เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Live&Learn Diaryอ่าน-คิด-เขียน
ก่อนดอกไม้จะผลิบาน กว่าจะเห็นพัฒนาการของเด็กพิเศษ
  • -----เรื่องเล่าจากมุมมองนักจิตวิทยาคลินิก  สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต----



    เวลาปลูกต้นไม้สักต้น คำถามที่เราสงสัยคือ จะต้องใช้เวลานานแค่ไหน กว่าต้นไม้จะโต?
     เวลาเราดูแลเด็กพิเศษ  คำถามในใจของผู้ปกครองก็คือ เมื่อไหร่ลูกจะหาย?
    มาร่วมทำความเข้าใจและหาคำตอบเหล่านี้ไปด้วยกัน




    เด็กพิเศษในความเข้าใจของทุกคนเป็นอย่างไร  เลี้ยงยากไหม ดูแลยากไหม  ในสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ คงมีคำถามเกิดขึ้นในใจมากมายเมื่อพาลูกมาพบแพทย์และทีมสหวิชาชีพที่ดูแลเด็กพิเศษที่สถาบันราชานุกูล  ทั้งความรู้สึกเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเด็กพิเศษ  ทั้งความกังวลเรื่องการเลี้ยงดู การใช้ชีวิต และอนาคตของลูกจะเป็นอย่างไรต่อ  การรักษาดูแลต่อเนื่องจะทำอย่างไร  สิ่งเหล่านี้เมื่อผสมรวมกันแล้วสามารถทำให้เกิดเป็นความเครียด ความวิตกกังวล หรือแม้กระทั่งความเสียใจ ความโกรธ ความรู้สึกที่ไม่อยากจะยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริง ๆ ได้   แต่ความจริงก็คือ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว พ่อแม่ก็ต้องพยายามที่จะก้าวผ่านความยากลำบากในจุดนี้ไปให้ได้ ขั้นแรกอาจเริ่มจากการพาลูกเข้ารับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์หรือทีมสหวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด รวมไปถึงนักจิตวิทยาเองที่เข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาเด็กพิเศษเหล่านี้ คอยรับฟังปัญหา ให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเลี้ยงดูเด็กอย่างต่อเนื่อง 

    เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว                                                                                       พ่อแม่ก็ต้องพยายามที่จะก้าวผ่านความยากลำบากในจุดนี้ไปให้ได้

    เมื่อผู้ปกครองพาเด็กเข้ามารับการรักษาก็ใช่ว่าคำถามหรือปัญหาที่กล่าวมานั้นจะหมดไป บางครั้งก็อาจมีคำถามใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และคำถามที่พบได้บ่อยที่สุดเมื่อผู้ปกครองเดินเข้ามาพบนักจิตวิทยา และอาจเป็นคำถามสำคัญในใจของผู้ปกครองหลาย ๆ คนก็คือ “เมื่อไรลูกจะหาย” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเป็นเด็กพิเศษไม่ใช่ภาวะที่เมื่อเกิดขึ้นเพียงกินยาแล้วจะหายได้ ผลที่จะเกิดขึ้นหลังการรักษาคือ เด็กจะมีความสามารถหรือพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และคำถามที่พ่อแม่จะมีต่อไปก็คือ “แล้วเมื่อไรลูกจะดีขึ้น ต้องดูแลรักษานานเท่าไหร่” แม้ว่าพ่อแม่จะพาลูกมาตามนัดทุกครั้ง แต่ทำไมลูกไม่เห็นเปลี่ยนไปเลย ทำไมลูกยังเหมือนเดิม? การจมอยู่กับคำถามเหล่านี้เป็นเวลานาน อีกทั้งยังต้องคอยเป็นหลักในการดูแลเด็ก ต้องพบเจอกับปัญหาทั้งเก่าและใหม่ในทุกวัน คงเป็นเรื่องยากที่จะเราจะเห็นมุมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ 

    ในความเป็นจริงแล้วการเป็นเด็กพิเศษไม่ใช่ภาวะที่เมื่อเกิดขึ้นเพียงกินยาแล้วจะหายได้  ผลที่จะเกิดขึ้นหลังการรักษาคือ เด็กจะมีความสามารถหรือพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น






  • อะไรเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าต้นไม้ของเราเติบโตขึ้นแล้ว? ลำต้นสูงใหญ่ขึ้น หรือการที่ต้นไม้เริ่มออกดอกออกผล? ถ้ามองว่าการออกดอกเป็นสิ่งที่แสดงถึงการเจริญเติบโตก็คงใช้เวลานาน ซึ่งบางทีผู้ปลูกต้นไม้ก็อาจท้อถอยก่อนที่ดอกจะออกด้วยซ้ำ แต่ใครจะรู้บ้างว่าในแต่ละวัน ต้นไม้ของเราสูงขึ้นวันละกี่มิลลิเมตร กี่เซนติเมตร เริ่มแตกยอดอ่อนกี่ยอด ในความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ในการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละเซนติเมตรนั้น มักสังเกตได้ยากกว่าการออกดอกออกผลให้เห็น กับเด็กพิเศษก็เช่นกัน ยกตัวอย่างในกรณีที่เด็กมีปัญหาด้านการสื่อสาร ถ้าเปรียบการพูดของเด็กเป็นการออกดอกออกผล เริ่มต้นจากเด็กไม่พูดเลยเปรียบเหมือนต้นไม้ที่เพิ่งเริ่มปลูก ก็คงรู้สึกว่าต้องใช้เวลานานมากแน่ ๆ แต่ถ้าเราหันกลับมามองการพยายามอ้าปากตามของเด็กในแต่ละครั้ง  เด็กเริ่มส่งเสียงอูอาบ้างแล้วนั้น มันก็นับเป็นเซนติเมตรสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยแท้จริงแล้ว พัฒนาการไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เสมอไป  สำหรับคำถามที่ว่า “เมื่อไรลูกของเราจะดีขึ้น” ก็อาจจะตอบได้ด้วยการให้ผู้ปกครองลองมองหาสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวและให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านั้น มากกว่าการมุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์ในขั้นสุดท้ายก็จะทำให้เราเห็นถึงการเติบโตที่คงเป็นก้าวสำคัญของเด็กได้เช่นกัน 

    โดยแท้จริงแล้ว พัฒนาการไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เสมอไป



  • เมื่อพ่อแม่พาเด็กมานั่งรอเข้ารับการรักษาหน้าห้องตรวจ มักจะมีโอกาสได้เห็นหลาย ๆ ครอบครัวพาลูกมารับการรักษาเช่นเดียวกัน บางคนมีอาการเหมือนกับลูกเรา บางคนเป็นโรคเดียวกับลูกเราเลย บางคนก็มาหาหมอพร้อม ๆ กัน เจอกันเกือบทุกครั้ง แต่ทำไมลูกเราดูไม่ดีขึ้นเหมือนลูกเขานะ? คำถามเหล่านี้คงเกิดขึ้น เมื่อผู้ปกครองพูดคุยและเทียบเคียงพัฒนาการของเด็กๆ ที่เข้ารับการรักษา เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ต่างกัน แม้ว่าจะได้รับการรักษาในเวลาไล่เลี่ยกันก็ตาม  เมื่อเรามองอีกด้านหนึ่งของความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ มันอาจเรียกได้ว่า “การเปรียบเทียบ” แล้วถ้าเราลองมาเปรียบเทียบความรู้สึกนี้เป็นต้นไม้บ้างล่ะจะเป็นอย่างไร? 

    ลองนึกดูแล้ว อาจมีต้นไม้อยู่ชนิดหนึ่งที่เมื่อเราพูดถึงแล้ว ดูไม่น่าจะเป็นต้นไม้ได้เลยนั่นก็คือ “กระบองเพชร”  กระบองเพชรเป็นต้นไม้ที่มีหนามเต็มต้น ใบก็ไม่มี ดูเลี้ยงยาก น่ากลัว ไม่น่าทะนุถนอมเหมือนต้นไม้ต้นอื่น มองเผินๆ เราคงลงความเห็นได้ว่า ไม่ว่าต้นไหนๆ ที่มีลักษณะแบบนี้ก็เป็นกระบองเพชรเหมือนๆ กันหมด  ส่วนวิธีเลี้ยงก็คงไม่ยาก เพียงแค่วางไว้ในที่มีแดด ไม่ต้องการน้ำมาก ทิ้งไว้กลางแจ้งก็ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วต้นกระบองเพชรเองก็มีหลากหลายสายพันธุ์  บางลักษณะก็มีภายนอกที่คล้ายกัน บางต้นก็แตกต่างโดยสิ้นเชิง  ในมุมมองของคนทั่วไปที่มองเข้ามาที่เด็กพิเศษ ก็คงเหมือนกับที่เรามองต้นกระบองเพชรนี้  ใครจะทราบว่า “เด็กพิเศษ” ที่เราเรียกรวม ๆ นั้น ต่างก็มีโรคและลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป วิธีการดูแลรักษาก็ย่อมแตกต่างกัน  

    ที่สถาบันราชานุกูลเองก็พบเด็กพิเศษที่หลากหลาย เช่น เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กดาวน์ซินโดรม หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา บางครั้งเราอาจจะคิดว่าเด็กที่เป็นออทิสติกทุกคนจะมีอาการที่เหมือนกัน แต่ในเด็กที่มีภาวะออทิสติก 10 คน ก็อาจมีอาการที่แตกต่างกัน เริ่มต้นจากการไม่มองหน้าสบตา มีภาษาที่เด็กเข้าใจคนเดียว และขาดทักษะทางสังคม บางคนกลับมีอาการที่เรียกว่าการกระตุ้นตนเองร่วมด้วย ไม่ว่าจะด้วยการเล่นมือ ส่งเสียง หรือเขย่งเท้าเดิน บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับด้านอารมณ์ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรง หรือการไม่สามารถแสดงออกอารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในชื่อโรคเดียวกัน ต่างก็มีระดับและความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันออกไป และเมื่อพูดถึงสมาธิสั้น บางครั้งเราอาจจะเข้าใจว่าเด็กสมาธิสั้นจะต้องซน ไม่นิ่ง วิ่งตลอดเวลา แต่แท้จริงแล้วเด็กสมาธิสั้นก็สามารถแบ่งออกเป็นแบบต่างๆ ได้อีก บางคนนั่งเรียนอยู่ในห้องได้ แต่มีลักษณะการทำงานที่สะเพร่า เหมือนจะฟังครููแต่ที่จริงไม่ได้ฟัง เมื่อไม่มีสมาธิจึงหมดความสนใจอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่เรียนในห้องได้   ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กสมาธิสั้นเหมือนกัน แต่ก็มีวิธีการจัดการที่ต่างกันไปตามพฤติกรรมที่แสดงออกและความรุนแรง  ดังนั้น คำถามที่ว่า “ทำไมจึงไม่ดีขึ้นเท่ากับคนอื่น” ก็คงตอบได้ว่า ไม่ต่างอะไรกับการดูแลรักษาต้นไม้ หากมีต้นไม้บางพันธุ์ที่ต้องการน้ำมากและชอบแดดแรง บางพันธุ์ต้องการน้ำบ้างและชอบแดดอ่อน บางพันธุ์ที่ใช้เวลาเติบโตค่อนข้างเร็ว แต่ในบางพันธุ์อาจต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเห็นผล ในขณะเดียวกัน เด็ก ๆ ของเราก็ต่างมีชื่อโรค ลักษณะอาการ ระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน จึงไม่แปลกที่เด็กทุกคนจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน  

    ใครจะทราบว่า “เด็กพิเศษ” ที่เราเรียกรวม ๆ นั้น ต่างก็มีโรคและลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป วิธีการดูแลรักษาก็ย่อมแตกต่างกัน 




  • เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองจะมีคำถามและความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในใจ โดยที่ผู้ปกครองต่างก็มีความเป็นห่วง อยากให้ลูกดีขึ้นจากอาการที่เป็นอยู่ มีความปรารถนาอยากให้คนที่เรารักได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และแน่นอนว่าการดูแลประคับประคองเด็กเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ส่งผลให้เกิดเป็นความเหนื่อยล้า ความกังวล ความเครียดสะสม รวมไปถึงความท้อถอยในเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ ความรู้สึกเหล่านี้สามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ปกครองได้และจะส่งผลกระทบต่อการดูแลเด็กต่อไปได้ด้วย  เมื่อผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเด็กมากที่สุด ตัวผู้ปกครองเองก็คือคนที่สำคัญของเด็กเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายจึงต่างเป็นคนสำคัญของกันและกัน  เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาจิตใจของผู้ปกครองเองจึงเป็นสิ่งสำคัญด้วย หากผู้ปกครองมีความเข้าใจความสามารถของเด็กในส่วนที่เด็กสามารถทำได้มากขึ้น คอยชื่นชมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ดูแลเอาใจใส่ พยายาม "มองเห็น" การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามระดับความสามารถของเด็กที่แท้จริง ก็จะสามารถสร้างกำลังใจให้ผู้ปกครองได้เป็นอย่างดีในการดูแลเด็กและเข้ารับการรักษาต่อไป


    เมื่อผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเด็กมากที่สุด ตัวผู้ปกครองเองก็คือคนที่สำคัญของเด็กเช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายจึงต่างเป็นคนสำคัญของกันและกัน  



    และจะไม่เป็นไรเลยถ้าหากต้นไม้ของเราจะโตช้าลงสักหน่อย หันไปมองรอบตัวจะพบว่ามีทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทีมแพทย์ บุคลาการทางการแพทย์  และผู้ปกครองที่คอยช่วยกันประคับประคองเด็กไปด้วยกัน  ให้เวลากับการเติบโตร่วมกัน  เป็นทั้งคนสำคัญและใกล้ชิดที่สุดของเด็ก  ในทุก ๆ วันต่อไปจากนี้ ต้นกระบองเพชรของเราต้นนี้ก็จะต้องค่อย ๆ เติบโตไปอย่างสวยงามได้แน่นอน.



  • จะไม่เป็นไรเลยถ้าหากต้นไม้ของเราจะโตช้าลงสักหน่อย                                           ให้เวลากับการเติบโตร่วมกัน  

    เรื่อง: เทียนพร มณีขาว และ กันติรา หงสกุล นักจิตวิทยาคลินิก  สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต-
    ภาพ: PIXABAY.COM และ เทียนพร มณีขาว และ กันติรา หงสกุล
    บรรณาธิกรต้นฉบับ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป


    ผลงานสื่อสารองค์ความรู้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ "การผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอองค์ความรู้" ณ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนธันวาคม 2564


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in