Origin แทรกประเด็นเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่ตรงยุคตรงสมัยของเรา แต่ยังชวนให้เรานึกถึงนวนิยายเรื่องหนึ่งในสมัยศตวรรษที่ 19 นั่นก็คือ Frankenstein โดยแมรี เชลลี (Mary Shelly) ในแง่หนึ่ง Frankenstein คือนวนิยายโกธิคที่นำเสนอเรื่องปีศาจและความผิดธรรมชาติ แต่ในอีกแง่นวนิยายเรื่องนี้คือคำเตือนถึงภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางที่ไม่ถูกไม่ควร มอนสเตอร์ของแฟรงเกนสไตน์คือผลลัพธ์โดยตรงจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสุดท้าย นำผลร้ายมาสู่ตัวผู้สร้างเอง
เดิมที Frankenstein มีชื่อเต็มๆ ว่า Frankenstein, Or the Modern Prometheus แต่ต่อมาชื่อหลังนี้ถูกตัดออกไป เหตุผลที่เชลลีอ้างอิงตำนานโพรมีธีอุสค่อนข้างแตกเป็นหลายเสียง แต่สิ่งที่หนึ่งที่ทั้งแฟรงเกนสไตน์และโพรมีธีอุสมีร่วมกันคือบทบาท "ผู้สร้าง" ตามตำนานเทฟปกรณัมกรีกตำนานหนึ่ง เมื่อทวยเทพนำโดยซุสปราบเหล่าไททันที่เป็นอริได้สำเร็จ เอพิมีธีอุส พี่ชายของโพรมิธีอุสและตัวเขาเองได้รับมอบหมายให้สร้างสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ก่อนเอพิมีธีอุสจะสร้างมนุษย์ เขาได้มอบคุณลักษณะเด่น ไม่ว่าจะเป็นเขี้ยวหนาม ขน ปีก ความแข็งแกร่งและความเร็วแก่สัตว์ต่างๆ จนไม่เหลืออะไรไว้ให้มนุษย์เลย โพรมิธีอุสผู้มารับหน้าที่ต่อจึงตั้งใจสร้างมนุษย์ให้เหนือกว่า เขาสร้างมนุษย์ตามรูปลักษณ์ของทวยเทพ และขโมยไฟจากเทพเจ้ามาให้มนุษย์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์อื่น
นอกจากทั้งสองจะรับบทเป็น "ผู้สร้าง" แล้ว แฟรงเกนสไตน์และโพรมีธีอุสยังเหมือนกันตรงที่มีจุดจบไม่สวยงามสักเท่าไร ถ้าอ้างอิงจากหนังสือปฐมกาล (Genesis) พระเจ้าคือผู้สร้างมนุษย์ แต่วันหนึ่ง แฟรงเกนสไตน์กลับลุกขึ้นมาสร้างสิ่งมีชีวิตจากศพ ซึ่งไม่เพียงผิดธรรมชาติ แต่ยังท้าทายอำนาจพระผู้สร้างอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความสามารถที่จำกัดของมนุษย์ ทำให้สิ่งที่แฟรงเกนสไตน์สร้างขึ้นมาไม่ได้สง่างามและยิ่งใหญ่ดังหวัง แต่กลับเป็นตัวประหลาดหน้าตาน่าเกลียดที่แม้แต่เขาเองก็ยังกลัว ส่วนโพรมีธีอุสนั้น ถูกซุสลงโทษโดยการตรึงร่างไว้บนเขาคอเคซัสที่มีคลื่นยักษ์สาดซัด และถูกเหยี่ยวมาจิกกินตับที่งอกใหม่ทุกๆ วัน (บางตำนานเล่าว่าซุสทรมานโพรมีธีอุสเพื่อให้เขาเปิดเผยความลับเรื่องลูก) แม้ว่าปัจจุบัน เทพปกรณัมกรีกจะกลายเป็นตำนานที่ไม่มีน้ำหนักเท่าไบเบิล และเทพเจ้าอย่างซุสจะเทียบไม่ได้กับพระเจ้าในศาสนาสำคัญของโลก แต่ครั้งหนึ่งซุสก็เคยเป็นเทพสูงสุดในโอลิมปัส และการท้าทายอำนาจของซุสก็อาจส่งผลร้ายแรงได้ ต่อให้เป็นไททันอย่างโพรมีธีอุสก็ตาม
เกริ่นเรื่อง Frankenstein และตำนานโพรมีธีอุสกันซะยาว แล้วมันเกี่ยวยังไงกับเรื่อง Origin ล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์ เราจะพยายามไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ แต่ก็คงต้องเล่าคร่าวๆ ว่าเคิร์ชพยายามใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาคำถามสำคัญของมนุษยชาติสองข้อ ได้แก่ Where do we come from? (เรามาจากไหน) และ Where are we going? (เราจะไปไหน) คำถามสองข้อนี้ ศาสนจักรให้คำตอบแก่เราแล้ว นั่นคือ เราเกิดจากพระเจ้า และเมื่อเราตาย เราก็จะกลับไปเจอพระเจ้าในบ้านของพระองค์ ดังนั้น ความพยายามของเคิร์ชในการตอบคำถามสองข้อนี้โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ย่อมต้องสั่นคลอนศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าและท้าทายตัวพระเจ้าเองด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ เคิร์ชยังพัฒนาระบบ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่เรารู้จักกันย่อๆ ว่า เอไอ (AI) ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยเขา เจ้าระบบเอไอที่ว่านี้ฉลาดเทียบเท่าหรือยิ่งกว่ามนุษย์ซะอีก ฉลาดถึงขนาดว่าถ้าคุยกันเฉยๆ มนุษย์อย่างเราก็คงแยกไม่ออกว่า แท้จริงแล้ว คนที่เราคุยด้วยเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเอไอนี้ไม่ได้ฟังก์ชันเป็นผู้ช่วยของเคิร์ชเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนเพื่อนของเขา แถมตัวเคิร์ชเองยังตั้งชื่อให้ระบบเอไอนี้ด้วยชื่อของบุคคลหนึ่งซึ่งเคิร์ชศรัทธา (ชื่อของใครนั้นต้องไปอ่านเองนะ) ทำให้เราเห็นกลายๆ ว่าเคิร์ชเองก็วางใจในความสามารถของระบบที่เขาสร้างขึ้นกับมือนี้มากพอสมควร
เราเริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างโพรมีธีอุส แฟรงเกนสไตน์และเคิร์ชแล้ว ทั้งสามคือ “ผู้สร้าง” และทั้งสามก็ท้าทายอำนาจที่เหนือกว่าตนเอง ส่วนตัวเรามองว่าสองคนหลังมีลักษณะนิสัยที่คล้ายกันมากกว่า แม้กระทั่งแลงดอนเองก็ยังคิดในใจว่าเคิร์ชกำลังทำตัวเหมือนแฟรงเกนสไตน์ เมื่อเขารู้ว่าเคิร์ชพัฒนาระบบเอไอไปได้ไกลถึงขั้นนั้นแล้ว ทั้งแฟรงเกนสไตน์และเคิร์ชเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และความสามารถของมนุษย์ แต่เคิร์ชมองไปไกลถึงขนาดที่ว่าวิทยาศาสตร์จะช่วยสร้างโลกในอนาคตให้เป็นยูโทเปียได้
ถ้าใครยังจำได้ เร็วๆ นี้ เพิ่งมีดีเบตระหว่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) CEO ของ Tesla และ SpaceX (Origin ก็กล่าวถึงมัสก์ด้วยนะ) และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerburg) CEO ของ Facebook เรื่องเอไอ ที่จริง ทั้งคู่ไม่ได้มาดีเบตกันต่อหน้า แต่โต้กันไปมาผ่านหน้าจอซะมากกว่า ใจความหลักของการดีเบตครั้งนี้ก็คือ มัสก์มองว่าเอไออาจเป็นภัยต่อมนุษย์ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการควบคุมการพัฒนาเอไอ ส่วนซักเคอร์เบิร์กคิดว่าความกลัวเรื่องวันสิ้นโลกเป็นความคิดแง่ลบและไร้ความรับผิดชอบ พอรู้ว่าตัวเองเหมือนจะโดนเหน็บผ่านไลฟ์เฟสบุก มัสก์ก็ออกมาทวิตว่า "ความเข้าใจของมาร์กในเรื่องนี้ (หมายถึง เอไอ) ค่อนข้างจำกัด"
Origin ก็พูดถึงประเด็นเรื่องการพัฒนาเอไอไว้เหมือนกัน ถ้าเป็นเคิร์ชเราคิดว่าเขาคงเชื่อซักเคอร์เบิร์กสุดใจ เพราะเขาวาดฝันอนาคตที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์มากขึ้น ช่วยแม้กระทั่งกำจัดความอดอยากยากจนไปจากโลก แต่ตัวเรื่องที่เล่าจากมุมมองของแลงดอนไม่ได้โน้มน้าวให้คนอ่านเชื่อทางใดทางหนึ่ง เราเองไม่แน่ใจว่าแลงดอนคิดยังไงกับมุมมองเรื่องนี้กันแน่ แต่เอนเอียงไปทางที่คิดว่าเขาน่าจะยังต้องการโลกที่ไม่ได้มีเพียงวิทยาศาสตร์มาช่วยขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ โลกที่มีศาสนาหรือบางสิ่งคอยเตือนว่ามนุษย์ยังเป็นมนุษย์และยังมีความรู้สึกที่แม้แต่เอไอยังไม่สามารถเลียนแบบได้ (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) แลงดอนพูดเสมอว่าสำหรับเขา วิทยาศาสตร์กับศาสนาเป็นชุดความคิดสองชุดที่พยายามอธิบายสิ่งเดียวกัน ต่อให้ฝ่ายหนึ่งพยายามแย้งอีกฝ่าย ทั้งสองก็จะประนีประนอมกันได้อย่างที่เคยเป็นมาตลอดหลายร้อยปี ถ้าอ่านใกล้จบ จะเห็นประโยคหนึ่งที่แลงดอนพูดซึ่งเป็นประโยคสำคัญของเรื่องนี้และเป็นสิ่งที่แสดงว่าเขายังเชื่อว่าต่อให้เทคโนโลยีครองโลก ศาสนาก็จะยังคงดำรงต่อไป
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in