เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
The Lost Forest By วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
  • รีวิวเว้ย (1475) หลายปีมานี้เรามีโอกาสได้เห็นงานหลาย ๆ ชิ้นพูดถึงเรื่องของ "มนุษยสมัย" หรือ "แอนโทรโปซีน" (Anthropocene) ที่เป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอโดย พอล ครุตเซน นำเสนอมุมมองในเรื่องของการกระทำของ "มนุษย์" ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้เรียกยุคสมัยทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นจากผลงานของมนุษย์ที่ได้ทิ้งรอยเท้าของตัวเองฝากไว้บนพื้น (และใต้) โลก ซึ่งในไทยเองช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะได้เห็นงานหลายชิ้นที่หยิบเอาเรื่องของมนุษยสมัยมาใช้ในงานศึกษา โดยเฉพาะงานศึกษาทางด้านสังคมวิทยา และงานทางด้านสิ่งแวดล้อม หากย้อนกลับไปก่อนที่คำว่าแอนโทรโปซีนจะถูกคิดขึ้น เราจะพบว่าเป็นเวลาหลายร้อยปีที่มนุษย์ได้สร้าง "มนุษยสมัย" ให้กับโลกใบนี้ก่อนที่จะก่อเกิดแนวคิดดังกล่าวหรือแม้กระทั่งแนวคิดใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเสียอีก น่าสนใจว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วงเวลาประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์สร้างโลกแบบไหนและส่งมอบโลกแบบไหนให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมของโลกที่ถูกส่งจากมือต่อมือ และในไทยเองความเปลี่ยนแปลงของมนุษยสมัยนับตั้งแต่ "มนุษย์สยามสมัย" กระทั่งถึง "มนุษย์กรุงเทพฯ สมัย" พวกเราผ่านอะไรมาบ้างและจะต้องเผชิญกับอะไรต่อไปในภายหน้า ?
    หนังสือ : The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร
    โดย : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
    จำนวน : 456 หน้า
    .
    "หากประวัติศาสตร์คือการบันทึกเรื่องราวในอดีต หนังสือ The Lost Forest ประวัติศาสตร์การทำลายสิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร ก็เปรียบเสมือนบันทึกความทรงจำของผู้เขียนที่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายครั้งในช่วงเวลาสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา..." (น. 20) ข้อความตอนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ใน "The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร" คงทำหน้าที่บอกเล่าและสะท้อนเรื่องราวและเรื่องเล่าที่จะปรากฏต่อไปในหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี
    .
    "The Lost Forest" หนังสือเล่มไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังสือ บอกเล่าเรื่องราวของความน่าสลดหดหู่ของสังคมจากสยามสมัย ถึงกรุงเทพฯ สมัยที่สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สัตว์ป่า และวิถีชีวิตของผู้คน ต้องถูกทำร้าย ทำลายและทำให้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล นับตั้งแต่เรื่องเล่าถึงการเข้ามาของแนวคิดในการเปลี่ยนธรรมชาติเป็นสินค้า การไล่ล่าสัตว์ป่าและคนให้พ้นออกไปจากกรอบคิดในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยรัฐ และรวมไปถึงเรื่องเล่าและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากน้ำมือของมนุษย์เพื่อบูชาต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ
    .
    อาจเรียกได้ว่าเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ใน "The Lost Forest" คือ การบอกเล่าเรื่องของประวัติศาสตร์การล้างเผ่าพันธุ์สัตว์และพืชในสังคมไทย ที่ไม่ว่าอย่างไรคงยากจะปฏิเสธว่าพวกเราทุกคนเองก็เป็นหนึ่งในผู้คนที่ลงมือทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดมี โดยที่เนื้อหาของ "The Lost Forest" แบ่งการบอกเล่าออกเป็น 4 ส่วนหลัก ที่แบ่งเรื่องราวของการทำลายสิ่งแวดล้อมออกเป็น เรื่องของจุดเริ่มต้น การเข้าสู่สนามของการฉวยใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบและเต็มระบบ การสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และรวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ วิธีการ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากครั้งอดีต นอกจากเนื้อหาทั้ง 4 ส่วนหลักของหนังสือแล้ว เนื้อหาในส่วนของบทนำ บทส่งท้ายและคำนิยมก็น่สนใจไม่แพ้กัน สำหรับเนื้อหาของ "The Lost Forest" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    ประวัติศาสตร์รสขมที่ควรกลืนลงคอ โดยนิ้วกลม
    .
    บทนำ
    .
    01 รุ่งอรุณแห่งการทำลายธรรมชาติ
    .
    02 สงครามแย่งชิงทรัพยากร
    .
    03 อุตสากรรม มลพิษ และความตายลึกลับ
    .
    04 การทำลายสิ่งแวดล้อมยุคใหม่
    .
    บทส่งท้าย .
    ความรู้สึกหลังอ่าน "The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร" ให้ความรู้สึกคล้ายกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในคำนิยม โดยเฉพาะความจริงที่เราทุกคนต้องยอมรับว่าพวกเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายกับสิ่งแวดล้อมไม่เฉพาะของไทย หากแต่เรียกได้ว่าพวกเราเป็นส่วนสำคัญของการก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก คำถามสำคัญประการหนึ่งหลังจากอ่าน "The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร" คือ คำถามว่าเมื่อเราเองเป็นส่วนหนึ่งของ "มนุษยสมัย" หรือ "แอนโทรโปซีน" (Anthropocene) แล้ว เราจะยังส่งมอบโลกและสังคมในแบบที่เรารับต่อมาให้กับคนรุ่นต่อไปอีกไหม จะส่งต่อมันไปทั้งแบบนี้ในแบบที่เราจะไม่ลงมือทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาของ "มนุษยสมัย" กันสักหน่อยเลยหรือ ?

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in