เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-นี่ไม่ใช่หนังสือแนวมินิมอล-

  • อย่างน้อยก็ในความคิดผม

    ไม่แน่ใจว่าผมเป็นพวกมินิมอลลิสต์หรือแค่ประหยัดเฉยๆ ผมแทบไม่ซื้อสิ่งของเลย (ยกเว้นหนังสือที่ฟุ่มเฟือยมาก) ซื้อเฉพาะที่ต้องใช้เท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม ผมก็ชอบแนวคิดนี้ โดยเฉพาะหนังสือ 'อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป' ผมตีความว่าเอาเข้าจริงแล้ว การมีสิ่งของน้อยเป็นปลายทาง หัวใจของมันคือการตระหนักรู้ว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิตเราจริงๆ และเลือกที่จะรักษามันไว้

    ตอนที่เริ่มป่วยใหม่ๆ ผมโละสิ่งของด้วยการทิ้ง ให้ และบริจาคไปเยอะมาก แม้กระทั่งหนังสือ ห้องจึงโล่งขึ้นและช่วยเยียวยาได้บ้าง

    ตอนแรกผมซื้อหนังสือเล่มนี้ 'ชีวิตดีเมื่อมีของน้อย ปรัชญาความสุขฉบับมินิมอล' ด้วยความตื่นเต้น...แค่ตอนแรกนะ

    หนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยการพูดถึง 'วัตถุนิยม' ว่ามันกำลังกัดกินโลก สุขภาพ และจิตใจของเราอย่างไร เพราะฉะนั้นจงเลิกสะสมสิ่งของ พอเข้ากลางเล่ม ผู้เขียนให้ทางเลือกที่เขาคิดว่าดีกว่าการสะสมสิ่งของ นั่นคือการเป็นนักค้นหาประสบการณ์

    มีงานศึกษาเรื่องความสุขที่สรุปว่า ประสบการณ์ให้ความสุขมากกว่าสิ่งของ เราจะตื่นเต้น ดีใจ กับสิ่งของเพียงไม่นานต่อให้มันเป็นรถแลมบูกินีรุ่นล่าสุดก็ตาม แต่ความสุขจากประสบการณ์จะอยู่กับเรานานเท่านาน ตราบที่เรายังจดจำมันได้ เราสามารถรื้อฟื้นความทรงจำต่อประสบการณ์นั้นขึ้นมาทบทวนได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก มีความสุข ทุกข์ หัวเราะ ร้องไห้ ตื่นเต้น ฯลฯ

    ทว่า สิ่งที่หนังสือเล่มนี้เสนอและยกตัวอย่างกลับต่างออกไป ผมว่าเขาเล่นกับคำว่า 'วัตถุนิยม' ให้ดูชั่วร้าย แต่เลี่ยงคำว่า 'บริโภคนิยม'

    สรุปคือเขาสนับสนุนให้ค้นหาหรือจริงๆ ก็คือ 'บริโภค' ประสบการณ์แทนสิ่งของ ตัวอย่างเช่นการชมละครที่ออกแบบการสร้างสรรค์อย่างแปลกใหม่ อลังการ การเดินทางรอบโลก และอื่นๆ เขาพูดถึงแบรนด์ดังๆ ของโลกที่หันมาเน้นการโฆษณาด้วยการสร้างประสบการณ์เพื่อดึงดูดการบริโภคจากลูกค้า เพราะผู้บริโภคยุคนี้ชอบบริโภคประสบการณ์มากกว่า (ซึ่งก็คงจบลงด้วยการซื้อสิ่งของ-ผมพูดเอง)

    แม้จะมีการยกตัวอย่างถึงประสบการณ์การเดินในสวน การเล่นกับลูก การดูพระอาทิตย์ตกดิน ฯลฯ แต่ดูจะเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ในเล่มเท่านั้น

    นอกจากนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่ที่เขายกมาก็น่าจะเป็นคนขาว มีการศึกษาดี และบางคนก็เป็นมหาเศรษฐี ที่มีทางเลือกเยอะแยะที่จะบริโภคประสบการณ์

    เขายังบอกอีกว่าต่อให้การค้นหาประสบการณ์นั้นจะเป็นไปเพื่อโอ้อวดบนเฟสบุ๊ค ก็ยังดีกว่าการซื้อสิ่งของอยู่นั่นเอง เพราะใครๆ ก็ทำกัน

    ยิ่งอ่าน ผมยิ่งรู้สึกว่าไปไกลจากแนวคิดมินิมอลมาก มันไม่ได้แนะนำให้คุณลดการบริโภค แค่เปลี่ยนรูปแบบการบริโภค ซึ่งการบริโภคประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจทำกันมานานแล้ว เพราะมันเพิ่มการซื้อสิ่งของและความจงรักภักดีต่อแบรนด์

    เรามีคนที่มีกำลังซื้อมากมายที่เลือกซื้อประสบการณ์ ผมมักพูดเสมอว่ามันคืออุตสาหกรรมอย่างหนึ่งที่มีดารา นักร้อง นักเขียน เซเลบฯ ร่วมกันส่งเสริมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และความมินิมอลที่คนจำนวนหนึ่งแสดงออกก็คือการซื้อสิ่งของที่ออกแบบโดยใช้แนวคิดมินิมอล...แค่นั้น

    ขณะที่คนอีกมากไม่มีกำลังซื้อประสบการณ์หรือจะมินิมอล อาจไม่มีแม้แต่มโนทัศน์เรื่องนี้เพราะติดในวังวนของปากท้อง ถ้ามองแง่นี้คนจนก็น่าจะมินิมอลกว่าก็เป็นได้

    ยังไม่มีใครบอกได้ว่าการบริโภคประสบการณ์ทำร้ายโลกน้อยกว่า ทุกคนดูจะเห็นดีเห็นงาม แต่ผมตั้งคำถามกับมันตลอด ยิ่งเมื่อมองผ่านสายตาของคนป่วย มันก็ยิ่งน่าขบขัน (ขอไม่เปิดเผยว่าทำไม)

    ใครอยากทำความเข้าใจแนวคิดมินิมอล นี่ไม่ใช่หนังสือที่คุณควรอ่าน ไม่ใช่ปรัชญาความสุขฉบับมินิมอลอย่างที่โปรยบนปก แต่มันอาจพาคุณหลงทางไปกับการบริโภครูปแบบใหม่

    หลงลืมที่จะค้นหาว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญกับชีวิตของคุณจริงๆ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in