เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Better DaySopon Supamangmee
หรือเราทำได้แค่โอดครวญ
  • เมื่อวันก่อนพี่บก.ของหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งส่งเมสเสสมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ช่วงหลังเราไม่ค่อยได้ติดต่อกันบ่อยนักเพราะอย่างแรกเลยคือต่างคนต่างยุ่งกับงานตรงหน้า ผมก็รีบปั่นต้นฉบับหนังสือที่ต้องให้เสร็จช่วงต้นปีใหม่ ส่วนพี่เขาจากที่ผมเห็นโพสต์บนเฟสบุ๊คส์ก็เหมือนว่าออกเดินทางไปสถานที่ต่างๆบ่อยมากจนเรียกได้ว่าชีพจรลงเท้า วันนี้อยู่หนองคาย อีกวันไปเชียงใหม่ ตอนเย็นอยู่เยาวราช เช้าอีกวันไปโผล่ใต้ ตกเย็นมานั่งดื่มชาอยู่เชียงราย (มึงแน่ใจนะว่าพี่เขาไม่ได้มีวิชาหายตัว?) คือประมาณว่าเห็นโพสต์เมื่อไหร่ พี่แกต้องเดินทางอยู่ที่ไหนสักแห่ง

    “ถ้าพี่ไม่ไปคงบ้าตายแน่ๆ” คำพูดเชิงตัดท้อถูกส่งมาในอินบ๊อกซ์

    “ขนาดนั้นเลยเหรอพี่?” ผมถามต่อ

    “งานเยอะมากช่วงนี้ ทางบริษัทก็รัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายน่าดู งานเยอะเงินเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือความเครียด” นั้นคือบทสรุปของการสนทนาสั้นๆประมาณสิบนาที

    ข่าวร้ายอีกอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พี่ บก.ทักมาคือ คอลัมน์รีวิวหนังสือที่ผมทำอยู่นั้นอาทิตย์หน้าถือเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะทางหนังสือพิมพ์ตัดสินใจลดทอนส่วนนั้นออกไป (โชคยังดีที่อีกคอลัมน์ยังรอดชีวิต) ถึงแม้ว่าทำมันมาได้ไม่นานแต่ก็รู้สึกเสียดายพื้นที่การเขียนงานของตัวเองที่ต้องหดหายไปอีกที่หนึ่ง

    สุดท้ายก็ทำได้แค่บ่นๆกับพี่เขาไป “อาชีพนักเขียนอยู่ยากขึ้นทุกวันนะพี่” แล้วก็ถอนหายใจ

    เช้าวันนี้ระหว่างที่ผมนั่งเล่นกับลูกสาวอย่างสบายใจ ภรรยาที่กำลังนั่งปั้มนมอยู่ก็หัวเราะ “ฮึๆ” ขึ้นมาในลำคอพร้อมกับบอกว่า “นี้...เดี๋ยวอ่านให้ฟัง”

    มันเป็นจดหมายเปิดผนึกของคุณ ​“สุมิตรา จันทร์เงา” ให้ท่านนายกตู่ พูดถึงเรื่องการปิดตัวลงของนิตยสารพลอยแกมเพชร เธอบอกว่ามันเป็นเหตุผลทางธุรกิจที่นิตยสารฉบับนี้ปิดตัวลง แต่ในเชิงโครงสร้างของวัฒนธรรมการอ่านการเขียนของบ้านเมืองเรา ทำไมรัฐบาลถึงไม่มีนโยบายช่วยเหลือตรงนี้บ้าง? ทำไมทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น?

    “นักเขียน บรรณาธิการ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะวรรณกรรมทุกรูปแบบ คนออกแบบภาพประกอบ คนจัดหน้าหนังสือ พนักงานพิสูจน์อักษร งานพิมพ์ ช่างพิมพ์ล้วนได้รับผลกระทบในชีวิตความเป็นอยู่ถ้วนหน้า

    นิตยสารตายไปหนึ่งเล่มเจ้าของหนังสือยังอยู่ได้ แต่นักเขียนนับสิบนับร้อยชีวิตต้องหมดพื้นที่ทำมาหากิน สิ่งนี้คือโศกนาฏกรรมที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังปิดตาข้างหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็น”

    เธอถามต่อว่าทำไมรัฐบาลถึงมีการสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายซื้อของสินค้าราคาแพงเพื่อมาลดหย่อนภาษี ส่งเสริมให้คนเดินทางท่องเที่ยว ทำไมไม่มีการสนับสนุนให้ซื้อหนังสือ รวบรวมใบเสร็จมาแล้วลดหย่อนภาษีได้ จะเป็นไปได้ไหมถ้าวันหนึ่งจะได้เห็นรัฐบาลมีจัดงบสนับสนุนการอ่านการเขียน มีการจัดพิมพ์หนังสือให้กับนักเขียนหน้าใหม่ๆที่มีพรสวรรค์ หรือว่าจัดตั้งกองทุนสำหรับนักเขียนเพื่อให้พวกเขาสามารถผลิตผลงานต่อไปได้อย่างไม่อดตาย

    เนื้อหาของจดหมายนี้ยังว่ายาวต่อไปเรื่อยๆ (ถ้าอยากอ่านลองค้นหาดูได้ครับ หาไม่ยาก) แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้หลังจากที่ภรรยาอ่านให้ฟังจนจบคือ “เราทำอะไรไม่ได้เลยจริงๆเหรอ?”

    ในหนังสือ “Finnish Lessons 2.0 : ปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ บทเรียนแนวใหม่จากฟินแลนด์” เขียนโดย “Pasi Sahlberg” มีเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือผลตอบแทนของระบบการศึกษาที่รัฐบาลมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพของครูและบุคลากร การประกอบอาชีพครูเป็นเป้าหมายของเด็กหัวกะทิทุกคนในฟินแลนด์ ทุกคนต้องจบปริญญาโท แถมยังต้องเข้าคอร์สต่ออีกห้าปี เด็กนักเรียนทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม โรงเรียนทุกแห่งในประเทศมีมาตรฐานเท่ากันหมด พ่อแม่อุ่นใจได้ว่าส่งไปโรงเรียนใกล้บ้านก็ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และหลังจากเกือบสี่สิบปีในการปฎิรูปการศึกษา ประเทศเล็กๆ ที่คะแนนความสามารถของนักเรียนเคยอยู่แค่ค่าเฉลี่ยในยุโรป กลับทำคะแนนเป็นที่หนึ่งในทุกบททดสอบ

    (เป็นหนังสือที่ดีมาก ไปหาอ่านกันนะครับ)

    มันอาจจะดูเป็นคนละเรื่องกับวัฒนธรรมการอ่านการเขียน แต่สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นตรงนี้คือ “อำนาจของรัฐบาล” ในประเทศของเราและประเทศฟินแลนด์​ การโฟกัสความสามารถและความพลังของเม็ดเงินไปในทางที่ถูกที่ควร ให้ความสำคัญกับเรื่องบุคลากรของประเทศมากกว่าแค่ตัวเลข GDP ที่ห่วยแตกไปเรื่อยๆ (ที่จริงตัวเลขนี้ก็ชัดเจนเพียงพอให้รู้แล้วว่าประเทศเราลงทุนผิดวิธีและผิดที่ผิดทาง) จริงอยู่ว่าเราเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบอย่างที่สุด (และที่จริงเข้าข่ายดินแดนสนธยาที่มีหลายอย่างโครตสีเทาและจับต้องไม่ได้) แต่อย่างน้อยถ้ารัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาครู ระบบการศึกษา หรือแม้แต่การอ่านการเขียนแบบที่คุณ​สุมิตราเขียนในจดหมาย บางทีเราอาจจะไม่เห็นผลลัพท์เป็นตัวเลขในปลายปีนี้ หรือแม้แต่ปลายทศวรรษนี้ แต่ในอีกสามสิบสี่สิบปีข้างหน้า เด็กๆรุ่นต่อไปคงไม่ต้องมานั่งถอนหายใจและได้แต่โอดครวญเหมือนพวกเราในทุกวันนี้

    “ปะ...ที่รัก เราย้ายไปอยู่ฟินแลนด์กันเถอะ” ภรรยาผมพูดติดตลก

    “อืม...นั้นสิ” ผมตอบรับ...ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปเหมือนกันนะ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in