ผ่านไปอีกเทอมแล้ว เร็วมาก และแน่นอนว่าเราก็จะกลับมาอัปเดตเหมือนเดิม
เทอมนี้ได้กลับไปเรียนที่คณะเต็มรูปแบบแล้ว สนุกไปอีกแบบ แล้วก็เหนื่อยมากกกกกกก (ก.ไก่ล้านตัว) เหนื่อยกว่าตอนเรียนออนไลน์ แต่ก็รู้สึกดีกว่า รู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตเต็มที่อย่างที่ควรเป็นมาตั้งนานแล้ว…
เทอมนี้เป็นอีกเทอมที่เรียนเยอะมากและงานหนักมากแต่ก็ผ่านมาได้แม้จะสภาพปางตาย… หมดวิชาบังคับคณะไม่ได้แปลว่าจะหมดเวรหมดกรรม เพราะบางทีเวรกรรมก็มาในรูปแบบของงานในวิชาเอกที่แสนหนักหนา เอกที่ชอบ นรกที่ใช่ แต่ไม่เป็นไร เราเลือกเอง เดี๋ยวจะเริ่มรีวิว (เล่าถึงแต่ละ) วิชาเลย !
แต่ละรายวิชาเรียงตามลำดับการปรากฏตัว (ใช้ภาษาในบทละครมาก 5555 ก็คือตามตารางเรียนเรานั่นแหละ ยกเว้นเจนเอดที่เอามาไว้วิชาแรก)
ป.ล. ที่เราเขียนทั้งหมดเป็นความรู้สึกส่วนตัวเรานะคะ อ่านแล้วเอาไปพิจารณาได้แต่อย่าเชื่อทั้งหมด เพราะเรากับคุณคนอ่านอาจจะชอบหรือรู้สึกกับแต่ละวิชาไม่เหมือนกัน
Physic in Films (เจนเอดหมวดวิทย์)
วิชาเจนเอด แต่ละคาบครูจะเปิดหนังให้ดูสั้น ๆ แล้วโยงเข้าบทเรียนฟิสิกส์ว่าหนังเรื่องนี้เขาพูดถึงฟิสิกส์หรื่องอะไรหรือว่าใช้หลักฟิสิกส์อะไร แล้วมันทำได้/เป็นไปได้จริง ๆ ไหม เนื้อหาส่วนมากเป็นฟิสิกส์สมัยมัธยมปลาย (แน่นอนว่าเด็กสายศิลป์ภาษาที่รู้ตัวตั้งแต่ตอนม.ต้นว่าจะไม่เข้าสายวิทย์แบบเรานั้นนนน ทิ้งไปแล้วค่ะ ตั้งแต่สอบ O-Net เสร็จ) เนื้อหาบางบทดูยากสำหรับเรา แต่งานไม่ยากมากนะ เรียนแต่ละวีคครูจะสั่งการบ้านง่าย ๆ ให้ไปทำ อาจจะฟังคลิปแล้วสรุปหรือเขียนตอบอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ยากมาก ครูเขารู้แล้วว่านี่เป็นฟิสิกส์ตัวพื้นฐาน มีเด็กหลายคณะมาเรียน ตอนท้ายเทอมมีงานกลุ่มให้ไปหาหนังมา 1 เรื่องแล้วทำ Presentation หลักฟิสิกส์ในหนังเรื่องนั้น
ครูที่สอนมี 2 คน ใจดีทั้งคู่เลย สอนดี แต่เราเองที่ไม่เข้าใจเพราะเราไม่เก่งฟิสิกส์ 555 ว่าไปก็หาทำอยู่ ไม่เก่งฟิสิกส์แต่มาเรียนวิชาฟิสิกส์เพราะอยากดูหนัง+อยากรู้ว่าในหนังนี้เขาใช้หลักฟิสิกส์อะไร วิชานี้ไม่มีตัดเกรด แบ่งเป็นผ่านกับไม่ผ่าน (คือเราลงวิชานี้แทนที่จะเป็นวิชายอดฮิตที่คนชอบเรียนเพราะเป็นตัวที่เราสนใจพอดี เราเป็นคนเลือกเรียนแต่ตัวที่ชอบแม้จะไม่มีเพื่อนและอาจจะไม่ได้ A ก็ไม่เป็นไร เอาที่อยากเรียนเป็นพอ แหะ ๆ )
Theatre Production (วิชาบังคับในเอก)
วิชาที่งานหนักมากกกกกกกกกกกกกกกกก อยากกรี๊ด แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกจะยังไม่หนักเท่าไหร่ เรียนสบาย ๆ เรียนเรื่องขั้นตอนการทำโปรดักชันสักโปรดักชันนึง ดูว่าสมมติจะจัดโปรดักชันละครสักเรื่องนี่เราต้องเริ่มจากอะไรบ้าง ต้องทำยังไงต่อ กว่าจะเตรียมงาน กว่าจะเริ่มเตรียมงาน กว่าจะจบงาน มีพูดเรื่องลิขสิทธิ์ การวางงบประมาณ คำนวณค่าใช้จ่ายในการทำโปรดักชันแบบง่าย ๆ (เพราะนี่เป็นแค่ตัวเริ่มต้น5555) พี่ที่มาสอนเก่งมาก ๆ เขาเคยทำโปรดักชันมาหลายโปรดักชัน ประสบการณ์เยอะมาก ๆ มีคาบนึงเขาให้ทุกคนลองร่วมกันคิดโปรดักชันละครมาเล่น ๆ 1โปรดักชันแล้วพาคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะทำละครเวที 1 เรื่อง หาที่แสดง คิดว่าผู้ชมต่อรอบจะอยู่ที่กี่คน จะขายบัตรราคาไหนบ้าง ราคาบัตรต่ำสุดกี่บาท สูงสุดกี่บาท ต้องขายเท่าไหร่ถึงจะได้ทุนคืน พอทำแบบนี้แล้วรู้เลยว่าตัวเองไม่ควรทำโปรดักชันไหนอีก ไม่มีหัวเรื่องการเงินจริง ๆ ฮือออ
ช่วงที่ 2 ได้ไปดูงานในโรงละคร ดูว่าโรงละครมีอะไรบ้าง พื้นที่บนเวที หลังเวที ด้านหน้าโถง ตรงห้องควบคุมอะไรใด ๆ แล้วก็โชคดีที่เทอมนี้เรามีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่โรงละครใหญ่ ก็เลยได้เรียนทั้งในโรงใหญ่และในโรงเล็กที่คณะเลย สนุกมาก ช่วงนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคในโรงละคร การต่อลำโพง การเปิดไฟ เปิดเสียง การขึงม่าน เตรียมเวที ฉายโปรเจกเตอร์ ประมาณนี้ สนุกเหมือนกัน แต่ก็รู้ว่าตัวเองไม่เก่งเรื่องการ setup โรงละครเท่าไหร่ (อ้าว) ก็คืออย่าให้เราอยู่กับเทคนิคและเทคโนโลยี เราจะทำมันพัง
ช่วงที่ 3 เป็นช่วงของการทำงานจริง คนที่เรียนวิชานี้ได้รับมอบหมายให้จัดเทศกาลแหวกม่านการละคร (เทศกาลโชว์ผลงานของนักเรียนศิลปการละครคณะเรา) โดยอัตโนมัติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ (หัวเราะอย่างเจ็บปวด) เราจะได้รับบทเป็นผู้จัดเทศกาลละครนั่นเอง! มีการแบ่งฝ่ายทั้งฝ่ายที่ทำงานในโรง ฝ่ายที่ทำ PR ฝ่ายที่ทำเรื่องตั๋ว ฝ่ายที่ต้องไปหาคนมาช่วยงาน ฝ่ายที่ต้องรวบรวมการแสดงทั้งหมดและจัดตารางโชว์ หน้าที่แต่ละฝ่ายจะต่างกันแต่ก็ต้องมาคุยกันและทำงานร่วมกันอยู่ดี เป็นงานที่ทำให้เราได้คุยกับมนุษย์เยอะมาก ทำงานนี้เกือบ 2 เดือน ได้คุยกับคนเยอะกว่าที่คุยทั้งปี แล้วก็ค้นพบว่าตัวเองไม่ควรคุยกับคนเยอะเกินไป (อีกแล้ว… ที่ดู ๆ มานี่คือตัวเองไม่เหมาะกับงานไหนเลยใช่ไหม…)
ความท้าทายของงานนี้คือการสื่อสารและการจัดการเวลา ทรัพยากรและคนที่มี แต่หน้าที่ของเราเน้นเรื่องบริหารเวลากับการสื่อสารมากกว่า ไม่ค่อยได้จัดการคนเท่าไหร่ การทำละครมันทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องการคนหลายฝ่ายแล้วก็ต้องสื่อสารกัน สิ่งสำคัญคือต้องพูดให้เคลียร์และเข้าใจตรงกัน งานจะได้ไม่ลำบากมาก(กว่าที่ควรจะเป็น)
ตอนทำงานจบก็สบายใจนะ สนุกดี ได้เรียนรู้อะไรเยอะขึ้น โดยเฉพาะรู้ว่าตัวเองไม่ควรจัดเทศกาลละครอีก (ล้อเล่น ถ้าให้ทำอีกก็ได้แหละ แต่ขอดูสเกลงานอีกที ถ้าเลือกได้ก็อยากทำหน้าที่อื่นมากกว่าเป็นคนจัดโปรดักชันเอง แหะ ๆ )
Speech Voice Train (วิชาบังคับในเอก)
วิชาการฝึกเสียง(เป็นวิชาบังคับในเอก) ครูจะสอนเราหายใจ สอนการออกเสียงให้มีพลัง คำว่ามีพลังที่ว่านี่ไม่ได้แปลว่าต้องดังอย่างเดียวนะ อาจจะเบาแต่เป็นเสียงที่เต็ม แบบนี้ก็ถือว่ามีพลัง
แต่ละสัปดาห์ครูจะมี exercises ให้ฝึกทำ ให้ออกเสียง /ช/ /ส/ ฝึกการเปล่งเสียงให้ถูก ทำยังไงให้เสียงไม่มากระจุกที่คอ (ถ้าเสียงมาที่คอเวลาพูดนาน ๆ จะเจ็บคอเพราะพลังมันไม่ได้ออกมาให้หมด ประมาณนี้) แต่ละ exercises ก็จะทบ ๆ กันไปในแต่ละสัปดาห์ ครั้งแรกทำแบบที่ 1 ครั้งต่อไปทำแบบที่ 1 แล้วสอนแบบที่ 2 ครั้งต่อไปทำแบบที่ 1+2 แล้วทำแบบที่ 3 เป็นวิชาที่ไม่ได้ยากมากแต่ต้องอาศัยการซ้อมเยอะ ๆ จริง ๆ
ครูที่สอนเก่งมาก เขาฟังออกว่าเสียงของเรามีปัญหาตรงไหนแล้วบอกวิธีแก้ได้ตรงจุดมาก ถ้าเอากลับไปฝึกบ่อย ๆ แปปเดียวดีขึ้นจริง ๆ ครั้งนึงเราเคยเสียงเปลี่ยนเพราะเพิ่งหายจากโควิด ครูก็ให้เราทำวิธีนึง ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี แต่มันคือการทำเสียงสูงแบบ อื้มมมมมมมม เอาให้สูงที่สุด แล้วก็เปลี่ยนไปทำเสียง อืมมมมมมมม ให้ต่ำที่สุด ทำสลับไปมาเสียงเราหายแปลกเลย มหัศจรรย์ ! ที่สำคัญคือครูรู้นะว่าใครไม่ซ้อมมา 5555 เพราะฉะนั้นควรซ้อม
บางคนอาจจะเบื่อวิชานี้ คือรูปแบบมันอาจจะดูน่าเบื่อจริง ๆ แหละเพราะครูจะไล่ให้ทำ exercises ทีละคนเลย แต่ถ้าเราฟัง+สังเกตเพื่อน เราจะเห็นว่าแต่ละคนมีปัญหาเกี่ยวกับเสียงที่ต่างกัน บางคนมีปัญหาเดียวกับเรา บางคนมีปัญหาต่างกับเรา บางทีเราก็เห็นวิธีแก้ปัญหาเสียงแบบใหม่ มันจะมี exercise นึงที่เราทำแบบนึง แต่พอผ่านไปสักพักเราต้องเปลี่ยนไปใช้อีกวิธีนึงด้วย exercise นั้นคือ exercise การเชื่อมเสียง ไม่รู้จะเรียกว่ายังไงแต่ครูจะให้พูด “โอ้โหหหห” (เสียงสูง) ไม่ก็ “โอ้โห่วววววว. (เสียงต่ำ) ตอนแรกเราต้องพูด “โอ้โห” แต่ไป ๆ มา ๆ พลังเสียงหรืออะไรสักอย่างในตัวเราเปลี่ยนเลยต้องไปใช้ “โอ้โห่” แทน
พอทำ exercises ครบก็ไปเรียนเรื่องการออกเสียงพยัญชนะ พวก /ส/ /ช/ /ก/ /ค/ /ง/ /ห/ คำควบกล้ำ ร ล ว อะไรประมาณนี้ พอผ่านตรงนี้ไปก็จะเป็นการออกเสียงสระ แล้วก็การประยุกต์ใช้ ครูให้อ่านบทละครที่ครูเลือกมาโดยใช้ความรู้ทั้งหมดที่เรียน ไม่ยากมาก แต่ต้องจำบทไป
เรียนวิชานี้แล้วรู้สึกเสียงมนุษย์นี่มันมหัศจรรย์จัง มองไม่เห็นแต่รับรู้ว่ามีอยู่และสัมผัสได้ คาบแรกครูถามเราว่าคิดว่าเสียงตัวเองมีปัญหาตรงไหน เราตอบไปว่าชอบกดเสียงตัวเองเวลาพูดกับคนอื่น เราคิดว่าเสียงเราใหญ่ไปและไม่เพราะ ดูดุ เวลาคุยกับคนที่เพิ่งเจอกันไม่นาน คนที่ยังไม่สนิทมากเราจะกดเสียงให้นุ่มลง แล้วพอพูดด้วยเสียงนี้ไปเยอะ ๆ มันเจ็บคอมาก เหมือนไม่ใช่ตัวเราเลย ก็เลยบอกครูไปแบบนั้น แล้วก็บอกครูว่า “รู้สึกว่านี่ไม่ใช่เสียงที่แท้จริงของเรา แต่ก็ไม่รู้ว่าเสียงไหนคือเสียงที่แท้จริง”
ตอนแรก ๆ เราก็ยังไม่ค้นพบเสียงที่แท้จริงนะ คงใช้เวลาหน่อยเพราะเราไม่เคยใช้เสียงที่เป็นตัวเองจริง ๆ แบบ 100% เลย ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่พอเรียนไปสักพักเราว่าเราเจอเสียงที่เราสบายใจ สบายตัวเวลาพูดแล้ว มันคือเสียงที่เราคิดว่ามันไม่เพราะนี่แหละ ตอนแรกไม่ชอบเสียงนี้เลย แต่พอลองฝึกการออกเสียง การหายใจใด ๆ ไปก็รู้สึกว่าเสียงที่เราพูดแล้วสบายใจ ไม่ฝืน ไม่เจ็บคอ เปล่งออกมาได้เต็มที่คือเสียงที่เราไม่ค่อยชอบนั่นแหละ ตอนนี้ก็เลยยอมรับเสียงนั้นของตัวเองได้นิดนึงแล้ว ยังไม่มั่นใจว่านี่คือเสียงที่แท้จริงไหม แต่ ณ ตอนนี้ เสียงนี้สบายใจสุดแล้ว
มีเรื่องน่าตกใจอีกเรื่องคือคาบแรกที่เข้าไปครูให้แนะนำตัว บอกชื่อ ชั้นปี แล้วก็บอกปัญหาเกี่ยวกับเสียงของตัวเองนี่แหละ พอเราพูดจบครูก็ถามเราว่า “ปกติชอบร้องเพลงรึเปล่า เป็นนักร้องรึเปล่า” เราก็ตอบไปว่า “ชอบร้องเพลงค่ะ แต่ไม่ใช่นักร้อง” ตอบไปแบบนั้นพร้อมคำถามในใจว่า “ครูสังเกตอะไรได้เหรอ ถึงถามเราแบบนั้น” จนวันนึงมีโอกาสได้คุยกับครู เราถามครูว่าทำไมครูถามว่าเราชอบร้องเพลงรึเปล่า ครูก็ตอบว่า “ครูดูออก คาแรกเตอร์เรามันดูเป็นคนที่ชอบร้องเพลง” เราแบบ ว้าววววว (เพราะใช่ เราชอบฟังเพลงละครเวทีแล้วเราก็ร้องเพลงละครเวทีทุกวัน ทุกเวลาที่มีโอกาสเลย) ตกใจมากที่ครูดูออกผ่านการเจอกันแค่แป๊ปเดียว
History of Theatre II (วิชาเลือกในเอก)
วิชาที่เรารอคอย (ถ้าใครอ่านของเทอมที่แล้วจะเห็นว่าเราเขียนไว้เลยว่าเราจะลงวิชานี้ รอคอยมากกก เพราะชอบมากกก)
วิชานี้จะได้เรียนละครแนว Sentimental ละคร Romanticism ละคร Melodrama ละครแนว Realism และ Anti-Realism ละครช่วงสงครามและละรร่วมสมัย หรือก็คือเริ่มเรียนอะไรที่ใหม่ขึ้น (ที่แปลว่าเริ่มตั้งแต่ 18th century) มาจนถึงยุคร่วมสมัย บทละครที่ได้เรียนก็จะใกล้ตัวขึ้นมานิดนึง แต่บางเรื่องเราก็รู้สึกว่ามันไกลตัวมากเพราะไม่เคยสัมผัสละครแบบนี้เลย อย่างพวกละคร absurd อะไรแนว ๆ นี้
การเรียนการสอนคล้ายแบบเดิมเลย ได้รับมอบหมายให้ไปอ่านบทละครมาพรีเซนต์แล้วก็มาฟังเลคเชอร์+ดิสคัสกันในห้อง ต่างตรงที่คราวนี้พรีเซนต์คนเดียวแล้ว (อาจเพราะคนเรียนน้อยลงด้วย ตัวเทอมก่อนเป็นวิชาบังคับในเอก แต่ตัวนี้ไม่ใช่ตัวบังคับ และใช่ เราก็มาเรียนเพราะชอบมาก555) แล้วก็จะมีควิซ มีเปเปอร์มิดเทอม แล้วก็มีข้อสอบไฟนอลเหมือนเดิม
ช่วงมิดเทอมภาพยนตร์เรื่องมายาพิศวงเข้าโรงพอดี แล้วเรื่องนี้มีต้นฉบับมาจากบทละครเรื่อง Six Characters in Search of an Author ของ Luigi Pirandello ซึ่งก็เป็นบทละครที่จะได้เรียนในวิชานี้ด้วย ครูเลยให้พวกเราไปดูแล้วมาเขียนเปเปอร์มิดเทอม ตอนที่หนังเข้าโรงเราดันติดโควิด ต้องกักตัวอยู่บ้าน กว่าจะกักตัวครบ กว่าจะหาย เกือบดูหนังไม่ทัน หนังกำลังจะออกโรงแล้ว ฮื้อออ ดีที่ยังดูทันเลยเขียนเปเปอร์ได้ ไม่งั้นแย่แน่ แล้วก็เป็นช่วงที่เดือดมากเพราะตอนที่ต้องเขียนเปเปอร์เราทำงานให้อีกโปรดักชันนึง (ที่ไม่ใช่ Theater Production ที่เพิ่งพูดไป) อยู่พอดี โอ้โหหห ปั่นไฟลุกเลยค่ะคุณ (แต่นี่ยังไม่ใช่ที่สุดเพราะเดี๋ยวจะมีที่เดือดกว่านั้น)
เทอมนี้เราได้อ่านเรื่อง Under the Gaslight แล้วก็เรื่อง Six Characters (ใช่ค่ะ เรื่องที่เป็นหัวข้อเปเปอร์มิดเทอม กดดันมาก) ชอบทั้งสองเรื่องเลย
เรื่อง Under the Gaslight นี่เป็น Melodrama นางเอกแสนดี พระเอกแสนกล้าหาญ ตัวร้ายร้ายมากกก ร้ายแบบตะโกน มองจากยอดเขาเอเวอร์เรสต์ก็รู้ว่านี่คือตัวร้าย อะไรแนว ๆ นั้น ส่วนตัวติดคำว่า “ละครน้ำเน่า” แต่ความจริงมันไม่ได้น้ำเน่าแบบที่เราเข้าใจนะ เนื้อเรื่องคร่าว ๆ คือหนุ่มสาวรักกันแต่วันนึงนางเอกโดนแฉว่าความจริงแล้วเธอเป็นลูกคนจน ลูกหัวขโมย นางเอกหนีไป พระเอกตามหา สู้กับตัวร้ายแล้วเฉลยตอนจบว่านางเอกคือลูกเศรษฐี ทั้งสองคนกลับมารักกันเหมือนเดิม จบปิ๊งงง
ส่วน Six Characters นี่… อธิบายยังไงดี เป็นเรื่องที่เราชอบมากนะ ว้าวมาก คือเรื่องนี้พูดถึง Reality vs Illusion (คิดเอง แต่คิดว่าใช่แหละ คนเขียนเขาอยากสื่อแบบนี้แหละ ! ) เนื้อเรื่องคร่าว ๆ คือคนกลุ่มนึงซ้อมละครแล้วมีคน 6 คนเดินเข้ามา บอกว่า “พวกเราคือตัวละครทั้ง 6 จุติมาจากเรื่องราวที่คนเขียนเขียนไม่จบ ช่วยเขียนเรื่องต่อให้เราได้ไหม เอาไปทำละครก็ได้” (อันนี้เราพูดแบบใส่ซับนรกเองนะ555) ก็คือตัวละครใน story ของนักเขียนคนนึงมีชีวิตขึ้นมาเพราะนักเขียนที่สร้างพวกเขาไม่ยอมเขียนต่อ ก็เลยหาใครสักคนมาเขียนต่อแทน อันนี้คร่าว ๆ คาบนี้ตอนดิสคัสกันสนุกมากกก แบบว่าเราจะแยกความเป็นจริงกับภาพลวงตาได้ยังไง (อธิบายต่อคงยาว เล่าแค่นี้พอ555 ใครอยากลองไปลงเรียนได้นะคะ)
เป็นวิชาที่เราชอบมาก ชอบที่สุดในเทอมนี้เลยก็ว่าได้ เป็นวิชาที่เรียนสนุก เรียนสบาย แต่งานมหึมา 5555 แต่เราชอบเปเปอร์ ชอบฟังเลคเชอร์ ชอบหาข้อมูลอะไรอ่านอยู่แล้วด้วยเลยไม่ซัฟเฟอร์มาก ความซัฟเฟอร์เดียวคือกลัวทำงานไม่ทันเดดไลน์เพราะมีงานอื่นเหมือนกัน อันนี้เป็นปัญหาในการจัดการเวลาเราเอง ถึงแบบนั้นเราก็ส่งงานทันเวลาตลอดนะ ภูมิใจมาก คะแนนเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ส่งทัน ตั้งใจทำด้วย เก่งจริง ๆ (ชมตัวเองไปอีก)
Acting I (วิชาบังคับในเอก)
คาบแรก ๆ ครูจะสอน Relaxation ก่อนเริ่มแสดง ตอนต้นคาบครูจะเปิดเพลงแล้วให้ทุกคนล้อมวงกลม ทำ Round Dance ก็คือผลัดกันออกมานำเต้น แล้วคนอื่น ๆ ในวงจะเต้นตามเรา ไม่ต้องคิดท่าล่วงหน้า ปล่อยใจตามสบาย ไม่ต้องกังวลว่าใครจะเต้นตามเราได้ไหม เต้นไปเลย ปล่อยใจไปตามเพลง เราชอบมากก รอบแรก ๆ เรายังติดคิดล่วงหน้าก่อน กลัวว่ามันจะตรงจังหวะเพลงไหม แต่หลัง ๆ ปล่อยแล้ว ช่างมัน อยากขยับก็ขยับ
แล้วก็เริ่มเข้าบทเรียนด้วยการให้จับคู่ ให้เราทำอะไรก็ได้ตามใจเราเลยแต่ต้องไม่รบกวนคนอื่น ๆ เช่นเล่นเกม(แบบปิดเสียง) ฟังเพลงโดยใส่หูฟัง ทำการบ้าน เล่นมือถือ(ห้ามตอบแชตนะ แค่ไถ ๆ หน้าจอ) แล้วเราก็ทำโดยที่คู่ของเราจะนั่งจ้องเราตลอดเวลา เมื่อไหร่ถ้าคู่เรารู้สึกว่าเราหลุดไปอยู่ในพื้นที่ของเราได้ เราไม่ได้กังวลกับสายตาที่คู่เราจ้องเรามาแล้วก็ให้คู่เรายกมือ วิธีนี้เหมือนเป็นการฝึกให้เรารู้สึกชินเวลามีคนจ้องมองเราอยู่ ครูบอกว่าโดยปกติมนุษย์จะรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลามีคนมาจ้องอยู่แล้ว แบบฝึกหัดต่อไปก็ทำคล้ายกัน ครูให้เลือก Private Moment มา 1 อย่าง เป็นอะไรก็ได้ที่เราจะทำตอนที่เราอยู่คนเดียวเท่านั้น (แต่ต้องไม่ 18+) พอถึงคาบก็ให้มาทำให้ครูกับเพื่อนดู สักพักครูจะบอกให้เราพอเอง เราก็เลือกวาดรูปไป เพราะปกติเราจะไม่วาดรูปต่อหน้าคนอื่น รู้สึกเขินเวลามีคนมองตอนวาดรูป ตอนส่งเราก็จัดท่าให้คล้ายกับท่านั่งตอนที่เราวาดรูปอยู่ในห้องคนเดียว แล้วก็เปิดเพลงที่ชอบฟังไปด้วย กดดันน้อยลงมากเลย หลังจากได้ฝึกการมีสมาธิจดจ่อสิ่งตรงหน้าต่อหน้าคนอื่น ๆ ไปแล้วต่อมาครูก็ให้ลองฝึกการมองกลับไปหาคนอื่นขณะที่กำลังมีสมาธิกับอีกสิ่งด้วยการคุยโทรศัพท์กับใครสักคน ให้จินตนาการเสียงเขา พูดคุยและโต้ตอบกับเขา โทรปลอมนะ แต่ต้องทำเหมือนกำลังคุยอยู่จริง ๆ อันที่จริงก็ไม่รู้เรียกแบบนั้นได้ไหม แต่เหมือนว่าเราต้องมีสมาธิกับคนในสาย(ที่เรามโนว่าเขาคุยอยู่จริง ๆ ) แต่ก็ต้องหันกลับมาหาคนดูด้วย อันนี้เราทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พอเราหันกลับไปมองคนดูเราสติหลุดตลอดเลย
พอทำ exercises พวกนี้หมดครูก็ให้เข้าบท ต้องจับคู่แล้วไปหาบทละครมาเล่น จะ Drama หรือ Comedy ก็ได้ วีคแรกอ่านบทเฉย ๆ ก่อน วีคที่สองก็ลองต่อบทแต่ยังถือบทได้ วีค 3 มีบล็อกกิ้ง+ต้องจำบทได้แล้ว วีคที่ 4 คือส่งจริง พอครบหมดก็สลับไปเล่นอีก Genre นึง ถ้าเรื่องแรกแรกเล่น Drama ครั้งที่สองต้อง Comedy **แต่ก็แล้วแต่กรณี อย่างเราเล่นบท Drama ทั้ง 2 เรื่องเลย เพราะเรื่องแรกที่ส่งไปบทมัน Drama แต่ฉากที่เราเลือกมันเป็นฉากหวาน ๆ รักใส ๆ เรื่องที่สองก็เลยต้องเล่น Drama เหมือนเดิมแต่เป็นฉากที่เค้นอารมณ์มากขึ้น ส่วนคู่ที่เล่นจะเปลี่ยนไหมก็ได้ ครูอยากให้เปลี่ยนเพราะจะได้ฝึกทำงานกับคนที่หลากหลาย แต่ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร คู่เดิมได้
โดยรวมแล้วแรก ๆ จะเรียนพร้อมกันในห้อง พอเริ่มเข้าบทก็จะนัดมาส่งในคาบ (เราเรียกกันว่าส่งซีน) คู่แรก-คู่สุดท้ายไล่กันไป แต่บางคนไม่สะดวกส่งในคาบก็ไปคุยกับครูเพื่อนัดวันส่งนอกเวลาเรียนปกติได้
ทุกครั้งที่ทำ exercises หรือส่งซีนเสร็จครูจะให้เรา reflect ตัวเอง ถามว่าเป็นยังไงบ้าง เราก็ตอบตามจริงไป “วันนี้รู้สึกว่าติดขัดตรงนี้ค่ะ” “รู้สึกว่ายังไม่เห็นภาพค่ะ” มีปัญหาอะไรก็บอกครูไปเพราะครูจะช่วยบอกวิธีแก้ให้ ถ้าไม่ได้ไป work กับตัวละครมาก็บอกไปตรง ๆ
พอส่งครั้งที่สองเสร็จก็ต้องเอาการแสดงเข้าเทศกาลแหวกม่าน ไปแสดงในงานนี้ บางคนจะเอาเรื่องแรกที่เคยเล่นก็ได้ หรือจะเอาเรื่องล่าสุดที่เพิ่งเล่นไปก็ได้ (ความจริงเราต้องตัดสินใจตั้งแต่เนิ่น ๆ เลยแหละ พอเล่นเรื่องที่สองไปได้วีค-สองวีคก็ต้องเลือกเรื่องจะส่งแล้ว ทีมแหวกม่านจะได้เอาข้อมูลของเราไปทำงานต่อ) และใช่ ครั้งนี้เราทำทั้งแหวกม่านแล้วก็ส่งการแสดงในแหวกม่าน…
วันแสดงจริงตื่นเต้นนิด ๆ ตอนแรกคิดว่าจะตื่นเต้นมากกว่านี้ กลัวลืมบท กลัวมีอะไรผิดพลาดแต่พอแสดงจริงไม่เป็นแบบนั้นเลย (สำหรับเรานะ) อาจเพราะไฟส่องหน้าทำให้เราไม่ค่อยเห็นหน้าคนดูเท่าไหร่เลยไม่คิดว่ามีคนกำลังจ้องมอง ตอนที่เล่นรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวละครนั้นจริง ๆ กำลังเป็นเขาอยู่จริง ๆ ทุกอย่างที่เกิดบนเวทีก็รู้สึกว่ามันจริงมาก เห็นภาพชัดมาก ถึงจะรู้สึกว่าตัวเองยังถ่ายทอดความเป็นตัวละครออกมาได้ไม่ดีอย่างที่ใจหวังเท่าไหร่แต่อย่างน้อย ณ เวลานั้นเราก็เป็นเขาได้แล้ว ไม่กังวลเรื่องคนดูแล้ว ตอนแรกเรากังวลเรื่องเสียง กลัวว่าเสียงจะเบาไปแล้วคนดูไม่ได้ยินเพราะที่โรงเราเล่นกันเสียงสด ไม่ใช้ไมค์ แต่อเล่นจริงรู้สึกว่าเสียงตัวเองดังขึ้นมาก ถึงบางช่วงจะรู้สึกแผ่วไปบ้างแต่ก็พอใจนะ รู้สึกประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนในวิชา Speech Voice ได้แล้ว พอแสดงเสร็จมีคนถามด้วยว่าได้ติดไมโครโฟนไหม เปล่าค่ะ นั่นเสียงสด
Dance in Theatre (วิชาเลือกในเอก)
ชื่อวิชา Dance แต่ความจริงแล้วมันคือ Movement มากกว่า (อันนี้ครูผู้สอนบอกเองเลย) วิชานี้เน้นการเคลื่อนไหว แนว ๆ อองซอมนิด ๆ แล้วก็มีความ Physical Theatre หน่อย ๆ (แต่ไม่ขนาดนั้นนะ เพราะสายนี้ยังต้องฝึกอีกเยอะมาก ของวิชานี้ถือเป็นพื้นฐาน)
ในคาบเรียนก็จะมีเรียน Anatomy ด้วย พวกกระดูกขา กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกเท้า ซี่โครง สะบัก ตอนเริ่มคาบจะเรียน Anatomy เรียนว่าแต่ละส่วนพวกนี้ที่พูดไปทำงานยังไง มีหน้าที่อะไร การเคลื่อนไหวของมันเวลาเราขยับตัวเป็นยังไง วิธีดูแลรักษาทำยังไง พฤติกรรมไหนที่ไม่ควรทำเพราะมันจะอันตรายกับชิ้นส่วนพวกนี้
ได้เรียนวิธีเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ ล้มยังไงให้ไม่เจ็บ เรียนการยืดหยุ่นร่างกาย เรียนเรื่อง quality ต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวแบบช้า เร็ว สื่อถึงอะไรได้บ้าง บางช่วงก็ต้องใช้จินตนาการนิด ๆ ครูให้เราคิดว่าเรากำลังแบกหินหนัก ๆ หรือตัวเราเบาเหมือนขนนก กำลังลอยขึ้นไปเหมือนลูกโป่ง
ได้เรียนทฤษฎี Laban ได้เรียนเรื่อง Shape เรื่อง Space เรื่อง Gesture เรื่อง Attitude ในการเคลื่อนไหว ได้ลอง move กับ object เอาของมาจินตนาการ สร้าง story ได้เล่นกับเก้าอี้ด้วย ขยับตัวประกอบเพลงโดยมีเก้าอี้เป็น partner ในการแสดงของเรา ได้คิดโชว์เป็นกลุ่มแบบเร็ว ๆ คิด 5 นาทีแสดงเลยงี้ พอช่วงท้าย ๆ จะได้ทำงานกับบท
อันนึงที่เราชอบมากคือ Tablo เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพโดยใช้คนในกลุ่มนี่แหละ ครูให้คิดเรื่องที่อยากเล่า มีต้น กลาง จบ ใน 5 ภาพ (อารมณ์คล้ายเขียนสตอรี่บอร์ดไม่ก็ถ่ายรูปนิ่งเรียงต่อกัน) ให้ไปคิดกันมาแล้วดูว่าจะเอาคนในกลุ่มมาทำยังไงให้เป็นภาพที่ต้องการ
พอทำภาพ 5 ภาพแล้วครูก็ลองให้คนนึงเดินเข้าไปเริ่มทำท่าอะไรสักอย่าง แล้วคนที่เหลือก็ค่อย ๆ เดินเข้าไปเติมภาพให้สมบูรณ์ทีละคนโดยไม่มีการพูดคุยกัน สังเกตว่าคนตรงนั้นทำอะไรอยู่แล้วเราคิดว่าเราจะเติมภาพนี้ให้สมบูรณ์ได้ยังไง หรือเราจะพยายามเปลี่ยนเรื่องก็ได้ เช่นเพื่อนคนแรกเดินไปนั่งทำท่าอ่านหนังสืออยู่ เราจะคิดว่าเขาอยู่ที่ไหน ห้องสมุด? ห้องทำงาน? แล้วเราจะเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งในภาพนั้นยังไง หรือเราจะเปลี่ยนสถานที่ไปเลย ทำท่าอื่น เพื่อนก็ยังนิ่งแบบนั้น แล้วเดี๋ยวคนที่เดินมาต่อจากเราก็ตัดสินใจเองว่าเขาจะทำยังไงกับภาพที่เขาเห็นต่อ จะจินตนาการว่ามันคือที่ไหน (ตลกมากเพราะตอนเราทำมันเริ่มที่ฉากโรงพยาบาล แล้วตอนจบมันกลายเป็นอะไรไม่รู้ แต่สนุกมาก)
เป็นวิชาที่ได้ work กับร่างกายและจินตนาการจริง ๆ เนื้อหาเยอะมาก คุณภาพมาก แต่ก็หนักมากสำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ร่างกาย ช่วงแรก ๆ ที่เรียนวอร์มโหดมาก ให้วิ่งไปรอบ ๆ ให้เต้น ให้ขยับตัวเยอะ ๆ แต่สนุกนะ มันมีประโยชน์ตรงที่เราได้เพิ่ม stamina ให้ตัวเองแล้วก็ฝึกร่างกายให้ยืดหยุ่นมากขึ้นแหละ เรียนจบเทอมเรารู้สึกร่างกายเราเคลื่อนไหวได้อิสระมากขึ้น กล้าขยับตัวมากขึ้นเยอะเลย (อันนี้เป็นสิ่งที่เราได้ส่วนตัวเพราะปกติเราร่างกายไม่ค่อยยืดหยุ่น ไม่ค่อยได้ขยับตัวขนาดนั้น พอมาเรียนวิชานี้ได้ใช้ร่างกายทุกส่วน เหมือนข้อต่อขึ้นสนิมได้น้ำมันหล่อลื่นช่วยไว้5555)
เป็นวิชาที่ประทับใจมากกก สนุก ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากและได้เปิดโลก เราเริ่มสนใจการแสดงแนว Physical ขึ้นมาเลย หลังจากนี้ว่าจะลองไปหาข้อมูลเพิ่ม ดีใจมากที่ได้ลงเรียนวิชานี้เพราะวิชานี้ปิดไปนานเพิ่งได้กลับมาเปิด ดีใจจริง ๆ เป็นอีกวิชาที่ปลดล็อกเราเรื่องการเคลื่อนไหว เมื่อก่อนเราไม่กล้าขยับตัวตามใจเลย แต่พอเรียนวิชานี้เราได้ปล่อยใจไปตาม implaus มากขึ้น คิดอะไร รู้สึกอะไรก็ขยับไปตามนั้น ไม่มีถูกผิด ไม่ต้องแพลนล่วงหน้าว่าจะขยับยังไง (เมื่อก่อนเราเป็นคนคิดเยอะมาก คาบแรก ๆ เราคิดตลอดว่าจะทำท่ายังไง หลัง ๆ ไม่ต้องแล้ว improvise เลย รู้สึกยังไงก็ขยับแบบนั้น) สำหรับเรามันปลดล็อกเราไปอีกขั้นจริง ๆ เป็นวิชาที่ชอบอันดับ 2 รองจาก Hist Thea II
อ้อ มีงานเดี่ยว&งานกลุ่มด้วย งานกลุ่มได้ส่งในเทศกาลแหวกม่านเหมือนกัน สรุปก็คือเทอมนี้เราทำแหวกม่าน+ส่งการแสดงคู่กับเพื่อน+ส่งการแสดงกลุ่มไปพร้อมกันเลย คิวสับมาก
ส่วนตัวคิดว่าวิชานี้ก็มีงานเยอะพอตัว มีวาดรูปอนาโตมี มีอัดคลิปวิดีโอเดี่ยว 2-3 คลิป มีงานกลุ่มอีก งานเดี่ยวไม่ค่อยหนัก จะไปหนักที่งานกลุ่มเพราะต้องนัดซ้อมบ่อยและมีอะไรให้แก้เรื่อย ๆ เลยแนะนำว่าถ้าสมมติใครสนใจจะลงก็ต้องจัดเวลาตัวเองดี ๆ นิดนึง ตอนเรียนงานเยอะจริงแต่ไม่ใช่งานหนัก ทำไม่นานเสร็จ (พวกวาดรูป อัดคลิป) ส่วนงานหนักคืองานกลุ่มที่ต้องนัดซ้อมกัน ส่วนมากนัดหลังสอบไฟนอลตัวอื่น ๆ จบหมดแล้ว แล้วด้วยความเอกละครที่ส่วนใหญ่งานไฟนอลคือผลงานที่เราทำ ทั้งการแสดง การเขียนบท การกำกับ ถ้าวิชาเลคเชอร์ก็มีเปเปอร์ ไม่ได้สอบแล้วจบไปเลยแบบวิชาในเอกอื่น มันเหมือนเราต้องทำโปรเจกต์ใหญ่หลายโปรเจกต์เพราะเอกละครส่วนมากก็วิชาปฏิบัติทั้งนั้น ทำไปเลยค่ะ เรียนกี่วิชาก็ทำไปเท่านั้น พอเป็นแบบนั้นงานก็จะมากอง ๆ กัน ต้องแบ่งดี ๆ ว่าจะเอายังไงกับชีวิต (เราเองก็แนะนำไม่ได้เพราะตอนที่เราทำงานกลุ่มวิชานี้เราก็มีส่งการแสดง 1 เรื่อง เปเปอร์ 3 ชิ้น และงานเทศกาลอีก 1 เทศกาลที่ต้องรับผิดชอบ ไม่รู้จริง ๆ ว่าควรจะทำยังไง ได้แต่พยายามจัดการงานเปเปอร์ให้เสร็จเร็วที่สุดแล้วรอส่งการแสดงแล้วค่อยหาเวลามาซ้อมงานนี้เอา สุดท้ายเราก็ทำเสร็จทันทั้งหมดนะ แต่ก็ยุ่งมาก ๆ ช่วงก่อนที่งานจะเสร็จก็คือทำตามแพลนวันต่อวันเลย วันนี้งานที่ 1 วันต่อมางานที่ 2 ไม่ได้พัก)
Play Analysis (วิขาบังคับในเอก)
วิชานี้เรียนการวิเคราะห์บทละคร ดูเรื่องการวาง Plot หรือโครงเรื่อง เรียนเรื่อง Conflict ของตัวละคร เรียนเรื่อง Message แล้วก็มีตีความบทละครและตัวละคร ดูว่าเขานิสัยยังไง Objective ของเขาคืออะไร เขาทำยังไงเพื่อจะไปถึง Objective นั้น ตัวบทเรื่องนี้ดียังไง เรียนบทละครทั้งหมด 6 เรื่อง ครูผลัดกันสอน 3 คน แต่ละคนก็มีสไตล์การสอนต่างกัน มีเรื่องที่เน้นต่างกันไป แล้วแต่ว่าแต่ละคนชอบสไตล์ครูคนไหน บางทีก็มีกิจกรรมกลุ่ม บางทีก็นั่งฟังเลคเชอร์อย่างเดียว แล้วแต่ครู+เรื่องที่เรียนจริง ๆ ส่วนตัวเราชอบเวลาครูวิเคราะห์ตัวบทให้ละเอียด ๆ เพราะเราจะเห็นประเด็นที่ตัวเองอาจมองข้ามไป บางทีไม่รู้เลยว่ามีประเด็นนี้ด้วย คิดแบบนี้ได้ด้วย ไม่รู้เลยว่าตรงนี้คนเขียนโคตรเก่ง แอบซ่อน clues อะไรไว้ให้เยอะมาก พอฟังครูเยอะ ๆ แล้วเราค่อยไปคิดต่อเพิ่มงี้ แต่บางคนก็อาจจะชอบเรียนแบบให้คิดกว้าง ๆ ไม่มีครูคอยไกด์ให้มากกว่า แล้วแต่คน
ทุกครั้งที่เรียนบทละครจบ 1 เรื่องก็จะมีงานเดี่ยว 1 ชิ้น ให้วิเคราะห์บทละครเรื่องนั้นหรือไม่ก็ตอบคำถามที่ครูให้มา เขียนเป็นรายงานส่งแล้วก็เรียนเรื่องใหม่ในวีคถัดไปเลย แนะนำให้ทำงานของแต่ละเรื่องให้เสร็จเป็นเรื่อง ๆ ไป อย่าดองไว้เพราะมันจะทบ ๆ กัน ตอนท้ายเทอมมีรายงานวิเคราะห์บทละครที่เลือกเองอีก 1 ชิ้น แบ่งเวลาดี ๆ ทุกคน !
สำหรับเราเราว่าวิชานี้สนุก เหมาะสำหรับคนอยากลองเรียนวิชาของเอกละครแต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเรียนตัวปฏิบัติไหวไหม วิชานี้เน้นเลคเชอร์และทำงานส่งเลย อันที่จริงคนที่ไม่ได้อยู่ในเอก ถ้าสนใจวิชาในเอกนี้ก็ควรเรียนตัวนี้ไว้เพราะพอจะลงเรียนตัวอื่น ๆ ในเอกบางทีเขาก็ require ว่าควรผ่านวิชานี้มาก่อน เพราะฉะนั้นถ้าอยากลองวิชาในเอกละครก็… เรียนเถอะ 5555 เป็นความเห็นส่วนตัวอีกแล้ว แต่เราว่าวิชานี้เรียนสนุกและเรียนสบายที่สุดในเอกนี้แล้ว ไม่ได้บอกว่ามันไม่ยาก ไม่มีอะไรเลยนะ คือมันก็หนักแต่ยังพอไหว ถ้าเทียบกับวิชาอื่นที่ทำงานเยอะ ๆ ตารางสับ ๆ แล้วก็… ตัวนี้ดูสบายไปเลย
Theatre Practicum I (วิชาบังคับในเอก)
วิชาฝึกงานโรงละคร เป็นตัวบังคับเหมือนกันแต่ไม่นับหน่วยกิต ส่วนมากเด็กที่เข้าเอกแรก ๆ จะได้ลงวิชานี้ตั้งแต่ปี 2 แล้ว ส่วนเราเพิ่งลงเพราะเพิ่งย้ายมา (แต่ก็เห็นเพื่อนบางคนเพิ่งลงตอนนี้เหมือนกัน มันเป็นวิชาบังคับแต่ไม่ได้ fixed ว่าต้องลงปีนั้นปีนี้เท่านั้นอะ)
วิชานี้เราต้องไปช่วยทำโปรดักชันในเอก อาจจะละครภาค ละครของพี่ป.โท พี่ปี 4 อะไรใด ๆ (ถามครูก่อนได้ว่าโปรนั้น ๆ ที่เราสนใจเก็บเป็นวิชานี้ได้ไหม)
เทอมที่เราเรียนโชคดีที่มีโปรให้ทำเยอะอยู่ แล้วเราก็รู้สึกโชคดีที่ตอบตกลงทำโปรนึงไป เป็นโปรของทีมฮ่องกง ชื่อโชว์ Interrupted Dream ของคุณ Danny Yung ตอนแรกอยากทำอีกโปรแต่ว่าช่วงที่เขาทำงานกันเราไม่ว่าง ติดปัญหานิดหน่อยเลยทำไม่ได้ แล้วที่ปรึกษาเราก็แจ้งว่าเดี๋ยวเดือนพฤศจิกายนจะมีโปรดักชันจากฮ่องกงมาพอดี (ตอนนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม) เราก็เลยตอบตกลงทำเลยทันที (ค่ะ ตอบตกลงเพราะอยากทำงานกับทีมต่างชาติ 5555) ตอนแรกก็กลัวนิด ๆ เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งขนาดนั้น เพิ่งเข้าเอกมาไม่นาน ยังทำอะไรไม่ค่อยถูก ดีที่ทีมฮ่องกงพูดภาษาอังกฤษได้แต่เราก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้พูดคล่องปร๋อขนาดนั้น กลัวสื่อสารกับเขาไม่รู้เรื่อง แต่สุดท้ายพอได้มาทำจริงมันดีมากกก ความกังวลหายไปหมดเลย การทำงานก็เป็นระบบมาก ทีมเขาเฟรนด์ลี่มาก เขาสอน&ให้คำแนะนำบางส่วนด้วย สไตล์การทำงานเขาเท่าที่เราสังเกตคือ งานออกมาดี มีคุณภาพ แต่บรรยากาศไม่เครียดจนเกินไป เป็นการทำงานที่แฮปปี้มาก อยากตื่นมาทำงานทุกวันเลย
ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เขียนถึงโปรนี้เป็นโพสต์เต็ม ๆ ไหม (เพราะไม่รู้ว่าเราเขียนถึงได้มากแค่ไหน) แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากเขียนเล่า คงจะเล่าเท่าที่เล่าได้เพราะเราอยากรักษาเรื่องของโปรเขาให้เป็นความลับ เพราะจากที่เราคุยกับคนที่มีประสบการณ์ทำโปรต่างชาติมา บางที่เขาซีเรียสมาก ห้ามเปิดเผยข้อมูลในโปรเลย บางที่มีให้เซ็นสัญญาจริงจังด้วย เราก็เลยคิดว่าจะไม่เล่าอะไรเยอะ แม้ว่าทีมเขาจะดูไม่เข้มงวดมากขนาดนั้นก็ตาม ณ ตอนนี้พูดได้แค่มีความสุขมาก ดีใจมากที่ได้ทำโปรนี้ ได้ทำงานกับพวกเขาแค่วีคเดียวแต่เป็น 1 วีคที่มีแต่ความสุขอะ รู้สึกสนุกและตื่นเต้นเวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน เป็นเรื่องที่ดีที่สุดในปี 2022 เลยก็ว่าได้ เป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่เราจะจำไปอีกนานเลย และหวังว่าในอนาคตถ้ามีโอกาสได้ทำงานจริง ๆ ก็อยากจะเจอทีมแบบนี้
โดยรวมก็ประมาณนี้ ปี 3 เทอม 1 ของเรา เป็นเทอมที่สนุกมาก พอได้ไปเรียนที่คณะแล้วสนุกสุด ๆ แม้จะง่วงเพราะต้องตื่นเช้ามากกกก ทำงานเหนื่อย งานหนัก งานเยอะไปหมด รับบทดาราสาวคิวทอง เป็นนักแสดงฝึกหัด เป็นอองซอม เป็นนักประวัติศาสตร์การละคร เป็นทีมผู้จัดละคร เป็นทุกอย่างในเทอมเดียวกัน รับบทสาวสู้งาน งานสู้กลับอีกแล้ว แต่ก็ผ่านมาได้ ภูมิใจในตัวเองมากที่งานเยอะขนาดนี้ยังสามารถจัดการตัวเองให้ส่งงานทุกชิ้นทันเดดไลน์ได้ เก่งที่สุด !
มีความสุขกับการเรียนเทอมนี้มาก ถึงแม้งานจะหนักสุด ๆ แต่ก็มีความสุข รู้สึกได้ใช้ชีวิต ได้เป็นตัวเอง รู้สึกว่านี่แหละคือชีวิตที่ตามหามานาน พอมองย้อนกลับไปวันที่ทำเรื่องย้ายเอกมาก็รู้สึกว่าตัวเองมาไกลเหลือเกิน เพิ่งผ่านมาปีเดียวเองแต่รู้สึกตัวเราวันนี้เก่งขึ้นกว่าตัวเราวันนั้นมาก ๆ ขอบคุณที่กล้าหาญพอจะเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการมาตลอด ขอบคุณที่ตัวที่ฟังเสียงตัวเองมากพอจนนำพาเรามาจุดนี้
อยากรู้จังว่าเทอมหน้าจะมีอะไรรออยู่ แต่ที่แน่ ๆ เรายังลงทะเบียนเรียนตัวที่อยากเรียนไม่ติดเลย แล้วลงไม่ติดวิชาเอกตัวเองด้วยนะ เสียใจมาก เป็นเด็กเอกที่ลงวิชาเอกตัวเองไม่ติด
ความจริงแล้ว ณ วันที่เราเขียนโพสต์นี้เรายังทำงานแหวกม่านไม่เสร็จนะ แต่เรามาเขียนไว้ก่อนเพราะกลัวว่าถ้าไม่รีบเขียนตอนนี้ ตอนทำทุกอย่างเสร็จจะขี้เกียจเขียนไปเลย ก็คือรีบเขียนตอนยังมีไฟอยากเขียนนั่นเอง ไว้ถ้ามีโอกาสอาจจะมาเขียนเล่าเรื่องอื่น ๆ เพิ่ม (ถ้าไม่ขี้เกียจซะก่อน)
ไว้เจอกันใหม่เทอมหน้า ! (หรืออาจจะโพสต์อื่น ๆ ถ้าเราว่างมาเขียน)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in