เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Urban in Love Projecturbaninlove ♡
แนวคิดการพัฒนาเมืองต้นแบบ : ปัญหาผังเมืองกรุงเทพฯ
  • ดัดแปลงจาก บทความแนวคิดการพัฒนาเมืองต้นแบบ ของ พนิต ภู่จินดา และ ยศพล บุญสม

    การวางแผนและออกแบบผังเมืองเป็นกระบวนการที่สำคัญมากและต้องกระทำโดยการคำนึงถึงหลักเกณฑ์ ข้อจำกัด และศักยภาพของเมือง อีกทั้งรวมถึงการสอดคล้องของนโยบายภาครัฐ ซึ่งหาการวางแผนดังกล่าวสอดคล้องกับปัจจัยที่ได้กล่าวมาได้นั้นย่อมทำให้ความเป็นเมือง (Urbanization) มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน หากไม่มีการกำหนดประเภทและบทบาทหน้าที่ของเมืองอย่างชัดเจน การพัฒนาเมืองจะเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสและความต้องการที่หลากหลายโดยไม่เป็นเอกภาพ นำไปสู่การสูญเสียโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ผังเมืองกรุงเทพฯในปัจจุบันที่อยู่ในสภาวะไร้ระเบียบและแบบแผน อันนำไปสู่การส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนในสังคมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ในทุกรูปแบบของคนในสังคม เนื่องจาก ทุกคนต้องไปมาหาสู่กันแลกกับเวลาที่มีค่ามหาศาล สถานที่ที่มีแต่ตึกรามบ้านช่อง ตรอกซอกซอยที่ส่งผลให้การจราจรคับแคบและแน่นขนัด ดังนั้น การศึกษา การทำความเข้าใจ และการจัดประเภทเมืองตามบทบาท องค์ประกอบ และลักษณะของเมือง ผ่านการคัดเลือกหลักทฤษฎีการพัฒนาเมืองที่เหมาะสม ย่อมทำให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างเหมาะสม สามารถนำสู่การวางผังที่เหมาะสม และนำสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงในอนาคต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจำเป็นต้องมีแนวทางการพัฒนาในอนาคตอย่างเหมาะสมและยั่งยืนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและรองรับการพัฒนาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


              ด้วยเหตุนี้เอง บทความดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักการและความสำคัญของแนวคิดการพัฒนาเมืองต้นแบบ (Urban Design Guideline) ในรูปแบบของแนวคิด EQO City ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผสานทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมให้แก่เมืองเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความหลากหลายและความยืดหยุ่นสูง สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การผสานพื้นที่ทางธรรมชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะที่ดีสำหรับคนในเมือง สร้างพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของคน ซึ่งจะเป็นการผสาน 5 แนวคิดย่อยในการสร้างสมดุลให้แก่เมือง ได้แก่ แนวคิดเมืองปรับตัว (resilient city), แนวคิดเมืองนิเวศ (eco city), แนวคิดเมืองสุขภาวะ (Healthy city), แนวคิดเมืองสร้างสรรค์ (Creative city) และแนวคิดเมืองฉลาด (Smart growth city) 


    1) แนวคิดเมืองปรับตัว (resilient city)

    แนวคิดเมืองปรับตัวมีแนวทางที่จะสร้างเมืองที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ปัจจัยทุกแขนงของคนเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พื้นที่เมืองจึงต้องออกแบบและวางแผนให้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย และปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แนวคิดนี้นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย ประหยัดพลังงานสูง และลดปัญหาการสร้างความเสื่อมโทรมให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ 


    อย่างไรก็ดี แนวคิดเมืองปรับตัวสามารถนำมาปรับใช้เพื่อนำไปสู่การสร้างแนวคิดการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวด้านนันทนาการและบันเทิง โดยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะดวกและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมการท่องเที่ยวนันทนาการและบันเทิงในช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะต้องเน้นความทนทานและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เช่น บริเวณพื้นที่แถวสุขุมวิทที่รายล้อมไปด้วยสถานบันเทิงและร้านอาหาร บริเวณพื้นที่ทองหล่อ รัชดา รวมถึง ถนนข้าวสารที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวมาใช้บริการในอัตราที่สูง


    2) แนวคิดเมืองนิเวศ (eco city)

    แนวคิดเมืองนิเวศมีลักษณะพิเศษสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการผสานระบบนิเวศเข้าไปในการออกแบบเมือง โดยมีตัวการสำคัญในการพัฒนาเมืองนิเวศ คือ การพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงพื้นที่เมืองและพื้นที่สิ่งแวดล้อม โดยมีตัวชี้วัดคือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์, การลดลงของรอยเท้าทางนิเวศ, ความเป็นอยู่ของประชาชนจาก GDP ที่เพิ่มขึ้นและระดับการศึกษาที่สูงขึ้น


    ทั้งนี้ แนวคิดเมืองบนิเวศสามารถนำไปสู่แนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมครัวเรือนภายใต้แนวคิด EQO City เน้นการสร้างประสิทธิภาพในการผลิต รวมไปถึงการพัฒนาเพื่อสร้างกระบวนการการผลิตที่เต็มรูปแบบ ลดการปล่อยของเสียจากการผลิต รวมถึงการสนับสนุนพลังงานทางเลือก และการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดความรู้ภูมิปัญญาแก่ชุมชนเพื่อสร้างให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับหลักการบริการจัดการเมือง ตัวอย่างเช่น ชุมชนโบราณกุฎีจีน ขันลงหินบ้านบุ ยาหอมตำรับบ้านหมอหวาน บาตรบ้านบาตร เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมท้องถิ่นนั้น ๆ ทางภาครัฐจึงควรสนับสนุนและปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น


    3) แนวคิดเมืองสุขภาวะ (healthy city)

    แนวคิดเมืองสุขภาวะ เป็นแนวคิดที่เน้นการสร้างเมืองที่ความเป็นมิตรกับประชาชน เน้นการพัฒนาสุขภาพประชาชน ผ่านการใช้สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ส่งเสริมให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางสุขภาพกายและใจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขอนามัย การมีระบบนิเวศที่มั่นคงในปัจจุบันและยั่งยืน การสร้างชุมชนเข้มแข็งและมีทัศนคติที่ดี การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต สุขภาวะ และความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมกับการมีองค์ประกอบพื้นฐานในการดำรงชีวิตเพียงพอต่อประชาชนทุกระดับ เข้าถึงง่าย


    หากพิจารณาแล้วจะพบว่า แนวคิดเมืองสุขภาวะสามารถสร้างเสริมแนวคิดการพัฒนาเมืองราชการซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการการปกครองภาครัฐ ผ่านการแสดงออกถึงทิศทางเชิงกายภาพที่ดี สะท้อนเอกลักษณ์และองค์ประกอบพื้นถิ่นของเมือง ซึ่งเน้นการสร้างสุขภาพกายและใจของประชาชนเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการสร้างความสง่างาม โดยเฉพาะในส่วนของสถานที่ราชการ สำนักงานเขต พื้นที่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น


    4) แนวคิดเมืองสร้างสรรค์ (creative city)

    แนวคิดเมืองสร้างสรรค์ เป็นแนวคิดที่เน้นส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของเมือง โดยมีการรวมกลุ่มกันของคนทำงานสร้างสรรค์และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเกิดแรงผลักดันในการเรียนรู้ ผ่านการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ทางด้านการพัฒนาพื้นที่ของเมือง การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างประสิทธิภาพสำหรับบุคลากรในเมือง รวมถึงการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมให้เมืองเกิดการเรียนรู้ เกิดแรงบันดาลใจ และ เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่เมือง


    ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดเมืองสร้างสรรค์ยังสามารถสร้างเสริมแนวคิดการพัฒนาเมืองการศึกษาควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ผ่านสังคมการศึกษา (educational society) โดยเน้นการพัฒนาเมืองเพื่อตอบสนองต่อลักษณะของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกี่ยวกับการให้คนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการสร้างการเรียนรู้จากวิถีชีวิตหรือประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะ สถาบันทางการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา


    5) แนวคิดเมืองฉลาด (smart growth city)

    แนวคิดเมืองฉลาดเน้นใช้พื้นที่เมืองให้เต็มประสิทธิภาพแทนการกระจายการพัฒนาเมืองออกไปเรื่อย ๆ โดยแนวคิดดังกล่าวจะใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน รวมถึงเน้นสร้างอาคารพื้นที่อุตสาหกรรมหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้ ยังเน้นพัฒนาในรูปแบบชุมชนละแวกบ้านในผ่านชุมชนที่อยู่อาศัย โดยเป็นชุมชนที่มีองค์ประกอบสำหรับการใช้ชีวิตครบถ้วน และมีการใช้เส้นทางจักรยาน รวมถึง การเดินในการเข้าสู่พื้นที่ศูนย์กลางชุมชน

    อย่างไรก็ดี แนวคิดเมืองฉลาดยังสามารถประยุกต์ให้เข้ากับแนวคิดการพัฒนาเมืองคมนาคมทางน้ำและโลจิสติกส์ โดยเน้นการสร้างประสิทธิภาพด้านการขนส่งเชื่อมต่อกับยานพาหนะประเภทอื่นได้ รวมถึง การรวบรวมและกระจายสินค้ารองรับอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณที่อาจก่อมลพิษได้ง่าย การพัฒนาจึงมีการนำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือที่เน้นถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (green port) ควบคู่กันไปกับแนวคิดเมืองชาญฉลาด (smart city) พร้อมกับหลักการบริหารจัดการเมือง โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรมหนัก เช่น ย่านบางนา ย่านลาดกระบัง ที่มีการขนส่งสินค้าและการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม


    จากแนวทางผังเมืองต้นแบบของเมืองทั้ง 5 ประเภท ได้แสดงให้เห็นถึงการผสานแนวคิด EQO City ไปกับเมืองประเภทต่างๆ มีเป้าหมายหลักเบื้องต้นของแต่ละเมือง คือ การพัฒนาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันเมืองแต่ละเมืองต่างมีความพิเศษ ความเชี่ยวชาญ และ มีศักยภาพทางการพัฒนาพื้นที่เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการเน้นบางแนวคิดขึ้นมาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนา ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดการสร้างศักยภาพของกรุงเทพฯได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ท้ายที่สุด หากผังเมืองกรุงเทพฯมีการแบ่งเป็นสัดส่วนตามแนวทางดังกล่าวย่อมส่งผลให้คุณภาพการดำเนินชีวิตของคนเมืองดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางสังคมย่อมดีขึ้นเช่นเดียวกัน


    - urbaninlove ♡


    อ้างอิง

    - พนิต ภู่จินดา และยศพล บุญสม. “แนวคิดการพัฒนาเมืองต้นแบบ (Urban Design Guideline for Specific Purposed Towns).” เจ-ดี วารสารวิชาการ การออกแบบสภาพแวดล้อม 3, ฉ.1 (2559): 21-43. https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jed/article/download/68472/63011/189129.


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in