"ถ้าเธอมีโอกาสผ่านไปที่เลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ ช่วยประทับรอยจูบไว้ที่ร้านแทนฉันด้วยได้ไหม ฉันเป็นหนี้สถานที่แห่งนั้นมากเหลือเกิน..."
เฮเลน แฮฟฟ์,1969
.
"ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์" เป็นหนังสือที่มีชื่อเรื่องสะดุดใจมาพักใหญ่ๆ แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้ลองมาหยิบอ่านก็คราวนี้ หนังสือเล่มนี้ไม่มีรายละเอียดมากนักว่าเป็นหนังสือแบบไหน จัดอยู่ในหมวดอะไร แม้แต่คำนำก็ไม่มี มีเพียงคำโปรยปกเล็กน้อยเท่านั้นที่ให้พอทราบว่าเป็นเรื่องราวประมาณไหน เราพลิกหน้ากระดาษไปโดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังจะอ่านหนังสือแบบไหน จนกระทั่งเปิดมาเจอหน้าแรกของเรื่องราวในหนังสือที่ทำให้รู้สึกค่อนข้างทึ่งเพราะไม่คิดว่าจะมีหนังสือแนวนี้ให้อ่านอีกนับตั้งแต่อ่านหนังสือของจีน เว็บส์เตอร์อย่างคุณพ่อขายาว...ใช่แล้วค่ะ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดำเนินเรื่องราวโดยการใช้ "จดหมาย" เป็นสื่อกลางนั่นเอง
.
ร้านหนังสือเลขที่ 84 ถนนแชริงครอสส์ มีพื้นหลังอยู่ในยุคราว 1940s หนังสือเล่มนี้เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่าง เฮเลน แฮฟฟ์ นักเขียนชาวนิวยอร์คซึ่งเขียนจดหมายสั่งหนังสือกับบรรดาคนที่ร้านขายหนังสือมาร์คส์ แอนด์ โค.ที่ลอนดอนเป็นเวลากว่า 20ปี โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยพบหน้ากันแม้แต่ครั้งเดียว เรื่องราวในเรื่องไม่สลับซับซ้อนใดๆ แต่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แฝงด้วยกลิ่นไอของลอนดอนและนิวยอร์คในยุคนั้นที่ลอยปะปนมากับตัวหนังสือในหน้ากระดาษ น่าแปลกที่แม้ว่าตลอดการดำเนินเรื่องทั้งเล่มจะไม่มีเรื่องราวชวนตื่นเต้น เป็นเพียงการดำเนินเรื่องเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญต่างๆ และมีใจความที่การสั่งหนังสืออยู่ตลอด แต่เรากลับได้เห็นอุปนิสัยของผู้คนในเรื่องอย่างชัดเจนที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากเนื้อความทางจดหมายนั้นอย่างชัดเจน และการที่ผู้อ่านได้อ่านจดหมายของทั้งสองฝ่ายที่เขียนโต้ตอบกันมากว่า 20 ปีนั้นจนก่อเกิดเป็นมิตรภาพที่อิ่มเอมใจและสร้างความผูกพันนั้น ก็ทำให้ผู้อ่านพลอยเกิดความผูกพันคล้ายว่าเป็นคนเขียนโต้ตอบจดหมายกับผู้คนเหล่านั้นเสียเอง นี่คือหนึ่งจุดที่ทำให้เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วรู้สึกว่าผู้แต่งใส่ความรู้สึกลงไปในหน้ากระดาษมากมายจนน่าประทับใจเหลือเกิน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in