เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การเมือง เรื่องใกล้ตัวEkk
รากเหง้าปัญหา
  • สาธารณสุขไทยจะเดินไปทางไหนในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ???

    ก่อนจะมองไปที่อนาคต เราต้องเข้าใจพื้นฐานด้านสาธารณสุขของไทยเราก่อนนะครับ....

    จุดเริ่มต้นของการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 โดยคณะมิชชันนารีซึ่งมาจากสหรัฐอเมริกา จึงวางรากฐานการแพทย์ของไทยตามแบบอย่างของสหรัฐอเมริกา จนมาถึงยุคต่อมาประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์เพื่อพัฒนาการผลิตแพทย์ในประเทศไทยตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา และเป็นแนวทางที่โรงเรียนแพทย์ดำเนินตามมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแพทย์ที่เน้นเทคโนโลยีและพัฒนาในแนวทางการแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งเราก็เดินตามแนวทางนี้มาตลอดจนการแพทย์ของเราเป็นที่ยอมรับในระดับสากล



    ในปี 2544-2545 มีการเปลี่ยนแนวทางของระบบสาธารณสุขไทยด้วย “นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการการเอาตัวอย่างของระบบการแพทย์แบบ “รัฐสวัสดิการ” ของประเทศทางยุโรป โดยเฉพาะรูปแบบของสแกนดิเนเวียมาปรับใช้ โดยนโยบายนี้ดำเนินการด้วยการปรับรูปแบบการเงินการคลังของกระทรวงสาธารณสุขให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นผู้ถือเงินแทนกระทรวงสาธารณสุข
    ในเมื่อผู้ถือเงินคือ สปสช. อำนาจจึงถูกถ่ายเทจากกระทรวงสธารณสุขไปสู่ สปสช. ด้วย

    เพียงแค่ปรับเปลี่ยนหลักการทางด้านการเงินการคลัง ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องด้วยแรงขับเคลื่อนอย่างมากมากมาย

    โรงพยาบาลต้องพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์คุณภาพ
    พัฒนาด้านสารสนเทศอย่างก้าวกระโดด
    มีการส่งเสริมสุขภาพที่เป็นระบบขึ้น

    และเนื่องจากในช่วงแรกของการดำเนินงาน ได้มีการจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวแทบทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติลงสู่โรงพยาบาลโดยตรง
    *** เป็นการกระจายอำนาจทางการคลังสู่โรงพยาบาลระดับอำเภออย่างแท้จริง

    ส่งผลให้ช่วงเวลานั้นเริ่มมีกระแสการเคลื่อนย้ายแพทย์และบุคลากรออกสู่พื้นที่ระดับอำเภอมากขึ้น
    เพราะการที่เงินเดือนข้าราชการถูกผูกไว้กับเงินเหมาจ่ายรายหัวด้วย ทำให้ข้าราชการจะต้องถูกเกลี่ยสัดส่วนให้กระจายออกไปอยู่นอกเมืองมากขึ้น แม้กระทั่งบุคลากรที่ทำงานในกระทรวงฯหรือในสำนักงานต่างๆ ก็ต้องเริ่มมองลู่ทางในการย้ายออกไปในที่ที่มีงบประมาณด้านบุคลากรพอ


  • แต่ เนื่องจากในช่วงต้นที่เริ่มการปฏิรูปนี้ ทางด้านโรงพยาบาลอำเภอไม่เคยเตรียมตัวรองรับการเติบโตมาก่อน จึงมีปัญหาความไม่พร้อมในหลายๆด้าน และระบบ รวมทั้งข้องตกลง กติกาในการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลยังไม่ชัดเจน

    จึงส่งผลให้ทางฝั่งกระทรวงสาธารณสุขโดยการสนับสนุนของกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ที่มีหน้าที่หลักคือการรับส่งต่อผู้ป่วยที่รักษาได้ยากเข้ามารับการรักษาซึ่งขณะนั้นมีปัญหาขาดงบประมาณอย่างหนัก โดยเฉพาะเงินเดือนบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เนื่องจากเงินรายหัวที่ได้รับในรูปแบบนี้ไม่พอสำหรับบุคลากรเหล่านั้น
    ได้เริ่มกดดันไปที่รัฐบาลให้ปรับระบบการจัดสรรเงินรายหัวใหม่

    ที่สุดแล้วจึงได้ปรับมาเป็น ให้หักเงินเดือนบุคลากรทั้งหมดจากงบประมาณรายหัวที่ได้รับจัดสรรมาไว้ที่กระทรวงฯ ก่อนเป็นอันดับแรก ที่เหลือจึงนำไปจัดสรรให้โรงพยาบาลต่อไป

    เมื่อถึงจุดนี้ ทางฝั่ง สปสช. ได้เริ่มทำสิ่งที่ส่งผลให้ระบบประกันสุขภาพนี้เกิดปัญหา คือ การแบ่งเงินรายหัวที่ได้รับจัดสรรมาเป็นกองทุนย่อยๆอีกนับสิบกองทุน เพื่อให้โรงพยาบาลทำผลงานแล้วมาเบิกเงินได้ตามผลงาน ถือเป็นการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอีกครั้ง
    แต่ เมื่ออำนาจอยู่สองขั้วอันได้แก่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ซึ่งต่างก็ไม่ยอมซึ่งกันและกัน ผลจึงตกมาที่โรงพยาบาลที่จะต้องทำงานตอบสนองทั้งสองด้านนี้

    จนกระทั่งมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนแก้ไขหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้อีกหลายครั้ง และสร้างมายาคติให้สังคมรับรู้ว่าระบบนี้ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ระบบนี้ใช้งบประมาณมาก จำเป็นที่จะต้องรื้อหรือยุบระบบนี้ไปซะ !!!!


    ต้นเหตุของปัญหาจริงๆแล้ว ก็คือการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช.
    และปัญหาเชิงเทคนิคที่โครงสร้างระบบสาธารณสุขของเรามีรากฐานแบบอเมริกันที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ มาใช้ระบบการคลังแบบยุโรปที่มีระบบปฐมภูมิที่แข็งแกร่ง

    * แนวทางการแก้ปมปัญหาของระบบสาธารณสุข จำเป็นที่จะต้องคิดใหม่และมองต่อไปข้างหน้า หนทางที่ดีที่สุดคือการกระจายอำนาจทั้งด้านการบริหารจัดการและอำนาจด้านการคลังลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง และมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอย่างเต็มที่

    ในตอนต่อไป ผมจะเขียนถึงความไม่เท่าเทียมกันของสามกองทุนสุขภาพ และการถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงการรักษาใหม่ๆ การรักษาที่มีราคาสูง ของคนไทยที่ใช้สิทธิการรักษาทุกสิทธิ แม้กระทั่งการประกันชีวิตเอกชนนะครับ

    โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in