เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ลอกคราบพุทธแท้ By อาสา คำพา
  • รีวิวเว้ย (1861) ในมุมของคนที่ติดตามวงการพระเครื่องในช่วงหลายปีมานี้ สังเกตเห็นปรากฏการณ์ของการแสวงหาพระเครื่องพระบูชาของพระเกจิที่ยังมีชีวิตอยู่ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์วัดแตก ห้างแตก ระบบจองล่ม และนำมาสู่กระแสของการพุ่งทะยานของราคาพระใหม่ในช่วงที่ผ่านมา น่าสนใจว่าถ้าลองย้อนกลับไปก่อนหน้าการเข้ามาของ Facebook จะเห็นมุมมองที่มีต่อพุทธศาสนามุ่งไปที่เรื่องของการเข้าวัด ทำบุญ ปฏิบัติธรรม สำหรับคนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์หรือกระทั่งช่วงวันหยุดยาวจะมีโอกาสได้เห็นพวกเขาเข้าวัดปฏิบัติธรรม การเข้ามาของ Facebook และเมื่อวงการพระใช้เครื่องมือและสื่อออนไลน์ในการสร้างยุคสมัยของพระเครื่องขึ้นมา จึงเริ่มจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ คนที่มีกำลังซื้อ หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะเรียกคนเหล่านี้ว่า "คนชั้นกลาง" เข้ามามีบทบาทในวงการศาสนาที่มากไปกว่าเรื่องของการเข้าวัด ฟังเทศก์ ปฏิบัติธรรม ในช่วงหลังมากนี้จะเริ่มเห็นคนชั้นกลางโดดเข้าสู่ยุทธจักรพระเครื่องและเลือกระหว่างกรอบการมองเรื่อง "พุทธแท้" หรือ "พุทธเทียม" แบบครั้งอดีต มาสู่กรอบการมองศาสนาพุทธแบบ "พระแท้" หรือ "พระปลอม" แทน
    หนังสือ : ลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย
    โดย : อาสา คำพา
    จำนวน : 320 หน้า
    .
    "ลอกคราบพุทธแท้: ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยร่วมสมัย" หนังสือที่ปรับมาจากงานวิจัย ที่มุ่งเน้นศึกษาในเรื่องพัฒนาการของพุทธศาสนาของไทย ในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนผ่านมาสู่มือของคนชั้นกลางในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเวลาหลังการเกิดขึ้นของแนวคิดพุทธศาสนากับความเป็นเสรีประชาธิปไตย โดยที่หนังสือ "ลอกคราบพุทธแท้" มุ่งศึกษาในสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของพุทธศาสนาของคนชนชั้นกลางไทย
    .
    โจทย์หลักของ "ลอกคราบพุทธแท้" ปรากฏอยู่ในความตอนหนึ่งของหนังสือดังนี้ "หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจพิเคราะห์พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยนับตั้งแต่หลังกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) พิจารณาผ่านปรากฏการณ์ทางสังคม ปรากฏการณ์ร่วมสมัย ตลอดจนรากฐานที่มาของปรากฏการณ์ พร้อม ๆ กับพิจารณาเชื่อมโยงกับประเด็นอารมณ์ความรู้สึกภายใต้ปรากฏการณ์สังคมของพุทธศาสนาชนชั้นกลางไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ประเด็นศึกษายังรวมถึงบทบาทของประกาศกที่มีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาชนชั้นกลางไทย ตลอดจนการตั้งคำถามต่อลักษณะความเป็นฆราวาสนิยมแบบไทย ๆ เมื่อสิ่งนี้ถูกนำมาพิจารณาเทียบตัดกับมุมมองสากลนิยมเช่นแนวคิดเสรีนิยมกับประชาธิปไตย" (น. 8)
    .
    โดยเมื่อพิจารณาจากการแบ่งเนื้อหาของ "ลอกคราบพุทธแท้" ออกเป็นบทต่าง ๆ ทั้งสิ้น 6 บท เราจะเห็นการวางพัฒนาการของการเกิดขึ้นและความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางของไทย ที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงในตัวเองและมีตัวแปรจากภายนอกที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นด้วยความรวดเร็ว กระทั่งกระแสของการถกเถียงของความจริงแท้ก็นำมาสู่พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาของไทยในหลายช่วงเวลา สำหรับเนื้อหาทั้ง 6 บทของ "ลอกคราบพุทธแท้" แบ่งได้ดังนี้
    .
    บทที่ 1 พุธศาสนาชนชั้นกลางไทย
    .
    บทที่ 2 อำนาจแห่งกรรมและมโนทัศน์ศิล 5: จากรากฐานถึงปรากฏการณ์ร่วมสมัย
    .
    บทที่ 3 ทางสองแพร่งที่ไม่เคยแยกขาดกัน ระหว่างพุทธศาสนาปัญญาชน กับพุทธนิยมแบบชาวบ้าน
    .
    บทที่ 4 พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทย ดอกไม้หลากสีภายใต้อารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย
    .
    บทที่ 5 พุทธศาสนาชนชั้นกลางไทย ในอารมณ์ความรู้สึก ก้าวไม่ถึงและไปไม่สุดของเสรีนิยมประชาธิปไตย
    .
    บทที่ 6 บทสรุป ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์และอารมณ์ความรู้สึกพุทธศาสนาชนชั้นกลางไทย
    .
    น่าสนใจที่ "ลอกคราบพุทธแท้" ชวนย้อนกลับไปคิดถึงกระแสของการเข้ามามีบทบาทของพุทธศาสนาของชนชั้นกลางไทย ที่ในยุคหนึ่งพุทธศาสนาของชนชั้นกลางยึดเอาพื้นที่การสื่อสารต่าง ๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ ให้กลายมาเป็นเครื่องมือของการสร้างวิธีคิดของพุทธศาสนาแบบคนชนชั้นกลาง แต่น่าสนใจว่าในปัจจุบันที่พื้นที่สื่อมีความเปิดกว้าง และการเข้าถึงข้อมูลมิได้ถูกผูกขาดดังเช่นกาลก่อน ความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ เพราะแต่เดิมการผูกขาดความเป็น "พุทธแท้" หรือ "พุทธเทียม" อาจทำได้ไม่ยากนัก เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่เราสามารถเปิดหาข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ได้และสื่อเกี่ยวกับศาสนาพุทธมีความหลากหลายอย่างมาก น่าสนใจว่าหาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แกจะเขียนถึงพุทธศาสนาของชนชั้นกลางไทยในทุกวันนี้ยังไง หรือแกจะพูดถึงเรื่องของวงการสงฆ์ที่กำลังครึกโครมอยู่ในยามนี้ว่าอย่างไร ?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in