รีวิวเว้ย (1620) "เพราะเราต่างขาดพร่อง เราจึงเป็นมนุษย์ผู้ปรารถนามาตั้งแต่แรก เพราะเราต่างขาดพร่อง เราจึงจินตนาการถึงความสมบูรณ์เติมเต็ม" ความตอนหนึ่งใน "เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์" ที่บอกนัยของการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างและท้าทายต่อความปรารถนาของมนุษย์ที่สร้างและส่งเสริมจินตนาการของชีวิตและชุมชน ผ่านความขาดพร่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน เพื่อเติมเต็มและแต่งแต้มความขาดพร่องที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์
หนังสือ : เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์
โดย : สรวิศ ชัยนาม
จำนวน : 180 หน้า
.
"เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์" หนังสือขนาดไม่ใหญ่นักที่บรรจุเอาแนวคิดสำคัญอย่าง "จิตวิเคราะห์" (psychoanalysis) มาใช้ในการอธิบายเหตุการณ์และเหตุผลบางประการในทางการเมือง โดยที่หนังสือ "เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์" นำเสนอแนวคิดจิตวิเคราะห์ผ่านเรื่องของ "เอนจอยเมนต์" (enjoyment) ซึ่งมีที่มาจากนักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสอย่าง ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) โดยโจทย์หนึ่งของงานชิ้นนี้คือการตั้งคำถามว่าเหตุใด "เราถึง ‘เอนจอย’ ชาตินิยมได้?"
.
ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับผู้คนที่ไม่ได้ลงลึกในเรื่องของความแตกต่างระหว่างคำ "ความพึงพอใจ" กับคำว่า "เอนจอย" (รวมถึงตัวเองด้วย) ไม่ได้มองเห็นความแตกต่างของคำทั้ง 2 เท่าไหร่นักในการให้ความหมายของภาษาไทย เพราะในหลายหนเราเข้าใจไปเองว่า "เอนจอย = สนุก/พึงพอใจ" กระทั่งเมื่ออ่าน "เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์" ช่วงตอนหนึ่งของหนังสือผู้เขียนได้แยกคำทั้งคู่ออกจากกันอย่างชัดเจน ผ่านการชี้ให้เห็นความแตกต่างไว้ดังนี้ "...หากความพึงพอใจมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงและการจำกัดความน่าตื่นเต้น เอ็นจอยเมนก็เป็นเรื่องของความล้นเกินและการสั่งสมความน่าตื่นเต้นหรือแรงกดดัน เช่น การต่อแถวรอกินอาหารร้านโปรดเป็นชั่วโมงนั่นคือเอนจอยเมนต์ แต่เวลาได้กินคือความพึงพอใจ … กล่าวโดยสรุปคือเอนจอยเมนต์ (หรือสิ่งที่ Freud เรียกว่า 'death drive') นั้นเป็นสิ่งที่ 'ข้ามพ้นหลักแห่งความพึงพอใจ'" (น. 27-28) .
สำหรับเนื้อหาของ "เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์" แบ่งออกเป็น 3 บท ดังนี้
.
บทที่ 1 จิตวิเคราะห์ การเมือง และการปลดปล่อย
.
บทที่ 2 สิ่งที่ฝ่ายเสรีนิยมเข้าใจผิด เรื่องอัตลักษณ์ชาติไทย ทฤษฎีจิตวิเคราะห์และนิทรรศการชุด “ถอดรหัสไทย” โดยมิวเซียมสยาม
.
บทที่ 3 การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์ในประเทศไทย ซ้ายและขวา 2020-2021
.
การชักชวนให้ตั้งคำถามของ "เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์" เพื่อมองและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องของ "ชาติ" และ "ชาตินิยม" ในมุมมองของการใช้แนวทางแบบจิตวิเคราะห์ ทำให้เรามองเห็นมุมมองที่แตกต่างออกไปของเหตุการณ์และปรากฏการณ์ทางการเมืองในหลาย ๆ เรื่อง ที่เราอาจจะเข้าใจเหตุการณ์เหล่านั้นได้ในอีกมุมหนึ่ง ผ่านการใช้แนวทางของจิตวิเคราะห์ดังที่ปรากฏอยู่ใน "เพราะเราต่างขาดพร่อง: การเมืองเรื่องเอนจอยเมนต์" ที่ผู้เขียนได้นำเสนอผ่านตัวอย่างในแต่ละบทของหนังสือ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in