เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
“บทสนทนาหลากมุมต่างมอง รัฐธรรมนูญ 2560”Chaitawat Marc Seephongsai
ทิศทางการศึกษาไทย:เก่ง ดี มีภาวะผู้นำ

  • บทสัมภาษณ์ดร. กระแส ชนะวงศ์ 
    เกี่ยวกับประเด็นด้านการศึกษากับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐
    เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ สำนักงานศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย(ADPC)

     

    การพัฒนาคนผ่านกระบวนการทางการศึกษาเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐในการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์๔.๐ กระบวนการทางด้านการศึกษาควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อที่จะออกแบบให้บุคลากรนักศึกษาที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต สอดรับกับนโยบายนี้ได้

    ดร.กระแส ชนะวงศ์  : ตัวผมเองไม่ได้เป็นนักการศึกษาโดยการศึกษาไม่ได้เรียนทางด้านการศึกษามาเพื่อมาเป็นครู หรือนักการศึกษาโดยอาชีพแต่บังเอิญผมได้เรียนรู้จากประชาชน จากชาวบ้าน ในฐานะที่เป็นหมออยู่ในชนบทในถิ่นที่กันดารและยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสานผมก็รักพื้นที่เพราะเป็นพื้นที่บ้านเกิดของผมเอง ๑๕ปีของการเป็นหมอนี้ประชาชนได้สอนผมว่า เขาขาดอะไร เขาควรจะได้อะไรและเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรมจากการศึกษา การแพทย์ การสาธารณสุขรวมทั้งสิทธิที่ควรจะมีได้อย่างไร

    ผมว่า ๑๕ ปี นี้ผมได้เรียนรู้มากพอสมควรจากการเป็นหมอทำให้ได้คุยกับคนไข้ทุกวันๆ วันละนับร้อยคน ถึงแม้จะเป็นคำที่ซ้ำๆแต่ก็พอรู้ได้ว่านอกจากเขาจะรู้สึกว่าเขาขาดโอกาสทางการศึกษาแล้วเขาก็ยังรู้สึกว่ามีภาษาพูดหรือแนวความคิด ที่เราบอกว่าเขาขาดการศึกษาไม่ใช่เพราะเขาโง่ ไม่ใช่เพราะเขาชั่ว หรือเขาเลว แต่เพราะการศึกษาที่ไม่เหมาะสมทำให้เขาเข้าใจอะไรต่างๆที่ไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจ และไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่น่าจะต้องเข้าใจ  ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปด้วย ผมเป็นคนเมืองพลเป็นคนอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ผมน่าจะเป็นคนรู้จักคนเมืองพล คนขอนแก่น
    คนอีสานที่ดีมากคนหนึ่ง แต่เพราะผมได้โอกาสเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพช่วงม.๕-ม.๖ ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์และเตรียมอุดมศึกษาแล้วได้เข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จุฬาฯ ศิริราช และคณะวารสารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่พอผมกลับไปเป็นแพทย์นี้ เหมือนผมพูดคนละภาษากับคนไข้และประชาชนคำว่าคนละภาษาไม่ใช่ภาษาพูดธรรมดา แต่เป็นภาษาทางการแพทย์ การเจ็บ การป่วยเพราะเขาจะรู้สึกเป็นโรคอะไรตามความเชื่อของเขาผมก็ว่าเขาเป็นโรคอะไรตามการศึกษาของผม

    สรุปแล้วก็คือว่า ลูกที่เรียนจบ ม.๖ (ม.๘แต่ก่อน) เขาก็ไม่ได้ทำงานต่อ เขาก็ทำไม่ได้ เขาทำไม่เป็น เขาก็มาฝากงานบ้างอยู่บ่อยๆ ทำให้ผมรู้ว่าการศึกษาทำให้เขาไม่มีงานทำหรือเปล่า ถ้าเขาไม่มีการศึกษาทำให้เขาไม่มีงานทำ(ทำไม?)พ่อแม่เขามักจะบอกผมว่า คุณหมอช่วยให้ลูกผมทำงานหน่อยได้ไหมถามว่าเขาพิมพ์ดีดเป็นไหม เขาก็ทำไม่เป็น ถามว่าทำนั่นทำนี่เป็นไหม ก็ทำไม่เป็นแล้วจะให้ไปทำ หรือฝากงานที่ไหนละ แต่ในที่สุดก็รู้ว่าพ่อแม่ก็รักลูกอุตส่าห์ให้ได้เรียนถึง ม.๖-ม.๘ แล้วนี่นะ “ผมก็ไม่อยากให้เขามาทำนาครับ น่าสงสาร อุตส่าห์ไปเรียนถึงม.๖-ม.๘ แล้ว” เห็นไหมทำให้เห็นว่าการศึกษานี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานอีก ถ้าเขาไม่เรียนหนังสือเขาอาจทำนาได้ดีด้วยซ้ำช่วยพ่อแม่ได้ดีแต่พอได้เรียนหนังสือแล้วกลับทำไม่ได้เพราะเขาไม่ถนัดไม่ได้ฝึกไม่ได้ทำมาก่อนในขณะที่พ่อแม่คิดว่าเขาได้เรียนหนังสือมาแล้ว เขาควรจะมีงานทำแบบนั้นแบบนี้

    เหตุการณ์ผ่านไปแล้วทำให้ผมได้มีโอกาสตั้งโรงเรียนขึ้นมาผมได้ให้คำขวัญอยู่ ๓ ข้อ เป็นคำขวัญเพื่อให้ครูเกิดความภูมิใจที่จะทำการศึกษาเพราะผมเองก็ได้เรียนหนังสือโดยบังเอิญ ผมออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่จบ ป.๒ไปทำงาน ขายน้ำ ขายหนังสือพิมพ์ ขายกาแฟและส่งหนังสือพิมพ์อยู่ ๔-๕ ปีแต่พอกลับมาเรียนแล้วก็เรียนมาจนสำเร็จการศึกษาทำให้รู้ว่าถ้าไม่ได้เรียนหนังสือก็จะเป็นอีกแบบนึง นี่บังเอิญได้เรียนหนังสือถ้าคนอื่นได้เรียนหนังสือเขาก็คงจะเป็นหมอได้ เป็นทนายความได้ เป็นวิศวกรได้อาจทำได้ดีกว่าผมอีก แต่เขาไม่มีโอกาสเท่านั้นเองแต่ในขณะเดียวกันหลายคนที่มองเห็นรอบๆ ตัวเรา เขาไม่ได้เรียนหนังสือแต่เขาก็ได้เป็นเถ้าแก่ที่ประสบความสำเร็จเพราะฉะนั้นผมจึงเกิดความคิดอยู่อันนึงเวลาเปิดโรงเรียนอยากจะให้เขามีโอกาสได้เรียนและมีโอกาสทำงานได้ เลยได้ไปเปิดโรงเรียนชื่อว่า พลพณิชการคือเอาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไปสอนเรื่องพิมพ์ดีด เรื่องบัญชีเรื่องต่างๆ ให้เขาได้เรียนรู้บ้าง พอจบ ปวช.เขาก็อยากเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)และอยากได้ปริญญาตรีเหมือนคนอื่นๆ เป็นเรื่องธรรมดาแต่ผมได้ทำให้ครูบาอาจารย์เกิดความคิดว่าการศึกษาที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนี้ควรมีขั้นตอนหรือกระบวนการอะไรบ้าง

              กระทรวงศึกษาธิการมีคำจำกัดความสำหรับการศึกษาว่าคือ“การทำให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีความสุข” แต่ผมสะดุดนิดนึงว่าการศึกษาทำให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี โอเค แต่ทำให้มีความสุขนี้ แคบไปนิดนึงเป็นเรื่องส่วนตัวไปหน่อยนึง ผมเลยทำคำขวัญให้กับโรงเรียนตั้งแต่ตั้งขึ้นมาว่า “การศึกษาทำให้เป็นคนเก่งเป็นคนดี และมีภาวะผู้นำ”  คำว่า “มีภาวะผู้นำ”คือ การที่ทำให้ตัวเองมีความสุขจากการที่ทำให้คนอื่นมีความสุขคนมีภาวะผู้นำจะเป็นอย่างนั้น ผมเรียนหนังสือมาตั้งแต่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไปอยู่คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ ผมก็ไม่อยากบอกใครว่าผมมีภาวะผู้นำนะแต่ผมก็เป็นผู้นำนักศึกษา อยากเป็น เป็นแล้วก็รับใช้เขา ทำงานให้เขาแต่ว่าผมก็ได้เรียนรู้การทำงาน การรับใช้เพื่อนฝูงนักเรียน นักศึกษา ก็ทำให้เราเรียนรู้เรื่องภาวะผู้นำไปด้วยและที่เราทำสำเร็จการงานในชีวิตทุกวันนี้ เกิดจากภาวะผู้นำ เพราะฉะนั้นผมจึงได้ตั้งคำขวัญแบบนั้นไว้ ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมมัธยมที่ตั้งขึ้น วิทยาลัยที่ปริญญาตรี ปริญญาโท เราก็จะบอกเป็นคำเดียวกันซึ่งเป็นคำจากหมอกระแส ว่าการศึกษา คือ “การทำให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดีและมีภาวะผู้นำ”

    แต่ว่าขั้นตอนที่ถามว่า มีกระบวนการอย่างไรแน่นอนว่าการทำให้คนเก่งวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ก็ให้รู้เรื่องนั้นจนเข้าใจ สอบได้ก็เรียกว่าเก่ง คนดีก็คือการประพฤติดี มีศีลมีธรรม เป็นคนที่เข้าสังคมได้ อันนั้นเป็นคนดี แต่มีภาวะผู้นำจะมีขั้นตอนอย่างไรผมก็มองว่าสามารถทำได้หลายมุม อย่างเช่น กิจกรรมที่เรามีอยู่แล้ว เช่น ลูกเสือการเข้าค่าย คือให้รู้จักทำงานเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็เป็นการฝึกให้คนมีภาวะผู้นำได้เช่นกันแต่การบอกกล่าวเป็นทฤษฎีหรือหลักการหรือหาตัวอย่างที่ดีๆมาบอกกันก็คือการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น เพราะคนที่มีภาวะผู้นำไม่ได้อยู่ที่การสอน ๕ ข้อ ๘ ข้อ แล้วออกไปเป็นผู้นำได้ คงต้องมีการเรียนรู้จากตัวอย่างจากหลายๆคน ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน

    ผมได้ทำงานมาระยะนึงก็ทำให้เกิดคำขวัญคำใหม่เรียกว่า “การศึกษาของชาวชนบท คือ อนาคตของประเทศไทย” เพราะว่าที่เราทำเล็กน้อยมากแต่หากรัฐบาลไม่ทำให้เป็นกิจลักษณะไม่ทำให้คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนในชนบทได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม ถูกต้องดีงามก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมในเมืองกับชนบท ถ้าพูดตามภาษาตลาดๆแบบกำปั้นทุบดินหน่อยก็จะเรียกว่า สังคมของคนฉลาดกับสังคมของคนโง่แต่ชาวบ้านเขาก็ไม่ได้โง่อะไรแบบนั้น แต่ว่าเขาก็ฉลาดในการที่จะอยู่รอดของเขา แต่ก็จะไปไม่ได้เท่ากันเพราะว่าทรัพยากรของบ้านเมืองเปลี่ยนไปทำให้คนมีความรู้แบบนึงหยิบจับทรัพยากรต่างๆ ไปได้เร็วคนที่ไปไม่ทันก็จะไม่ได้อะไร ช่องว่างตรงนี้กว้างและรุนแรงมากกว่าช่องว่างระหว่างคนมีเงินมากกับคนมีเงินน้อยคือ คนมีความรู้กับคนไม่มีความรู้เราต้องลดช่องว่างระหว่างคนมีข้อมูลความรู้มากกับคนมีความรู้น้อย

    อย่างเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทำให้คนมีสีต่างๆมองไปแล้วก็ไม่มีใครผิดใครถูกมากมายนัก มันเป็นเรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องของการที่คนได้รู้เห็นคนละทางก็เลยออกมาคนละทางต่างคนก็ต่างเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องของตัวเองคนภาคใต้ก็จะเชื่อแบบทางภาคใต้ คนอีสานก็จะเชื่ออีกแบบหนึ่ง คนภาคเหนือคนภาคกลางก็มีความเชื่ออีกแบบหนึ่งซึ่งความเชื่อเหล่านี้มันห้ามกันไม่ได้แต่มันต่างกันมากเพราะการศึกษามันผิดกันมากเหลือเกินเพราะฉะนั้นคำถามแรกที่ถามเป็นคำถามที่ผมต้องตอบยาวเพราะขั้นตอนในการที่จะทำให้คนมีการศึกษาอย่างที่เราเรียกว่าเป็นคนเก่งในงานในอาชีพที่อยากไปทำและต้องเป็นคนดีที่สังคมยอมรับ ต้องมีภาวะผู้นำเพื่อให้สามารถคิดเป็น ทำเป็นและเปลี่ยนแปลงได้ ต้องทำให้คนมีโอกาสผ่านกระบวนการนี้อย่างเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันถ้าหากมันไม่ใกล้เคียงกัน มันก็จะแตกต่างกันมากเหลือเกินมีช่องว่างมากขึ้น

    อย่างทุกวันนี้การศึกษาไม่ใช่ไม่ดีการศึกษาก็มีความก้าวหน้าไปมาก ตั้งแต่สมัยผมยังเด็กยังอยู่ต่างจังหวัดทุกวันนี้ก็เห็นการศึกษาดีขึ้นมาก แต่มันดีในเมือง ดีในคนส่วนน้อยที่ออกมาแล้วก็ทำมาหากินได้แต่คนส่วนใหญ่ตามไม่ทันไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามนี่เป็นขั้นต้นของกระบวนการที่จะทำให้คนเป็นคนดีเป็นคนเก่ง และมีภาวะผู้นำ ที่จะสามารถทำงานได้ที่เน้นภาวะผู้นำนี่เพราะว่าคนอาจไม่เก่งตามตัวหนังสือ
    คนอาจไม่ใช่คนดีแบบที่เราต้องการว่าต้องเป็นแบบนี้ ใส่เสื้อนอก ใส่เนคไทแบบนี้ไมใช่ คนที่ไม่ใส่เสื้อนอกแต่ใส่เสื้อยืดแต่ไม่ได้เก่งมาจากโรงเรียนจากหนังสือ แต่เขาทำมาหากินประสบความสำเร็จก็มีเยอะเพราะเขามีภาวะผู้นำ เขาเรียนรู้จากสังคม เรียนรู้จากการทำงานเพราะฉะนั้นหลักก็คือว่าจะทำยังไงให้คนที่ได้รับการศึกษาแบบไหนแล้วเขาสามารถออกมาทำงานได้เขาคิดเป็น การทำงานคือการศึกษา

    “ภาวะผู้นำ”ที่สรุปให้สั้นที่สุดในความหมายของผมคือ 

    .ต้องฝึกให้คนรู้จักยกย่อง ชื่นชม รู้จักเพิ่มค่าและความหมายให้ผู้อื่นคนที่มีลักษณะของผู้นำอันแรกสุดต้องเป็นเช่นนี้   

    . ต้องให้รู้จักเพิ่มค่า และความหมายให้กับงานที่ตนเองทำถ้าเราจะทำอะไรก็ควรทุ่มเทเอาจริงเอาจังกับงาน รักงานและก็เพิ่มงานเพิ่มคุณค่าให้เกิดขึ้นจนกระทั่งรู้สึกว่างานเล็กหรืองานใหญ่ก็ล้วนเป็นงานที่มีความหมาย เรียกว่า “Addvalue to your work”

    . คนที่มีภาวะผู้นำ คือรู้จักเพิ่มค่าและความหมายให้กับตัวเองให้ตัวเองเป็นคนที่มีประโยชน์มากขึ้นและมากขึ้นเพราะคนที่มีภาวะผู้นำนั้นเวลาไปไหนก็มักทำให้คนอื่นชื่นอกชื่นใจ ภาคภูมิใจมีกำลังใจ

    เพราะฉะนั้นคนที่มีภาวะผู้นำตามคุณสมบัติทั้งข้อ๓ ก็จะเป็นการเพิ่มค่าและความหมายให้กับตนเองคือจะต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นเพื่อจะได้เอาความรู้ไปให้คนอื่นจะต้องฝึกงานให้ดีขึ้นหรือเตรียมการให้ดีขึ้นกว่าเดิม ว่าถ้าไปตรงนี้เราจะให้อะไรเขาได้บ้างจะให้ความสุข หรือแบ่งเบาภาระใครต่อใครได้บ้างนี้คือการทำให้ตนเองเป็นคนมีประโยชน์ เรียกว่าเพิ่มค่าและความหมายให้ตนเอง (Sharpen thesaw) นี่คือขั้นตอนหรือกระบวนการที่ต้องการให้คนมีความสมบูรณ์ตามนี้นี่คือข้อที่ ๑

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๖๐ จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาให้นำไปสู่เป้าหมายของการผลิตบุคลากรที่สอดรับกับการพัฒนาของประเทศและของโลกได้อย่างไร

    ดร.กระแสชนะวงศ์  :นี่เป็นคำถามที่ทันสมัย ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งทีมันน่าจะมีประโยชน์และก็มีความเข้มข้นที่จะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทำให้คนได้รับการศึกษาแล้วก็เป็นคนเก่ง คนดี คนมีภาวะผู้นำอย่างแท้จริง ถ้าพูดอย่างกว้างๆรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ พยายามขยายความหมายให้แข็งแรงมากขึ้นโดยเน้นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติให้มีความชัดเจนมากขึ้น ให้เอาจริงเอาจังมากขึ้นก็ต้องยอมรับว่ามีเจตนาดี มีความพยายามที่จะขยายการศึกษาให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าจะทำอย่างไรบ้าง แต่ใจผมก็ยังรู้สึกว่าไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หมายความว่าทั่วๆไปก็จะพูดถึงแต่เรื่องหลักการและปรัชญาเก่าๆ ที่เป็นพื้นฐานเก่าๆหมายถึงที่พูดกันมาโดยตลอด แล้วก็ไม่ไปไหนมาไหน ยังคงทำให้คนส่วนน้อยกับคนส่วนใหญ่แตกต่างกันในเรื่องโอกาส

    เมื่อถูกแจ้งความจำนงในการสัมภาษณ์ผมได้พยายามไปเปิดทบทวนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แล้วผมก็ได้ใจความว่าในแง่ของเนื้อหา ขอพูดกว้างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญนะแล้วส่วนอื่นที่เป็นกฎหมายลูกซึ่งจะตามมาในภายหลังซึ่งจะเป็นนโยบายของรัฐบาลนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะไปทำตามที่ตนเองถนัดตัวผมเองรู้สึกจะไปโชว์ให้คนอื่นเห็นว่าเราหวังดีต่อประเทศชาติในเรื่องการศึกษาได้อย่างไรบ้างก็ว่ากันไป แต่ในส่วนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ผมเองที่ผมยังเห็นว่า“ไม่จุใจ” ในความหมายส่วนตัวที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง เพราะคำพูดทั่วๆ ไปนี้ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เราเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เช่นรัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา ๑๒ ปีซึ่งพูดกันมานานแล้วบ้างก็ว่าควรจะ ๑๕ ปีหรือรัฐต้องดำเนินการให้ความดูแลพัฒนาการก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกายจิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม สติปัญญาให้สมกับวัยโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการนี่เป็นเรื่องที่เราเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เหมือนกำปั้นทุบดินและส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับเน้นว่าการศึกษาทั้งปวงจะต้องมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติสามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนเอง และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวชุมชน สังคม และประเทศชาติ ต้องเน้นย้ำความยุติธรรมและความเสมอภาคโดยให้ประชาชนและเอกชนมีส่วนร่วมอย่างสมศักดิ์ศรีมีประชารัฐทางการศึกษาอย่างถูกต้อง

              ทีนี้เมื่อถูกถามก็ต้องเตรียมตัวว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่มีความถูกต้องดีงามตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ต้องว่าไปตามนี้แม้หลายคนบอกว่านี่คือรัฐธรรมนูญต้องเขียนไว้กว้างๆ ก็ใช่แต่ในใจผมก็คิดว่าสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นจุดอ่อนในการศึกษาไทย คือ

    .ไม่ได้เน้นให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามากเท่าที่ควรมีเพียงแค่เขียนกว้างๆ ไว้เท่านั้น

    .รัฐเองนอกจากไม่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อการส่งเสริมภาคเอกชนและภาคประชาชนให้ทำการศึกษานี้แล้วยังเหมือนกับข่มเหงภาคเอกชนและภาคประชาชนในการทำการศึกษา เช่น เขาตั้งโรงเรียนขึ้นมาตั้งอนุบาลขึ้นมา รัฐบาลก็เปิดโรงเรียนขึ้นมาเช่นกันเหมือนกับรัฐเอาใจใส่กับประชาชน แต่ไม่สอดคล้องกับความหมายของคำว่าประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่ควรคือถ้าให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วนอกจากให้เขาสามารถสร้างโรงเรียนเอกชนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอนุบาลประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัยรัฐก็ควรที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องส่งเสริมให้เขาสามารถบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่แต่ในปัจุบันนี้เราควบคุมจนกระทั่งรู้สึกเป็นเจ้านายจนเขาไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างเต็มศักยภาพที่ควรจะมี

    คุณหมอหมายถึงการผ่านกลไกรัฐในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานการศึกษา
    ที่โรงเรียนเอกชนต้องทำตามขั้นตอน

    ดร.กระแสชนะวงศ์  :นั้นก็เป็นส่วนนึง แม้ว่าจะมีระเบียบเพื่อควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพก็โอเคแต่มันก็ควรที่จะต้องมีกลไกในการสนับสนุนให้เขาทำงานได้ ภาคภูมิใจ ยินดีปิติที่ได้ทำในสิ่งที่ดีงามขึ้นมา นี่รัฐทำลาย ทำร้ายทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไม่แยแสทุกวันนี้รัฐบาลจีนไม่ได้สร้างโรงเรียนด้วยตัวเองโดยตรงแล้ว แต่เขาให้เอกชนลงทุน ส่วนรัฐก็สนับสนุนให้ที่ดินให้ครูช่วย รัฐมีการร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

    ผมจำได้ว่ามีอยู่ช่วงนึงที่รัฐบาลเคยชูเรื่องของวิชาท้องถิ่น แล้วที่โรงเรียนผมก็สอนเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นความเป็นมาของท้องถิ่น แต่ภายหลังวิชานี้ก็ได้หายไปแล้ว

    ดร.กระแสชนะวงศ์  :นั้นก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมศาสตร์แต่คำว่าการศึกษานี้คือผมเองก็ไปทำเรื่องการศึกษาเป็นครูบาอาจารย์ในระบบราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์แล้วก็เป็นกรรมการสภาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร นายกสภามหาวิทยาลัยของเอกชน คือสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผมก็เกิดความคิดว่าเอกชนที่ทำขึ้นมาถ้าพวกเราที่สนใจทำงานเกี่ยวกับการศึกษาแล้วก็อยากมีส่วนช่วยพัฒนาเราก็ไม่ได้ห่วงเรื่องขาดทุนกำไร แม้ว่าจะขาดทุนบ้างผมก็ไม่ว่าอะไรแต่ผมก็จะบอกลูกหลานพี่น้องผมว่า เราไม่ได้ขาดทุนหรอก เป็นการให้ทุนให้ทุนครูได้สอนหนังสือ ให้ทุนให้นักเรียนได้เรียนหนังสือแต่ความจริงถ้าคิดเป็นเงินโดยบวกลบคูณหารก็คือขาดทุนเราก็ไปหาเงินมาจากการสอนหนังสือบ้าง จากการเป็นที่ปรึกษาบ้าง ขายที่ดินบ้างแต่นี้เป็นเรื่องของความรัก ในเรื่องบ้านเกิดเมืองนอนที่เราอยากทำการศึกษาแต่ทั่วไปเขาก็อยู่ไม่ได้ ผมตั้งประเด็นให้ครูอาจารย์สนใจท้องถิ่นโดยเน้นว่า“ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”นั่นคือให้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น

    จริงๆแนวคิดของคุณหมอก็คือ ขาดทุนในทางกำไร แต่ได้กำไรในความรัก

    ดร.กระแสชนะวงศ์  : ความสุขในตอนหลังเราก็มีพระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เน้นในเรื่อง ขาดทุนคือกำไรยิ่งให้ยิ่งได้ อันนี้ก็ปลอบใจและปลุกใจตัวเองได้จนบางครั้งผมก็ถือว่านี่คือคาถาของชีวิตเหมือนกัน แต่ในแง่ของการลงทุนเพื่อการศึกษาจริงๆยอมรับไม่ได้ เมื่อเขาทำไม่ได้เขาก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่ออยู่รอด เช่น
    จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งของเอกชนถูกเพ่งเล็ง ถูกลงโทษ ถูกปิดกิจการ เพราะเขาไม่มีทางอื่นที่จะเลือกไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเงินเดือนครู ก็หาวิถีทางต่างๆ นานาที่จะทำเพื่ออยู่รอดแล้วบางคนก็พูดเหมือนเยาะเย้ยถากถางเอกชนว่าจ่ายครบจบแน่ แต่สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นนี้เป็นปรากฎการณ์ที่รัฐต้องพิจารณาตัวเองกระทรวงศึกษาธิการในนามของรัฐบาลไม่เพียงแต่เป็นเจ้านายแบบตำรวจเป็นผู้พิพากษาเสียเอง แต่ต้องรับผิดชอบว่า ถ้าเขาทำไม่ได้มันเป็นเพราะอะไร เรามีส่วนช่วยได้มากกว่านี้ไหมต้องช่วยเขาให้อยู่รอดปลอดภัย และเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนเราทำให้เขาเกิดเราต้องรับผิดชอบ

    จริงๆแล้วผมสนใจในการพัฒนาชนบท ผมเชื่อว่า ทรัพยากรดีที่สุดคือประชาชน ผมเริ่มต้นสร้างสถานีอนามัยคนละ๑ บาท ๒ บาท เขาก็เต็มใจช่วย เขาก็อยากทำสถานีอนามัยขึ้นมาใหม่ ถ้ามีประชาชน๑๔๐,๐๐๐ คน ก็ได้มา ๑๔๐,๐๐๐ กว่าบาท เพราะฉะนั้นในเชิงของพัฒนาต้องให้ประชาชนเขาเป็นเจ้าของให้เขามีหน้ามีตาบ้าง

    ณ วันนี้ถ้าเรามองดูผมว่าถ้าเราจะมีการศึกษาแบบเอกชนก็ควรเอกชนไปเลย หรือถ้าราชการก็ราชการไปเลยเพราะทั้งสองฝ่ายนี้ทั้งเตี้ย อุ้ม ค่อม ต่างคนต่างเตี้ย คือส่วนราชการเองก็ดีเทศบาลก็ดี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็ดี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ก็ดี กระทรวงศึกษาธิการที่ไปตั้งหน่วยงานอยู่ต่างจังหวัดก็มีความอ่อนแอคำว่าอ่อนแอผมหมายความว่า ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น ผลงาน ๑๐ หน่วยแทนที่จะใช้เงินเพียง ๑๐ บาท แต่เรากลับไปใช้ถึง ๓๐-๕๐ บาทในการทำผลงานอย่างงี้เรียกว่าไม่มีประสิทธิภาพ แต่ราชการเองเขาก็ไม่ยอมรับหรอกเมื่อเทียบกับเอกชนที่มีประสิทธิภาพจะเห็นภาพได้ชัดเจน เพราะการใช้เงิน การใช้งบประมาณการใช้จ่ายจัดซื้อจัดจ้างของเอกชนเขาต้องระมัดระวัง ที่พูดอย่างนี้ เหมือนกับพูดกว้างๆลอยๆ แต่ถ้าพูดถึงว่ารัฐธรรมนูญดีไหม ก็ต้องบอกว่าดี คนเขียนก็อุตส่าห์ทำกว้างๆไว้ แต่ในทางปฏิบัตินี้จะเอามาทำอย่างไร ก็ควรทำให้ชัดเจนมากกว่านี้

    ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีนมีการปกครองที่ไม่เหมือนกันคำว่าไม่เหมือนกันเพราะญี่ปุ่นเอาแบบตะวันตกเรียกว่าประชาธิปไตยจีนก็แบบคอมมิวนิสต์เหมือนกับมีพรรคเผด็จการกุมอำนาจไว้แต่ในเชิงการศึกษาเชิงการปกครองท้องถิ่น จีนในวันนี้กลับได้รับการยอมรับจากอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาการปกครองท้องถิ่นในจีนวันนี้ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางสูงที่สุดในโลกประมาณ ๗๓เปอร์เซ็นต์เพื่อให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ ซึ่งรวมถึงการศึกษาการสาธารณสุข แต่ในประเทศของเรากลับต้องต่อสู้ดิ้นรนกันกับงบประมาณที่ได้เพียง ๓๓ เปอร์เซ็นต์ในการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งยังไม่ไปไหนแต่ญี่ปุ่นเขาก็ไปไกลในเรื่องการปกครองท้องถิ่นเช่นกันในทุกวันนี้นักเรียนที่ก่อนเข้าประถม อนุบาลลงไปในประเทศญี่ปุ่น ๙๒ เปอร์เซ็นต์การศึกษาถูกดำเนินการโดยเอกชน ส่วนประถมและมัธยมประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ในการปกครองท้องถิ่น ที่เหลือเป็นของเอกชน มหาวิทยาลัยเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นของรัฐบาลอีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นของเอกชน กระทรวงศึกษาเองเขาก็ทำไม่กี่แห่งทำของเก่ามีไว้นิดหน่อยก็ส่งเสริมให้เอกชนทำ คำว่าอนุบาลเฉยๆ เกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ก็เป็นของเอกชน แต่ของเรากลับไปจับยัดไว้ตาม อบต.บ้าง เทศบาลปล่อยให้เอกชนว้าเหว่อยู่ทำไม ให้เกียรติเขา ก็ต้องให้งบประมาณ ให้อะไรต่างๆเขาด้วย ถ้าทำแบบนี้มันจะประหยัดกว่าระบบราชการอีกเยอะ แต่ถ้าจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำแบบนั้นก็ให้เขาทำไปอย่างน้อยก็พอหาเสียงกับผู้ปกครองนักเรียนได้ แต่มันไม่มีคุณภาพผมก็อยู่กับเทศบาลตั้ง๑๕ ปี ผมก็รู้ถ้าจะให้ทำก็ต้องทำให้ได้ แต่ต้องให้มันชัดเจน

    ในวันนี้มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องเอามาทำให้การศึกษาให้มีประสิทธิภาพคือ ประชารัฐ หรือ PPP (PublicPrivate Partnership) ความจริงเรื่องนี้ UN, World Bank เขาแนะนำประเทศต่างๆ มานานแล้วแต่ของเราอาจจะรู้เรื่องแต่ระบบราชการแข็งแรงส่วนอื่นก็อ่อนแอลงไปที่สำคัญก็คือว่าเราก็มี PPP ในเรื่องทางด่วนให้เอกชนเก็บเงินแล้วเอามาแบ่งกันบ้าง สะพานบ้าง รถไฟบ้างแต่ในทางการศึกษาเรายังไม่ได้ทำเท่าที่ควร ถ้าเอาไปใช้กับประเทศไทยภายใต้นโยบายที่รัฐบาลประกาศPPP น่าจะเป็นประโยชน์แต่ใครเป็นคนริเริ่มผมก็เสนอไว้ที่จังหวัดตากที่เขามีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อำเภอแม่สอดที่ประเทศจีนเมืองฉิจิ้ง ก็เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ห่างจากเมืองคุณหมิงราว ๒ชั่วโมงโดยประมาณจากการนั่งรถยนต์ เขาอยากทำให้เขตตรงนี้มีการศึกษาที่ดี ยอดเยี่ยมเขาก็ออกแบบเหมือนโรงเรียนวชิราวุธนี่แหละแต่เขาให้เอกชนไปลงทุนรัฐบาลให้ที่ดินสัมปทานอยู่ ๕๐ ปีเช่าราคาถูกโครงการโรงเรียนนี้ประมาณ ๑,๐๐๐ พันล้านแต่เอารูปแบบโรงเรียนที่ดีที่สุด สมมุติเป็นโรงเรียน
    สวนกุหลาบ ๑๐ คนแรกที่มาจากโรงเรียนสวนกุหลาบคือครูแล้วก็มาบริหารด้วยแล้ววิธีการรับนักเรียน ๕๐เปอร์เซ็นต์ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษกับส่วนท้องถิ่นคัดเลือกมาจากหมู่บ้านให้หมู่บ้านได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ดีที่สุด และอีกทางหนึ่งคือรับคนทั่วไปมาเรียนแต่ค่าเล่าเรียนสูงหน่อย ด้วยวิธีการนี้การบริหารจัดการก็ร่วมกันทั้ง ๓ ฝ่ายเอกชนที่ลงทุนรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับครูดีๆ จากโรงเรียนดีๆแล้วก็จ่ายเงินเดือนครูด้วย มีที่ดิน และก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเขตเศรษฐกิจพิเศษ๓ ฝ่ายนี้ก็ทำงานร่วมกัน เอกชนที่ลงทุนไปพันล้านก็รู้สึกว่ามีโอกาสได้กำไรคืนไม่ต้องแข่งกับรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ต้องลงทุนพันล้านเพื่อพัฒนาที่ดินผมว่าคอมมิวนิสต์ที่เราไปมองว่าเป็นเผด็จการเป็นเรื่องที่แปลกเขาสามารถรวมกับประชาชนได้ เรื่องแบบนี้ตะวันตกอาจทำมาแล้วในหลายรัฐหลายเมืองที่เขาเป็นประชาธิปไตย แต่ของเรานี่ยังไม่มี

    พอพูดถึงการศึกษาก็ต้องมีกระทรวงศึกษาธิการไปตั้งงบประมาณสร้างโรงเรียนเอง มีครูเอง แต่ครูได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไม่มีก็ยัดเยียดใครเข้าไปดีไม่ดีเวลาประกาศรับครู ครูก็หนีมาจากโรงเรียนเอกชน รัฐบาลราชการก็หัวเราะโรงเรียนเอกชนจะเจ๊งก็เจ๊งไปไม่ใช่ของรัฐ ผมว่าในลักษณะนี้นอกจากไม่ส่งเสริมให้เอกชนทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เหมาะสมแล้วยังทำร้ายและทำลายศักยภาพของเอกชนด้วยผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้ผมเป็นเอกชนที่มีความหมายผมเองหยุดเมื่อไหร่ก็ได้หยุดแล้วก็แล้วเพราะผมมีความสุขที่จะทำแต่เอกชนเขาทำไม่ได้ เขาทำลำบาก แต่ถ้าในกรุงเทพทำดีๆ ใหญ่ๆ โตๆ รับนักเรียนจากบ้านที่มีเงินก็โอเคนั้นอีกพวกนึง แต่โดยทั่วไปใครจะลงทุนได้

    แต่ถ้าโดยวิธีการร่วมมือกันแบบนี้แล้วตั้งจากเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งตอนนี้มีเรามีนโยบายถึง ๙ แห่ง ชายแดนติดมาเลเซียติดกัมพูชา ลาว เมียนมา ถ้าเอาเขตเศรษฐกิจแบบนี้ตั้งเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดให้นักเรียนได้เรียนถ้าเราได้นักเรียนเรียน ม.๑-ม.๖ เป็นชั้นดีจริงๆ เข้ามหาวิทยาลัยก็สะดวกแล้วเพราะได้นักศึกษานิสิตที่ดี แต่ใครจะทำถ้ามันเป็นอย่างงี้ได้รัฐบาลเขาอาจจะคิดเอาตรงนี้มาผสมผสานกับตรงนี้เอานโยบายที่เขียนว่า PPP หรือประชารัฐมาใช้ได้ไหมหรืออาจจะคิดเลยเถิดไปถึงมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในเมืองไทยโดยเฉพาะที่เราพูดถึงด้วยความรักและห่วงใยคือ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ๔๐ แห่งในแง่ของมหาวิทยาลัยราชภัฎเองผมก็รู้จัก เขาดีเขามีความตั้งอกตั้งใจภูมิใจที่เกิดมากจากโรงเรียนครูแต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไปเร็ว และระบบที่เรามีอยู่หมุนไปไม่ทันแต่ก็มีเงินที่จะสร้างอาคารใหม่ทุกปี เรามีอาคารมากขึ้นแต่นักเรียนกลับน้อยลงสิ่งเหล่านี้จะทำอย่างไร เราไม่สามารถไปโทษได้ว่าใครดีใครไม่ดี แต่สามารถคิดว่าจะโอบอุ้มเขาเหล่านั้นได้อย่างไร

    แต่ถ้าเราไม่ทำออกไป ก็จะมีการล่มสลายในเรื่องของการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากขึ้นเราพูดในทุกวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมาว่ากันเองแต่ในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยอยู่ ๔,๐๐๐ กว่าแห่ง แต่ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมากลับมีการปิดตัวไปแล้วกว่า ๕๐๐ แห่ง แล้วเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นของรัฐแบบที่เราใช้เงินงบประมาณแบบนี้อาจจะไม่ปิดตัวเองง่ายๆ แต่จำนวนนักศึกษาจะลดน้อยลงเรื่อยๆผมเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ผมก็รักมหาวิทยาลัยและชื่นชมครู
    บาอาจารย์ แต่เมื่อวานมานี้ มีข้อที่ทำให้เราต้องคิดถึงกันสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแล้วก่อนเสด็จขึ้นรถกลับท่านทรงถามมาที่อธิบการบดี ว่าทำไมปีนี้นักศึกษาน้อยลงตั้งพันจากปีที่แล้ว ๕,๐๐๐คนเหลือ ๔,๐๐๐ กว่าคน ก็ไม่ใช่ความผิดของใครแต่ว่ามันน้อยลงแบบนี้แต่ในด้านงบประมาณปรากฎว่าปีนี้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า ๙๐๐ ล้านก็อาจเอาไปสร้างตึกได้มากขึ้น ก็โอเคฝ่ายบริหารที่จะต้องพยายามหางบประมาณในการสร้างนู่นสร้างนี่หากเรามองในแง่นึงก็คือความดีงาม ความพยายามแต่อีกมุมหนึ่งนักศึกษาก็จะน้อยลงแบบนี้ ถ้าปีหน้านักศึกษาก็อาจลดไปอีกพันนึงจะเป็นยังไง เนื่องจากมีงบประมาณใส่เข้าไปก็อยู่ได้แต่ในแง่ของการอยู่อย่างที่คุณภาพจะเป็นอย่างไร แล้วนักศึกษาที่ออกมาจะเป็นอย่างไรถ้าเราสนใจการศึกษาแบบนี้ เรื่องนี้ต้องทำการวิจัยการศึกษาลึกๆโดยไม่ต้องคิดว่าเป็นของใคร ไม่ต้องโทษว่าใครผิดใครถูก แต่คิดด้วยความรักและห่วงใยและรับผิดชอบ

    ผมเองก็ต้องรับผิดชอบ ผมจะไปโทษคนอื่นก็ไม่ได้แต่ประเด็นคือควรอยู่ตรงไหนบ้าง อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งรูปแบบของการที่จะร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน ในอดีตที่ผ่านมาก็ฉาบฉวยร่วมมือกันได้บ้างอาจจะรู้จักมักคุ้นกัน แต่จะต้องเอาหลักการเหล่านี้มาใส่ไว้ว่าเป็นรูปแบบอยากได้อย่างนี้ไปทำเลย สมมุติ จังหวัดพิษณุโลกมีโรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีการเขียนว่าเป็นเหมือนกับโรงเรียนวชิราวุธแห่งพิษณุโลกโดยจะตั้งไว้อำเภอไหนหรือมุมไหนที่มีที่ดินสักร้อยไร่ ให้รัฐบาลให้เช่าเป็นพิธีการแล้วก็รัฐบาลเอาครูดีๆ มาใส่ แล้วให้ทุกคนอยู่หอพักในนั้นก็มีเครื่องดนตรีอุปกรณ์ต่างๆ มีครูพิเศษมา เงินทองก็มีค่าใช้จ่าย เอกชนกับราชการ

    ถ้าโดยปกติในโรงเรียนต่างจังหวัดในตัวจังหวัดทุกแห่งจะมีครูอาจารย์มาก มากจนล้นมากสุดเพราะภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่บ้าง คนนั้นมาฝากบ้างก็เป็นเรื่องที่เรารู้มาอย่างนี้ แม้แต่อยู่ตามอำเภอต่างๆสามีย้ายจากนายอำเภอเข้ามาเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดภรรยาที่มาเป็นครูที่อำเภอก็ย้ายเข้ามาอยู่จังหวัด ไปยัดเยียดกันอยู่ตรงนั้น เป็นทุกจังหวัดเพราะฉะนั้นลักษณะแบบนี้ก็เหมือนกับว่าในจังหวัดมีครูดีมีอาจารย์เก่งๆ แต่จะมีประสิทธิภาพไหมคำว่าประสิทธิภาพหมายความว่า ถ้าใช้เงิน ๑๐ บาท มันจะได้ ๑๐ ยูนิต แต่นี้ได้ ๑๐ยูนิต แต่เราใช้ ๒๐-๓๐ บาท ผมว่าเรื่องนี้เราคงต้องมีการประเมินแบบที่เรียกว่าบริหารธุรกิจ แต่เวลาที่พูดเรื่องบริหารธุรกิจในหมู่ราชการนี้เขามักจะปฏิเสธ “พวกเราราชการครับ ทำไมต้องมาพูดเรื่องธุรกิจ” ไม่ใช่คำว่าบริหารธุรกิจหมายความว่า เมื่อเราลงทุนไปด้วยเงิน ด้วยคน ด้วยของต้องประเมินออกมาว่าคุ้มค่าหรือไม่ การประเมินว่าคุ้มค่าหรือไม่นั้นคือกระบวนการของการบริหารธุรกิจต้องการสรุปว่า แน่นอนรัฐรรมนูญก็ต้องเขียนไว้ตามนี้ถ้าไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลย บ้านเมืองก็จะยังมีการศึกษาแบบนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเขียนแล้วก็ควรจะต้องเห็นว่ามีอะไรที่แนวใหม่บ้างคำถามนี้ถ้าผมจะตอบแบบติเรือทั้งโกลน ก็จะดูไม่ดี อย่างน้อยมีความพยายามที่จะเน้นเรื่องการศึกษาอยู่แต่ไม่คอนกรีต คำว่าคอนกรีตนี้ควรจะร่วมยังไง ก็ต้องให้มีเอกชน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรัฐบาล มาร่วมมือกันแต่ก็เป็นเพียงสิ่งที่พูดกันมาอย่างยาวนาน

    ถ้าจะขยายความให้ชัดตามแบบนโยบายของรัฐบาลคสช. ที่บอกว่าจะส่งเสริมประชารัฐ ควรจะมีอะไรที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อให้สามารถริเริ่มขึ้นที่นั่นที่นี้ได้ง่ายมากขึ้นอาจจะเขียนไว้ในนโยบายหรือยุทธศาสตร์อะไรก็ได้ แต่พวกนี้เขาจะเขียนกว้างๆ ไว้เพราะฉะนั้นแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่เลือกตั้งที่อาจจะมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา

    กระบวนการในการจัดการศึกษาที่ดีควรมีรูปแบบเป็นเช่นใด

    ดร.กระแสชนะวงศ์  : ผมก็พูดรวมๆ มาพอสมควรในขั้นต้น แต่รูปแบบที่คิดอยู่ทุกวันนี้คือรูปแบบของความยุติธรรมทางการศึกษา จะโดยวิธีการไหนก็แล้วแต่ อย่างเช่น มหาเธร์มหาธีระ เดิมเขาเป็นหมอ เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีเขาก็ประกาศเลยว่า“ในฐานะที่ผมเป็นหมอ ผมจะทำให้ประชาชนทุกคนไม่ขาดหมอถ้าหากผมเป็นหมอแล้วยังทำให้ประชาชนขาดหมอ ก็แปลว่าความบกพร่องของผม”ถ้าพูดอย่างนี้อาจเหมือนเล่นสำนวน แต่ความจริงคือว่า มาเลเซียในยุคของมหาเธร์ หรือธีระ ได้ทำให้ทุกแห่งในประเทศมีแพทย์เต็มพื้นที่ทุกตำบล อำเภอโดยจ้างแพทย์ต่างชาติ รวมถึงไทยด้วยให้ไปทำงานในชนบทในประเทศของเขา

    ปัญหาของการศึกษาไทยวันนี้ เฉพาะการศึกษานะอย่างอื่นก็ไม่พูดถึงคำว่าไม่ยุติธรรมทางการศึกษานี่หมายความว่า คนส่วนน้อยได้ประโยชน์มากคนส่วนมากได้ประโยชน์น้อย พูดอย่างนี้เราก็รู้จักทุกคนคนส่วนใหญ่ที่อยู่ชนบทต่างจังหวัดเหมือนกับเกิดมาเพื่อจะเป็นเมืองขึ้นของคนส่วนน้อยในเมือง การปกครองก็เป็นอย่างนั้นเรื่องนี้พูดมาตั้งแต่เป็นหนุ่มตั้งแต่เป็นนักศึกษาเดินขบวน พูดหมดเลยจนถึงวันนี้เรายังเห็นภาพอยู่ เด็กนักเรียนที่อยู่ประถม มัธยมที่อยู่หมู่บ้านตำบลต่างๆ นี้ บางทีผมก็พูดด้วยอารมณ์ขันสนุกๆ ว่า

     “หลานปู่ หลานตาที่เรียนหนังสืออยู่ในกรุงเทพ เรียนตั้งแต่เช้ายันเย็นเรียนทุกวัน สนุกสนาน เพราะมีความพร้อมหมดทุกอย่าง ครู อาจารย์ เครื่องมือต่างๆแล้วเด็กที่เรียนอยู่ในอำเภอพล นอกเขตเทศบาล ก็อย่างที่เห็น นอกจากที่ผอมกะหร่องแล้วเรียนถึงบ่าย ๓ โมงกว่าก็เลิกกันหมดแล้ว”

     แล้วถ้าวันนึงมันต่างกันในเรื่องความรู้ความสามารถแม้แต่ศัพท์ภาษาอังกฤษวันละคำ ปีนึงก็ต่างกันหลายคำแล้ว ส่วนทางหลานปู่หลานตาก็ทำการบ้านกันสนุกสนานถ้าพูดจริงๆ เราก็พอใจที่หลานปู่ได้เรียนหนังสือดีๆ เช้ายันเย็น เสาร์-อาทิตย์ก็ยังอยากไปเพราะมีความสนุก หลานปู่เรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลของเอกชน เสียเงินเสียทองมีค่าใช้จ่ายแต่เขาก็มีประสบการณ์เขาทำได้ดี หลานตาก็ได้เรียนสาธิตเกษตร เขาก็มีดี แต่ใจของผม นอกจากดีใจเป็นส่วนตัวกับครอบครัวก็ยังเป็นห่วงใยกับคนที่ผมเคยเกี่ยวข้อง แยกกันไม่ออกพอกลับไปมองก็คิดว่าก็ห่างกันอยู่นะ แล้วจะเป็นยังไงต่อไป เพราะฉะนั้นผมก็เลยต้องคิดหาว่ามีวิธีการอื่นไหมอย่างวิธีการที่ไปเห็นในประเทศจีน ที่รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับพื้นที่กับเอกชน ทำให้ใหญ่ที่สุด ในอุดมคติในหมู่บ้าน แล้วก็ให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนในนี้จะเกิดขึ้นได้ไหมในเมืองไทย ไม่น่าจะยากนะ ถ้ารัฐบาลเอาจริง แล้วก็บอกว่าที่นี้เราจะออกแบบโรงเรียนที่ดีที่สุดแต่ว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณและจะให้เอกชนทำ แล้วก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบร่วมกันก็จะได้โรงเรียนที่ดีที่สุด แต่ทุกวันนี้ ทั้งราชการ ทั้งเอกชนอ่อนปวกเปียกแต่เดี๋ยวนี้ได้ทำแล้วสักแต่ว่าได้ทำ ผมพูดอย่างนี้หลายคนที่เขาทำดีๆเขาอาจต่อต้านผม ผมต้องขอคารวะต่อคนที่เขาได้ทำดีๆแต่หลายแห่งส่วนใหญ่นี้ยังคงทำเพื่อจะได้บอกว่าทำแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดทำบริการขึ้นมาเพื่อให้ได้เสียงให้ได้ความรักจากผู้ปกครองก็เป็นเรื่องธรรมดา เราเปิดโอกาสให้เป็นอย่างนั้นเขาก็ต้องทำอย่างนั้นได้เงินมาก็เอาลูกเขามาเลี้ยงดู แต่ก็ไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร ก็ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่แต่ก็น่าจะได้ดีกว่านี้ด้วยเงินจำนวนนี้

    แต่ด้วยสถานการณ์ที่เราต้องการให้ประเทศไทยเป็น๔.๐ เดี๋ยวนี้มันเป็นเกินไปแล้วในบางแห่ง ในบางกลุ่มบางจังหวัด แต่บางแห่งอย่าว่าแต่๔.๐ เลย ๒.๐ ก็ยังลำบาก เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าการศึกษานี้ ถ้าเอาจริงๆ จังๆต้องทำให้เกิดความยุติธรรมทางการศึกษาเกิดความเสมอภาคขึ้นมา ถ้าจะเปลี่ยนว่างบประมาณไม่เพิ่มขึ้นแต่งบประมาณเท่าเดิมก็มากอยู่แล้ว คงต้องมีการเปลี่ยนทิศทางในการให้งบประมาณ เปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาการศึกษาแปลว่าแทนที่จะทุ่มเทมากในเมืองใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ ชะลอลงมาได้ไหมแล้วเอาส่วนที่เราชะลอนี้แล้วเอาไปช่วยในต่างจังหวัดเพื่อที่จะได้ตัดปัญหาว่างบประมาณไม่มี ความจริงการก่อสร้างต่างๆในโรงเรียนของหลวง หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งถ้าลดการก่อสร้างลงก็ไม่ได้ทำให้พื้นที่น้อยลง มหาวิทยาลัยของรัฐแทบทุกแห่งมีพื้นที่มากเกินไปไปดูเถอะ ไม่ต้องไปคิดว่าเราเข้าข้างครู เรามองแบบคนไทยผมไปที่ไหนผมก็มองด้วยความรักความชื่นชมทุกคน แต่บางทีเรามองตึกก็เยอะแยะบางทีมหาวิทยาลัยราชภัฎ ๔๐ แห่ง ก็แปลว่ามีอาคาร ๔๐ แห่ง จะมีนักเรียน ครูนั่งอยู่ไหมก็ต้องมีอาคารไว้ก่อน ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาจะมีนักเรียนนักศึกษาอยู่เพียง ๔-๕ พันคนต่อแห่ง ทั้งที่สามารถจุได้เป็น ๒-๓คนหมื่นได้เลย เข้าไปดูที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์เนื้อที่ประมาณ ๘-๑๐ ไร่มีนักศึกษาอยู่ ๑.๖ หมื่นคน แต่พอไปดูมหาวิทยาลัยของราชการผมไม่อยากจะเน้นมหาวิทยาลัยราชภัฎเท่านั้น เดี๋ยวจะหาว่ามีอคติแต่ผมก็เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎมาแล้ว ก็รักผูกพันอยู่แต่ว่าเหตุการณ์พาไปแบบนี้ ทำให้อาคารใหญ่น่าจะจุได้สักหมื่นคน ก็มีคนเรียนจริงอยู่แค่๓-๔ พันคน เพราะฉะนั้นก็มีพื้นที่ว่างตรงนี้พวกเรารุ่นใหม่คงต้องคิดว่าเราจะทำยังไงกับการเปลี่ยนแปลงนี้เราจะบริหารทรัพยากรเหล่านี้ยังไง บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น จะทำอะไรและอย่างไร

    ผมได้ฟังมาจากลีกวนยิวมีอยู่คำหนึ่งเขาบอกว่า

    “ผมจะเคารพนับถือประชาชน ผมจะทำตามความจำเป็นและความต้องการของประชาชนแต่ถ้าเมื่อใดใครผิดกฎหมาย ใครทำร้ายประเทศชาติ ผมจะต้องหยิบมีดที่คมอยู่แล้ว”

     คล้ายๆ กับว่าส่วนที่เขาทำดี ต้องให้เขาดีแต่ส่วนที่ผิดพลาดมา คล้ายๆ กับว่า ผมจะเป็นคนดี กับคนดี หรือ ผมจะทำดีและเคารพประชาชนจำนวนมากที่เขาทำดีแต่มีดของผมจะคมพร้อมอยู่เสมอเพื่อที่จะกำจัดคนชั่วให้ได้ คล้ายๆ แบบนี้ผมก็คิดว่าเราคงต้องช่วยกัน และเขาบอกว่าผมต้องการให้เกิดสังคมของสิงคโปร์นอกจากอยู่ดีกินดีแล้ว จะต้องให้ไม่มีคอรัปชั่น มีภาวะผู้นำยอดเยี่ยมทุกระดับคือว่าภาวะผู้นำของผู้นำเรา ก็เป็นผู้นำระดับต่างๆและต้องการให้ประเทศนี้ไม่มีคอรัปชั่น เพราะหากมีการคอรัปชั่นแล้วก็มีดได้ฟันเลยคราวนี้ก็สรุปสุดท้ายที่ถามผมนี่เป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญมากที่ต้องการเน้นให้คนหนุ่มคนสาวคิดก็คือจะเป็นมหาบัณฑิตไม่ใช่เป็นเพื่อให้ได้ปริญญาตรี ปริญญาโท แต่ผมสอนลูกศิษย์ว่าถ้าจะเป็นปริญญาโท ปริญญาเอก คุณต้องเป็นแอคติวิสต์ด้วยถ้าไม่เป็นแล้วจะไปเรียนทำไม แอคติวิสต์เพื่อให้ต้องการความมั่นใจว่าแต่ก่อนเรียนปริญญาตรีก็อยู่ได้แล้ว แต่พอปริญญาโทต้องการความชัดเจนและคมขึ้นแอคติวิสต์หมายความว่า เราต้องสามารถแสดงออกได้ ถ้าไม่ได้แสดงออกเรียนปริญญาโทปริญญาเอกก็ไม่มีความหมายนอกจากความภูมิใจที่มีใบติดบ้าน  

    “เพราะฉะนั้นผมคิดว่าความยุติธรรมทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องทำแต่ส่วนมากคนที่มีอำนาจทั้งการเลือกตั้งและจากการไม่เลือกตั้งมานี้มักจะสร้างงานที่เป็นอนุสรณ์แก่ชีวิตตัวเอง เพื่อที่จะได้ถูกจดจำแต่คนที่เป็นภาวะผู้นำที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือ คนที่ทุ่มเทพลังทำเต็มที่เพื่อประชาชนเพื่อใครต่อใครได้ประโยชน์ แล้วก็หายตัวไป ให้คนที่อยู่ต่อหรือคนที่ทำงานต่อได้หน้า ได้ตา ได้ความภูมิใจแล้วตนเองก็ไปแสวงหาความรับผิดชอบอันใหม่ต่อไป”

     คำพูดนี้เป็นคำพูดของปราชญ์ในประเทศจีนมาหลายร้อยปีแล้วเราอยากเห็นผู้นำไทยระดับต่างๆ เป็นอย่างนั้น แล้วก็มีความรับผิดชอบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หมายความว่า เมื่อเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมาก็พร้อมจะบอกว่า ผมขอโทษนะครับสำหรับการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษสิ่งต่างๆ และไม่แก้ตัว ทำยังไงถึงจะเกิดคนแบบนี้ขึ้นได้ดังนั้นเราจึงต้องปลูกฝังตั้งแต่คนหนุ่มสาว ตั้งแต่อนุบาลแล้ว อย่างเด็กอนุบาลผมก็จะพูดเล่นกับเขาเรื่อยๆเช่น หน้าเสาธงทุกวันนี้ ผมก็จะถามเขาว่า ๓ข้อของคนดีที่จะประสบความสำเร็จมีอะไรบ้างครับ เด็กก็จะตะโกนพร้อมกัน ๑. ความซื่อสัตย์เราก็ชมว่าเก่งมากๆ ๒. ความรับผิดชอบ เราก็ชม แจ๋ว จำได้ดีมาก ๓. ความมีน้ำใจ เด็กนักเรียนเวลาที่ผมไปเขาก็จะพูดแล้วก็แสดงออกผมคิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่อนุบาล รวมถึงตอนสอนปริญญาโทปริญญาเอกผมก็จะเอา ๓ข้อนี้มาขยายความ นี้คือจุดหมายปลายทางของการศึกษาที่ต้องการให้คนมีภาวะผู้นำและภาวะผู้นำนั้น จะมีกี่ข้อก็ตาม แต่ฐานของผู้นำจริงๆ ที่เรายกย่องกันได้กราบไหว้กันได้ ผมคิดว่า ๓ ข้อนี้ก็ไหว้ได้สนิทใจแล้ว ๑.ความซื่อสัตย์ บวกลบคูณหารอาจจะไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะคนเราตีความหมายคำว่าซื่อสัตย์ได้หลายอย่าง แม้แต่การมาทำงานสายหรือการลาโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอนั้นก็ไม่ซื่อสัตย์แต่ว่ายังไงก็ตามเอาเฉลี่ยกันนี้ สูงพอสมควร ยอมรับได้กันพอสมควรในความซื่อสัตย์ ๒. ความรับผิดชอบ อยากจะย้ำว่า ความรับผิดชอบของคนมีภาวะผู้นำต้องรับผิดชอบ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่แก้ตัว ไม่โทษคนอื่นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมีภาวะผู้นำที่ใหญ่ขึ้นมา ต้องไม่ทวงบุญคุณด้วยคนบางคนทวงบุญคุณทั้งๆ ที่ไม่มีบุญคุณหรอกเพราะเราใช้เงินหลวงใช้งบประมาณแผ่นดิน 

    ข้าราชการบางคนพูดว่า “ผมทำตั้งขนาดนี้ถ้าพอมีความผิดเขาจะแจ้งความแบบนั้นแบบนี้ (ข้าราชการ ก็มักจะแก้ตัว) โถ่ผมทำงานมาตั้ง ๒๐ กว่าปีสร้างงานต่างๆ ให้ตั้งมากมายขนาดนี้ยังจะมาเอาเรื่องอะไรกับผม” อย่างนี้เรียกว่าทวงบุญคุณคนมีภาวะผู้นำยุคใหม่ต้องไม่ทวงบุญคุณ ผมต้องเตือนผมเอง อย่าทวงบุญคุณนะอย่าพูดว่าเราทำได้อะไรไว้ ไม่ต้องพูด คนที่เป็นผู้นำที่เราเคารพได้ยิ่งใหญ่จนกระทั่งเราไหว้ได้สนิทใจ นอกจากไม่แก้ตัวไม่โทษคนอื่นแล้วต้องไม่ทวงบุญคุณถ้าทวงบุญคุณเมื่อไหร่จะเข้าหลักที่ว่า อีโก้-อวดตัว เรียกว่า เพราะอวดตัว อวดเก่งอวดดี เมื่อไหร่ นั่นคือการสร้างศัตรูให้กับตัวเองทันที

    “มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่าEgois the enemy 
    อวดตัวเองเมื่อไหร่คือการสร้างศัตรูให้กับตัวเองเมื่อนั้น”

    วันนี้ผมอาจจะพูดนอกเรื่องนอกราวไปซักหน่อยแต่อยากจะให้พวกเราได้แลกเปลี่ยนกัน พูดแบบครูบาอาจารย์ พูดแบบคนไทยแต่ถ้าจะพูดแบบเข้าข้างตัวเอง อยู่ตรงไหนก็ยกย่อง ผมทำนั่นนี่ มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องบอกความจริงว่า ผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง มองดูสถานการณ์อย่างนี้เราไม่ใช่คนไทยคนเดียวนะ เราต้องมองคนไทยซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติของเรา เป็นพี่น้องคนไทยที่เขาควรได้ผลประโยชน์อย่างเราเป็นคนที่ได้ประโยชน์ เป็นอภิสิทธิ์ชนแล้วมีการศึกษามีหน้าที่ใครๆก็พร้อมจะให้พร้อมจะบอก yes แต่ไม่พออย่างนี้เขาเรียกตัวตนเกินไป เราต้องคำนึงถึงคนอื่นๆที่เป็นเพื่อนร่วมชาติของเราด้วย ว่าเขาควรจะได้อะไร แล้วที่ไม่ได้เพราะอะไรใช่ไหมครับ ส่วนตัวเราไม่ต้องเอามาเป็นมาตรฐานแล้ว มันเกินเวลาไปแล้ว

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in