เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SPEAK OUT | REVIEWS x ANALYSESWrite My Heart Out
ชวนอ่าน The Signalman เรื่องสั้นจาก Charles Dickens แล้วจะรู้ว่าเราไม่ได้เหงาอยู่คนเดียว
  • The Signalman หรือชื่อเต็ม ๆ ที่ว่า No.1 Branch Line: The Signalman เป็นผลงานเรื่องสั้นของชาร์ลส์ ดิกคินส์ (Charles Dickens) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 19 เรื่องเด็ด ๆ
     ของดิกคินส์ที่พูดไปแล้วนักอ่านสายนวนิยายอังกฤษคงร้องอ๋อ ได้แก่ Christmas Carol, 
    Great Expectations และ A Tale of Two Cities แต่นอกจากนวนิยายแล้ว ดิกคินส์แต่งเรื่องสั้นไว้หลายต่อหลายเรื่อง รวมถึง The Signalman ซึ่งเป็นเรื่องที่เราประทับใจเป็นพิเศษเพราะถึงจะตีพิมพ์มาตั้งค.ศ. 1866 ประเด็นต่าง ๆ ในเรื่องก็ยังเป็นปัจจุบันมาก

    https://www.vivacity-peterborough.com/whatson/library/charles-dickens/

    The Signalman เล่าเรื่องราวของคนส่งสัญญาณรถไฟไม่ปรากฎนามผ่านสายตาของผู้เล่าที่ไม่
    ปรากฎนามเช่นกัน ตัวเอกของเรื่องทำงานอยู่ในสถานีส่งสัญญาณเล็ก ๆ ใกล้ปากอุโมงค์รถไฟ  วัน ๆ หนึ่ง เขาไม่ได้ไปไหน ไม่ได้คุยกับใคร นอกจากส่งสัญญาณติดต่อกับคนส่งสัญญาณอีกคนซึ่งอยู่อีกด้านของอุโมงค์ หากนั่งอยู่ในสถานีชื้นแฉะแห่งนี้ สิ่งเดียวที่คนส่งสัญญาณจะมองเห็นก็คือท้องฟ้า ชีวิตในสถานีคือชีวิตที่ไร้การติดต่อกับสิ่งมีชีวิตอื่นใดหรือแม้แต่กับโลกภายนอก

    เราไม่รู้ว่าคนเล่าเรื่องหรือ narrator เป็นใคร มาจากไหน ทำไมอยู่ ๆ ถึงโผล่มาทักทายคนส่งสัญญาณด้วยประโยคที่ว่า "Halloa! Below there!" ประโยคที่ทำเอาคนส่งสัญญาณใจหายใจคว่ำ โดยที่เราเองก็ "ยัง" ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงตกใจ ความไร้ตัวตนหรืออัตลักษณ์ (the lack of identity/individuality) เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่เรื่องสั้นเรื่องนี้นำเสนอผ่านทั้งตัวละครคนส่งสัญญาณและผู้เล่าเรื่อง

    นับตั้งแต่กลางยุควิคตอเรียนเป็นต้นมา ชาวอังกฤษต้องเผชิญหน้าและพยายามรับมือกับผลของการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด The Signalman เลือกจับประเด็นเรื่องเทคโนโลยีทางการรถไฟของอังกฤษ ซึ่งในสมัยนั้นขึ้นชื่อเรื่องความเร็วมาก แต่ขณะเดียวกัน การพัฒนาที่มุ่งแต่ความเร็วก็ละเลยเรื่องความปลอดภัย ทำให้อุบัติเหตุทางรถไฟเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่แปลกที่คนส่งสัญญาณผู้ทำงานใกล้ชิดกับรถไฟจะเห็นอุบัติเหตุรถไฟจนชินตา แต่ก็ใช่ว่าเขาจะ "ชิน" ไปด้วยจริง ๆ 

    http://www.bbc.co.uk/programmes/b00pdkdp

    ก่อนอุบัติเหตุแต่ละครั้ง คนส่งสัญญาณจะมองเห็นวิญญาณตนหนึ่งซึ่งพยายามบอกอะไรบางอย่างกับเขา 
    แต่เขาไม่สามารถตีความสัญญาณเหล่านั้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้ อุบัติเหตุรถไฟในเรื่องอาจบ่งบอกถึงโลกที่มนุษย์พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง แต่สุดท้ายเทคโนโลยีกลับย้อนมากลืนกินอำนาจของผู้สร้าง ความไร้อัตลักษณ์ของตัวละครคนส่งสัญญาณเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์กลายเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนโลกเทคโนโลยีนั้นแต่ไร้อำนาจควบคุมอีกมันต่อไป เราไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนามของคนส่งสัญญาณ รู้เพียงว่าอาชีพของเขาคือส่วนหนึ่งที่ทำให้การเดินรถไฟราบรื่น แต่กลับกลายเป็นว่าเขาเองก็ไม่สามารถบรรลุหน้าที่นั้นได้

    ในฐานะคนส่งสัญญาณ เขาควรตีความสัญญาณทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถไฟให้ได้ แต่ทุกครั้งก่อนเกิดอุบัติเหตุ เมื่อวิญญาณปรากฎกาย ชายส่งสัญญาณกลับไม่สามารถตีความสัญญาณของวิญญาณตนนั้นได้ เขาทำได้เพียงเฝ้ารอให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นและผ่านไป ความไร้อัตลักษณ์ของผู้ส่งสัญญาณพ่วงมากับความไร้อำนาจ เขาไม่สามารถบอกใครเรื่องวิญญาณและความสัมพันธ์ของมันกับอุบัติเหตุรถไฟ เพราะหากบอกไป ก็คงไม่มีใครเชื่อ

    เมื่อพูดถึงคนส่งสัญญาณไปแล้ว จะไม่พูดถึงเจ้าวิญญาณก็คงไม่ได้  ตัวเรื่องสั้นเปิดโอกาสให้คนอ่านตีความเองว่าวิญญาณที่คนส่งสัญญาณเห็นนั้นเป็นผีจริง ๆ หรือเป็นเพียงภาพหลอนที่เกิดจากความเครียดและความเจ็บปวดในใจที่เขาป้องกันอุบัติเหตุรถไฟไม่ได้ ความคลุมเครือเช่นนี้เป็นลักษณะงานเขียนของดิกคินส์ซึ่งถือเป็นผู้พัฒนาเรื่องผี ๆ ในสมัยวิคตอเรียน ในบางครั้ง บทบาทของผีไม่ได้เป็นแค่ผีเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นตัวแทนของอดีตที่กลับมาหลอกหลอนเรา ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่ต้องหาคำตอบเองว่าเจ้าวิญญาณนั้นเป็นผีจริง ๆ หรือเป็นอดีตอันเจ็บปวดกันแน่

    อดีตของดิกคินส์เองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1865 ดิกคินส์โดยสารรถไฟจากโฟล์กสโตนไปยังลอนดอน เมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำ Beult ซึ่งขณะนั้นกำลังซ่อมแซมอยู่ รถไฟก็พุ่งตกลงไปในแม่น้ำทำให้ตู้โดยสารชั้นหนึ่งทุกตู้ ยกเว้นตู้ของดิกคินส์ตกจากสะพาน ดิกคินส์พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเท่าที่จะทำได้ แต่ภาพคนตายอีกจำนวนมากที่เขาไม่สามารถช่วยได้ทำให้ต่อมา ดิกคินส์เกิดบาดแผลในจิตใจหรือ trauma ที่ตามหลอนเขาเรื่อยมา สันนิษฐานกันว่าอุบัติเหตุในครั้งนั้นเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของผู้ส่งสัญญาณสองคน ไม่ต่างอะไรกับที่ชายส่งสัญญาณในเรื่องไม่สามารถตีความสัญญาณของวิญญาณตนนั้นได้

    https://www.charlesdickensinfo.com/life/staplehurst-railway-accident/
    อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องอุบัติเหตุรถไฟที่ดิกคินส์ประสบได้จากลิ้งด้านบนเลยจ้า

    The Signalman เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าลองอ่าน เมื่อเทียบกับงานเขียนนวนิยายของดิกคินส์แล้ว เรื่องสั้นเรื่องนี้ใช้ภาษาไม่ยาก และอย่างที่บอกไป ประเด็นต่าง ๆ ในเรื่องยังปัจจุบันอยู่มาก ที่เราตั้งชื่อบทความว่า  "ชวนอ่าน The Signalman เรื่องสั้นจาก Charles Dickens แล้วจะรู้ว่าเราไม่ได้เหงาอยู่คนเดียว" ไม่ใช่เพื่อความเก๋ แต่ถ้าได้ลองอ่านจริง ๆ จะพบว่าสภาพการทำงานของคนส่งสัญญาณในสถานีชื้นแฉะเล็ก ๆ ค่อย ๆ กัดกินจิตใจของเขา บวกกับความล้มเหลวในหน้าที่ (ที่ไม่ใช่ความผิดของเขาคนเดียว ถ้าจะพูดให้ถูกคือเป็นความล้มเหลวที่ระบบเสียมากกว่า) และการเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ไม่มีปากมีเสียงทำให้ในที่สุดคนส่งสัญญาณก็เกิดบาดแผลในจิตใจไม่ต่างจากดิกคินส์ 

    วันเหงา ๆ วันที่เราผิดหวังกับตัวเอง เรามักจะนึกถึงคนส่งสัญญาณผู้นี้เสมอ เพื่อเตือนตัวเองว่าถึงเราจะเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ ในโลกกว้างใหญ่ใบนี้ แต่เราไม่ได้เหงาอยู่คนเดียว 



    ถ้าสนใจอยากดูเป็นภาพเคลื่อนไหว YouTube ก็มีเรื่องนี้ให้ดูนะ
     https://www.youtube.com/watch?v=c06WUYsI0ic&t=81s
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in