เรื่องราวความฉาวโฉ่ว่าฟักได้แม่เลี้ยงเป็นเมียนำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมในตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่ง ถือเป็นความเสื่อมเสียและน่ารังเกียจของคนในสังคมที่นั่นฟักกับพ่ออาศัยอยู่ที่ดินหลังวัดโดยพ่อเป็นภารโรงในตอนเด็กฟักบวชเป็นเณรสอบได้นักธรรม ตรี โท และเอก สามเณรฟักเทศนาให้คนในตำบลได้ฟังต่างก็พากันชื่นชมและยกย่องให้ฟักเป็นเยาวนตัวอย่างของตำบลจนกระทั่งฟักสึกออกมาเนื่องจากทนเห็นพ่อลำบากคนเดียวไม่ได้แม้จะถูกทัดทานจากคนรอบข้างก็ตามหลังจากที่ฟักไปเป็นทหารประจำการที่ภาคใต้พ่อของฟักก็มีเมียเด็กเป็นคนสติไม่เต็มเต็งชื่อ“สมทรง” คนในหมู่บ้านต่างก็ครหาว่าตาฟูพ่อของฟักตัณหาหลับมีเมียเด็กคราวลูกแต่ฟักกลับไม่สนใจเพราะถือว่าอะไรก้ตามที่เป็นความสุขของพ่อฟักจะไม่ขัดพอฟักปลดประจำการกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นานตาฟูก็ตาย
ในคืนวันงานแซยิดของหลวงพ่อที่วัดสมทรงประกาศกร้าวว่าฟักเป็นผัวของนางเรื่องราวคาวคลุ้งฟุ้งไปทั้งตำบลตั้งแต่คืนนั้นคนในตำบลต่างก็หันหลังให้ฟัก โลกภายนอกของฟักหลังจากนั้นจึงมีแต่งานและงานความเครียดเริ่มนำพาความเสื่อมโทรมมาให้ฟักจนผ่ายผอมลงเรื่อย ๆความดีของฟักอย่างเช่นดูแลความเรียบร้อยของวัด ฆ่าหมาบ้า (ที่อาจจะไม่บ้า) และอื่นๆ ที่ทำในตำบลเหมือนกับเหรียญที่ตกลงไปในน้ำกระเพื่อมพริบแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นก็ที่มันจะเงียบสงบและจากไปอย่างไร้ร่องรอยหลังจากงานเผาศพตาฟูฟักติดเหล้าและกลายเป็น Alcoholism
ตัวละครตัวหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในบางช่วงแต่กลับน่าสนใจอย่างมากคือสัปเหร่อไข่ผมมองว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะใช้สัปเหร่อไข่เข้ามาเทียบกับชีวิตของฟักเพื่อจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนหากฟักคือคนที่ต้องการการยอมรับจากสังคมทำทุกอย่างแม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนขอแค่มีที่ยืนอยู่ในสังคมขอแค่มีคนหันมาสนทนากับตนเหมือนอย่างก่อนและให้ความสำคัญกับสังคมมากกว่าตัวเอง แต่สัปเหร่อไข่คือคนที่วางตัวนิ่งเฉยกับสายตาของคนในสังคมแม้ว่าคนเหล่านั้นจะมองมาด้วยความดูถูกดูแคลนก็ตามแต่สัปเหร่อไข่ก็ไม่ได้ใช้ความคิดของคนเหล่านั้นมาเป็นแก่นสารของชีวิตซึ่งแตกต่างจากฟักอย่างสิ้นเชิง
ครั้งแรกที่ตัวละครตัวนี้เดินเข้ามาโลดแล่นในฉากช่วงวันสงกรานต์ฟักมีมุมมองกับสัปเหร่อไข่ว่าเป็นคนท้ายแถวของคนในตำบลเป็นคนสกปรก ที่ใช้ชีวิตเกลือกกลั้วอยู่กับศพ ผู้เขียนใช้คำพูดว่า “สัปเหร่อไข่”และกลายมาเป็น “ลุงไข่” ในเวลาต่อมาที่ทั้งคู่เริ่มสนิทกัน เหมือนข้อความที่ว่า
“...วันนี้ฟักมาช่วยงานที่วัดด้วยมีสัปเหร่อไข่คอยจัดแจงทุกอย่างในงาน เป็นหน้าที่ของแกโดยตรงแต่ฟักก็เอาแรงเข้าร่วมกับสัปเหร่อ แม้ว่าส่วนลึกจะรู้สึกรังเกียจแกก็ตาม...”
สัปเหร่อไข่เข้ามามีบทบาทอีกครั้งเมื่อฟักตัดสินใจที่จะเผาศพตาฟูผู้เป็นพ่อสายตาฟักยังคงมองว่าสัปเหร่อไข่นั้นต่ำต้อยเหมือนเดิม
“...ขณะเดินไปตามสวนมะพร้าวนั้นฟักไม่รู้ว่าทำไมตัวเองจึงรู้สึกมั่นใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งไม่นึกประหม่าหวาดกลัวเหมือนเช่นเดินไปหาคนอื่น ๆซ้ำบางขณะยังคิดว่าเดินไปหาคนที่ต่ำต้อยกว่าเสียอีก และในนาทีเดียวนั้นกลับรู้สึกว่าตัวเองเขื่องขึ้นมาเหมือนเมื่อก่อน...”(๑๑๖)
ความคิดของฟักต่อตัวละครตัวนี้เหมือนเป็นการผลักตัวเองให้สูงขึ้นอีกนิดอย่างน้อยก็มีคนที่ต่ำต้อยกว่าตนเองในความคิดของฟัก
ผู้เขียนยังสะท้อนความคิดของฟักเมื่อครั้งยังเป็นสามเณรน้อยที่คนในตำบลรักใคร่อีกว่าตอนนั้นฟักไม่เคยอยากที่จะวิสาสะกับสัปเหร่อไข่แม้สักครั้งทั้งที่แกก็ไม่ได้แสดงพฤติกรรมอะไรที่น่ารังเกียจหรือแม้แต่กับข้าวที่แกใส่บาตรมา พระ เณรและเด็กวัดก็จะไม่กินกับข้าวที่แกใส่บาตร
แต่กระนั้นฟักเองก็ยังไม่เชื่อที่ลุงไข่บอกทั้งหมดว่าเชื่อใจฟักฟักคิดทบทวนหลายครั้ง หวาดระแวงจนคิดกระทั่งว่าลุงไข่พูดเพื่อเอาใจตนเพราะตนมีงานให้ทำและหวังเพียงเงินของฟักความคิดนั้นยิ่งตอกย้ำไปอีกเมื่อเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องความไว้วางใจของฟักเริ่มหมดจากสัปเหร่อไข่
ลุงไข่เห็นฟักมาตั้งแต่ฟักยังเด็กตาฟูเป็นช่างไม้ที่มากับผู้รับเหมาก็สร้างมาสร้างศาลาวัดแต่เมื่องานเสร็จกลับมาขออาศัยอยู่ที่วัดต่อในครั้งแรกลุงไข่เองก็กล่าวทัดทานหลวงพ่อแต่เมื่อหลวงพ่อตัดสินใจแล้วก็ได้แต่รอดูกันต่อไปตาฟูกับลุงไข่เป็นเพื่อนกันและลุงไข่ก็เฝ้ามองความเติบโตของฟักจนถึงตอนนี้จนถึงวันที่เผาศพตาฟูไม่มีคนเข้ามาเผาศพพ่อของฟักฟักเฝ้าโทษตัวเองว่าคนเกลียดตัวเองจึงไม่มาเผาศพพ่อและวันนั้นลุงไข่ก็แนะนำให้ฟักรู้จักโลกอีกใบ “โลกของเมรัย” นั่นเอง
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วฟักก็จ่ายค่าเหนื่อยให้ลุงไข่แต่ลุงไข่กลับไม่รับค่าเหนื่อยนั้นอีกทั้งยังร่วมทำบุญกับตาฟูพ่อฟักด้วยฟักรู้สึกละอายแก่ใจที่เคยเข้าใจผิดจนต้องสารภาพผิดกับลุงไข่เรื่องที่เขามองลุงไข่ผิดไป
ลุงไข่เองก็ระบายความในใจให้ฟักฟังไม่เคยมีใครให้ความสำคัญกับตัวเขานอกจากเวลามีงานที่ต้องไหว้วานให้สัปเหร่ออย่างเขาทำไม่เคยมีเด็กคนไหนให้ลุงไข่อุ้ม ไม่เคยมีใครกินข้าวสำรับเดียวกับลุงไข่เพราะเขารังเกียจความสกปรกที่ลุงไข่คลุกคลีกับศพแต่ถึงอย่างนั้นลุงไข่ก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราวเหล่านั้นกลับวางเฉยและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุขผิดจากฟักที่ต้องดิ้นรนเพื่อต้องการที่ยืนในสังคม
หลังจากนั้นชีวิตของฟักก็มีเหล้าและลุงไข่เข้ามาเป็นเพื่อนฟักมักจะไปนั่งคุยและนั่งกินเหล้าที่บ้านลุงไข่แทบจะทุกวันนานวันเหล้าสิ่งที่กินเข้าไปก็กัดกินร่างกายของฟักจนย่ำแย่ลุงไข่พยายามห้ามปรามฟักหลายครั้งเรื่องเหล้ากระทั่งช่วงหลังฟักมากินเหล้าบ้านลุงไข่ลุงไข่ก็ไม่กินด้วยและไม่มีเหล้าติดบ้านเหมือนอย่างเมื่อก่อน
ฟักตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว…ฟักมักจะเดินมาหาลุงไข่เสมอยามที่มีเรื่องทุกข์ใจลุงไข่คอยรับฟังและคอยปลอบประโลมเตือนสติฟักทุกครั้ง
แต่ตัวละครอย่างลุงไข่ที่วางตัวเฉยกับสังคมมาตลอดก็ชี้ให้เห็นในอีกแง่มุมของสังคมนั่นคือลุงไข่วางตัวเฉยแต่ก็ไม่ได้เดินสวนทางกับคนในสังคมแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ควรกระทำมากที่สุดก็ตามเหมือนข้อความที่ผู้เขียนบอกความคิดของลุงไข่ไว้ว่า
“...ฟักติดคุกวันนี้ไม่มีใครมาเยี่ยมเขาเลยแม้แต่ลุงไข่ที่รู้เรื่องดีและเข้าใจเขามาตลอด สัปเหร่อไข่ได้แต่แอบสงสารและสมเพชอยู่ในใจแกไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือฟักได้แม้แต่การไปเยี่ยมก็ไม่สามารถทำได้เพราะถ้าแกไปก็ไม่ต่างจากเดินผ่าพายุร้ายไปอย่างเดียวดายมีแต่อันตรายเท่านั้นที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า…” (๒๘๘)
พายุร้ายและอันตรายคือกระแสของสังคมที่ต่อต้านฟักอย่างรุนแรงลุงไข่ตัวละครตัวนี้นิ่งเฉยต่อสังคมแต่ไม่สวนกระแสไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนโดยการสวนทางกับคนในตำบล
จนกระทั่งฟักจากโลกนี้ไปลุงไข่ก็คอยจัดการทุกอย่างคอยช่วยให้ทุกอย่างผ่านไปทุกครั้งที่ลุงไข่กินเหล้ามักจะเทอีกแก้วไว้เสมอเพื่อให้ฟักได้กินด้วยลุงไข่พร่ำโทษตัวเองเรื่องที่พาฟักกินเหล้าจนฟักเสียผู้เสียคนอีกทั้งเรื่องที่ขอร้องให้ครูใหญ่จัดการงานศพฟัก เป็นอีกเรื่องที่ตัวละครตัวนี้ทำผิดต่อฟักงานศพฟักเป็นงานที่คนในตำบลมากันมากมายแต่ไม่ได้มาเพื่อร่วมไว้อาลัยฟักแต่มาเพื่อที่จะดูความเจริญทางด้านวัตถุมากกว่าและมันเป็นความผิดพลาดครั้งสุดท้ายที่ตัวละครอย่างลุงไข่พึงกระทำให้คนที่เขารักเหมือนลูกหลานคนหนึ่ง
ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนพยายามที่จะสื่อเรื่องราวของคนในสังคมแม้กระทั่งคนที่ไม่ทุกข์ร้อนต่อสายตาหยามเหยียดอย่างลุงไข่ก็ไม่คิดที่จะสวนกระแสต่อสังคมเพื่อความอยู่รอดของตนเองตัวละครตัวนี้เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในเรื่องของการนำพาฟักไปในทิศทางที่ตกต่ำลงผมไม่ได้จะโทษลุงไข่ทั้งหมด แต่เขาก็มีส่วนที่ทำให้ฟักเป็นไปอย่างนั้นและคนในตำบลก็เช่นกัน ผมยังคงเชื่ออย่างสนิทใจว่าตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคมและดำรงตนเองอยู่ในสังคมแล้วนั้นคนในสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำพาเราไปในทิศทางที่สังคมต้องการไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตามลุงไข่คือตัวอย่างของคนในสังคมที่ดูเหมือนกับว่าจะหวังดีมีความเห็นอกเห็นใจในตัวฟักแต่ตัวลุงไข่เองก็เกรงอำนาจสังคมไม่น้อยในการช่วยเหลือฟักอีกทั้งยังเป็นคนที่นำพาตัวละครฟักมาพบกับจุดเปลี่ยนเรื่องของสุราเมรัยสุดท้ายลุงไข่ที่ฟักไว้ใจก็เป็นส่วนเล็ก ๆในสังคมที่ทำให้ฟักต้องตายอย่างทรมานและมีตราบาปติดตัวไปด้วย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in