เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ตำรับสร้าง [รส] ชาติ By นริศ จรัสจรรยาวงศ์
  • รีวิวเว้ย (1678) เรื่องกินเรื่องใหญ่ ! เราน่าจะเคยได้ยินคำพูดนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเรื่องของอาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของคนไทย ดังที่ปรากฏในคำทักทายที่ติดปากผู้คนในสังคมอย่างการชวนกินข้าวเมื่อเจอหน้า หรือถามว่า "กินอะไรมาหรือยัง ?" ที่ถ้าชาวต่างชาติได้รับคำทักทายดังกล่าวก็คงแปลกใจไม่น้อยว่าเหตุใดคนไทยจึงเน้นทักกันเรื่องกิน ถามกันเรื่องปากท้อง และเป็นห่วงเป็นใยกันในเรื่องของการดำรงชีพผ่านอาหาร เมื่อย้อนกลับไปให้ไกลกว่าเรื่องของรสชาติของอาหาร เราจะพบว่าแท้จริงแล้วเรื่องราวของอาหารในสังคมไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มีบทบาทที่มากไปกว่าเรื่องของการหาอะไรเติมเข้าท้องเพื่อขจัดความหิว หากแต่อาหารแต่ละมื้อ สูตรอาหารแต่ละแบบต่างแฝงฝังไว้ด้วยเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าค้นหาติดตาม
    หนังสือ : ตำรับสร้าง [รส] ชาติ
    โดย : นริศ จรัสจรรยาวงศ์
    จำนวน : 352 หน้า 
    .
    "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" หนังสือที่ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องของรสชาติอาหาร วิธีการทำอาหาร หรือมิได้บอกเล่าเรื่องราวของการปรุงรสอาหารแต่ประการใด หากแต่ "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" มุ่งนำเสนอเรื่องราวของ "ตำรับ (ตำรา)" อาหารที่ปรากฏขึ้นตลอดมาในประวัติศาสตร์ของสยามถึงไทย โดยการพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจ ทำความรู้จัก และลงไปศึกษาเบื้องลึกเบื้องหลังของตำราอาหารแต่ละเล่มที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมจากสยามถึงไทย ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในนั้นบ้างที่มากไปกว่าเรื่องของเทคนิควิธีในการปรุงอาหารสร้างรสชาติ
    .
    "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" นำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ของตำราอาหารที่ปรากฏขึ้นในสยาม ตั้งแต่หนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ ตำหรับสายเยาวภา การก่อกำเนิดขึ้นของโรงเรียนการครัวและโรงเรียนกุลสตรีแห่งต่าง ๆ ในสยาม-ไทย อีกทั้ง "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" ยังบอกเล่าเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงของอาหารและตำรับอาหารที่เชื่อมโยงอยู่กับเหตุการณ์ในช่วงเวลาต่าง ๆ ของสังคมสยามถึงไทย นับตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช สู่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระทั่งถึงช่วงเวลาของการกลับมาผงาดของสูตรอาหารชาววังและรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของอาหารริมทางผ่านวัฒนธรรมการให้ป้ายรับรองรสชาติ สำหรับเนื้อหาใน "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" แบ่งไว้ 6 บริเฉก /น./ ดังนี้
    .
    บริจเฉก 1 แรกมีตำรากับข้าวสยาม
    .
    บริจเฉก 2 มุขปาฐะและลายลักษณ์ ตำหรับ (สะกดตามหนังสือ) สายเยาวภากับตำราแม่ครัวหัวป่าก์
    .
    บริจเฉก 3 วังแตก ร.ศ. 150 สุดยอดตำรับ "คาว-หวาน" ยุคคณะราษฎร
    .
    บริจเฉก 4 โรงเกาเหลา กุ๊กช๊อป ภัตตาคาร จีน ฝรั่ง ไทย
    .
    บริจเฉก 5 "ตื่นถั่วเหลือง"  ลัทธิโปรตีนนิสต์ สมัยปฏิวัติ 2475
    .
    บริจเฉก 6 คู่มือประกอบอาหารหลังสงคราม สู่การฟื้นฟูกับข้าวราชสำนักกับนานาจานด่วนไทย
    .
    "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" เป็นมากกว่าหนังสือที่นำเสนอเรื่องราวของรสชาติอาหารและวิธการปรุงรส การอ่าน "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" ผ่านไปแต่ละหน้าไม่ได้ทำให้เรารู้สึกหิวกระหายต่ออาหารหรือสูตรอาหารที่ผ่านไปในแต่ละหน้า หากแต่ "ตำรับสร้าง [รส] ชาติ" กระตุ้นให้เราอยากหาคำตอบของคำถามที่ว่า เหตุใดอาหารจึงเป็นมากกว่าอาหาร และสูตรอาหารจึงเป็นมากกว่าแค่เรื่องของปากท้อง ยังมีเรื่องราวใดอีกที่ซ่อนเงื่อนอยู่หลังสำรับอาหารของแต่ละบ้านแต่ละสังคม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in