เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
กำเนิดสถาปนิกไทย: ความหมาย ความรู้และอำนาจ By ชาตรี ประกิตนนทการ ภ-สถ 5539
  • รีวิวเว้ย (1820) ครั้งหนึ่ง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยตั้งคำถามว่า "คุณว่าวิชารัฐศาสตร์เป็นญาติกับวิชาอะไร ?" คำถามดังกล่าวสร้างบทสนทนาและคำตอบมากมายจากผู้คนหลากหลายกลุ่ม แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาจาก อชว. นั้นไม่มีใครคาดคิดเพราะคำตอบที่ได้คือ "วิชาสถาปัตย์" อาจารย์ได้ให้ความเห็นต่อคำตอบดังกล่าวว่าเพราะวิชารัฐศาสตร์และวิชาสถาปัตย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่เคียงกันในประวัติศาสตร์ เพราะวิชาทั้งคู่นั้นต่างก็มีหน้าที่ในการจัดการเรื่องของความสัมพันธ์ อำนาจ การจัดสรรผู้คนและเขตแดนของรัฐหนึ่ง ๆ ที่เมื่อผู้คนเพิ่งขึ้น เมืองก็ขยายตัวและจำเป็นต้องถูกจัดการให้มีระบบ รูปแบบและความสงบเรียบร้อย เหตุนี้รัฐ (เมือง) และศาสตร์แห่งรัฐจึงเป็นญาติที่เดินเคียงกันมากับการเติบโตของเมือง (รัฐชาติ)
    หนังสือ : กำเนิดสถาปนิกไทย: ความหมาย ความรู้และอำนาจ
    โดย : ชาตรี ประกิตนนทการ ภ-สถ 5539
    จำนวน : 200 หน้า 
    .
    "กำเนิดสถาปนิกไทย: ความหมาย ความรู้และอำนาจ" หนังสือที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยของผู้เขียนที่ศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์ "สถาปนิกไทย" มีเป้าหมายของงานศึกษาชิ้นนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยในส่วนแรกนั้นมุ่ง "...สำรวจและวิเคราะห์ในห้าส่วนหลักคือ (1) การนิยามชุดคำศัพท์ที่เกี่ยวกับสถาปนิกและสถาปัตยกรรม (2) การตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม (3) การก่อตั้งโรงเรียนสถาปนิกสมัยใหม่ (4) การสร้างความรู้สถาปัตยกรรมแบบไทย และ (5) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปนิก" (น. 25) โดยศึกษาการเกิดขึ้นของ "สถาปนิก" สิ่งสร้างใหม่ที่มาพร้อมกับการถีบตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสยามกระทั่งถึงช่วงเวลาของการมีกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพสถาปนิก ด้วยการกำหนดขอบเขตของช่วงเวลาการศึกษาของหนังสือเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2459-2508
    .
    ส่วนที่สองของหนังสือ คือ ความพยายามในการตั้งคำถามต่อสถานการณ์ปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) ต่อความพยายามในการออกแบบและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย (โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมในพื้นที่วัด) ของสมาคมสถาปนิกสยามและผู้เกี่ยวข้องผ่านการตั้งคำถามและข้อสังเกตต่อความพยายามและการกระทำในการกำหนดนิยาม รูปแบบ และมาตรฐานของสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า "มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย" โดยที่เนื้อหาของ "กำเนิดสถาปนิกไทย: ความหมาย ความรู้และอำนาจ" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ ศึกษากำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไปเพื่ออะไร
    .
    บทที่ 1 สถาปนิกนาม กำเนิดสถาปนิกสยามผ่านนิยามศัพท์
    .
    บทที่ 2 สถาปนิกสมาคม กำเนิดสมาคมสถาปนิกสยาม
    .
    บทที่ 3 สถาปนิกวิชาชีพ กำเนิดโรงเรียนสถาปัตยกรรม
    .
    บทที่ 4 สถาปนิกศิวิไลซ์ กำเนิดวิชาสถาปัตยกรรมไทย
    .
    บทที่ 5 สถาปนิกบัญญติ กำเนิดอำนาจสถาปนิกผ่านกฎหมาย
    .
    บทส่งท้าย คำถามต่อมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรมไทย
    .
    "กำเนิดสถาปนิกไทย: ความหมาย ความรู้และอำนาจ" ทำให้เห็นถึงการเกิดขึ้น พัฒนาการ ความท้าทายและการแอบอิงเข้าสู่อำนาจของกลุ่มสถาปนิกสยาม-ไทย นับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2459 ที่แนวคิดเรื่องของสถาปนิกก่อตัวขึ้นและเริ่มเข้ามาในสยามจากความพยายามเปลี่ยนประเทศให้เป็นสมัยใหม่ กระทั่งถึงการก่อตัวของความขัดแย้งและการแย่งชิงความชอบธรรมในการถือครองอำนาจของการออกแบบอาคาร สิ่งปลูกสร้าง แผนผัง ผ่านกลุ่มอำนาจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการกระทั่งถึงการเกิดขึ้นของสมาคมสถาปนิกสยามและกฎหมายวิชาชีพสถาปนิกที่ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันสถานะอาชีพของสถาปนิกไทย อีกทั้งผู้เขียนยังได้วิเคราะห์และให้ความเห็นต่อประเด็นในการแสวงหาความชอบธรรมของสภาสถาปนิกในปัจจุบันอย่างการสร้าง "มาตรฐานสถาปัตยกรรมไทย" ว่าเป็นเรื่องสมควรและจำเป็นจริงหรือผ่านการให้เหตุและผลของความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมและความเป็นไปได้ของการพัฒนาของสถาปัตยกรรมไทยที่อาจสิ้นสุดลงเพราะมาตรฐานของ "คนเพียงกลุ่ม"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in