รีวิวเว้ย (1679) มหาวิทยาลัย (วิชา) ธรรมศาสตร์ (และการเมือง) นับเป็นมหาวิทยาลัยเปิด (Open University) แห่งแรกของไทยที่จัดการเรียนการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 ภายหลังจึงเปลี่ยนมาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปิด ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนในระยะแรกตั้งที่องค์ความรู้ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นสำคัญ กระทั่งเมื่อเวลาผ่านกว่า 90 ปี ธรรมศาสตร์ได้ปรับตัวและขยายพรมแดนความรู้ไปไกลกว่าแค่องค์ความรู้ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เท่านั้น ทั้งการมีโรงเรียนแพทย์และคณะสายวิทยาศาสตร์ที่ทวีจำนวนขึ้นในกาลต่อมา อีกทั้งความน่าสนใจประการหนึ่งของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหลายช่วงตอนมักแฝงไว้ด้วยประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่ธรรมศาสตร์ และคนธรรมศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเสมอ
หนังสือ : ธรรมศาสตร์นวุติวัสส์: มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน
โดย : กษิดิศ อนันทนาธร บก.
จำนวน : 192 หน้า
.
"ธรรมศาสตร์นวุติวัสส์: มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" จัดทำขึ้นในฐานะของหนังสือที่ระลึกในวาระ 90 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการนำเสนอเนื้อของ "ธรรมศาสตร์นวุติวัสส์: มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" ถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่
.
ภาคที่ 1 ของหนังสือได้ แก้ไขเพิ่มเติมและเรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทที่ 1-3 ของหนังสือ "สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง" (มิถุนายน 2535) ที่ตัวหนังสือนั้นพัฒนาขึ้นมาจากงานวิจัยเรื่อง "ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ที่เป็นดำริของ เสน่ห์ จามริก ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา เมื่อปลายปี พ.ศ. 2525 ซึ่งตัวงานวิจัยแล้วเสร็จแบบไม่สมบูรณ์เมื่อต้น พ.ศ. 2527 และถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือครั้งแรกใน พ.ศ. 2535 ดังที่กล่าวไป
.
ส่วนภาคที่ 2 ของหนังสือได้ ทำการสัมภาษณ์อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 4 ท่าน ที่ในแต่ละยุคสมัยของอธิการบดีแต่ละท่านมีเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แตกต่างกันออกไป แต่ส่งผลสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งสิ้น โดยเนื้อหาทั้งหมดของ "ธรรมศาสตร์นวุติวัสส์: มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" มีรายละเอียดดังนี้
.
[ภาคที่ 1 ก่อร่างสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2490)]
.
บทที่ 1 การสถาปนาและการบริหาร ม.ธ.ก.
.
บทที่ 2 การเรียน การสอน อาจารย์ และนักศึกษา ม.ธ.ก.
.
[ภาคที่ 2 เหลียวหลัง แลหน้า 90 ปี ธรรมศาสตร์ ]
.
บทที่ 1 รองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ชัยสูตร ก้าวสำคัญของการพัฒนาศูนย์รังสิต ลำปาง และพัทยา
.
บทที่ 2 ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ สู่หนึ่งศตวรรษ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง
.
บทที่ 3 ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ธรรมศาสตร์กับการเมืองไทย และโลกที่เปลี่ยนแปลง
.
บทที่ 4 รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ ธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน
.
"ธรรมศาสตร์นวุติวัสส์: มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการของความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย ที่ทั้งผูกโยงอยู่กับประวัติศาสตร์ของสังคม-การเมืองไทย อีกทั้ง "ธรรมศาสตร์นวุติวัสส์: มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" ยังแสดงให้เห็นถึงความท้าทายต่อมหาวิทยาลัย ทั้งในมิติของการจัดการเรียนการสอน มิติทางการเมือง มิติความเปลี่ยนแปลงของสังคม และรวมไปถึงแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวให้พร้อมรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไปในภายหน้า น่าสนใจว่าในปีที่ 100 ธรรมศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in