เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การเมือง เรื่องใกล้ตัวEkk
ความเหลื่อมล้ำ
  • เมื่อกล่าวถึงระบบสาธารณสุขของไทยแบบวิเคราะห์เจาะลึกจะพบว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่หยั่งรากลึกอยู่คู่กับเรามานานมาก ยิ่งมีความพยายามแก้ไขเท่าไหร่ก็เหมือนจะยิ่งยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาเรื่อยๆ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นหมักหมมสะสมมากยิ่งขึ้น แต่ไม่เคยได้แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคนกันอย่างจริงจังเลย




    ผมอยากจะชวนให้มาลองพิจารณาดูระบบสาธารณสุขไทยภายใต้ร่มเงาของระบบสวัสดิการหลักที่มีอยู่สามระบบอันได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เราคุ้นปากกันในชื่อระบบ 30 บาทหรือบัตรทอง
    ระบบประกันสังคม  และ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ครับ

    เพียงการพิจารณาแค่ผิวเผินก็จะเห็นความไม่เท่าเทียมของแต่ละกองทุนแล้ว จากเงินที่ใช้เฉลี่ยต่อหัว
    ระบบ 30 บาท มี 2,592.89 บาท
    ประกันสังคม อยู่ที่ 3,354.80 บาท
    ข้าราชการ ได้ 12,676.06 บาท

    แต่ จากตัวเลขชุดนี้ผมยังไม่อยากให้รีบสรุปกันไปก่อนว่าสิทธิ์ไหนดีกว่ากันนะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าตัวเลขตรงนี้เป็นแค่ข้อมูลผิวเผินเท่านั้น 
    ผมจึงขอชวนให้ทุกท่านมาพิิจารณาแบบเจาะลึกกันครับ
  • บัตรทอง

    จากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ หรือ สปสช. เป็นผู้บริหารจัดการนั้น เงินส่วนหนึ่งจะโดนหักไว้ก่อนทันทีเพื่อเอาไว้สำหรับเป็นเงินเดือนของข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เหลือเท่าไหร่จึงให้ สปสช. จัดการต่อ
    ในตอนนี้ผมจะยังไม่เขียนถึงการจัดสรรเงินที่มีปัญหาของ สปสช. นะครับ เอาไว้เขียนถึงในตอนต่อๆไปครับ



    แค่ตรงนี้จะเห็นว่า ประชาชนที่เป็นเจ้าของสิทธิ์บัตรทองนั้นต้องเสียสละสิทธิ์ที่พึงได้ส่วนหนึ่งรับผิดชอบเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมอ พยาบาล ฯลฯ โดยผู้ใช้สิทธิ์อื่นไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนเงินเดือนนี้เลย

    อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากเงินเดือนราชการแล้ว หน่วยงานของสาธาณสุขยังมีการจ้างบุคลากรส่วนหนึ่งเพื่อทำงานในตำแหน่งที่ไม่มีการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการให้เพียงพอกับการทำงาน และต้องมีการจ่ายค่าทำงานนอกเวลาราชการอีก เนื่องจากโรงพยาบาลต้องให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มาจากเงินที่เรียกว่า เงินบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งได้มาจากรายได้รวมมาจากทั้งสามกองทุนและอีกเล็กน้อยจากสิทธิอื่นๆ เช่น พรบ. ผู้ประสบภัยจากรถ , แรงงานต่างด้าว , ประกันชีวิตเอกชน

    จากข้อมูลนี้จึงเห็นว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองต้องเสียสละเจียดเงินงบประมาณที่พึงได้ส่วนหนึ่งสำหรับจ้างบุคลากรเผื่อแผ่ให้ผู้ใช้สิทธิอื่นๆด้วย แทนที่จะได้ประโยชน์จากงบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คือประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณบัตรทองทั้งหมดประมาณ 1.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเงินถึงหนึ่งในสี่ส่วนของงบประมาณทั้งหมด 

    คิดง่ายๆ ก็เหมือนกับได้เงินมา 100 บาท ไปเที่ยวกับเพื่อนที่ดูมีฐานะทางบ้านดีกว่า แต่กลับต้องเป็นคนควักกระเป๋า 25 บาทจ่ายค่าแท็กซี่ให้เพื่อน เหลือให้ได้ใช้จริงๆแค่ 75 บาทเท่านั้น
  • ประกันสังคม

    ผู้ใช้สิทธิประกันตนเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับลูกคนกลางที่มักเป็นเด็กมีปัญหาในครอบครัวที่มีลูกสามคนเลยนะครับ เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดก็ว่าได้นะครับ

    เมื่อดูที่เงินรายหัวที่ใช้สำหรับรักษาพยาบาลจะอยู่ที่ประมาณ 3400 บาท มากกว่าบัตรทองถึงเกือบหนึ่งพันบาท 
    แต่ ต้องอย่าลืมว่าเงินก้อนนี้มีส่วนหนึ่งที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบทุกเดือนนะครับ
    เงินที่จ่ายไปทุกเดือนนี้จะถูกแบ่งไปเป็นก้อนใหญ่ๆ สามก้อน คือ เงินชดเชยการว่างงาน เงินบำนาญ และเงินสำหรับรักษาพยาบาล

    ผู้ประกันตนถือว่าเป็นสิทธิการรักษาเดียวที่มีรูปแบบ ร่วมจ่าย โดยตรง
    และในส่วนของการใช้บริการรักษาพยาบาลนั้นจะถูกจำกัดสิทธิให้ต้องเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกขึ้นทะเบียนเท่านั้น หากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินแล้วเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้เลือกไว้ก็ต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง
    บางส่วนของผู้ประกันตนนั้นเลือกสถานพยาบาลเป็นโรงพยาบาลเอกชนด้วยความคิดว่าน่าจะได้รับการบริการที่ดีกว่าโรงพยาบาลรัฐ


    คำถามที่ผมขอตั้งไว้โดยไม่ตอบ คือ หากโรงพยาบาลเอกชนไม่เห็นกำไร เขาจะรับรักษาสิทธิประกันสังคมหรือ????

  • ข้าราชการ

    สิทธิการรักษานี้ดูเหมือนจะดีนะครับเพราะได้งบประมาณเฉลี่ยรายหัวมากกว่าสิิทธิอื่นอย่างไม่เห็นฝุ่น ไม่จำกัดว่าจะต้องรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลใดเพียงที่เดียวเหมือนสิทธิอื่นด้วย แถมไม่ต้องควักกระเป๋าร่วมจ่ายอีก

    แหม ดีจริงๆนะครับ

    แต่.... ผู้ใช้สิทธิเบิกได้ของราชการเริ่มถูกหน่วยงานต่างๆตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากขึ้นเพราะการเบิกจ่ายที่ดูเยอะมากนั่นเอง และการเลือกใช้ยาจะถูกจำกัดด้วย บัญชียาหลักแห่งชาติ อย่างเข้มข้นมากๆ จนบางครั้งไม่มีสิทธิได้ใช้ยาใหม่ๆ หรือยาแพงๆ ด้วยครับ

    และ... อีกอย่างนึงที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้าราชการก็ถือเป็นมนุษย์เงินเดือนประเภทหนึ่ง  ดังนั้นทุกปีจึงต้องเสียภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเฉลี่ยว่าข้าราชการคนหนึ่งต้องเสียภาษีปีละ 13,000 บาท
    อ้าววว เฮ้ยยยย!!!! นี่หมายความว่าที่บอกว่าเบิกได้เนี่ย คือ เบิกมาจากเงินตัวเองนี่ครับ แถมโดนจำกัดสิทธิการใช้ยาด้วยนะครับ
    แบบนี้ยังจะคิดว่าระบบสิทธิการรักษาของตัวเองดีอยู่มั้ยนะ
  • ถึงตรงนี้อาจเริ่มเห็นความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขบ้างแล้วนะครับ แต่นี่เป็นเพียงความไม่เท่าเทียมที่คนระดับรากหญ้าและชนชั้นกลางส่วนใหญ่จำเป็นต้องก้มหน้ายอมรับผลจากการจัดการของรัฐที่แบ่งแยกประชาชนออกเป็นกลุ่มๆแล้วให้สิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ต่างกัน
    เมื่อพูดถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค ก็ไม่ควรลืมที่จะคิดถึงประชาชนที่อยู่ในกลุ่มร่ำรวย กลุ่มคนชั้นนำ ที่คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในข้อจำกัดของสิทธิการรักษาพยาบาลเหล่านั้นเพราะพวกเขาสามารถเข้าถึงการบริการของเอกชนราคาแพงได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบริการที่ได้รับย่อมดีกว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการวินิจฉัยและการรักษาทันสมัยกว่า ยาและอุปกรณ์การแพทย์มีมาตรฐานสูงกว่า

    ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลของรัฐจะถูกบังคับด้วยระเบียบพัสดุและการตรวจสอบที่ขาดความเข้าใจวิชาการทางการแพทย์ ให้ต้องซื้อยาที่มีราคาถูกที่สุดเท่านั้น เหมือนกับถูกบังคับให้ซื้อรถอีแต๋นทั้งที่มีรถดีกว่าให้เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็นรถญี่ปุ่น รถยุโรป หรือแม้กระทั่งซุเปอร์คาร์

    ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจึงเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบรัฐสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน และ ระบบราชการรวมทั้งความเหลื่อมล้ำที่เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำในเชิงเศรษฐกิจและสังคม


  • แนวทางการแก้ปัญหาสำหรับลดความเหลื่อมล้ำที่สะสมหมักหมมานานนี้จำเป็นที่จะต้องทำหลายๆส่วนไปพร้อมกันทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ระบบราชการ กฏหมาย และการแก้ปัญหาของระบบรัฐสวัสดิการที่เหลื่อมล้ำ
    ซึ่งผมจะขอยกเรื่องแนวทางแก้ปัญหานี้ไปไว้ใน บทสรุป ที่จะเขียนเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์นี้ครับ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in