เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Theory from the SeaURSZULA
[MV Theory] Red Velvet - Feel My Rhythm : สวนอีเดน ภาพวาด เล่าเรื่องและการตีความของเรดเวลเวด


  • อีกหนึ่งคัมแบคที่ Red Velvet สร้างความต่างออกมาอย่างโดดเด่นและลงตัว กับมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลายจากดนตรีคลาสสิคที่นำมาผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่ ตลอดจนการนำภาพวาดเข้ามาเป็นหัวใจหลักในการถ่ายทอดเพลง Feel My Rhythm จนกลายเป็นความต่างที่ไม่มีใครเหมือน ท่ามกลางวงเกิร์ลกรุ๊ปที่มีมากมายในตลาดเพลง K-pop ในขณะนี้ 

    พอเห็นความละเมียดละไมในการทำเอ็มวี เราจึงอดคิดไม่ได้ค่ะว่าเนื้อเรื่องของเอ็มวีจะต้องมีอะไรมากกว่าความสวยงามที่เราได้รับชมเป็นแน่ เพราะพอลองรีเสิร์ชหลายๆอย่าง เราพบความน่าสนใจที่อยากจะลองเล่าให้ทุกคนได้อ่านในมุมของเรากัน

    **การตีความ MV เป็นข้อคิดเห็นและการตกตะกอนทางความคิดของเราเอง โปรดใช้วิจารณญาณ**
    และการตีความไม่เรียงตามเวลาในเอ็มวีนะคะ

    ก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหาของการตีความ เราจะขอนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับภาพวาดหลักที่ทาง Red Velvet นำมาเป็น reference + concept art หลักของ MV นี้ วาดโดยศิลปินชาวดัตช์ 'Hieronymus Bosch' ผู้มีชีวิตอยู่จนถึงช่วงศตวรรษที่ 16 ภาพวาดของบอชมักจะถ่ายทอดมุมมองของศาสนาออกมามืดหม่น มองโลกในแง่ร้าย ทว่าเปี่ยมไปด้วยจินตนาการอันล้ำลึก สะท้อนภาพความโหดเหี้ยมของจิตใจมนุษย์ ด้วยการตีความหมายและเสียดสีผ่านภาพวาดหลายชิ้นตลอดช่วงชีวิตของเขา

    ภาพที่ Red Velvet นำมาเป็นเรื่องราวหลักถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาพเลื่องชื่อของบอช มีชื่อว่า "The Garden of Earthly Delights" วาดขึ้นในปี 1490 บนบานพับสามช่อง(Triptych) เล่าเรื่องราวของการกำเนิดโลก สวนอีเดน ความโกลาหลบนโลกมนุษย์ รวมไปถึงความโสมมต่ำช้าของแดนนรก

    ภาพ The Garden of Earthly Delights ก่อนบานพับถูกเปิดออก 

    ภาพ The Garden of Earthly Delights หลังบานพับถูกเปิดออก แบ่งออกเป็นสามโลกด้วยกัน สวรรค์(ซ้าย) โลกมนุษย์(กลาง) นรก(ขวา)

    โดยถ้าหากเราโฟกัสในดีเทลของภาพนี้ด้วยความตั้งใจ เราจะเห็นความใกล้เคียงกันกับองค์ประกอบต่างๆ ที่มีในเอ็มวี และถูกนำเสนอใหม่ในแบบของ Red Velvet เองค่ะ โดยเรื่องราวของเอ็มวีนี้เป็นการพูดถึงการตั้งอยู่และดับไปของสวนอีเดน แต่จะต่างออกไปจากที่เราเคยรู้กันมาว่า มีอดัมและอีฟเป็นชายหญิงคู่แรก แต่ถูกเปลี่ยนเป็นการล่อลวงด้วยกิเลสตัญหา ระหว่างคนในสวนอีเดนด้วยกันเอง

    โดยตัวแปรสำคัญคือ ซึลกิ ที่ในเอ็มวีน่าจะเป็นนกฮูก แม้โดยทั่วไปเราจะรู้จักว่ามันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และสติปัญญา แต่ในอีกความหมาย นกฮูกถือเป็นสัตว์แห่งความโชคร้าย เป็นสัตว์ของปีศาจได้ด้วยค่ะ


    มาเริ่มกันในซีนแรกของเอ็มวี เราจะเห็นภาพของซึลกิกำลังมองสาวๆ คนอื่นที่เหลือผ่านกำแพงสูง ซึ่งสามารถตีความได้ว่าซึลกิอาจจะเป็นคนอื่น เป็นปีศาจที่มาจากภายนอกสวนก็ได้ 


    แต่พอพินิจภาพสวนของบอชดูแล้ว หาก นกฮูก ที่เป็นตัวแทนของซึลกิ นกฮูกตัวนี้น่าจะซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในสวนอีเดนอยู่แล้วมาตั้งแต่แรกค่ะ ทว่ากำแพงที่ว่านี้อาจจะเป็นเส้นแบ่งกั้นความสัมพันธ์ของซึลกิกับคนอื่นๆ ที่มีสถานะต่างออกไปจากตนมาตั้งแต่แรก

    และซีนนี้เป็นอีกหนึ่งซีนที่มีการนำภาพวาดชื่อดังมาเป็น reference ถึงสี่ภาพด้วยกัน

    Paul Dominique - 'Lady looking behind the walls'
    John William Waterhouse - 'Nymphs Finding the Head of Orpheus
    '
    Jean-Honoré Fragonard - TheSwin
    g
    John Everett Millais - Ophelia
    โดยภาพที่นำมาเป็น Reference ทั้งสี่ภาพนี้ เราให้ความสำคัญอย่างมากกับภาพของ โอฟิเลีย(Ophelia) หนึ่งในตัวละครจากเรื่อง "แฮมเลต" (Hamlet) ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งเป็นภาพขณะที่โอฟิเลียกำลังร้องเพลงก่อนจะจมน้ำตาย เพราะตรอมใจจากการที่ชายคนรักฆ่าพ่อของตัวเอง 

    และภาพที่สองที่น่าสนใจแต่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องมากนักคือภาพของ ออร์ฟิอุส (Nymphs Finding the Head of Orpheus) ที่ถูกพวกนิมฟ์ที่กำลังเมาทึ้งร่างจนตาย แต่ตัวเขาก็ไม่ขัดขืนเพราะตรอมใจจากคนรักที่จากไปอยู่แล้ว 

    ซึ่งทั้งสองภาพเป็นต้นแบบของการจัดท่าทางของจอยค่ะ

    จากตรงนี้ทำให้เราคิดว่า นอกจากเรื่องสวนอีเดน บทบางส่วนและการร้อยเรียงเรื่อง อาจมีที่มามาจากบทประพันธ์ แฮมเลต ผสมร่วมด้วยค่ะ เพราะภาพนี้เราเลยมองว่าการเข้ามาของซึลกิ เหมือนกับการมาของแฮมเลต ที่ต้องการจะมาช่วงชิงบัลลังก์ ส่วนในเรื่องราวของสาวๆ อาจจะหมายถึงการยึดครองสวนอีเดนมาเป็นของตนเอง หลังจากที่ถูกจัดแบ่งชนชั้นและเป็นได้แค่สัตว์ในสวน

    สามารถลองไปอ่านแฮมเมตเพิ่มกันได้นะคะ แล้วจะเห็นภาพชัดขึ้นมากๆ


    ซีนถัดมาที่น่าสนใจ เราเลือกเป็นซีนนี้ เพราะเราสามารถอนุมานได้กลายๆ ว่าอีเดนแห่งนี้เสมือนไข่มุกกลางมหาสมุทรค่ะ ใจกลางแห่งความสุขสมท่ามกลางความโกลาหลบนโลกตามภาพที่บอชได้วาดเอาไว้


    พอเอ็มวีเล่าเรื่องถัดไป ทำให้เราได้รู้ว่าผู้ที่ถูกขับไล่เป็นคนแรกคือเวนดี้ค่ะ 

    ส่วนตัวเราอนุมานว่าตัวรากที่เวนดี้ออกมา อาจจะมีการนำความคิดเรื่องต้นไม้โลกเข้ามาผสมด้วยค่ะ ดั่งว่าสวรรค์แห่งนี้เป็นหนึ่งส่วนของรากฐานโลก เป็นแรงบันดาลใจในการเซ็ตฉากนี้ ว่าอีเดนแห่งนี้ที่ตัวเวนดี้เพิ่งโดนขับออกมาคือส่วนสำคัญในความเป็นไปของโลก

    ทำไมเวนดี้ถึงโดนขับไล่ล่ะ มั่นใจได้ยังไง เราสามารถเห็นได้ชัดมากจากการการใช้สีของเซ็ตและโทนของเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไป และในซีนต่อมาก็ยังมีการเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดจากเสื้อผ้าหน้าผมของไอรีนและซึลกิอีกด้วย ว่าที่นี่คืออีเดนและพื้นที่อื่นนอกอีเดน 

    Monet - Woman with a Parasol, Madame Monet and Her Son

    และยิ่งพอซีนนี้มี Reference มาจากภาพนี้ของโมเนต เราเลยมองว่านี่อาจจะเป็นการบอกความสัมพันธ์ของคนในอีเดนก็ได้ค่ะ ภาพนี้เป็นภาพของภรรยาโมเนตกับลูกชายของเขา อาจจะสื่อถึงตัวไอรีนเป็นดั่งผู้ปกครอง ผู้คุมกฎ เหมือนดั่งแม่ของสวนแห่งนี้ สายตาที่มองต่ำลงมา เป็นเพราะไอรีนขับไล่เวนดี้ผู้ทำผิดกฎสวรรค์ออกจากสวนไป และเลือกให้ซึลกิเข้ามาแทนที่ จากเดิมที่เคยอยู่ในอีกระดับ ก็ได้ก้าวข้ามกำแพงที่เคยกั้นเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรกที่เราเห็นกันค่ะ


    นอกจากเรื่องนี้ ในซีนรวมเสื้อผ้าของไอรีนจะเป็นเพียงคนเดียวที่ใส่ชุดกระโปรงสีขาวล้วน ขณะที่เมมเบอร์คนอื่นๆ ใส่สี old rose/สีชมพูอ่อน น่าจะเป็นเรื่องของลำดับขึ้นที่ต่างจากคนอื่น โดยแสดงความต่างนั้นผ่านสีสันของเสื้อผ้าค่ะ

    พอเราเอามาเทียบกันกับภาพของบอช เรามองว่าเป็นการสื่อว่าสาวๆ เป็นอีเดนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความโกลาหลของโลก ในเอ็มวีใช้เป็นเหล่านกตัวใหญ่ซึ่งจะสามารถพบได้มากมายในภาพส่วนกลางที่เล่าเรื่องโลกมนุษย์ของบอชพอดี


    ต่อมา ในช่วงท่อนฮุก Follow Follow my heartbeat เราจะเห็นซีนถูกตัดสลับไปมา หนึ่งในซีนที่เรามองว่าสำคัญมากๆ ที่จะเล่าเรื่องในลำดับถัดไปคือส่วนของจอยที่ถือกรงเอาไว้ค่ะ


    ตามเรื่องราวของสวนอีเดนที่เราได้รู้กันมา ความรักไม่ใช่สิ่งที่ถูกห้ามเพราะในอีเดนมีอดัมกับอีฟครองคู่กันอยู่ แต่ในสวนอีเดนแห่งนี้การที่จะมีความรักนั้นน่าจะเป็นตัญหา เป็นสิ่งที่จะต้องหักห้ามใจเอาไว้ เสมือนกับการขังความรู้สึกของตัวเอง และคนที่จอยหมายปองและยอมปล่อยตัวปล่อยใจไปนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากซึลกิที่จอยมองมาตั้งแต่ช่วงต้นของเพลงนั่นเอง


    การตามหัวใจของจอยในครั้งนี้ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ ลามไปถึงเวนดี้ที่ถูกขับไล่ออกมาจากสวนด้วย น้ำที่หยดลงมาจากสวนอีเดน ละลายธารน้ำแข็งอันหนาวเหน็บของโลก จนทำให้เวนดี้ได้พบกับใจกลางของสวน สตอเบอรี่ยักษ์นั่นเอง! 

    พอมีซีนที่ควักออกมาแบบนี้ เราจึงมั่นใจได้ว่าเวนดี้ทำผิดกฎด้วยการลักลอบกินผลไม้ต้องห้ามของสวนจนถูกขับไล่ออกมา และพอได้รู้ว่ามีผลไม้ต้องห้ามถูกซ่อนเอาไว้เป็นดั่งใจกลางของสวน ก็ไม่ลังเลที่จะกินมันอีกครั้งค่ะ


    ซึ่งตัวสตอเบอรี่ยักษ์นี้ก็เปรียบเสมือนผลไม้แห่งปัญญา หรือต้นแห่งการรู้ผิดชอบชั่วดีของสวนอีเดนในเวอร์ชั่นนี้ค่ะ จากเดิมที่เป็นแอปเปิ้ล เปลี่ยนมาเป็นสตอเบอรี่แทน และไม่ได้เปลี่ยนเอาเก๋อะไรนะคะ แต่ในภาพของบอช ภาพตรงกลางที่เล่าเรื่องราวของโลก มีเจ้าสตอเบอรี่ยักษ์อยู่ในภาพด้วย หรือกระทั่งเบอรี่ที่มีผลสีแดง กระจายอยู่ทั่ว ตัวเรามองว่าผลไม้ต้องห้ามในเวอร์ชั่นของบอชค่ะ ที่เขาไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่กับแอปเปิ้ลอย่างเดียว


    ในส่วนถัดไปที่เราจะพูดถึง เป็นอีกหนึ่งซีนที่ได้ Reference มาจากภาพวาดอีกเหมือนกันค่ะ

    Botticelli - The birth of Venus 

    อาจจะไม่เชิงว่าเหมือนจนเป๊ะซะทีเดียว แต่เรามองว่าต้องได้ Reference มาจากภาพนี้แน่ๆค่ะ เพราะความรักเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินเรื่องราว ถ้าเกิดสังเกตกันมาตั้งแต่ต้น เยริเป็นคนที่นั่งอยู่ใจกลางไข่มุกแห่งมหาสมุทร รับรู้ถึงหยดน้ำแข็งที่ละลายของใจกลางสวนอีเดน และยังมีเครื่องหัวที่ประดับตกแต่งด้วยผลเบอรี่สีแดง เหมือนกับเทพีวีนัส ผู้เป็นต้นกำเนิดของความรักค่ะ

    เราจึงมองว่าเยริเป็นเสมือนดั่งคนที่เป็นใจกลางของสวน เป็นต้นกำเนิดของผลไม้ต้องห้าม และอาจจะเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้เราเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้น


    และแน่นอนว่าการที่จะขึ้นเป็นใหญ่ในสวนอีเดนได้นั้น ซึลกิจะต้องเข้าหาเยริผู้ซึ่งเป็นใจกลางของสวนแห่งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ตนหมายปอง


    จอยที่เลือกที่จะปล่อยใจไปตามเสียงของหัวใจตนเอง เลือกที่จะรักซึลกิ เมื่อเห็นว่าคนที่ตัวเองรักกำลังสนใจคนอื่นๆ สิ่งที่เธอได้ตอบแทนความรักนี้กลับมาก็คือความเจ็บปวดจากรักที่ไม่สมหวังนั่นเอง


    ความรักทำให้ปราการของสวนอีเดนแห่งนี้เปราะบาง จนกลายเป็นจุดอ่อนที่จอยถูกล่อลวงจากเหล่านกตัวเราเองมองว่าลูกกลมๆ สีแดงจากจงอยปากของนก ก็คือกิเลสตัญหา อาจจะเป็นความรักจอมปลอม ที่เข้ามาหลอกล่อ ทำให้จอยหลงคิดว่านี่คือสิ่งที่เธอได้ปล่อยออกไป(ปลดปล่อยความรักออกจากกรงขังในซีนแรกๆ)นั้น ตนเองกำลังจะถูกรักตอบ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงกลลวง เมื่อจับต้องคว้าเอาไว้มันก็มลายหายไป เป็นแค่ส่วนหนึ่งเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจของซึลกิ ซึ่งจอยเองอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซึลกิได้เข้ามาในสวนอีเดนแห่งนี้ด้วย

    ซึ่งซีนนี้ก็มีที่มาจากภาพของบอชเช่นเดียวกันค่ะ(ซ้ายล่าง)


    ต่อมาเราจะมาพูดถึงในส่วนของไอรีนกันบ้าง สังเกตได้ว่าไอรีนจะมีซีนที่อยู่ในสวนกับซีนที่นั่งเรือแบบนี้หลักๆ อยู่สองซีน จากเรื่องราวทั้งหมดที่ร้อยเรียงมา เราจึงมองว่าไอรีนกำลังล่องเรือกลางแม่น้ำไปยังโลกแห่งความตาย โดยมีสาเหตุมาจากความรักของจอยที่มีต่อซึลกิค่ะ 


    การถูกล่อลวงจากความรัก ทำให้ซึลกิมีโอกาสที่จะสังหารไอรีนผู้เป็นดั่งผู้ปกครองสูงสุดของสวนแห่งนี้ได้ จนทำให้ไอรีนต้องตายไป ซึ่งจะตรงตามบทประพันธ์เรื่องแฮมเลต ที่แฮมเลตได้สังหารพ่อขอโอฟิเลียเพื่อช่วงชิงบัลลังก์นั่นเองค่ะ


    และแน่นอนว่ายังคงได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพของบอชอยู่ ในภาพฝั่งนรกเราจะเห็นว่าจะมีภาพเรือที่กำลังล่องแม่น้ำมายังโลกแห่งความตายอยู่ด้วย


    ในซีนนี้เรามองว่า ตัวไอรีนเองอาจจะเลือกใช้ทุกวิธีทางเพื่อกลับไปแก้ไขเรื่องทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยการมอบผลไม้ต้องห้ามอันเป็นดั่งของล้ำค่าให้กับเจ้านรก ทว่าทุกอย่างกลับสายไปเสียแล้ว ทันทีที่เจ้านรกได้ชิมผลไม้ รสชาติและคุณค่าอาจเปลี่ยนไปจนห่างไกลจากผลไม้สวรรค์ไปแล้ว เพราะสวนอีเดนถูกยึดครองจากซึลกิ แปดเปื้อนจนไม่เหลือความเป็นสวรรค์ใดๆ อย่างที่มันเคยเป็นมา จนทำให้ตัวไอรีนต้องแตกสลายไปแม้กระทั่งดวงวิญญาณของไอรีนเอง


    สวนอีเดนถูกยึดครอง เปลี่ยนผู้นั่งบนบัลลังก์ ซึลกิสามารถดำเนินทุกอย่างได้ตามที่ตนปรารถนา หากเทียบกับบทประพันธ์แฮมเมต ก็คือแฮมเมตได้บัลลังก์มาครองอย่างที่ตนตั้งใจเอาไว้

    และจากในภาพตรงนี้ เรามองว่าขาที่เดินเข้ามาหาจอยน่าจะเป็นเจ้านรกที่มารับตัวไปค่ะ ซึ่งจะตรงกับภาพที่เป็น Reference ที่เราเขียนเอาไว้ด้านบน เรื่องของโอฟิเลียที่ตรอมใจตายเพราะแฮมเมต ผู้ซึ่งเป็นคนรักของเธอ ฆ่าพ่อของตัวเธอเอง ในเรื่องราวนี้ ไอรีนผู้เป็นดั่งผู้ปกครองและแม่ของทุกคนในสวนอีเดนก็ได้ตายจากไป เพราะความรักที่จอยมีให้กับซึลกินั่นเอง


    ขณะที่ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นภาพฝีแปรง ในซีนนี้เราจะเห็นเลยว่า ไอรีนอยู่ในนรก ส่วนบัลลังก์ที่กำลังถักทอขึ้นมา เป็นบัลลังก์ที่ซึลกิช่วงชิงสวนอีเดนมาจากไอรีนได้นั่นเองค่ะ

    ด้านหลังแอบมีการวาดภาพของนรกโดยใช้รูปชื่อดังของแวนโก๊ะเป็น  Reference ด้วยค่ะถ้ามองดีๆ

    Van Gogh - Starry Night
    ยังคงมีการนำภาพของบอชมาใช้เป็นคอนเซ็ปสม่ำเสมอเรื่อยๆ

    ทว่าพอจนถึงช่วงท้ายของเอ็มวี เราจะเห็นได้ว่าเมมเบอร์ทุกคนมองตรงมายังผู้ชม แต่มีเพียงซึลกิคนเดียวที่ค่อยๆ หันไปมองยังจอยก่อนจะตัดจบไปและโชว์ภาพซึลกิในฐานะผู้ปกครองคนใหม่แห่งสวนอีเดนนี้


    เราเลยมองว่า ถึงแม้ทุกอย่างจะจบลงที่ซึลกิได้เป็นผู้ปกครองสวนอีเดนตามที่ใจปรารถนา ท่ามกลางเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นมา แต่ความรักของซึลกิที่มีต่อจอย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ลวงหลอกแต่อย่างใด ซึลกิรักจอยอย่างแท้จริง ทว่าทุกอย่างกลับจบลงด้วยความสูญเสียไปแล้ว




    시선을 끄는 네 Motion
    การเคลื่อนไหวของเธอช่างดึงดูดสายตาของฉันเหลือเกิน
    G-give me a new direction 
    นี่คงเป็นเส้นทางใหม่ที่พระเจ้าได้มอบให้ฉันสินะ

    Red Velvet - Feel My Rhythm



    - The End -



    จบแล้วค่ะ สำหรับการวิเคราะห์เอ็มวี Feel my Rhythm จากความคิดของเราเอง เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่เราประทับใจมากๆ ของปี 2022 นี้เลยค่ะ หวังว่าทุกคนจะชอบการวิเคราะห์ของเรากันนะคะ อาจจะมีบางพาร์ทที่เราตกหล่นไป หากเห็นเพิ่มเติมสามารถทักมาคุยกันที่เพจหรือทางทวิตเตอร์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้เสมอค่ะ





    Theory by URSZULA
    Please take out with full credit








Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in