เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เหาฉลามNatchanon Mahaittidon
my footprint
  • บันทึกเอาไว้เพราะกลัวลืมความรู้สึกนี้ 

    ช่วงนี้เหนื่อยมาก บางครั้งก็นึกโทษตัวเองที่หาเรื่องทำอะไรต่อมิอะไรมากขนาดนี้ ไหนจะนิตยสาร ไหนจะสำนักพิมพ์ ยิ่งเมื่อมีคนเยอะขึ้นก็นอกจากจะคิดถึงเรื่องผลิตภัณฑ์ก็ยังต้องนึกถึงเรื่องคนอีก

    แต่วันนี้ก็รู้สึกขอบคุณตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะมันก็เป็นการลากเส้นต่อจุดให้เป็นตัวตนที่เราเองก็รู้สึกดีกับมันไม่น้อย เช่น

    ลูกค้า

    — ในแง่ความเป็นสำนักพิมพ์ ทำให้เราต้องนึกถึง "คนอ่าน" มากกว่าอย่างอื่น เป็นการคุยกับเขาโดยตรง ตรงนี้ใช้ความจริงใจและสามารถแสดงความเป็นตัวตนของเราได้เต็มที่ ซึ่งถ้าเขารักเรา เขาก็จะอยู่กับเราเอง เหมือนกับเพื่อนที่คุยสนุก กวนตีน ไม่มีพิษภัย ไม่ได้ชวนไปเสพยาบ้าหรือค้าของผิดกฎหมาย "มีคนอ่านเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน" ​เป็นมายด์เซ็ตที่คิดมาตลอด ไม่ใช่คนที่ทำตัวเหนือกว่าหรือเป็นพวกเด็กห้องคิงที่เวลาพูดอะไรก็เหมือนคุยอยู่หน้าชั้นเรียนประมาณว่าหาเสียงกรรมการนักเรียน 

    — ในแง่ความเป็นนิตยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นนิตยสารแจกฟรี มันทำให้เราต้องมีอีกก้อนความคิดหนึ่งเพราะมี "ลูกค้า" เพิ่มขึ้นอีกกลุ่ม เดิมทีคือคนอ่าน แต่ตอนนี้มี "เอเยนซี่" หรือเจ้าของสินค้าที่เป็นคนกำเงินเอาไว้เพื่อซื้อพื้นที่โฆษณากับเรา ซึ่งนั่นเป็นแหล่งน้ำหลักที่เรามี ซึ่งธรรมชาติของเขาเหล่านี้จะมีไอเดียในการเสพนิตยสารไม่เหมือนกัน กลุ่มแรกคือเพื่อความบันเทิงและความเป็นส่วนตัว กลุ่มสองคือเพื่อธุรกิจและความเป็นส่วนรวม สำหรับเรา พอมาทำนิตยสารเองก็มี "ความเป็นส่วนรวม" มากขึ้นอยู่ เพราะทีมมันใหญ่ขึ้น มีปากท้องให้ต้องเลี้ยงดูและคิดถึงพวกเขามากขึ้นเช่นกัน (สำนักพิมพ์ของเรามีแค่ 3-4 คน ส่วนนิตยสารนั้นมากกว่าเท่าตัว) เราต้องง้อลูกค้าทั้งสองกลุ่ม และบางทีนั้นมันก็ต้องเลือกว่าจะต้องคุยกับกลุ่มไหนมากกว่ากัน ซึ่งเป็นการเลือกที่ต้องใช้เหตุและผล รวมถึงมิติอื่นอย่างเช่นเวลา เข้ามาผสมกันไปหมด และตรงนี้เองที่มันจะมีไอเดียของการคิดแบบ "สำนักพิมพ์" ขึ้นมาปะปนและเป็นตัวแปรในการคิดด้วยเช่นกัน


  • คน

    — เราทำสำนักพิมพ์มาตั้งแต่นับหนึ่ง เหมือนถูกเอาไปทิ้งกลางทะเลทราย สิ่งเดียวที่มีก็คือรู้ว่าอยากอ่านอะไรและมีวิชาเกี่ยวกับการเขียนมาอยู่บ้าง ค่อยๆ วางอิฐทีละก้อนจนกระทั่งมีทีมเข้ามาทีละคน มาถึงตอนนี้ก็อาจแบ่งได้ว่าเป็นทีม "รุ่นก่อตั้ง" และทีม "รุ่นหลัง" ไม่ได้รักทีมไหนมากเป็นพิเศษเพราะคนที่เข้ามาเราก็ยังคิดเหมือนเดิมว่าล้วนเป็นคนที่มีเมตตา เราเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้ใหญ่อะไรนักแต่ก็ยังมีกะใจมาสมัครเพื่ออยู่ด้วยกัน (ความรู้สึกเดียวกันนี้ สารภาพกันตามตรงว่ารู้สึก "ขอบคุณ" รุ่นก่อตั้งมากกว่าอยู่หลายเปอร์เซ็นต์)

    การทำหนังสือในรูปแบบสำนักพิมพ์นั้นดีตรงที่มันตัดความเป็นโฆษณาออกไปเลย ทำงานอย่างที่เราคิดว่าดี มีการประชุมกันเพื่อลงมติว่าเราจะทำหนังสือเล่มนี้ ในรูปแบบนี้ ด้วยเจตนาที่ดีให้แก่ผู้อ่านของเรา ว่ากันตามตรงมันดู "ไม่ขายวิญญาณ" อย่างที่หลายคนคิดว่านิตยสารเป็น (แหม เราจะหลบเลี่ยงได้อย่างไรเมื่อบ่อน้ำเลี้ยงหลักนั้นก็มาจาก "พื้นที่โฆษณา" นี่นา) เราจึงให้น้ำหนักกับสิ่งที่คนอ่าน "ควรจะได้" มากกว่าอย่างอื่น ถึงสำนักพิมพ์แซลมอนจะดูเป็นพวกบ้าบอ แสดงออกอย่างปัญญาอ่อน แต่เรามั่นใจมากเจตนาและประเด็นของเรานั้นจริงจังและเลือกมาแล้วว่าคนอ่านควรจะได้รู้สิ่งนี้ เพราะสิ่งนั้นจะทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

    นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในการทำหนังสือเสมอมา และคิดว่าทีมก็คงจะรู้สึกไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ (หากได้อยู่ในกระบวนการคิดมาตลอด)

    — เราทำนิตยสารมาตั้งแต่นับหนึ่งเช่นกัน แต่คราวนี้รู้สึกว่าอยู่ในเมืองมากกว่าจะหลงอยู่ในป่าลึกหรือทะเลทราย เพราะก่อนหน้านี้ก็ทำงานนิตยสารมา คิดและพบเจอจุดบอดจากการอ่านเล่มอื่นมาก็มาก แต่ก็ทำโดยที่ไม่ได้คิดหรอกว่าจะดีเกินคนอื่น ก็คล้ายกับตอนสำนักพิมพ์ แค่อยากทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ และมีท่าที่ยากกว่าประมาณก็นึงเท่านั้น 

    คนทำนิตยสารต่างจากคนทำสำนักพิมพ์อยู่ประมาณใหญ่ หากเขามีมายด์เซ็ตโอนเอียงไปว่าการโฆษณาเป็นการหลอกลวง หรือรักใคร่ในตัวอักษรของตัวเองมากเขาจะรู้สึกว่าทรมานกับการทำงานเพื่อรับใช้ลูกค้า รู้สึกสงสารตัวเองที่จะต้องก้มหน้าก้มตาในสิ่งนี้ เราเองก็เป็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลาออกจากการเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารที่เดิม ตอนนี้ก็สมน้ำหน้าตัวเองอยู่เหมือนกันที่ต้องมาบริหารนิตยสารแจกฟรีที่อยู่ได้ด้วยโฆษณาเท่านั้น ตรงนี้น้อยคนนักที่จะเกิดมาเป็น "นักนิตยสาร" โดยแท้ที่ไม่คุ่นเคืองเรื่องนี้อยู่ในหัวใจเลย เท่าที่เจอคือยังไม่มี

    แต่สิ่งที่ได้ ทำให้เราคิดแทนทีมว่า เราคงต้องทำโฆษณาที่รู้สึกแย่กับตัวเองน้อยที่สุด หลีกให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ซึ่งแน่นอนว่าไอ้ที่ทำไม่ได้มันก็มี แต่บางทีเราก็เลือกไม่ได้ ดุลยพินิจของเราคือทำให้ทีมรอดไปด้วย และเอกลักษณ์ของเล่มรอดไปด้วยเช่นกัน) 

    สิ่งที่ได้ก็คือการรู้เท่าทันความรู้สึกของคนทั้งสองฝ่าย และทางอออกของตัวเนื้อหาที่เรายินดีจะหาประเด็นคมๆ เพื่อหล่อเลี้ยงทั้งทีม และตอบโจทย์ลูกค้าไปพร้อมกัน เป็นทางออกที่จริงใจต่อทั้งสองฝ่ายในสายตาของเรา ถึงมันจะทำได้ยากหน่อยแต่อย่างน้อยเราก็มีความหวังกับมันอยู่ ทำไปทำมาจนตอนนี้มันก็กลายเป็นเอกลักษณ์ของนิตยสารที่เราสร้างมาไปเลย (แน่นอน มันก็มาจากพื้นฐานความคิดในการทำสำนักพิมพ์ด้วย)

    อีกสิ่งที่ตามมา มันทำให้เราเปิดใจให้กับความอึดอัดของห้วงเวลาที่จะต้องเลือก "ลูกค้า" ของเรา เล่มนี้จะบริการใคร อะไรเป็นสิ่งที่จะต้องชั่งและตวง ไปจนถึงการแก้ปัญหาในแบบของคนที่ต้องการบูชาเอกลักษณ์ และการต้องจุนเจือความรู้สึกให้กับความ "คอมเมอร์เชียล"
  • ธรรมชาติ

    — ความเป็นสำนักพิมพ์มีธรรมชาติเหมือนนักวิ่งมาราธอน ยิ่งกับแซลมอนเองนั้นเป็นพวกชอบหาเรื่อง คิดประเด็นขึ้นมาแล้วทำงานร่วมกับนักเขียนตั้งแต่ 0% ไปจนจบ ต่างจากบางสำนักพิมพ์ที่มีวิธีการแตกต่างออกไป (ไม่ได้บอกว่าอันไหนดีหรือไม่ดี) ทั้งหมดนี้ก็เพราะว่าเราอยากทำหนังสือที่ "ทำไมมันยังไม่มีบนแผงวะ" นั่นแหละ ด้วยเหตุนี้มันเลยเหนื่อยเป็นพิเศษ เพราะต้องอาศัยเวลาและความพัวพันในแต่ละขั้นตอนสูงขึ้น ทีมแซลมอนเป็นผู้ช่วยผู้กำกับและเป็นโปรดิวเซอร์ไปในคนเดียวกัน

    เมื่อขั้นตอนเยอะ ก็ทำให้ความเสี่ยงสูงเนื่องจากเวลาของเรามีจำกัด สิ่งหนึ่งกระทบสิ่งหนึ่งอยู่แล้ว เป็นที่มาของการเลต เราต้องประคับประคองอารมณ์ให้นิ่งเวลาที่ความเหน็ดเหนื่อยของทุกคนเริ่มแตะจุดสูงสุด เป็นโมงยามที่เครียดง่ายเป็นพิเศษ หงุดหงิดกับแทบทุกอย่าง และพร้อมจะลาออกในทุกเมื่อ เหมือนวิ่งมาราธอนพะวงเรื่องการถอดใจและออกนอกลู่อยู่ตลอดเวลา 

    เมื่อมีปัจจัยจากภายนอก ก็ทำให้บางครั้งเราปิดเล่มไม่ทัน หนังสืออดขายในวันแรก เป็นบาดแผลที่เราเจ็บร่วมกัน ส่ายหัวให้กับความไม่ได้เรื่องของตัวเอง สลับกับชื่นใจเหลือเกินเวลาเห็นผู้อ่านซื้อหนังสือของเราล้นหลามและแบกมันกลับไปด้วยความชื่นมื่นชื่นชม

    — ความเป็นนิตยสารมีธรรมชาติที่ง่ายดายกว่านั้น เข้าใจเรียบง่ายคือ "ห้ามช้า" กำหนดการของมันแน่นอน เดดไลน์หนักแน่นเข้มแข็งไม่มีอ่อนหรือผ่อนผัน ยกเว้นแค่บางเดือนที่โลกเข้าข้างเราให้มีเวลาปิดเล่มยืดออกไปสักหลายวัน 

    ความเด็ดขาดในงานนิตยสารเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นรายปักษ์ ทุกอย่างบรรจบครบรอบเร็วกว่ารายเดือน (และรายสัปดาห์ก็ยิ่งโหดหิน) ตรงไหนตัดได้ตัด เติมได้เติม มีเวลาตัดสินใจน้อยนิด ต่างจากสำนักพิมพ์ที่อย่างน้อยก็มีราวอาทิตย์ เมื่อตัดสินใจไป ก็นั่งยิ้มรอรับผลตอบรับของตัวเองกันต่อไป มองไปข้างหน้า อาทิตย์ที่เหลือที่กำลังจะบรรจบกันอีกครั้งในช่วงพริบตา

    ความเป็นนิตยสารนั้นมีความเครียดที่รุมเร้ารวดเร็วกว่ามาก ถึงคิดเป็นจำนวนเล่มแล้วจะพอกัน (แซลมอนหนึ่งปีราว 40 เล่ม ส่วนยีราฟ 28 เล่มต่อปี) แต่ลูปที่แคบและสั้นนั้นก็ทำให้เครียดไม่แตกต่างกันนัก ยิ่งในเดือนที่โฆษณาน้อยเป็นพิเศษนั้นยิ่งต้องก่ายหน้าผากคิดหนัก และตัดสินใจอย่างบรรจง จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่าคนทำนิตยสารจะกลายเป็นพวกอารมณ์ขึ้นลงเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในตำแหน่งตัดสินใจ เพราะปัจจัยมันมากมายเหลือเกิน 

    ถึงเราจะไม่ได้ลงไปเขียนอะไรมากนัก แต่กับงานนิตยสารนั้นเรียกร้องให้ต้องคิดถึงมันบ่อยกว่าความเป็นสำนักพิมพ์ แต่สำนักพิมพ์เมื่อร้องเรียกขึ้นมาเมื่อไหร่นั้นคือต้องรื้อ และเป็นงานยักษ์ประจำปีเลยก็ว่าได้ ส่วนนิตยสารนั้นยังมี phase ที่ค่อยๆ ปรับกันไปได้ 

    และอีกสิ่งที่เราคิดว่าเป็นธรรมชาติของนิตยสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยโอเคสำหรับเราคือระยะเวลาสำหรับการชื่นชมนั้นน้อยนิด เพียงสองอาทิตย์ก็หายวับไปเสียแล้ว ดังนั้นเวลาที่เราคิดถึงนิตยสารที่ทำขึ้นมา เราจะคิดถึงมันในความเป็นโปรเจ็กต์ในฝันมากกว่าจะเป็นรายเล่มที่ถูกผลิตแข่งขันกับวันเวลามากกว่า เพราะทำให้คิดถึงมันอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนและมีทิศทางมากขึ้น
  • สรุป

    การได้อยู่ในสองดินแดนที่ค่อนข้างไม่เหมือนกัน เหมือนอยู่ในดาวที่มีมวลความเข้มข้นที่ต่างกันสุดๆ ก็ทำให้เราเรียนรู้ที่จะปรับความรู้สึกให้กับสถานการณ์ต่างๆ บนพื้นที่ที่ต่างกันไป ความเหนื่อยของการต้องบริหารงานหลายๆ อย่างนั้นมีภาพลวงตาเป็นภาพที่เบลอจากสมองที่เหนื่อยล้า แต่ความเป็นจริงในบางขณะมันก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราแอบเข้ามาพักเหนื่อย ได้คิดในโจทย์ที่แตกต่างออกไป ดึงพลังงานจากดาวดวงนี้ไปใช้ที่ดาวดวงนั้น บางอย่างตรงนี้พังก็เอาไปไว้ตรงนั้น เหมือนได้อยู่บ้านของตัวเองและบ้านของพ่อแม่อีกหลังที่ผูกพันไม่ต่าง และระหว่างที่อยู่ในแต่ละที่ก็ทำให้ได้มองอะไรที่แช่มช้าขึ้น เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่โดยรวมก็คิดว่าชีวิตเราพัฒนาจากงานที่หนักและสถานที่ที่เรียกร้องระยะโฟกัสที่แตกต่างกันไป ถึงบางทีมันจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองอ่อนด๋อยด้อยพัฒนาอยู่บ่อยๆ ก็ตามเหอะ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in