เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
From Ears to Eyes "เสพเสียงสร้างสรรค์เป็นอักษร"ปลายฟ้า
เพียงความเคลื่อนไหว...ของลมหายใจ
  • ฉันขับรถมาถึงบ้านผู้หว่านในเช้าวันแรกของการอบรม "จิตวิทยาวิปัสสนา*" ราวแปดโมงครึ่ง เมื่อจอดรถเสร็จ มองไปยังอาคาร 8 ชั้นที่ตั้งตระหง่านในความร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่เหมือนเดิม ... นี่เป็นครั้งที่สองของฉันในการมาที่นี่  ครั้งแรกเป็นการมาเรียนโยคะสมาธิเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงนั้น ฉันสนใจเรียนรู้วิธีพัฒนาจิตด้วยการภาวนาหลากหลายวิธี เพื่อสำรวจดูว่าแบบใดเหมาะสมกับจริตของตัวเองที่สุด ​และสุดท้ายฉันได้คำตอบกับตัวเองว่าแบบที่เหมาะกับฉันมากที่สุดคือ แบบที่ใช้สิ่งที่เรามีอยู่และเป็นปัจจุบันตลอดเวลานั่นคือลมหายใจ ซึ่งเป็นเหตุให้ฉันมาที่นี่ในวันนี้

    ปีที่แล้ว ฉันได้มาเข้าอบรมหลักสูตรพัฒนาจิตระยะยาว (6 วัน 5 คืน) ตามวิธีของโครงการโปรแกรมสติในองค์กร หรือ MIO: Mindfulness in Organization ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่กลับมาฝึกแบบระยะยาวหลังจากเคยอบรม Train of the trainer หรือ TOT  ไปเมื่อหลายปีก่อน  ยอมรับเลยว่าปีที่แล้ว ฉันหวั่นใจอยู่มาก เพราะช่วงที่มาเป็นช่วงที่ฉันเพิ่งกินยาครบคอร์ส 3 ปีเพื่อรักษาตัว ก่อนมาจะเข้าอบรมเพียงไม่กี่วัน เรียกว่าฉันยังมีความเข็ดขยาดในความเจ็บ ความป่วย และไม่อยากให้ตัวเองเจอกับสภาพของการเจ็บปวดหรือทรมานร่างกายอีก

    แต่นั่นเป็นความรู้สึกของปีก่อน มาปีนี้ ฉันมีความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่าที่จะมาฝึก ไม่มีความลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมทันทีที่ทางโครงการฯ เปิดรับสมัคร ฉันคิดว่าฉันมีความพร้อมมากกว่าเดิม

    เหลือบมองดูนาฬิกาข้อมือ ฉันรีบเดินไปห้องประชุมด้วยใกล้เวลาเร่ิมแล้ว เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในห้องประชุมกลาง ห้องโถงสี่เหลี่ยมกว้างขวาง แลเห็นเสื่อพับสามตอน พร้อมเบาะรองวางเรียงรายกระจายเป็นครึ่งวงกลมบนพื้นเต็มไปหมด เมื่อหาชื่อตัวเองที่แปะบนพื้นหน้าเสื่อได้ ฉันนั่งลง มองไปรอบๆ มีคนหน้าใหม่ที่ไม่รู้จักจำนวนมาก และมีคนหน้าเดิมที่เคยเรียนมาก่อนจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงโครงการฯ เช่นเดียวกับฉัน   ครูของพวกเรา นพ. ยงยุทธ นั่งบนเสื่อรอพวกเราอยู่แล้วที่หน้าห้อง ฉันทำความเคารพครูเสร็จเพียงครู่เดียว การอบรมก็เร่ิ่มต้นขึ้น


    บรรยากาศการอบรมที่มีเพียงความเคลื่อนไหวของลมหายใจ 

    คอร์สนี้เป็นการฝึกพัฒนาจิตแบบเข้มข้น ที่ปกติใช้เวลาเรียน 10 วัน แต่คอร์สนี้ย่อให้เหลือ 5 วันด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาของผู้เข้าร่วมโครงการ   แต่แค่เวลาเท่านั้นที่สั้นลง เนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้สั้นลงแต่อย่างไร ...  

    การเรียนรู้สำคัญๆ เกิดขึ้นผ่านกระบวนการหลัก 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) การฝึกปฏิบัติระยะสั้น 30 นาที วันละ 5 รอบ 2) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการฝึกปฏิบัติระยะสั้นทุกครั้ง 3) การฝึกปฏิบัติระยะยาว 1 ชม.วันละ 4 รอบ 4) การฟังทฤษฎีทางจิตวิทยาและ Neuroscience เทียบกับหลักพุทธธรรม* พร้อมกับการตอบข้อซักถามในการฝึกปฏิบัติ ใช้เวลาประมาณ 1.5 ชม. โดยประมาณ   และ 5) การใคร่ครวญเขียนบันทึกเพื่อสะท้อนการเรียนรู้ของตัวเองช่วงพัก และก่อนนอน

    ตารางชีวิตของพวกเราที่นี่เริ่มต้นการฝึกอยู่กับลมหายใจตั้งแต่ตีห้าครึ่ง และเลิกประมาณสามทุ่มครึ่งหรือสี่ทุ่มทุกคืน แต่ละวัน มีการฝึกปฏิบัติ/ เรียนรู้วันละ 10 รอบ โดยในระหว่างการฝึกทุกรอบ จะมีการพักสั้นๆ 5 นาทีบ้าง 10 นาทีบ้าง เพื่อให้ได้เปลี่ยนอริยาบถ และมีโยคะสติปิดท้ายช่วงเย็นประมาณ 10-15 นาที ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเราจะได้ยืดเหยียดทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่ปวดชา  แม้ทำแล้ว อาจจะตึงเจ็บขึ้นบ้าง หากเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ฉันชอบ และดูจากท่าทีของแต่ละคนเวลาฝึก ฉันคิดว่าทุกคนก็น่าจะชอบเหมือนฉันด้วย  

    การฝึกปฏิบัติเป็นเรื่องการเรียนรู้เฉพาะตน จะก้าวหน้ามากหรือน้อย รับรู้ได้ด้วยตัวเอง เช้าอาจจะนิ่งดี บ่ายอาจรู้ไม่เท่าทันจริตที่ปรุงแต่งจะทำให้ต้องขยับร่างกายเวลาฝึกก็เป็นได้...  เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น ทุกสิ่งในห้องอบรมจะค่อยๆ เงียบลง ที่เหลืออยู่จะมีเพียงลมหายใจของตัวเอง และของเพื่อนๆที่เคลื่อนไหวและไหวเวียนอยู่ภายในห้อง  และในระยะเวลาหนึ่ง  ฉันพบว่าการรับรู้สัมผัสแห่งลมหายใจของตัวเองจะเบาบางลงเรื่อยๆจนเงียบหายไป ไม่สามารถรับรู้สัมผัสนั้นได้ ... เหมือนกับหลายสิ่งในชีวิตที่รู้ว่ามันมีอยู่  เพียงแต่ไม่สามารถสัมผัสได้... ดังนั้น เรื่องการฝึกปฏิบัติจึงเป็นเรื่องที่ต้องประสบพบเจอด้วยตนเองอย่างแท้จริง   ทั้งนี้ ในการฝึกแต่ละช่วง พวกเราจะได้แนวทาง หรือเครื่องมือในการฝึกเพิ่มเติมเป็นระยะ เพื่อให้พวกเราค่อยๆ ก้าวไปทีละขั้น ทีละตอน ไม่ลัดเลาะหรือหลงทางจนท้อถอย ถอดใจไปเสียก่อน

    แม้ฉันจะมาฝึกเป็นครั้งที่สองแล้ว แต่มารอบนี้ เหมือนนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพราะเวลาอยู่ที่บ้าน ฉันไม่ได้นั่งมากครั้งและนานขนาดนี้ เมื่อนั่งนาน การเจ็บปวดร่างกายจึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญ ในบันทึกการฝึกสมาธิ 30 นาทีครั้งแรก ฉันเขียนไว้ว่า 

     “15 นาทีแรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว เฝ้าดูลมหายใจอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงแรกจะมีความคิดสอดแทรกเข้ามาอยู่เรื่อยๆ แต่ก็กลับมาอยู่กับลมหายใจได้ ... 15 นาทีหลัง ช่วงต้นดี แต่เร่ิมมีความง่วงเล็กน้อย และเริ่มปวดขา เป็นเหน็บ กลับมาที่ลมหายใจ มีบางช่วงที่สงบมาก แต่ช่วงท้าย เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆก่อนเวลาจะหมดลง”

    สิ่งที่เขียนสะท้อนให้เห็นว่ามีสิ่งที่ทำให้จิตไม่สงบเกิดได้ตลอดเวลาของการฝึกปฏิบัติ โดยเฉพาะ ความคิด ความง่วง และความเจ็บปวด มาบ่อยๆ กำหนดไม่ได้ว่าจะมาตอนไหน  แต่ด้วยเครื่องมือที่ได้ และกิจต่างๆ ที่ทำในช่วงของการฝึก ทำให้ฉันค่อยๆ เรียนรู้ปฏิบัติได้มากขึ้น ... หลายครั้ง สิ่งที่เคยได้ยินจากครูเมื่อครั้งก่อน ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจนัก หรืออาจจะเข้าหัว แต่ไม่ได้เข้าไปในใจ การมาครั้งนี้ เมื่อได้ยินสิ่งนั้นอีกครั้ง กลับเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นด้วยประสบการณ์ตรงระหว่างการฝึกด้วยตัวเอง และการใคร่ครวญ บันทึกทั้งหลังฝึกและก่อนนอน

    ฉันพบว่ากิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดการใคร่ครวญ คิดตาม และได้เรียนรู้มากมายคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกัลยาณมิตรทุกคน โดยเฉพาะจากผู้ที่ร่วมกิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกซึ่งถูกแบ่งเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีโอกาสวันละ 1 ครั้งในการมานั่งล้อมวงบริเวณหน้าห้อง หรือที่เรียกว่า fishbowl (อ่างปลา) เพื่อแต่ละคนจะได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกปฏิบัติ  พร้อมกับการตั้งคำถามที่ผุดขึ้นมาระหว่างทาง...  ในเวลานั้น ราวกับว่าฉันมองเห็นบางส่วนของตัวเองอยู่ในพวกเขาเหล่านั้น เพราะเมื่อปีที่แล้ว ฉันเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้มานั่งอยู่ใน fishbowl เช่นกัน

    การมีผู้เข้าอบรมใหม่ๆจากหน่วยงานที่หลากหลายทั้งจากโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานประกอบการ ทำให้มีคำถามจากหลายมุมมอง ยิ่งเมื่อถามจากใจ หรือถามแบบซื่อๆ ทำให้กระตุ้นต่อมความคิด และเกิดการคิดทบทวน ใคร่ครวญตาม ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบกลุ่มที่ทั้งเป็นความสุนทรี และกระทบใจอย่างลึกซึ้ง มีหลายคำถามน่าสนใจระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น ทำไมต้องนั่งสมาธิ ก่อนฝึกสติในจิต ทำไมตอนเช้า นั่งได้ดี แล้วตอนบ่ายทำไมไม่สงบเท่าตอนเช้า ทำไมต้องอดทนกับความเจ็บปวด ฯลฯ คำถามประเภททำไม เพราะอะไร ในช่วงวันสองวันแรก จะเยอะไปหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไปล่วงเข้าวันที่ 4 ที่ทุกคนฝึกฝนอยู่กับลมหายใจของตัวเองเป็นหลักเกือบตลอดเวลาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพราะต้องปิดวาจา และเมื่อได้มาสนทนาหลักการวิธีปฏิบัติในช่วงกลางคืน ทุกอย่างค่อยๆกระจ่างชัดขึ้น พร้อมที่จะฝึกด้วยความเพียร และด้วยความเข้าใจมากขึ้น

    ในวันก่อนสุดท้ายของการอบรม ทุกคนจะได้รับโทรศัพท์คืน หลังการที่ทางทีมงานขอไปเก็บให้ตั้งแต่เช้าวันแรกของการอบรม การตัดขาดการรับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกเป็นสิ่งจำเป็นมากในช่วงต้น เพื่อพวกเราจะได้ฝึกอยู่กับโลกภายในและพัฒนาจิตได้อย่างเต็มที่ ถ้าในระยะแรกที่พวกเราเพิ่งเริ่มเรียนรู้ แต่ยังต้องมาวอกแวกวุ่นวายใจกับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย คงไม่สามารถฝึกปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นได้เป็นแน่แท้

    การได้คืนโทรศัพท์ในวันก่อนสุดท้าย เรียกได้ว่าเป็นกุศโลบายอันแยบยลและเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ เพราะสี่วันที่ผ่านมา ถ้าเป็นสำนักบู๊ลิ้ม ก็ถือว่าพวกเราเริ่มได้เคล็ดวิชาของลมหายใจติดตัวมากันบ้างแล้ว  เพราะเราอยู่กับลมหายใจของเราอย่างเข้มข้น โดยไม่มีสิ่งใดรบกวน ไม่มีกิจการงานใดที่ต้องกระทำ  ฉะนั้น การรับข่าวสารจากภายนอกในวันนี้จึงเป็นช่วงของการทดลองนำเคล็ดวิชาที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน

    และ...เมื่อถึงช่วง fishbowl หลังจากที่ทุกคนได้รับโทรศัพท์คืน จึงเป็นช่วงที่มีคุณค่าและน่าสนใจมากทีเดียว เพราะเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอด 4 วันมาใช้เพื่อรับมือกับความรู้สึกของตัวเอง และการจัดการกับข้อมูลอันมหาศาลที่ได้รับ หรือกระทั่งสถานการณ์ของความวุ่นวายที่เข้ามาทันทีที่เปิดโทรศัพท์ ฉันพบว่าผู้มาใหม่ทุกคนมีวิธีการรับมือ การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากเดิม...แตกต่างไปจากเมื่อก่อนมาอบรม และเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นสิ่งที่ต่างรับรู้ได้ด้วยตัวเอง หากสำหรับฉัน แม้ทำได้เพียงเล็กน้อย ยังนับเป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่งแล้ว  

    แม้ว่าการมาเข้าคอร์ส refresh อย่างน้อยปีละครั้งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น และลึกซึ้งขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของโครงการฯ  คือการให้ทุกคนฝึกปฏิบัติการพัฒนาจิตด้วยความเข้าใจ   กระนั้น การเข้าคอร์สเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการได้เคล็ดวิชาของลมหายใจเท่านั้น การฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กลายเป็นวิถีชีวิตของตัวเองนั้นสำคัญกว่านัก  ฉันคิดว่าตอนนี้ ทุกคนในคลาสนี้ต่างกำลังมุ่งมั่นอยู่ระหว่างการทำให้เป็นวิถี รวมทั้งตัวฉันเองด้วย ส่วนเมื่อเป็นวิถีแล้วจะเป็นอย่างไรนั้น ฉันเชื่อว่าทุกคนจะค้นพบคำตอบด้วยตัวเองอย่างแน่นอน



    หมายเหตุ *จิตวิทยาวิปัสสนาเป็นหลักสูตรการฝึกจิตที่กำหนดขึ้นของโครงการ MIO (Mindfulness in Organization)  สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ / วิทยากรกลาง  แนวคิดของโครงการฯ คือเป็น non-religion approach  คือเน้นว่าไม่ใช่ศาสนา  ในการฝึก ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อให้ผู้คนต่างศาสนาสามารถใช้แนวทาง/ กระบวนการไปใช้ฝึกฝนต่อไปได้








เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in