รีวิวเว้ย (1806-1808) "อั๊วเปงคนจีนทำมาหากิงอยุ่นัยเมืองไทย อั๊วมีเมียรักไชไล ลูกสาวล้วยกัน 2 คง อีสวยทั้งคู่ อีหนูหน้ายง ยังไม่มีผั๊วะสักคง หนุ่ม ๆ ติดแจ้" ท่อนแรกของเพลง "เย็บจักร" ของสุเมธ เเอนด์เดอะปั๋ง หากฟังแต่เพลงเอาความสนุกเราก็คงสนุกไปกับเนื้อหาของเพลง แต่พอลองฟังอีกทีและลองตั้งใจเอาสาระระหว่างห้องของเนื้อเพลงแต่ละท่อน จะพบว่าอันที่จริงเนื้อเพลงดังกล่าวสะท้อนเรื่องราวของ "จีนอพยพ" ที่อพยพเข้ามาประกอบอาชีพในไทยหลังจากความเปลี่ยนแปลงและปัญหาในจีนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอดีต ทั้งจากภัยพิบัติ ปัญหาปากท้อง และความเปลี่ยนแปลงของอำนาจในแต่ละช่วงเวลา เรื่องราวของคนจีนที่อพยพเข้ามาในสยาม-ไทย หลายครั้งถูกนำเอามาล้อเลียนแต่หลายครั้งในสิ่งที่ล้อเลียนนั้นก็สะท้อนความจริงอยู่ในที อย่างกรณีของสำนวน "เสื่อผืนหมอนใบ" แต่คนไทยชอบเอามาล้อกันว่า (เสื่อผืนหมอนใบอยู่ ๆ ไปขายหมอนไปเหลือแต่เสื่อ) อันที่จริงแล้วสำนวนดังกล่าวมีความหมายที่น่าสนใจและสะท้อนถึงภาพแทนของคนจีนอพยพได้เป็นอย่างดี เพราะที่มาของสำนวนดังที่กล่าวว่า "เสื่อผืนหมอนใบ" อีเปิ่นวานลี่ (一本万利) เป็นสำนวนจีนที่หมายถึงการลงทุนเพียงหนึ่ง แต่ได้กลับมาหนึ่งหมื่นเท่า แล้วยังถูกใช้ในการอวยพรในความหมายว่า "ไม่ว่าจะลงทุนกับสิ่งใด ก็ขอให้มีกำไรมหาศาล"

หนังสือ : ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3
โดย : เจฟฟรี ชุน และ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร
จำนวน : 976 หน้า
.
"ประวัติจีนกรุงสยาม" หนังสือชุด 3 เล่มที่บอกเล่าเรื่องราวของคนจีนในสยาม-ไทย ที่ได้รวบรวมเอาเรื่องเล่าและเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้คนบนเส้นเวลาประวัติศาสตร์ช่วงยาวนับตั้งแต่สมัยอยุธยากระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน (2568) มารวมไว้ด้วยกันเท่าที่จะทำได้ ด้วยความที่หนังสือ "ประวัติจีนกรุงสยาม" มีจำนวนหน้าที่ค่อนข้างมาก ทำให้เนื้อหาของ "ประวัติจีนกรุงสยาม" ถูกแบ่งออกเป็น 3 เล่ม อันประกอบไปด้วย
.
[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1] สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งเนื้อหาของการเล่าเรื่องตั้งแต่ช่วงเวลาที่ชาวจีนเข้ามามีบทบาททางการค้าในช่วงสมัยอยุธยา กระทั้งการเข้ามามีบทบาทในราชการงานเมืองของกรุงศรีอยุธยา และต่อมากระทั่งถึงสมัยธนบุรี (ที่เจ้าผู้ปกครองมีเชื้อจีน) กระทั่งถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ในช่วงสมัยคาบเกี่ยวกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งในฐานะของพ่อค้า เจ้าภาษีนายอากร กระทั่งในบทบาทของทหาร เจ้าเมืองและรวมไปถึงบทบาทของเจ้าผู้ปกครอง โดยที่เนื้อหาของหนังสือเล่มที่ 1 แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 3 บท อันประกอบไปด้วย
.
บทที่ 1 จีนกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1894 - 2310)
.
บทที่ 2 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310 - 2325)
.
บทที่ 3 คนของพระราชา (พ.ศ. 2325 - 2398)
.
[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 2] ยุคล่าอาณานิคม เล่าเรื่องของชาวจีนในสยาม ณ ช่วงเวลาของการเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการจัดเก็บรายได้ของรัฐอย่างการผูกขาดการค้าและภาษีไปสู่การทำการค้าภายใต้สนธิสัญญากับชาติตะวันตก ผ่านรูปแบบของสนธิสัญญาทางการค้า และภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้เองชาวจีนที่เป็นคนกลุ่มสำคัญในเรื่องของการค้าให้กับรัฐมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของตนเอง และรวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบเจ้าภาษีนายอากรที่เปลี่ยนมาสู่การดำเนินการโดยรัฐ คนจีนในสยาม ณ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการปรับตัว ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดช่วง พ.ศ. 2398-2468 สำหรับเนื้อหาของหนังสือเล่มที่ 2 นี้ แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 2 บท ได้แก่
.
บทที่ 4 ยุคการอพยพของแรงงานจีน (พ.ศ. 2398 - 2443)
.
บทที่ 5 จีนกลาย-ไทยกลืน (พ.ศ. 2393 - 2468)
.
[ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 3] ยุคก่อร่างสร้างประเทศไทย เล่มสุดท้ายของหนังสือชุด "ประวัติจีนกรุงสยาม" ในส่วนนี้บอกเล่าเรื่องราวของคนจีนที่เดินทางเข้ามาในสยามและใช้ชีวิตในฐานะของกลุ่มคนจีนรุ่นที่ 2-3 ของสังคมสยาม-ไทย โดยเนื้อหาในเล่มมุ่งเน้นไปที่ช่วงเวลาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (ที่มีคนจีนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว) และการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มคนจีนในการสมาคมต่าง ๆ ทั้งในมิติของอังยี่ และในมิติของการให้ความช่วยเหลือชาวจีนในช่วงสงครามโลกของคนจีนในไทย กระทั่งช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงจากจีนเป็นไทยและการเกิดขึ้นของบรรดาเจ้าสัวสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่กระทั่งปัจจุบันในหลากหลายตระกูล โดยเนื้อหาในเล่มที่ 3 แบ่งออกเป็น 3 บทดังนี้
.
บทที่ 6 ความภักดีนี้ใครกำหนด (พ.ศ. 2443 - 2488)
.
บทที่ 7 ลอดผ่านม่านไผ่ (พ.ศ. 2488 - 2518)
.
บทที่ 8 ไทยจีนยามฟ้าใหม่ (พ.ศ. 2518 - ปัจจุบัน)
.
"ประวัติจีนกรุงสยาม" ทั้ง 3 เล่ม นับเป็นความพยายามในการบอกเล่าเรื่องราวของ "คนจีน" ในสยาม-ไทย ณ ช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่การเข้ามาของคนจีนในสมัยอยุธยา การเข้ามามีบทบาทในฐานะของพ่อค้า ที่ปรึกษา เจ้าภาษี ข้าราชการ ฯลฯ ของคนจีนในช่วงเวลาที่อยุธยากำลังเจริญรุ่งเรืองในฐานะของเมืองการค้าอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค กระทั่งถึงเรื่องราวของคนจีนที่กู้ชาติภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2310) และเรื่องราวของคนจีนอีกหลายผู้คนที่เข้าไปมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองการเปลี่ยนอำนาจ การกำหนดกิจกรรมและกิจการของสังคมสยาม-ไทย และรวมไปถึงการบอกเล่าเรื่องราวของบรรดาเจ้าสัวนักธุรกิจและกลุ่มตระกูลที่เติบโตมาเป็น 1% ของสังคมไทย ทั้งหมดที่ปรากฏใน "ประวัติจีนกรุงสยาม" คือความพยายามของผู้เขียนที่จะถ่ายทอดประวัติศาสตร์ช่วงยาวของ "ประวัติ (คน) จีนในกรุงสยาม" เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของคนจีนมาสู่ความเป็นคนไทย ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in