เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เผยแพร่ (publicity)phraeread
NoMad ร้านนั่งดื่มแห่งแรกที่มุ่งสร้างทางเลือกใหม่ให้กับชาวแป้
  • ร้านคราฟต์เบียร์หนึ่งเดียวในจังหวัดแพร่ที่ใส่ใจบรรยากาศผ่อนคลาย การพบปะสังสรรค์ และเรื่องราวของเครื่องดื่มแต่ละแก้วที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


    “ป่ะ ไปร้านเหล้า”

    ประโยคคุ้นหูเมื่อเกิดความรู้สึกอยากพบปะสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน หรือแม้ไม่ได้อยากพบปะก็มีโอกาสเกิดประโยคนี้ได้เหมือนกัน

    ภาพจำทั่วๆ ไปของร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘ร้านเหล้า’ ก็คงจะเป็นร้านสำหรับนั่งสนทนา กินเลี้ยงสังสรรค์ ผ่อนคลาย หรือแม้แต่ปรับทุกข์ มีเพื่อนคู่ใจเป็นเครื่องดื่มเย็นๆ กับบทเพลงเปิดคลอภายในร้านที่ถ้าเบสไม่ดังจนใจเต้นก็เศร้าจนต้องขอกระดาษทิชชู่จากพนักงานเพิ่ม

    แต่ภาพเหล่านั้นแทบหาไม่ได้จากที่นี่

    เวลาพลบค่ำ อากาศเย็นผ่อนคลาย มีเสียงเพลงฟังสบายคลอไปกับสายลมเช่นนี้เหมาะกับการนั่งจิบเบียร์สนทนา จึงขอชวนไปพูดคุยกับ พี่หยอง–ธิติ เสาวภานิศากร หนึ่งในหุ้นส่วนร้านที่หวังสร้างความแตกต่างทั้งการใช้เบียร์ที่เป็นคราฟต์เบียร์ บรรยากาศร้าน และพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่สำหรับคนแพร่ พร้อมกับเบียร์สี่แก้วที่เรานำมาให้ลองชิม ที่นี่ NoMad CraftBeer&Café


    ? แก้วที่ 1 คราฟต์เบียร์ 101 ?


    ขอคำนิยามสั้นๆ ของคราฟต์เบียร์สำหรับคนที่ไม่รู้จัก

    ตามความรู้สึกของพี่ คราฟต์ก็คืองานฝีมือ อย่างงานทำผ้าทำสมุดก็เป็นงานคราฟต์อย่างนึง คราฟต์เบียร์ก็คือเบียร์ที่ผลิตเองกับมือ ต้มเองกับมือ คือคนทำต้องลงแรงในการทำ ไม่ได้ใช้เครื่องจักร ถ้าสเกลโรงงานจะมีเครื่องจักรช่วยเยอะขึ้น หลังๆ ก็มีเครื่องทุนแรงสำหรับการต้มเบียร์ที่ใช้เป็นเครื่องจักร แต่คราฟต์เหมือนเป็นงานศิลปะอย่างนึง


    อันที่จริงคราฟต์เบียร์ไม่ใช่คำที่เรียกประเภทเบียร์ คราฟต์เบียร์ทำให้คนมองว่ามันเป็นสิ่งที่ต่างจากเบียร์ตลาด ต่างด้วยประเภท ด้วยสตอรี เบียร์แต่ละตัวที่ผู้ผลิตทำออกมามันก็จะมีเรื่องราวหรือคาแร็กเตอร์ว่าผู้ทำต้องการให้คนดื่มรู้สึกยังไง หรือว่าเขาชอบยังไงแล้วเขาอยากจะทำตัวนั้นให้ออกมาเป็นยังไงมากกว่า

    แล้วคราฟต์เบียร์ต่างจากเบียร์ทั่วไปยังไง

    เบียร์ทั่วไปในท้องตลาดปริมาณการผลิตเยอะและจะทำอยู่ไม่กี่ประเภท ประเภทที่เรารู้จักเรียกว่า ลาเกอร์เบียร์ (lager beer) เป็นประเภทที่เจ้าตลาดแทบทุกประเทศทำเพราะดื่มง่าย ดื่มสบาย และดื่มได้เรื่อยๆ คราฟต์เบียร์ที่จริงเป็นลาเกอร์เบียร์พวกนี้ก็ได้ แต่แค่สื่อถึงการทำลาเกอร์เบียร์ในปริมาณน้อย อย่างญี่ปุ่นจังหวัดนึงทำลาเกอร์เบียร์ยี่ห้อนึงออกมาก็เรียกว่าคราฟต์เบียร์ได้เหมือนกัน ภาพเจาะจงน่าจะเป็นในเรื่องของกระบวนการผลิตและปริมาณที่ออกมามากกว่า

    ถ้าพูดถึงเรื่องรสชาติล่ะ

    เรื่องรสชาติก็ต่างอยู่แล้ว ส่วนใหญ่คราฟต์เบียร์จะไม่ค่อยทำลาเกอร์เบียร์ อย่างต่างประเทศก็จะเน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาเสริมก็จะต่างแล้ว แบรนด์นึงของไทยอย่าง บุษบา ก็ใช้ดอกดาหลาเข้ามาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการทำ วัตถุดิบหลักๆ ในการทำเบียร์จะมีอยู่ 4 อย่าง คือ มอลต์ ฮอป ยีสต์ และน้ำ บางที่อย่างประเทศไทยก็จะมีสิ่งที่ชูคือพวกสมุนไพรหรือผลไม้ที่ทำให้ต่างจากที่อื่น บางที่ใส่กระเจี๊ยบ เก๊กฮวย ผลไม้ หรือพืชบางอย่าง บางทีเบียร์ต้มยำก็ยังมีเลย ใส่วัตถุดิบมันก็จะทำให้เกิดความหลากหลายของเบียร์

    แล้วมีไอเดียคราฟต์เบียร์เมืองแพร่บ้างไหม

    เคยคิดแต่ยังไม่เคยลองทำ เป็นเบียร์ที่ไม่ใช่สีเหลืองแต่ใช้สีเขียวจากใบฮ่อม เคยถามเกษตรกรเขาก็บอกว่าฮ่อมเป็นชาชนิดนึงคล้ายใบชานี่แหละ เลยคิดว่าถ้าเกิดว่าเราสกัดน้ำจากใบฮ่อมแล้วเอามาเป็นวัตถุดิบก็จะได้เบียร์ที่มีสีเขียวเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา แต่ถามว่าน่ากินหรือไม่น่ากินก็ต้องพัฒนากันต่อไป เพราะว่าอย่างญี่ปุ่นก็มีเบียร์สีฟ้าที่เขาโฆษณาว่าใช้น้ำในเทือกเขาอะไรสักอย่างมา เคยคิดแต่ยังไม่ได้พัฒนาเพราะว่าติดหลายเรื่อง ด้วยเรื่องของกฎหมายในประเทศไทยทำให้คราฟต์เบียร์ยังไม่สามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ คราฟต์เบียร์แบรนด์ไทยส่วนใหญ่ที่คนต่อสู้กันคือต้องไปทำในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว หลักๆ ก็จะเป็นเวียดนามกับกัมพูชา มีคนหนีไปทำที่เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ก็มี แล้วนำเข้ามาเป็นเบียร์นำเข้าแต่คนทำเป็นคนไทย


    ปัญหาหลักอีกเรื่องหนึ่งของเรื่องคราฟต์เบียร์คือเรื่องวัตถุดิบในการผลิต ส่วนใหญ่ที่เราใช้ก็ยังต้องนำเข้ามากจากต่างประเทศซึ่งก็จะมีดีลเลอร์มา เราก็มาเพิ่มความเป็นไทย เพิ่มเอกลักษณ์เรื่องกลิ่นหรือรสชาติที่เราเติมเข้าไปนิดๆ หน่อยๆ มากกว่าที่เราจะใช้เบสพวกนี้มาจากไทย นอกจากว่าพอมีการเปิดกว้างให้เราสามารถผลิตในไทยหรือทำให้ถูกกฎหมายได้ เราก็จะเริ่มนำข้าวพื้นเมืองเข้ามาหรือพัฒนาสายพันธุ์ แต่พวกนี้ก็เริ่มมีคนทำแล้วนะที่ไทย เริ่มมีคนปลูกข้าวที่ไทยใช้สำหรับทำเบียร์ ปลูกต้นฮอปเพื่อเอาดอกฮอปมาใส่เบียร์ และมีคนเริ่มทำยีสต์ของตัวเองแล้วก็มี แต่ไม่ได้ถึงขนาดว่าจะใช้ได้ เพราะมันก็ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ อย่างข้าวไทยจะเอามาทำเบียร์เลยก็ไม่ได้ เพราะเคยมีคนเอามาทำแล้วปริมาณน้ำตาลไม่ได้บ้าง ทำออกมาแล้วกลิ่นเหมือนเหล้าขาวบ้างก็มี วัตถุดิบหลักๆ ของคนส่วนใหญ่สุดท้ายก็ยังคงมาจากต่างประเทศอยู่


    ? แก้วที่ 2 จากความฝันสู่การลงมือทำธุรกิจ ?


    รู้จักคราฟต์เบียร์ครั้งแรกตอนไหน

    พี่เริ่มกินคราฟต์เบียร์จากเพื่อนตอนสมัยเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อนแนะนำให้ลองเราก็ไปกิน ตอนนั้นคราฟต์เบียร์เริ่มมีคนทำและมีกระแสขึ้นมาแล้ว เราก็ไปกินที่ร้านคราฟต์เบียร์ร้านนึง จากนั้นก็มาคุยกับเพื่อนกับคนทำด้วยว่าตัวนี้กินแล้วเป็นยังไง ทำไมเขาถึงทำออกมาแบบนี้ เขาก็เริ่มอธิบาย เริ่มชี้แจงว่าเขาทำเบียร์ประเภทนี้ ตอนกินแรกๆ ราคาก็ค่อนข้างจะสูง เราก็เรียนหนังสืออยู่ ไม่มีเงินหรอก อาศัยนานๆ ไปที หรือแชร์กับเพื่อนสองคนแบ่งกันชิม ไม่ได้กินให้เมา เรากินเพราะต้องการรสชาติเฉยๆ ทำให้เราเกิดความสนุกกลับมาว่ากินสิบตัวรสชาติไม่เหมือนกันเลยและไม่ใช่ว่าจะดีทุกตัว ทุเรศเก้าตัว ดีตัวนึงก็มี แต่มันสนุก

    เอาความสนุกตรงนั้นมาเปลี่ยนเป็นความฝันที่จะเปิดร้านได้ยังไง

    พอสนุกเราก็เริ่มศึกษา กินไปเยอะๆ ก็จะมีความรู้สึกว่าก็อยากลองทำเองบ้าง เลยไปเรียนประมาณสองอาทิตย์ เรียนทำ เรียนบรรจุ ไม่นานก็ย้ายมาอยู่ที่แพร่ เพื่อนก็เชียร์ให้เราทำ สมัยก่อนขายแต่คราฟต์เบียร์ไทยเท่านั้น เปิดร้านทำกันเอง ไม่มีพนักงาน ทำกับหุ้นส่วนด้วยกัน คนนึงทำอาหาร พี่ก็อาศัยพรีเซนต์เรื่องเบียร์ ให้ความรู้ สมัยก่อนเราคิดว่าการที่ลูกค้าจะดื่มเบียร์เราแก้วนึงสองสามร้อยเขาต้องได้อะไรมากกว่าแค่ดื่ม เราต้องการสร้างพฤติกรรมการกินของคนแพร่ใหม่ ต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มคราฟต์ด้วย สร้างบรรยากาศการกินเบียร์แบบใหม่ๆ ที่ไม่มีในแพร่ เราก็จะวางคอนเสปต์ของร้านไว้ว่าเป็นอย่างนี้ เพลงที่เราเปิดต้องเป็นอย่างนี้ คิดและปรึกษากันหมดว่ามันต้องมาอย่างนี้นะ


    คราฟต์เบียร์กับคนพเนจรสัมพันธ์กันยังไงถึงตั้งชื่อร้านว่า ‘NoMad’

    อันที่จริงเราตั้งมาจากกลุ่มลูกค้า เราตั้งกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ว่าเป็นนักท่องเที่ยว นักเดินทาง สมัยก่อนมีหลายชื่อ มี Visitor, Traveler, คนจร แล้วมีหนึ่งในหุ้นส่วนเสนอคำว่า ‘Nomad’ ขึ้นมา เป็นชนเผ่านึงที่ร่อนเร่พเนจรไปเรื่อยๆ มันก็เป็นตัวแทนของนักท่องเที่ยวได้นะ และให้ความรู้สึกไม่จำเจ ไม่อยู่กับที่ ซึ่งก็ตรงกับลูกค้าที่เราอยากได้และสินค้าที่เราขายด้วยว่ามีหลากหลาย ไม่มีความจำเจ คนที่มาร้านสมัยก่อนก็จะเป็นพวก nomad คือจะเป็นพวกที่คิดไม่เหมือนคนทั่วไป เรียกว่าคนติสท์ก็ได้ ‘NoMad’ ก็เลยตอบโจทย์สุด ตอนนั้นมีชื่อเก่าของร้านชื่อ ‘รอยพิมพ์’ อยู่แล้ว แต่เราอยากให้ความรู้สึกของการทำร้านใหม่ขึ้นมาว่าขายคราฟต์เบียร์ เลยเป็น ‘NoMad CraftBeer’ และเป็นร้านสบายๆ ก็เติมคาเฟ่เข้าไปเป็น ‘NoMad CraftBeer&Café’ ด้วยชื่อก็น่าจะบอกกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการได้ส่วนนึงแล้ว

    เลือกคราฟต์เบียร์ที่เอามาขายจากอะไร

    สมัยก่อนเราเลือกคราฟต์เบียร์ที่จะมาขายเป็นคราฟต์ไทยที่ราคาไม่แรงและเราขายไม่แพง เพราะว่าเราอยากให้คนมาลองกิน ถ้าเราขายแพงก็จะขายไม่ค่อยออก คนก็ไม่กล้ากิน สมัยก่อนเปิดร้านแรกๆ มีคนขับรถผ่านบอก “นี่ไงร้านนี้ที่เบียร์แพงๆ” เราก็ไม่เป็นไรหรอก เขาคงไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่เราต้องการ พอเราให้ความรู้ เราสร้างกลุ่มผู้บริโภคขึ้นมา พอกลุ่มลูกค้ามีประสบการณ์การดื่มมาระดับนึง เราก็จะค่อยๆ ปรับระดับเบียร์ที่เราเอามา เริ่มเอาคราฟต์เบียร์นอกที่คุณภาพดีๆ เข้ามา ถ้า IPA นอกจะประมาณนี้ ต่างกันอย่างนี้ เรื่องราคาก็ต้องยอมรับ แต่บางตัวเราก็ยอมกัดฟันลดลงมาให้หน่อยนึงพอให้เบียร์ออก ร้านได้กำไรสิบบาทยี่สิบบาทไม่เป็นไร ให้เป็นตัวที่อาทิตย์นึงมาที ไม่ได้มีตลอด แต่เบียร์ที่เรามีตลอดคือคราฟต์ไทยที่ลูกค้าสามารถเอื้อมถึงได้ง่าย แต่พอคนเริ่มกินคราฟต์นอกก็จะเริ่มรู้สึกถึงความเต็มกว่า คุณภาพที่ดีกว่า

    ที่ร้านมีเฉพาะคราฟต์เบียร์อย่างเดียวเลยหรือเปล่า

    เบียร์ทั่วไปก็เอามาเสริมได้ หลังๆ เราไม่ได้ซีเรียสว่าลูกค้ามาแล้วจะกินคราฟต์เบียร์อย่างเดียว เพราะว่าลูกค้าบางคนมาก็ต้องอยากมาผ่อนคลาย เพราะเราทำร้านเหล้า มากินเหล้ามากินเบียร์ทั่วไปก็ได้ แล้วแต่ ไม่ได้ซีเรียสแล้ว อย่างพี่เปิดร้านคราฟต์เบียร์เองพี่ก็ไม่ได้กินคราฟต์เบียร์ทุกวันนะ พี่ก็กินสลับๆ ไป พี่จะดูบรรยากาศ ถ้าวันนี้กินกับเพื่อนหลายคน กินเบียร์ทั่วไปดีกว่า มันให้ฟีลความสนุกต่างกัน แต่ถ้ากินคราฟต์เบียร์คนละสองแก้วก็จะฟุบไปแล้วหนึ่ง ส่วนใหญ่ตอนนี้ก็มีหมด โซจู มักกอลลี รูทเบียร์ เบียร์ 0% มีให้คุณเลือกทุกอย่าง ค็อกเทลก็มี แต่เราก็จะมีเฉพาะที่เราสามารถทำได้และสามารถหาให้ได้ แต่เมนหลักของร้านต้องเป็นคราฟต์เบียร์แค่นั้น


    แก้วที่ 3 ประตูสู่เส้นทางใหม่แห่งการดื่มเบียร์ ?


    อยากให้การดื่มเบียร์ในแพร่เป็นไปในทิศทางไหน

    อันที่จริงเราแค่อยากให้ลอง หมายถึงคุณกินเบียร์ทั่วไปแต่คุณไม่เคยกินแบบนี้ เราก็อยากให้คุณได้ลองบ้าง การที่คุณไม่ชอบกินเบียร์ประเภทนี้ไม่ใช่ว่าคุณไม่ชอบกินเบียร์ แต่คุณไม่ชอบเบียร์ประเภทนี้เฉยๆ เบียร์ที่กินทุกวันนี้ถูกก็จริงแต่คุณภาพไม่ได้ให้คุณเต็มร้อย คราฟต์เบียร์ใช้มอลต์คุณภาพ 100% ฮอปที่เขาใช้เขาเลือกฮอปจริงๆ ไม่ใช่ฮอปสังเคราะห์ เราไม่ได้ให้กินแบบเมาเละเทะ อ้วกแตกอ้วกแตน เรากินคือเรามาคุยกัน มาแลกเปลี่ยน เครื่องดื่มนี้เป็นเครื่องช่วยให้บรรยากาศรู้สึกผ่อนคลาย สนุก ความต้องการคือให้ลูกค้าที่กินมาผ่อนคลายจากการทำงาน เราไม่ได้อยากให้ลูกค้าที่กินมาเอะอะโวยวาย เราไม่ชอบอย่างนั้น เราแค่ต้องการให้มีพื้นที่พื้นที่นึงที่คุณจะมาทำงานก็ได้ อ่านหนังสือก็ได้ มันไม่มีที่แพร่ ณ ตอนนั้น


    ลำบากไหมกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรก

    สมัยก่อนทำงานประจำอยู่ที่อุตรดิตถ์ พอเริ่มเปิดร้านก็ตีรถไปกลับทุกวัน เช้าไป–เย็นกลับมาทำร้าน สมัยก่อนมันยังไม่มีลูกน้อง เราต้องสร้างกลุ่มลูกค้า สร้างพฤติกรรมลูกค้า สร้างใหม่หมดเลย วันนึงไม่มีลูกค้าเลยก็มีนะ นั่งมองหน้ากันห้าคน วันนี้ไม่มีลูกค้าไม่เป็นไร ก็ช่วยกันกินคนละแก้วแล้วกัน ตอนนั้นทำร้านเราคิดไว้อยู่แล้วว่าวันเสาร์ขายได้เพราะมีกาดกองเก่า เราขายแค่วันเสาร์วันเดียวให้พอจ่ายค่าเช่า ค่าไฟ มีแค่ตู้แช่ตู้เดียวแล้วอัดคราฟต์เบียร์ไทยเข้าไป พี่เป็นคนออเดอร์เบียร์ทุกอย่าง ไม่มีเหล้า ไม่มีเบียร์ทั่วไป มีแต่คราฟต์เบียร์อย่างเดียว แต่พอทำไปก็จะมีกลุ่มลูกค้าประจำที่มา เราก็ต้องดูพฤติกรรมของคนแพร่ไปเรื่อยๆ อย่างสี่คนอาจจะชอบกินเบียร์แค่สอง อีกคนนึงอยากกินเหล้า อีกคนนึงตังค์ไม่ค่อยมี อาจจะกินช้าง สิงห์ ก็เลยเริ่มเป็นชอยซ์เพิ่มขึ้นมา

    กว่าจะได้กลุ่มลูกค้าหลักต้องผ่านอะไรมาบ้าง

    ตอนนี้ร้านน่าจะเปิดมาประมาณสามปีแล้ว ปีแรกไม่ใช่ว่าเราเปิดมาแล้วเป็นอย่างนี้เลย เราค่อยๆ ทำ ค่อยๆ มีนั่นมีนี่ขึ้นมา สมัยก่อนมีโต๊ะกับแค่ตู้แช่ตู้นึงเหมือนเราไปกินร้านขายของชำเลย อาหารก็มีแค่ทำกันเอง ไม่มีลูกน้อง ก่อนที่จะมีโควิด กลุ่มลูกค้าหลักของเราไม่ใช่คนแพร่แต่เป็นคนต่างชาติ เป็นครูสอนภาษาที่มาทำงานในไทย ทำงานที่แพร่ มีฝรั่งที่เกษียณ และมีพวกฝรั่งที่เขามาท่องเที่ยว วันเสาร์ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว กลุ่มลูกค้าแพร่สมัยก่อนก็น้อยอยู่ หลักๆ จะเป็นพวกต่างชาติซะส่วนใหญ่ เพราะเราเป็นบาร์เบียร์ คอนเสปต์ตอนนั้นก็ง่ายๆ ไม่ต้องเยอะ กับกลงกับแกล้มอะไรก็ไม่ต้องเยอะ อาหารตอนนั้นตัดเลย มีเท่าที่ขายได้เพราะว่าไม่เก่งเรื่องการทำอาหาร ก็เลยเป็นบาร์เบียร์แล้วกัน


    แก้วที่ 4 สามปีกับคราฟต์เบียร์แพร่ ?


    เปิดร้านมาสามปี มีเรื่องอะไรดีๆ มาเล่าให้ฟังไหม

    เรื่องที่ประทับใจแรกสุดตอนทำร้านใหม่ๆ จะมีครูฝรั่ง ครูอเมริกัน สอนอยู่นารี เขาเป็นเพื่อนกับหุ้นส่วนภายในร้าน ก็เหมือนแนะนำกันมา เขามามองแล้วบอกว่าว้าวมาก ชอบ และเขาก็บอกว่าจะไม่บอกฝรั่งคนอื่นว่ามีร้านนี้ในแพร่ เขารู้ว่าถ้าเขาบอกทุกคนจะต้องมา กลายเป็นว่าพอฝรั่งมาเดินกาดก็มาจอย มาเจอ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งรวมพวกฝรั่ง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่พักตามโรงแรมก็มา กลุ่มฝรั่งที่เป็นครูสอนก็มา อายุเยอะหน่อยที่มาเกษียณที่แพร่ก็มา

    แล้วคนไทยล่ะ

    จริงๆ มีเยอะนะ ลูกค้าคนไทยน่ารักก็มี เรื่องที่แฮปปี้ที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องกลุ่มลูกค้าที่แพร่นี่แหละ บางคนรู้สึกสนิทกันจนบางทีเราไปเที่ยว ไปธุระ หรือว่าเรายังไม่พร้อมมาเปิดร้านเพราะตอนนั้นเราทำเองหมด เขาก็มาช่วยเปิดร้าน ช่วยคิดเงิน–ทอนเงินให้ มาอยู่ขายให้เรา สนิทกันจนขนาดนั้นเลย พวกนี้คุยง่ายเวลาเราขอความร่วมมือว่าอย่าส่งเสียงดังเขาก็จะให้ความร่วมมือง่าย

    ช่วงสามปีที่ผ่านมา สถิติการกินคราฟต์เบียร์ที่แพร่เป็นยังไง

    ทุกวันนี้ยอดขายคราฟต์เบียร์ก็ยังเยอะกว่าเบียร์ทั่วไปอยู่ มันจะมีช่วงนึงที่ร้านเริ่มแมสคนก็จะเริ่มมากิน แต่คนเยอะจริงและเสียงดังมาก โดนร้องเรียนบ่อย จนเรารู้สึกว่าเริ่มไม่แฮปปี้แล้ว พอมาดูยอดขาย เบียร์ทั่วไปกับเบียร์คราฟต์เริ่มใกล้เคียงแล้ว เราก็เลยกลับมาทบทวนว่าตอนนี้ร้านเริ่มหนีออกมาจากที่เราตั้งไว้ตอนแรกเยอะมากเลย ตั้งวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายใหม่ให้เราเยอะมาก เราคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างกับมัน อย่างเรื่องเพลง ตอนนั้นเราอาจจะเปลี่ยนเป็นแนวเพลงเปิดตลาดขึ้น ก็กลับมาเปิดเหมือนเดิม พอลูกค้าที่ตามกระแสเข้ามาก็จะรู้สึกว่าไม่ค่อยสนุก มันเชือนๆ สุดท้ายก็กลับมาเป็นเหมือนก่อนหน้านี้

    ผลเป็นยังไงหลังจากที่เราเปลี่ยนกลับไปเป็นแบบเดิม

    คราฟต์เบียร์เริ่มออกเยอะขึ้น เราก็เริ่มพรีเซนต์ เริ่มมีลูกน้องเข้ามาช่วย เราจะเทรนพนักงานว่าต้องให้กินก่อน กินแล้วได้อะไรกลับมาก็มาเล่าให้เราฟัง เริ่มมีการให้ความรู้กับพนักงาน พนักงานที่ร้านเราก็ส่วนใหญ่จะสามาถแนะนำได้ กลุ่มลูกค้าที่กินเบียร์ทั่วไปก็จะชอบมานั่งปกติ เราก็ขายให้ปกติ แต่เราก็จะกลับมาเป็นร้านสไตล์เดิม เป็นที่คุยกัน เป็นที่พักผ่อน กลับไปเป็นเหมือนเดิมคือเน้นคุยกับลูกค้ามากขึ้น


    แล้วอะไรจูงใจให้ลูกค้าติดใจคราฟต์เบียร์ ทั้งๆ ที่ราคาสูงกว่าชาวบ้าน

    เป็นเพราะเสน่ห์ของมัน บางคนเขาก็กินไปเรื่อยๆ เหมือนค้นหาสิ่งที่ชอบ มันสนุกและแปลกใหม่ ประเภทของเบียร์ที่เขากิน อย่าง IPA หรือวีทเบียร์ ก็มีเป็นสิบๆ แบรนด์ รสชาติก็ไม่ใช่ว่าเหมือนกันทุกตัว ก็จะมีคาแร็กเตอร์แตกต่างกันออกไป สิบแบรนด์ร้อยแบรนด์ก็ไม่เหมือนกัน อาจจะใกล้เคียงแต่ไม่มีทางเหมือนกัน นี่คือเสน่ห์ของมัน เหมือนเราเดินทางไปเรื่อยๆ มากกว่า แต่ถึงระดับนึงคุณอาจจะชอบกิน IPA แต่ที่ต่างไปคือกลิ่นกับรสชาติ อย่างชอบกินแบรนด์ IPA แบรนด์นึงก็แบ่งสไตล์ได้อีกเป็น New England IPA–เบียร์ขุ่น Hazy IPA–เบียร์ฉ่ำ IPA West Coast–เบียร์บอดี้ใส กลิ่นชัด มันหลากหลายมากๆ คนที่ชอบก็น่าจะชอบความหลากหลายไม่จำเจของมันมากกว่า

    มองภาพของร้านไว้ว่ายังไงในปีถัดๆ ไป

    มีคิดไว้ว่าจะขยายร้านนะ ขยายที่อาจจะไม่ได้ อาจจะต้องย้ายร้านแต่จะเก็บตรงนี้ไว้อยู่ ที่จริงเราอยากจะพัฒนาให้เป็นร้านคราฟต์ที่สามารถรองรับลูกค้าได้เยอะกว่านี้ อาจจะมีกลุ่มลูกค้าที่ชอบมาคุยงาน มีอายุหน่อย ต้องมีอาหารแบบฟูลคอร์สขึ้นมาหน่อย มาคู่กับตัวเบียร์ให้มันลึกขึ้นครับ สามารถรองรับกลุ่มของลูกค้าได้มากกว่าเดิม อาจจะไม่เป็นแค่กลุ่มลูกค้าที่เข้ามากินเบียร์ พูดคุยสนุกสนานกัน แต่เราอาจจะได้กลุ่มลูกค้าที่มาคุยงานกันด้วย มากินข้าว ได้บรรยากาศครอบครัวด้วยมากกว่า หรืออาจจะมีเครื่องดื่มอย่างอื่นเพิ่มขึ้นในอนาคตเพราะก็อยากจะให้แพร่มีอะไรให้มากกว่าร้านเหล้าทั่วไป ไม่ได้บอกว่าให้มันแตกต่าง แค่ว่าเราต้องการให้แพร่มีชอยซ์สำหรับคนกินให้มากขึ้น คนที่มาจากต่างจังหวัดก็อยากมากินนอกจากร้านเหล้าธรรมดา เพราะเราก็เชื่อว่ามีกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ต้องการฟังเพลงดังๆ หรือมาเอะอะโวยวาย แค่ต้องการมานั่งสบายๆ มาพักผ่อน เพราะกรุงเทพฯ ร้านเหล้าก็มีเยอะอยู่แล้ว มาต่างจังหวัดเขาต้องการพักผ่อน เรายังอยากให้เป็นกลุ่มลูกค้าอย่างนี้อยู่แต่อาจจะให้รองรับหลากหลายขึ้นมากกว่า


    และถ้าเป็นไปได้เรื่องกฎหมาย เรื่องที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ถ้ากฎหมายเปิดแล้วเราจะทำโรงเบียร์สเกลเล็กๆ ในจังหวัดแพร่ ใช้วัตถุดิบของแพร่ พรีเซนต์ความเป็นแพร่ว่าเป็นเบียร์ของแพร่ ไม่ใช่เบียร์ประจำจังหวัดแต่เป็นเบียร์ที่ถ้ามาแพร่คุณต้องมากินเบียร์ชนิดนี้ เป็นซิกเนเจอร์ขึ้นมา เป็นโมเดลของจังหวัด หรือว่าเราอาจจะทำเป็นโอทอปขึ้นมาถ้ากฎหมายเอื้อให้เราทำได้ขนาดนั้น

    ฝากอะไรถึงคนที่ไม่เคยลองคราฟต์เบียร์

    ก็อยากให้มาลองชิม ถ้ามาที่ร้านก็จะมีให้ชิมอยู่ คุณสามารถมาลองเบียร์ที่ร้านได้ มี 20 กว่าประเภทแต่ก็มีหลากหลายแบรนด์ มีประมาณเกือบ 50-60 แบรนด์ที่ให้คุณเลือกดื่มได้หลากหลาย มีน้องๆ คอยแนะนำ ถ้าชอบบรรยากาศสไตล์เงียบๆ พูดคุยผ่อนคลายก็แวะมาได้ แต่ทางร้านต้องบอกไว้ก่อนว่าเรื่องอาหารจะไม่ค่อยฟูเท่าไร จะเป็นกับแกล้มเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าลูกค้าหิวข้าวก็สามารถสั่งแอปพลิเคชันมาเลย อย่างถ้ามาถนนคนเดินก็ไปซื้อมากินได้ ของร้านก็จะมีเมนูซิกเนเจอร์อยู่ เช่น เหาดง ไส้กรอกเยอรมันย่างรวมที่สามารถกินกับเบียร์ได้ เราจะมีออเดอร์ที่เหมาะที่จะกินกับเบียร์อยู่ให้ที่ร้าน ก็อยากจะฝากร้านให้คนแพร่ลองเปิดใจดูว่ามันมีชอยซ์ให้คุณเลือกเยอะสำหรับการดื่ม


    เบียร์ทั้งสี่แก้วที่เรานำมาให้ชิมในวันนี้รสชาติดีไม่เหมือนใคร แต่หากอยากมาลิ้มลองรสชาติและเรื่องราวของคราฟต์เบียร์แก้วอื่นๆ ด้วยตัวเอง ตลอดจนอยากมานั่งสนทนากับพี่หยอง อยากรู้รายละเอียดเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านี้ ก็แวะเวียนมาที่ร้าน NoMad CraftBeer&Café ได้เสมอ พวกเขาพร้อมต้อนรับนักพเนจร พร้อมเล่าเรื่องราว และพร้อมทำความรู้จักทุกคนอย่างแน่นอน


    ข้อมูลร้าน NoMad CraftBeer&Café
    บ้านเลขที่ 87/1 คำลือ ตำบล ในเวียง อำเภอเมืองแพร่ แพร่ 54000
    เปิดทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร
    จันทร์ & พุธ 18:00 - 24:00 น.
    พฤหัสบดี - อาทิตย์ 18:00 - 23:30 น.
    เบอร์ติดต่อ (+66) 94 597 8974
    อีเมล [email protected]
    เพจเฟซบุ๊ก NoMad CraftBeer&Café
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in