เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Live&Learn Diaryอ่าน-คิด-เขียน
จะดีกว่าไหมถ้าไม่ “ถ่อมตัว”?
  • งานลำดับที่ 1 ของ น้ำ อารี ในคอลัมน์ Live&Learn*


    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับลูกศิษย์ ถามถึงวิทยากรท่านหนึ่งว่าเขาสอนเป็นอย่างไร เพราะใจของตัวเองก็หมกมุ่นแต่จะหาวิทยากรผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ และชอบสอนหนังสือมาร่วมกันในกิจกรรม workshop เพื่อพัฒนาการอ่าน-คิด-เขียน ในปีการศึกษาหน้าอยู่

    “เขาถ่อมตัวค่ะครู เขาเก่ง มีประสบการณ์มาก แต่ถ่อมตัว”

    ฉันไม่ได้ติดใจอะไรจนคุยไปเรื่อยๆ ถึงเรื่องราวปัญหาชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ในโลกที่หมุนไว บทสนทนาที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ทำให้เกิด “สะกิดใจ” กับคำว่า “ถ่อมตัว" ที่เธอกล่าวถึง

    ปกติ เราคุ้นชินกับการใช้คำนี้เพื่อประเมินค่าในทางบวกเมื่อเราได้พบเจอคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถสูง แต่ประเมินตัวเองในลักษณะที่ต่ำกว่าความเป็นจริง 

    • application พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในโทรศัพท์ฉันบอกไว้ว่า                          “ถ่อมตัว” ก. พูดแสดงความรู้ความสามารถหรือฐานะในลักษณะที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

    หากคนคนหนึ่งรู้วิธีประพฤติที่ถ่อมตัว นั่นย่อมหมายความว่า เขาตระหนักรู้ระดับความรู้ความสามารถ (รวมถึงฐานะ) ที่แท้จริงของตนเองว่าแค่ไหน แต่เขารู้จักวิธีประพฤติที่จะไม่ “อวดตัว” คือ “แสดงให้เห็นว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น” (ราชบัณฑิตยสถาน) แน่นอนว่า ผู้ที่อยู่รายล้อมบุคคลผู้ถ่อมตัวย่อมสบายอกสบายใจ เพราะห่างไกลจากความรู้สึก “ถูกเหยียด(หยาม)” และวัฒนธรรมไทยกระแสหลักได้สถาปนา “ความถ่อมตัว” เป็นค่านิยมหลัก ความถ่อมตัวจึงเป็นบรรทัดฐานแห่งความประพฤติในการประเมินค่าคนคนหนึ่งไปโดยปริยาย น่าคิดต่อไปว่า การถ่อมตัวมีบทบาทความสำคัญอย่างไรต่อคู่สนทนา/ผู้ร่วมสนทนา และหากมองให้ลึกไปถึงเรื่องอำนาจด้วยแล้ว ก็น่าคิดไปอีก แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ฉันอยากจะเขียนถึงเท่าไรนัก


    ที่น่าสนใจสำหรับฉันมีสองเรื่อง เรื่องหนึ่ง คือการตระหนักรู้ระดับความรู้ความสามารถของตัวเอง อีกเรื่องคือ เป็นไปได้ไหมที่คนเราจะไม่ถ่อมตัว และก็ไม่อวดตัวในเวลาเดียวกัน?

    “การตระหนักรู้ระดับความรู้ความสามารถของตัวเอง”เป็นเรื่องสำคัญ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร สำหรับฉัน สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการที่คนเรารู้จักตัวเองดีพอ เคยคุยกับลูกศิษย์ว่า สิ่งที่ทุกคนควรต้องแสวงหาคือ การรู้จักตัวเองให้มากพอ รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร สนใจอะไรเป็นพิเศษ เหล่านี้จะนำมาสู่ “การออกแบบ” ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงานในอนาคต สร้างชีวิตในแบบที่เรามีความสุข แม้จะเป็นสุขแบบโคตรเหนื่อยก็ตาม 

    จะดีกว่าไหมถ้าไม่ “ถ่อมตัว”? เป็นข้อถกเถียงในหัวของฉันในประเด็นถัดมา ก็ในเมื่อเรารู้ระดับความสามารถของตัวเอง ประเมินตนเองได้เที่ยงตรงมากประมาณหนึ่งตามประสบการณ์การใช้ชีวิตที่มีมา หากเราจะพูดกันตรงตรง พูดกันตามจริงว่า สิ่งนี้เราเก่ง คิดว่าทำได้ดี เพราะหมกมุ่นทำมันมานานพอสมควร สิ่งนั้นเราง่อยเลย ทำไม่ได้ ไม่น่าพัฒนาได้ง่ายๆ  ส่วนสิ่งโน้นเราทำได้กลางๆ มันจะเป็นอย่างไร ผลลัพธ์จากการ “ยอมรับตามจริงจากมุมมองและจุดยืนของเรา” มันจะให้ผลลัพธ์ที่เหมือนกับ “การถ่อมตัว”หรือไม่ 

    หรือเป็นเพราะไม้บรรทัดที่เราใช้วัดตัวเองมันเชื่อไม่ได้ เราจึงต้องถ่อมตัวไว้ก่อน เพื่อให้ไม้บรรทัดของหลายๆ คนช่วยวัดเรา

    หากมองในแง่การทำงาน การประเมินศักยภาพของตัวเองตามจริง สำหรับเราเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะการทำงานในโลกปัจจุบันที่ต้องทำงานเป็น “ทีม” เพื่อที่จะได้ Put the right man on the right job 

    เราไม่ได้ถ่อมตัวและไม่ได้อวดตัว แต่เราประเมินตัวเองตามจริง 

    หากเราประเมินตนเองผิด เราก็ยอมรับได้ 
    เพราะความผิดพลาดจะช่วยสร้างประสบการณ์การประเมินตัวเองอย่างเที่ยงตรงให้เราได้ต่อไป

    หลายครั้งเราพบลูกศิษย์ที่ประเมินตัวเองตามกว่าศักยภาพจริง เราเองเคยก็เป็น (ตอนนี้ก็อาจจะยังเป็นอยู่บ้าง)  แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานมามากประมาณหนึ่งทำให้เราเริ่มรู้แล้วว่า เราถนัดอะไร เราทำอะไรได้ดี เราไม่ถนัดจะทำอะไร เราสนใจอะไร จุดหมายของชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวของเราเป็นอย่างไร

    การเข้าใจตัวเองมากเพียงพอที่จะสามารถประเมินตนเองได้ตามความเป็นจริงนี่โคตรวิเศษเลย เป็นคำอธิษฐานหนึ่งที่เราปรารถนาในการใช้ชีวิต

    “ความถ่อมตัว” ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ในตัวเอง ตราบเท่าที่ผู้ถ่อมตัวตระหนักรู้ความรู้ความสามารถที่แท้จริงของตนเอง และเข้าใจบริบทและสถานการณ์ที่แวดล้อม การถ่อมตัวด้วยน้ำใสใจจริงเป็นสิ่งน่าเคารพยกย่อง ส่วการถ่อมตัวเพื่อผลประโยชน์แฝงก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ตราบใดที่ยังไม่ได้เดินไปถึงการถ่อมตัวเพื่อผลประโยชน์ที่ละเมิดศีลธรรมจรรยา

    แต่หลายครั้ง “ความถ่อมตัว” ก็เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักตัวเองมากพอ เพราะมันทำให้เราไม่ประเมินตัวเองตามความเป็นจริง และหลายครั้งที่มันเป็นปัญหาต่อการทำงานเป็นทีม และการจัดสรรงานตามความถนัด

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT


    จะดีกว่าไหมถ้าไม่ “ถ่อมตัว”? ฉันอดถามตัวเองไม่ได้ แม้บทสนทนาระหว่างเราจะสิ้นสุดลงแล้ว 

    • ฉันถนัดทำงานพวกที่ต้องประสานงาน แต่ความจริงฉันไม่ค่อยชอบพบปะผู้คนมากมาย
    • ฉันมีหัวในทางการประชาสัมพันธ์นิดหน่อย ทำได้ดีพอใช้ ทั้งที่ธรรมชาติของตัวฉันขัดกับงานประชาสัมพันธ์มากประมาณหนึ่ง 
    • ฉันชอบทำงานเกี่ยวกับศิลปะ แม้จะสร้างงานศิลปะออกมาไม่เป็นนัก (วาดรูปไม่ได้ ร้องเพลงได้ตรงโน้ต เล่นดนตรีไทยได้นิดหน่อย และเย็บผ้าปักผ้าได้) แต่ฉันคิดว่าฉันสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะได้พอดู
    • ฉันมีหัวสร้างสรรค์ คิดอะไรนอกกรอบไม่อยู่กับกฎเกณฑ์ และมีลูกบ้ามาก หากจะทำอะไรที่ตั้งเป้าหมายไว้
    • ฉันไม่มีมธุรรสวาจา หากมธุรรสวาจาคือการทำให้ผู้ฟังพึงใจโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง แต่ฉันก็ไม่ใช่คนที่มีจุดยืนในการที่จะทำร้ายจิตใจใคร 

    ฉันไม่ได้ถ่อมตัว แต่ประเมินตนเองตามไม้บรรทัดที่ถืออยู่ในมือขณะนี้
    นี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้ให้ลูกศิษย์ทุกคนได้อ่าน และทดไว้เตือนใจตัวเอง

    จะดีกว่าไหมถ้าไม่ “ถ่อมตัว”?

    5 พฤษภาคม 2561
    16.55 น. @บ้านสวนชานเมือง


    พบกับคอลัมน์ “Live&Learn” ที่ชวนคุณมาสำรวจชีวิต การงาน และสังคมโดยคณะผู้เขียนที่ผลัดเปลี่ยนแวะเวียนเป็นครั้งคราวมาเล่าเรื่อง ทั้งโดยนัดหมายและไม่ได้นัดหมาย

    ที่มารูปภาพ: https://pixabay.com

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in