“เอ็นทรานซ์..” คำเรียกระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เมื่อกล่าวขึ้น คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเคยได้ยินเป็นคำที่มาพร้อมกับน้ำตาแห่งความสำเร็จ และ น้ำตาแห่งความล้มเหลว.. หลายคนเมื่อความฝันได้ทลายลงเลือกที่จะทิ้งเส้นทางที่ได้มานะพยายามมา ด้วยความคิดที่ว่าพยายามไปก็สูญเวลาเปล่า นำเวลาไปทำอย่างอื่นที่จะเป็นประโยชน์จะดีกว่าหรือบางคนเลือกที่จะทิ้งแม้กระทั่งชีวิตของตนเอง
เราอยู่กับพี่พล (โกมลบุตร) สัตย์สงวน หรือ พี่เสือน้อย หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินประจำสายการบินแห่งชาติและ นิสิตปัจจุบันคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(2562) ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยผิดหวังแต่ตัดสินใจกลับมาทำตามความฝันและค้นพบความสุขของชีวิตในแบบของตัวเอง
พี่เสือน้อยเล่าให้เราฟังถึงความใฝ่ฝัน เมื่อครั้งยังเป็นเด็กนักเรียนคนหนึ่งคือการได้เป็น นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่เมื่อมีหวังก็ต้องมีผิดหวังเป็นธรรมดา
ในวันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่เสือน้อยในฐานะ "รุ่นพี่อักษรศาสตร์" ถ้าหากนับจากเลขรุ่นแล้วก็ห่างจากตัวผู้เขียนเองเพียงแค่3 รุ่น จึงทำให้เราเกิดความสงสัยเนื่องจากวัยวุฒิและตำแหน่งหน้าที่การงานของพี่เสือน้อย ณ ปัจจุบันคงเป็นไปไม่ได้แน่หากเพิ่งสำเร็จการศึกษามาในเวลาไม่กี่ปี
พี่เสือน้อยได้ตอบข้อสงสัยของเราว่าอักษรศาสตร์ (จุฬาฯ) ที่ได้สำเร็จการศึกษามานั้นไม่ใช่ปริญญาใบแรก ย้อนกลับไปหลังจากที่ผลคะแนนเอ็นทรานซ์ประกาศ พี่เสือน้อยได้ตัดสินใจเลือกศึกษาที่คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งระหว่างที่ศึกษาอยู่ก็ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยระหว่างนั้นพี่เสือน้อยได้สอบเอ็นทรานซ์อีกครั้งและสามารถเข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน มหาวิทยาลัยศิลปากร และจบการศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยพร้อมกัน
หากเป็นคนทั่วไปก็คงจะหาหนทางเพิ่มความมั่นคงหรือสร้างความสุขให้กับชีวิตของตน คงไม่ได้นึกถึงการกลับมาสานฝันในวัยเรียน และอาจตามมาด้วยคำถามว่า เรียนไปทำไมมากมาย เรียนแล้วจะได้ใช้ทุกอย่างหรือ เสียเวลาเปล่า เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามคำถามเช่นนี้กับพี่เสือน้อย แต่คำตอบที่ได้กลับมานั้นทำให้ข้อครหาต่างๆ หายไปจนหมดสิ้น
เพราะนอกจากพี่เสือน้อยจะมุมานะจนสามารถสอบติดอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (สาขาศิลปการละคร) ได้แล้วนั้น เหตุผลที่เลือกกลับมาที่นี่เป็นเพราะพี่เสือน้อยมองการศึกษาแต่ละศาสตร์เป็นเสมือน ประตูแห่งการทดลอง ที่ไม่มีถูกผิดและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองในสิ่งที่ยังไม่เคยลอง ระยะเวลาก่อนที่จะได้เป็นนิสิตอักษร จุฬาฯ พี่เสือน้อยยังได้ศึกษาศาสตร์แขนงอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒด้วยเช่นกัน ทั้งรัฐศาสตร์ สื่อสารมวลชน พลศึกษา สุขศึกษา การโรงแรมและภัตตาคาร สหกรณ์ การท่องเที่ยวและภาษาไทย โดยพี่เสือน้อยให้เหตุผลว่า "ทำไมเราต้องปิดกั้นตัวเอง ทุกอย่างที่เราเรียนสามารถเอามาใช้ในชีวิตจริงได้หมดโดยที่เราไม่รู้ตัว"
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พี่เสือน้อยเลือกที่จะทำงานและเรียนควบคู่กันไปจนถึงทุกวันนี้ แต่ความสงสัยก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เนื่องจากอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นอาชีพที่เรารู้กันดีว่ามีความเหนื่อยพอสมควรจากตารางการบินที่กินระยะเวลานานและเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน บวกกับการเป็นนิสิตที่ต้องเข้าชั้นเรียนเป็นเวลา รวมถึงการแบ่งเวลาอ่านหนังสือสำหรับช่วงสอบ ธรรมดานิสิตเราแค่ทำสองอย่างหลังให้ดีก็ว่ายากแล้ว แต่พี่เสือน้อยไม่ได้มองว่าการเรียนทำให้ชีวิตของตนลำบากขึ้น กลับมองว่าเป็นการมาสนุก และคุ้มค่าอย่างมากที่จะมีสักกี่คนด้วยวัยวุฒิขนาดนี้ได้ใช้ชีวิตอยู่ใน สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งสำคัญที่พี่เสือน้อยต้องการจะสื่อก็คือ "กิจกรรม"
พี่เสือน้อยได้ฝาก 5ก ที่ไม่ควรละเลยและจะช่วยให้ชีวิตการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมีความสุขคือ
เพราะหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป เราคงรู้สึกผิดหวังและเสียดาย แม้จะทำตามความฝันได้สำเร็จแต่ก็ไม่อาจเต็มเติมได้เท่ากับการทำช่วงเวลาของเราในปัจจุบันให้ดีที่สุด
ผลงานสืบเนื่องจากวิชา ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว2201432 ภาคการเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562
ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : พล (โกมลบุตร) สัตย์สงวน (พี่เสือน้อย)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ชนัญญา เมธมโนศักดิ์
ภาพ : ชนัญญา เมธมโนศักดิ์ และ
@tigercu98 (instagram)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in