกไว้คนเดียว ซึ่ง Nolan ก็ใส่ค่านิยมตรงนี้ผ่านตัวละครปีเตอร์ได้อย่างดี
หลังจากฉากนี้ กัปตันก็ด่าปีเตอร์เลยว่าขังไว้ทำไม เอาเขาออกมา แต่พอออกมาปุ๊ป ทหารก็สร้างปัญหาด้วยการเผลอทำร้ายจอร์จ เหมือนที่ปีเตอร์อาจจะกลัวๆอยู่ในตอนแรก
หนังแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ถูก shell shocked สร้างปัญหาจริงๆ มีปัญหาจริงๆ ตัวหนังไม่ได้พยายามสร้างความโลกสวยว่าผู้ป่วยจะต้องเป็นคนดี ไม่ทำร้ายใคร แต่ในขณะเดียวกันก็ฉายให้เห็นว่าหลังจากทำร้ายจอร์จแล้ว ทหารคนนั้นก็ซึมเศร้าไปเลย รู้สึกผิดและไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เราย้อนคิดไปถึงคำพูดของกัปตันที่ว่า เขาไม่ใช่ตัวเอง และเขาอาจจะกลับไปเป็นตัวเองไม่ได้อีกแล้ว
สุดท้ายตอนที่พีคมากคือ ฉากหลังจอร์จตายแล้วทหารคนนั้นถามปีเตอร์ว่า เด็กผู้ชายคนนั้นโอเครึเปล่า? ตรงนี้นักแสดงดีมากๆ เพราะพูดแค่ประโยคเดียวแต่รู้สึกเลยว่าเขารู้สึกผิดมากๆ และปีเตอร์ที่เงียบไปก็เป็นฝ่ายโกหกไปว่า เขาโอเค ฉากนี้คือกรี๊ดในใจดังๆ จากปีเตอร์ที่ตอนแรกคือขังทหารคนนั้นไว้ ตอนจบกลับมีdevelopment เปลี่ยนจากความรู้สึกหวาดกลัว ไม่เข้าใจ เป็นการเข้าใจและพร้อมปลอบประโลมทหารคนนั้น แม้ว่าทหารคนนั้นจะเป็นคนทำให้จอร์จต้องตาย
บางทีเมสเสจตรงนี้อาจจะบอกว่า บางคนก็มีชีวิตรอดในแบบที่เขาก็ไม่ชอบ ไม่ได้อยากเป็น แต่เขาก็รอดมาแบบนี้ และบางทีเราควรจะเห็นใจเขามากกว่าจะกีดกันพวกเขาออกไป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in