เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
สังคมจีนในประเทศไทย By จี. วิลเลียม สกินเนอร์
  • รีวิวเว้ย (1809) ทุกวันนี้หากให้แยกว่าใครเป็นคนไทยที่ไม่มีส่วนผสมของคนชนชาติอื่นเลยไม่ว่าจะเป็น จีน ญวน มอญ แขก ลาว มลายู คงเป็นเรื่องยากที่จะจำแนกคนแต่ละกลุ่ม (ในสังคมไทย) ออกจากกันในทุกวันนี้ การจำแนกกลุ่มคนดังที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดสมัยอดีตนี้เองที่นำไปสู่การกีดกันทางเชื้อชาติและการเหยียดทางชาติพันธ์ ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไปเสียทีเดียวหากแต่ทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อาจด้วยความเป็นชาติที่พร่าเลือนลง หรือกระทั่งการผสมกลืนกลายกันจนยากจะแยกฝ่าใครเป็นใครมาจากไหน โดยเฉพาะในสังคมไทยด้วยแล้วยิ่งยากเข้าไปใหญ่ หากถ้าลองย้อนมองสังคมสยาม-ไทย ในอดีตผ่านช่วงเวลาของการอพยพเข้ามาของคนจีนและแรงงานจีน แน่นอนว่าเราอาจจะเห็นบริบทดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่ที่น่าแปลกไปกว่านั้นคือความขัดแย้งดังกล่าวดำรงอยู่ในสังคมสยาม-ไทย เพียงไม่นานนักอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือ คำตอบหนึ่งที่แฝงอยู่ในหนังสือเล่มนี้
    หนังสือ : สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์
    โดย : จี. วิลเลียม สกินเนอร์
    จำนวน : 656 หน้า 
    .
    "สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ผลงานระดับขึ้นหิ้งของผู้สนใจเรื่องของสังคมจีน-ไทย ผลงานของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ (G. William Skinner) นักวิชาการอเมริกันและผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้เข้ามาทำการวิจัยคนจีนในประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2490 และรวบรวมเรื่องราวคนจีนตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น ก่อนจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณอ่าวไทย จนถึงประเทศไทยในยุคต้นสงครามเย็น (พ.ศ. 2500) มาวิเคราะห์ จำแนก แจกแจง คนจีนในประเทศไทยซึ่งในเวลานั้น (ที่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้น) คนจีนและประเทศจีนกำลังเป็นที่สนใจของสหรัฐอเมริกา
    .
    หนังสือ "สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์" จัดวางสถานะของกลุ่มคนจีนรุ่นที่ 2-3 ในไทย (ลูกครึ่งจีน-ไทย) ในมิติที่ว่าพวกเขามิใช่คนจีนที่ภักดีต่อจีนแผ่นดินใหญ่หากแต่เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะสูง (Highest Status) ของสังคมไทยทั้งจากการสั่งสมทุนและความมั่งคั่ง กระทั่งถึงความพยายามในการหลอมรวมเข้ากับแกนแห่งอำนาจของจากสังคมสยาม-ไทย เช่นนั้น "สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์" ยิ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของสังคมสยาม-ไทย ที่อยู่ในลักษณะของสังคมโครงสร้างหลวมที่ทำให้การเปิดรับและยอมรับบุคคลจากภาคนอกให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้ไม่ยากนัก ในส่วนของเนื้อหาของ "สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์" แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นดังนี้
    .
    1. ศตวรรษต้น ๆ: ชาวจีนในสยามโบราณ
    .
    2. การเปิดประตูและเปิดโอกาส: การอพยพของชาวจีน และการเพิ่มขึ้นของพลเมืองถึงปี ค.ศ.1917 (พ.ศ. 2460)
    .
    3. การครองชีพในดินแดนใหม่: ฐานะของชาวจีนต่อเศรษฐกิจไทย ตลอดสมัยรัชกาลที่ 5
    .
    4. รูปแบบของความไม่มีเสถียรภาพ: สังคมจีนในสยามตั้งแต่รัชกาลที่ 3-5
    .
    5. เข้าสู่ยุคใหม่: หัวเลี้ยวหัวต่อสู่ลัทธิชาตินิยมกับความสามัคคี
    .
    6. การทะลักเข้าและไหลออก: แนวโน้มประชากรปี ค.ศ. 1918-1955 (พ.ศ. 2461-2498)
    .
    7. ผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง: ชีวิตชาวจีนในสังคมไทย จนถึงปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481)
    .
    8. วิกฤติการณ์ สงคราม และการผ่อนปรน: สงครามโลกครั้งที่ 2 และผลที่ตามมาภายหลัง
    .
    9. การปราบปรามและการพิจารณาใหม่: คนจีนภายใต้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยที่ 2 ปี ค.ศ. 1948-1956 (พ.ศ. 2491-2499)
    .
    "สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์" นับเป็นหนึ่งในหนังสือที่ผู้สนใจเรื่องราวของคนจีนในสังคมไทย และผู้ที่สนใจการเมืองไทยจำเป็นต้องอ่าน เนื่องด้วยการศึกษาและการจัดวางโครงสร้างการเล่าเรื่องของหนังสือที่มิได้ละเลยบริบทรอบข้างที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและสังคม ซึ่งหมายรวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวในบริบทของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รัฐสยาม-ไทย มีต่อคนจีนอพยพและมีต่อคนจีนรุ่นต่อมาที่เกิดและเติบโตในสยาม และด้วยความเป็นสังคมโครงสร้างหลวมของสังคมสยาม-ไทย นี้เอง ที่ "สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์" ได้ฉายให้เห็นภาพร่างของสังคมไทยที่จะเดินต่อมาจากช่วงเวลา พ.ศ. 2500 ที่คนจีนในสังคมไทยกลายมาเป็นคนไทยที่ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ใช้คำว่า "เป็นกลุ่มคนที่มีสถานะสูง (Highest Status) ของสังคมไทย"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in