เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
จัดแบ่ง แข่งอำนาจ By อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
  • รีวิวเว้ย (1695) ย้อนกลับไปในช่วงการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ในช่วงเวลานั้นมีคนให้ความสนใจกับระบบเลือกและการนับคะแนนของ กกต. ที่ภายหลังจากการลงคะแนนปิดหีบเลือกตั้งและภายหลังการนับคะแนนเสร็จสิ้น การคำนวนคะแนนที่นั่งของพรรคการเมืองแต่ละพรรคดูสับสนวุ่นวาย การจัดสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้เข้ามาในสภาก็สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนอย่างมากอันเป็นผลมาจากการออกแบบระบบเลือกตั้ง กระทั่งความชุลมุนจากการเลือกตั้งยังคงดำเนินไปอีกหลายวันภายหลังจากการลงคะแนน เพราะด้วยระบบการนับคะแนนและระบบเลือกตั้งที่นำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนั้นต่างสร้างความประหลาดใจให้กับใครหลายคน เผลอ ๆ จะรวมถึงหน่วยจัดการเลือกตั้งอย่าง กกต. ด้วย ที่ทำให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นที่พูดถึงและตั้งคำถามอย่างมากว่ามันเกิดอะไรกันขึ้น ? เพราะการเลือกตั้งในครั้งนั้นดูจะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่สลับซับซ้อนจนยากต่อการทำความเข้าใจ
    หนังสือ : จัดแบ่ง แข่งอำนาจ: สัณฐานพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
    โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
    จำนวน : 256 หน้า 
    .
    "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ: สัณฐานพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง" (ต่อไปนี้จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า จัดแบ่ง แข่งอำนาจ) หนังสือวิชาการที่ว่าด้วยเรื่องของ "พรรคการเมือง" และ "การเลือกตั้ง" ที่จะนำพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจถึงเรื่องราวของพรรคการเมืองและการเลือกตั้งว่า คืออะไร สำคัญอย่างไร และเหตุไฉน เราถึงควรทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเอาไว้บ้าง 
    .
    อย่างที่กล่าวไปในเบื้องแรงว่า "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" คือ หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ที่ผู้เขียนเก็บสะสมประสบการณ์ คำถาม วิธีการนำเสนอ และข้อสงสัยจากผู้เรียนในชั้นเรียน กว่า 10 ปี จากห้องเรียนวิชา ร.221 พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์และการเลือกตั้ง ในคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาร้อยเรียงเป็นหนังสือ "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" โดยตั้งต้นจากการนำเสนอความหมาย นิยาม ที่มาที่ไป พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และกรณีศึกษา ที่สะท้อนภาพในเรื่องของ "พรรคการเมือง" และ "การเลือกตั้ง" ผ่านการนำเสนอพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงเชิงเทคนิค และตัวอย่างของพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนอยู่ในแต่ละบทตอนของหนังสือ
    .
    โดยเนื้อหาของ "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" ตั้งต้นด้วยบทนำที่พาผู้อ่านไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของการศึกษา และงานศึกษาว่าด้วยพรรคการเมืองและการเลือกตั้งในสังคมไทย ว่าที่ผ่านมามีงานอะไร มีช่องว่างอย่างไร และมีพัฒนาการของงานศึกษาในแต่ละสำนักและช่วงเวลาอย่างไรแล้วอะไรที่ขาดหายไปจากงานศึกษาในครั้งอดีต กระทั่งร้อยเรียงเนื้อหาต่อด้วยเรื่องของ "พรรคการเมือง" ทั้งที่มา ความสำคัญ ประเภท องค์ประกอบ และตามมาด้วย "ระบบเลือกตั้ง" อันเป็นระบบที่มีความสำคัญ บ้างเรียบง่าย บ้างซับซ้อน แต่ทั้งหมดนั้นกุมชะตาของรัฐหนึ่ง ๆ ผ่านรูปแบบของระบบเลือกตั้งที่สามารถ "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" ของรัฐได้หากเลือกใช้กลไกหรือระบบอย่างใดอย่างหนึ่ง และใน 2 บทสุดท้ายของหนังสือที่เสริมด้วยคำถามต่อเรื่องของพัฒนาการและความท้าทาย ของพรรคการเมืองและการเลือกตั้งที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย และขมวดปมปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญว่า "เราออกแบบสถาบันการเมืองได้หรือไม่ ?" ซึ่งทั้งหมดนี้คือเนื้อหาของ "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" ที่แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
    .
    บทนำเสนอ
    .
    บทที่ 1 พรรคการเมือง: พัฒนาการของความหมายและบทบาทหน้าที่
    .
    บทที่ 2 ประเภทพรรคการเมือง
    .
    บทที่ 3 ระบบพรรคการเมือง
    .
    บทที่ 4 การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย และอำนาจนิยม
    .
    บทที่ 5 ระบบเลือกตั้ง: บทนำและระบบเลือกตั้งเสียงข้างมาก
    .
    บทที่ 6 ระบบเลือกตั้ง: ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนและระบบผสม
    .
    บทที่ 7 พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และพลวัตต่อการพัฒนาประชาธิปไตย
    .
    บทส่งท้าย เราออกแบบสถาบันการเมืองได้หรือไม่
    .
    สำหรับคนที่เรียนรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จบมาร่วม 10 ปี (เข้าเรียนปีที่ผู้เขียนเข้าสอน) การทำความเข้าใจในเรื่องของพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะด้วยสมัยก่อน การเรียนวิชาดังกล่าว (ร. 211) มักใช้ตำราจากต่างประเทศเป็นหลัก และแน่นอนว่าการอ่านภาษาอังกฤษที่เป็นเรื่องเชิงเทคนิคอย่างเรื่องของพรรคการเมือง การเลือกตั้ง ที่มีความแปลกประหลาดของศัพท์ และพวงตามด้วยสูตรทางสถิติเข้ามาร่วมด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการเรียนในสมัยนั้น หากแต่ "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" นับเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ได้สกัดเอาหัวใจสำคัญของตำราหลาย ๆ เล่มที่ใช้ในการเรียนการสอนมาร้อยเรียงและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ให้อ่านง่าย เข้าใจได้ และตอบข้อสงสัยจากที่เคยเกิดขึ้นในชั้นเรียนในสมัยที่ใช้ตำราภาษาอังกฤษเป็นฐาน น่าสนใจว่าการวางโครงเรื่องและการบอกเล่าของ "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นถึงความเชื่อมโยง ต่อเนื่องและมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง "พรรคการเมือง" และ "การเลือกตั้ง" ในแบบที่เราจะเห็นถึงสภาวะความสัมพันธ์แบบ "จัดแบ่ง แข่งอำนาจ" ได้อย่างบริบูรณ์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องปีนกระไดอ่าน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in