ผมคิดถึงการเขียนจดหมายเพราะไม่นานมานี้ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง
หนังสือเล่มดังกล่าวมีชื่อว่า
ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ เป็นหนังสือบันทึกการพูดคุยทางจดหมายของคุณเฮเลน แฮฟฟ์—นักเขียนสาวจากนิวยอร์ก กับเหล่าพนักงานในร้านขายหนังสือเก่าในกรุงลอนดอน
เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในยุค 50-60s จากการที่คุณเฮเลนไปบังเอิญพบคำประกาศโฆษณาของร้านหนังสือแห่งนี้เข้า เธอจึงเริ่มจรดปากกาปิดผนึกส่งจดหมายข้ามฟากไปยังดินแดนแห่งเสรีภาพ
คุณอาจคิดว่าถ้อยคำในจดหมายเหล่านั้นต้องมีแต่ความสุภาพอ่อนน้อม หากความจริงแล้ว เฮเลนมีความยียวนไม่ใช่น้อย หลายข้อความให้ความรู้สึกเหมือนเธอกำลังคุยเล่นกับเพื่อน อารมณ์ร้ายใส่คนสนิท แต่พอเย็นลงก็จะเป็นเพื่อนที่คอยดูแลเอาใจใส่อย่างดี
ขอสารภาพว่ามีบ้างที่ผมรู้สึกรำคาญคุณเฮเลน จนภาวนาให้คุณพนักงานช่วยตอกกลับนางสักหน่อย
พูดถึงพนักงานแล้ว ผมก็สงสัยเล็กน้อยว่าการตอบจดหมายเช่นนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับร้านค้าในยุคนั้นหรือเปล่า เพราะจากถ้อยคำที่เลือกใช้และการเขียนตอบกลับคุณเฮเลนก็ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงการเอาใจใส่
เป็นเสน่ห์แบบประหลาดที่ผมอยากสัมผัสสักครั้ง เป็นอะไรที่น่าค้นหาจนทำให้ผมอยากลองเขียนจดหมายและตีสนิทกับร้านหนังสือดูสักตั้ง
แต่จะว่าไป ผมก็คงทำไม่ได้อย่างคุณเฮเลนหรอก เรื่องการเขียนจดหมายนั้น ผมไม่ได้เขียนมานานแล้ว ครั้งสุดท้ายน่าจะเป็นช่วงที่ต้องเขียนส่งคุณครูในช่วงมัธยมต้น ตอนนั้น ผมคิดไม่ออกว่าคนเราจะเขียนจดหมายถึงกันทำไม กว่าจะส่งถึงกันได้ อารมณ์อยากเมาท์ก็คงซาไปแล้ว ส่วนการโต้ตอบกับร้านค้าก็ไม่เคยอยู่ในหัวของผม ด้วยนิสัยชอบเดินหนีเวลาเจอพนักงานหรือเวลาอินบอกซ์ไปสั่งของก็ไม่เคยปฏิสัมพันธ์มากกว่าแจ้งความต้องการและชื่อที่อยู่
มันอาจเป็นที่นิสัยไม่ค่อยเข้าสังคมของผมที่ทำให้หนทางในการได้พูดคุยกับคนแปลกหน้าดูมืดบอด แต่ก็อย่างที่บอกว่าผมอยากลองดูสักตั้ง
ผมเลยเขียนจดหมาย (ปลอมๆ) ฉบับนี้ขึ้น เริ่มด้วยการชวนให้คุณอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว เผื่อคุณอ่านแล้วชอบจะเกิดอยากเขียนจดหมายบ้าง
บางที ผมอาจได้เขียนโต้ตอบกับคุณ เหมือนที่เฮเลนเขียนหาแฟรงก์บ้างก็ได้
ปฏิกาล
เลขที่ 21/67, งามวงศ์วาน
—
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in