เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม By ธงชัย วินิจจะกูล
  • รีวิวเว้ย (1591) คำพูดติดตลกที่ฟังแล้วขำบ้างไม่ขำบ้างของวงวิชาการไทยโดยเฉพาะวงวิชาการทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เมื่อว่ากันถึงเรื่องของรัฐการหยิบยกเอาประเด็นในเรื่องของความเป็น "นิติรัฐ (Rule of Law)" ขึ้นมาพูดถึงและใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการจำแนกความเป็นรัฐที่ดี (ในทางสากล) มักจะปรากฎขึ้นมาแทบทุกครั้งในฐานะของมาตรวัดหนึ่ง ๆ ของความเป็นรัฐที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาอีกครั้งว่า "แล้วรัฐไทยนี่เป็น 'นิติรัฐ' รึเปล่า" หลายคนตอบได้และอีกหลายคนก็ตอบได้ไม่เต็มปาก เพราะการที่เราจะบอกว่ารัฐไทยอยู่ในลักษณะของรัฐที่มีความเป็น "Rule of Law" ก็ดูจะเป็นความกระดากอายจนเกินงามไปมาก แต่ก็มีหลายคนที่เชื่อว่ารัฐไทยเป็นแบบนั้นจริง ๆ และก็มีอีกหลายคนที่มองว่ารัฐไทยเองจัดอยู่ในลักษณะของ "Rule by Law" หรือการปกครองด้วยกฎหมาย ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากกับการปกครองแบบ "Rule of Law" หรือการปกครองของกฎหมาย หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าแล้ว "ของ" กับ "ด้วย" ต่างกันยังไง ? เอาจริงคำตอบของความแตกต่างของคำทั้ง 2 นี้อยู่ในหนังสือเล่มนี้และความแตกต่างของคำทั้ง 2 ก็เป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของงานชิ้นนี้ด้วย 
    หนังสือ : นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม
    โดย : ธงชัย วินิจจะกูล
    จำนวน : 250 หน้า
    .
    "นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม" เป็นหนังสือในวาระการจัดงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากร ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อระลึกถึง "อาจารย์ป๋วย" ชายผู้ที่ถูกขนานนามว่า "คนตรงในประเทศคด" หนังสือ "นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม" เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบนเวทีในครั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังคงดำเนินไปบนเส้นทางของ "นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม" ที่หลายคนอาจจะไม่เคยคิดเลยว่าเราอยู่บนถนนสายนี้มานานเท่าไหร่แล้ว
    .
    "นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม" เป็นข้อเสนอของธงชัย วินิจจกูล ด้วยการกลับไปทำการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของการถือกำเนิดขึ้นของ "ระบบกฎหมาย" ของไทยนับตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิรูประบบกฎหมายให้มีความเป็นสากล กระทั่งจนปัจจุบัน ข้อคำถามสำคัญของงานชิ้นนี้คือการศึกษาถึง "ประวัติภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย" ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เราเรียนกันว่า "นิติรัฐ" และ "นิติธรรม" ในประเทศไทยนั้นมีกำเนิดมาเมื่อไหร่ และการก่อกำเนิดของแนวคิดดังกล่าววางตัวอยู่บนฐานของการเป็น "นิติรัฐ" และ "นิติธรรม" ในแบบที่สากลเข้าใจกันจริงรึเปล่า
    .
    งานชิ้นนี้กลับไปตั้งคำถามถึงที่มาไปของระบบกฎหมายของไทยในฐานะของกระดุมเม็ดแรกที่ถูกกลัดลงไปในสาบเสื้อ หากกระดุมเม็ดแรกถูกกลัดผิดที่ก็ไม่มีทางที่กระดุมเม็ดต่อ ๆ ไปจะอยู่ถูกตำแหน่งของมันอย่างแน่นอน ข้อเสนอสำคัญของงานชิ้นนี้ปรากฎอยู่ในชื่อหนังสือที่ว่า "นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม" สองสิ่งนี้นับเป็นระบบกฎหมายของไทยนับตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นกรุงสยาม หลายครั้งเราลืมตั้งคำถามง่ายที่สุดว่าสิ่งพื้นฐานที่เราเชื่อถือและรับรู้นั้นมันเป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้อย่างไร และแบบที่มันเป็นอยู่มันถูกต้องจริง ๆ แล้วหรือไม่ งานชิ้นนี้จะพาเราย้อนกลับไปตั้งคำถามและหาคำตอบที่พื้นฐาน ณ จุดกำเนิดของระบบกฎหมายสมัยใหม่ของรัฐไทย
    .
    ทุกวันนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็น กระบวนการทางกฎหมายทั้งรูปแบบ วิธีการ ขั้นตอนและรวมไปถึงระบบยุติธรรมที่ถูกใช้เป็น "เครื่องมือ" ของการสร้างความชอบธรรมผ่านความชอบด้วยกฎหมาย (แบบไทย ๆ) นอกเหนือจากนิติวิธีแล้วหลายปีมานี้เราจะเห็นว่ารัฐไทยอาศัยกลไกและเครื่องมือทางกฎหมาย "ทั้งกระบวนการ" ในการรับใช้และสร้างความชอบธรรมบางประการให้กับกลุ่มผู้ถือครองอำนาจ "นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม"


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in