รีวิวเว้ย (1651) "ทรรศนะโดยรวมของนักอัตถิภาวนิยม คือชีวิตไม่ได้ถูกมอบให้กับเราในแบบที่มีความหมายและเป้าหมายพร้อมสรรพ แต่ 2 สิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นเอง อัตถิภาวนิยมได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้คนตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิต และต้องการปรัชญาที่ชวนให้คิดบวกและเป็นเครื่องยืนยันตัวเอง … อัตถิภาวนิยมว่าด้วยประสบการณ์การใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์ มันว่าด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกและการรับมือกับองค์ประกอบ 2 ประการของชีวิต ได้แก่ สภาวะการที่เราประสบและความปรารถนาที่จะก้าวข้ามตัวเอง วางแผน และกำหนดรูปอนาคตของเราอยู่เสมอ" (น. 1-11) อัตถิภาวนิยมไม่ใช่แค่ปรัชญา แต่เป็นวิถีชีวิต เป็นวิธีการสำรวจในศิลปะและวรรณกรรม และเป็นการยืนยันตัวเองรูปแบบหนึ่ง ที่มีผลพวงทางจริยธรรมอย่างลึกล้ำ อีกทั้งยังเป็นปรัชญาแห่งเสรีภาพและความรับผิดชอบ ซึ่งท้าทายให้ปัจเจกปั้นแต่งชีวิตของตัวเอง ยอมรับอัตลักษณ์เฉพาะตัว มากกว่าจะพยายามหลีกหนีโดยการคล้อยตามสังคม
หนังสือ : เข้าใจ 'อัตถิภาวนิยม' ด้วยตนเอง
โดย : ไนเจล รอดเจอร์ส และ เมล ธอมป์สัน แปล รติพร ชัยปิยะพร
จำนวน : 352 หน้า
.
"เข้าใจ 'อัตถิภาวนิยม' ด้วยตนเอง" ในชื่อภาษาอังกฤษว่า "Teach Yourself Understand Existentialism" หนังสือเล่มหนาที่จะพาเราไปทำความเข้าใจถึงแนวคิดอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่เป็นแนวคิดสำคัญทางปรัชญาที่ปรากฏขึ้นและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งความน่าสนใจประการหนึ่งของอัตถิภาวนิยม คือ สถานะของแนวคิดถูกพัฒนา ต่อยอด ขยายความและสร้างขึ้นหลาย ๆ หนจากผลงานด้านวรรณกรรมและศิลปะ ผ่านผลงานของนักคิด นักเขียนและศิลปินหลาย ๆ คน อาทิ ดอสโตเยฟสกี้, นิตเช, คาฟคา, กามู, ซาร์ตร์, ปงตี, เดอ-โบวัวร์ ฯลฯ
.
ซึ่ง "เข้าใจ 'อัตถิภาวนิยม' ด้วยตนเอง" จะพาเราไปทำความเข้าใจถึงความเป็นอัตถิภาวนิยม โดยที่หนังสือไม่ลืมที่จะย้ำซ้ำ ๆ กับเราว่าหัวใจหลักที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะของอัตถิภาวนิยม มีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่ (1) อัตถิภาวนิยมไปไกลกว่าการแบ่งแยกระหว่างอัตวิสัยและภาวะวิสัย (2) อัตถิภาวนิยมว่าด้วยการใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง (3) อัตถิภาวนิยมเริ่มที่ปัจเจก และ (4) อัตถิภาวนิยมหลบหลีกคำนิยาม ทำให้การนิยามหรือการพยายามกำหนดนิยามของอัตถิภาวนิยมไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่แน่ใจว่าจำเป็นหรือควรกระทำเช่นนั้นหรือไม่
.
ในส่วนของเนื้อหาของ "เข้าใจ 'อัตถิภาวนิยม' ด้วยตนเอง" ด้วยการออกแบบเนื้อหาที่ผู้เขียนต้องการให้หนังสือเล่มนี้สามารถให้ผู้อ่านศึกษาและทำความเข้าใจอัตถิภาวนิยมได้ด้วยตัวเอง เนื้อหาของหนังสือจึงเริ่มต้นในทุกบทด้วยแนวทางที่จะบอกว่าในแต่ละบทนำเสนอเนื้อหาอะไร แนวทางของการนำเสนอเป็นอย่างไร และในส่วนท้ายของแต่ละบทจะปิดบทด้วย "10 สิ่งที่ควรจำ" เพื่อเป็นการตอกย้ำกับผู้เขียนว่าการเล่าเรื่องราวของอัตถิภาวนิยมในแต่ละบทนั้นมีเรื่องสำคัญที่ควรจดจำอยู่ที่เรื่องใดบางและควรจดจำมันอย่างไร สำหรับเนื้อหา "เข้าใจ 'อัตถิภาวนิยม' ด้วยตนเอง" ถูกแบ่งเป็น 9 บทหลักกับ 1 บทส่งท้าย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
.
1. อัตถิภาวนิยมคืออะไร
.
2. การใช้ชีวิตในอันตราย: รากของอัตถิภาวนิยม
.
3. ระหว่างเกิดและตาย
.
4. การดำรงอยู่มาก่อนสารัตถะ
.
5. ชีวิตที่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง
.
6. อิสรภาพ ตัวเลือก และความรับผิดชอบ
.
7. ปัจเจก ศิลปะ และสังคม
.
8. อัตถิภาวนิยมและศาสนา
.
9. ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและความไร้แก่นสาร: นวนิยายของซาร์ตร์และกามู
.
บทส่งท้าย: เกิดอะไรขึ้นกับอัตถิภาวนิยม
.
ตลอดความยาวของ "เข้าใจ 'อัตถิภาวนิยม' ด้วยตนเอง" ทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าอะไรคืออัตถิภาวนิยม มันมีรากก่อกำเนิดอย่างไร มีพลวัตความเปลี่ยนแปลง มีทิศทางของการเติบโตและแพร่กระจายเช่นไร และที่สำคัญคือ "เข้าใจ 'อัตถิภาวนิยม' ด้วยตนเอง" ตอกย้ำกับเราในฐานะผู้อ่านให้เห็นและเข้าใจในความเป็นอัตถิภวนิยมและเตือนตัวเองเสมอ ๆ ดังข้อความตอนหนึ่งที่ปรากฏในเล่มว่า "ทางที่ดีที่สุดในการศึกษาแนวคิดอัตถิภาวนิยม คือการเข้าไปหาด้วยใจที่เปิดกว้าง และแข็งขืนต่อความยั่วยวนของการคาดหวังว่าทุกถอยคำต้องมีคำนิยามที่แจ่มชัดสมบูรณ์ ทุกวันนี้มีเพียงไม่กี่คนที่จะบอกว่าตัวเองเป็น "นักอัตถิภาวนิยม" อย่างเป็นทางการ หรือเจาะจงแต่เพียงอย่างเดียว แต่นั่นก็เป็นเรื่องดี เพราะผู้ที่พยายามตีตราตัวเองว่าเป็นนักอัตถิภาวนิยมอาจแค่ใช้มันเป็นหน้ากากเท่านั้น สิ่งที่สำคัญและเป็นสาเหตุที่อัตถิภาวนิยมมีคุณูปการมากก็คือการที่เรายังจำเป็นต้องตั้งคำถาม เรื่องการดำรงอยู่ของเราเอง"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in