เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
I<Ethiopia>U : มี<เอธิโอเปีย>ระหว่างเราArmmie Born TobeBrave
บทที่ 8 <Mekele>
  • Makele เป็นเมืองใหญอันดับสองของประเทศเอธิโอเปีย รองจากเมืองหลวง ตั้งอยู่ในแคว้น Tigray  ทางตอนเหนือของประเทศ ชื่อเมืองอาจสะกดได้หลายแบบ ทั้ง Makale,Mekelle หรือ Meqele เพราะถอดเสียงออกมาจากภาษา Tigrarian ชนพื้นเมืองหลักของที่นี่ เวลาหาข้อมูลใน internet ชื่อเมืองนี้ในเวปต่างๆไม่เคยสะกดเหมือนกันเลย แม้แต่ ป้ายในเมืองหรือตาร้านค้าเอง ก็จะสะกดภาษาอังกฤษไม่เหมือนกัน ดังนั้นนักท่องเที่ยวขวัญอ่อนบางคนไม่ต้องตกใจค่ะ ถูกเมืองอยู่ ไม่ใช่คนละเมือง

    ชาวเมืองต้อนปศุสัตว์ของตนเดินผ่านไปในกลางใจเมือง 


    ชื่อเมืองมาจากภาษา Tigranya ของชนชาวเผ่า Tigray ที่เป็นประชากรกลุ่มหลักของแคว้น Tigray นี้ (เป็นชนชาวเดียวกันกับชนส่วนใหญ่ในประเทศเอริเทรีย) 


    ด้วยความที่ Mekele อยู่ที่ระดับความสูงกว่า 2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อากาศจึงดู chill อยู่ที่ 20 องศาต้นๆ ตลอดเวลา เย็นสบาย ใส่ชุดแบบอยู่เมืองไทยเดินออกแดดตอนเที่ยงได้ เหงื่อไม่ออกให้คันยกทรง  (เค้าว่าอุณหภูมิสูงสุดในหน้าร้อนแตะที่ 27 องศาเอง) แต่เมื่อนั่งรถเข้าไปในเมืองจะเห็นต้นปาล์มขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วเมือง และฝุ่นทรายสีน้ำตาลทำให้ภาพดูมีลุคของเมืองกลางทะเลทรายซักหน่อย  แต่เป็นทะเลทรายแบบทีไม่ร้อน 


    ตั้งแต่ก่อตั้งเมืองมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 13 เมืองนี้ ก็มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญๆของเอธิโอเปียมาตลอด ตั้งแต่ 

    เป็นเมืองที่ กษัตริย์ Yohannes IV สถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงของเอธิโอเปีย ,ผ่านสงครามมาแล้วมากมาย ทั้งสงครามปฏิวัติ เอธิโอเปีย , สงครามกลางเมืองในเอธิโอเปีย  ,และล่าสุดอย่างสงครามระหว่าง เอริเทรีย-เอธิโอเปีย  ถูกถล่มใส่จากกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังทหาร,กระสุนปืน หรือแม้กระทั่งระเบิดจากอากาศยาน  นอกจากสงคราม เหตุทุพภิขภัย(ความอดอยาก)ครั้งใหญ่ที่สุดของเอธิโอเปีย ช่วงปี 1983-1985 ก็เกิดขึ้นแถบนี้ ถึงมีค่ายผู้ช่วยเหลือจากนานาชาติมาตั้งรอบเมืองช่วยเหลือถึงสี่ค่าย แต่ก็มีคนตายเพราะความอดอยากในค่าย ประมาณ 60 คนต่อวัน (นอกค่ายอีกเท่าไหร่) 


    ถึงจะผ่านเหตุการณ์มาอย่างโชกโชน แต่ Makele ปัจจุบัน ก็พัฒนาขึ้นไปมาก ขนานนามตัวเองว่าเป็น CITY OF KNOWLEDGE มีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ก่อตั้งขึ้น เป็นศูนย์กลางทางความรู้และการพัฒนา ให้ผู้คนแถบนี้ได้มีโอกาสในชีวิตเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความอดอยากและสงคราม ตั้งแต่นั้นมาที่นี่ปัญหาก็น้อยลง

    นี่อาจจะเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดของพลังแห่ง การศึกษา 

    คนจะจับอาวุธขึ้นมาเฆ่นฆ่ากันทำไม ถ้าพวกเขามีรู้วิธีที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้


    ใจกลางเมือง Mekele


    ดิฉันมีเวลาที่จะเดินเที่ยวเมืองนี้หนึ่งวัน และอยากจะใช้ชีวิต เพื่อดูความปกติสุข ของขนชาว  Mekele ให้นานที่สุด เคยได้ยินมานะคะว่า ถ้าอยากดูว่าเมืองนั้นเป็นยังไง ให้ไปดูที่ตลาด 

    การซื้อการขายสดๆ นี่แหละบ่งบอกถึงความต้องการพื้นฐานของความเป็นมนุษย์  “การครอบครอง” 

    ถ้าเป็นคนสมัยป้าลูซี่คงใช้การล่าและการฆ่าเพื่อให้ได้มา คนสมัยเราๆก็ใช้การซื้อนี่แหละ ในการเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ


    ดิฉันเดินเท้าจากโรงแรมที่พักไปตลาด ภารกิจแรกของดิฉันคือการหาซื้อรองเท้าผ้าใบ  ซึ่งย้อนไปที่ความเดิมตอนที่แล้วเรื่องของบริษัททัวร์ที่ตอบข้อมูลทาง E-mail แบบ minimal เอามากๆ จนถึงตอนนั้นถึงแม้ดิฉันจะถูกรับเข้าเมืองมาอย่างทุลักทุเลแล้ว ดิฉันก็ยังไม่ได้ข้อมูลถึงแผนการเดินทาง เวลานัด และอุปกรณ์การเตรียมตัวใดๆจากนางเลย จึงเดินจากโรงแรมเข้าไปถามที่บริษัททัวร์ 

    และเขาก็บอกว่าคุณจจำเป็นต้องมีรองเท้าสองคู่ คือรองเท้าแตะ และรองเท้าผ้าใบ


    ตอนนั้นดิฉันเตรียมไปแต่ รองเท้าแตะไปคู่เดียว  เพราะคิดว่าอากาศร้อนๆ ใส่ผ้าใบน่าจะอึดอัดและตีนเหม็น เลยถามว่าจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเตรียมผ้าใบไป 

    เค้าก็ย้ำคำเดิมว่า จำเป็นมากๆที่คุณต้องมีรองเท้าสองคู่ ผ้าใบนั้นจะใช้ตอนคุณ Trek ขึ้นภูเขาไฟ

    ด้วยความงกของดิฉัน จึงพยายามเถียงว่า งั้นไม่เอาผ้าใบไปละกัน บอกนางไปว่า

     ดิฉันนั้นเคย trek ขึ้น ABC ด้วยรองเท้าแตะคู่นี้ที่หิมาลัยมาแล้ว (ห้ามลอกเลียนแบบ) 

    ภูเขาไฟของคุณน่าจะสบายๆ 


    นางถอนหายใจแล้วถลึงตาใส่ดิฉันนิดนึงก่อนจะพูดว่า

    “ที่คุณจะเจอคือลาวา นะไม่ใช่หิมะ คุณคิดว่าอะไรล่ะที่ร้ายต่อรองเท้าแตะของคุณมากกว่ากัน ความร้อน หรือความเย็น” 

    โอเคค่ะนางพูดได้มีประเด็นและจับใจ

    เที่ยงวันนั้นดิฉันเลยต้องหารองเท้าผ้าใบหุ้มส้น มาสักคู่ 


    เนื่องจากประเทศเอธิโอเปียเป็นดินแดนของนักวิ่งมาราธอน  ลักษณะทางสรีระวิทยาของคนเอธิโอเปียจึงเอื้อที่จะทำให้พวกเขาไปได้ไกลในถนนสายนักวิ่ง มีฮีโร่ทางการวิ่งของชาวเอธิโอเปียออก ไปถล่มสถิติ  ตามรายการแข่งขันวิ่งต่างๆมาแล้วทั้งระยะสั้น และระยะไกล 

    ผลักดันให้ทุกคนที่มีความหวังอยากจะเป็นนักวิ่งอย่างพวกเขาบ้าง กีฬาวิ่งจึงบูมเอามากๆในเอธิโอเปีย นั่นทำให้ร้านรองเท้ากีฬา มีอยู่ทุกเมือง


    ดิฉันเข้าไปในร้านรองเท้าร้านหนึ่ง แล้วตกในมาก กับปริมาณรองเท้าที่มากมายมหาศาลขนาดนั้น รองเท้าถูกโชว์ไว้เต็มผนังด้านหนึ่งของร้าน ส่วนรองเท้าอีกจำนวนหนึ่ง( จำนวนมาก)  ถูกกองพะเนิน ไว้กลางร้าน  ดิฉันเห็นรองเท้าแทบทุกรูปแบบเท่าที่เคยเห็นมาร้านแห่งนั้น แม้ชื่อยี่ห้ออาจจะไม่เคยได้ยิน หรือแปลกตาไปสักหน่อย แต่ดิฉันก็ได้รองเท้าคู่นึงที่ดูทันสมัย และใส่นุ่มเท้าเอามากๆในราคา 1000 birr (ราวๆ 1500 บาท )


    ร้านขายรองเท้าแบบนี้มีอยู่ทุกที่ในเมือง คนที่นี่นิยมวิ่งมาก ชอบแบบไหนเลือกเล้ย

  • ดิฉันเดินอยู่ในถนนในเมือง Mekele  สักพัก พบว่าบนท้องถนนเมืองนี้มีความหลากหลายเอามากๆ ถนนบางแห่งก็เป็นถนนกว้างๆลาดยางทันสมัยเอาไว้สำหรับรถวิ่ง ส่วนมากเป็นรถกระบะคันเล็กๆ วิ่งกันโล่งๆ แทบจะข้ามถนนได้แบบสบายใจ เมืองนี้ยังไม่มีมอเตอร์ไซค์ให้เห็น มีแต่รถรับจ้างสามล้อเล็กๆสีน้ำเงิน เหมือนแทกซี่ วิ่งแซมให้เห็นเป็นเอกลักษณ์ของเมือง 


    รถสามล้อเอกลักษณ์ของเมือง

    ถนนบ้างเส้นก็ไม่มีรถวิ่งเลย มีแต่คนเดินขวักไขว่   แถมมีคนต้อนฝูงแพะ และฝูงวัวเขาแหลมๆเดินกันกลางใจเมือง วัวพวกนี้ผิดจากวัวแถมบ้านเรามากนัก ซึ่งถึงแม้ร่างกายจะเป็นวัว แต่เขาแหลมๆขนาดใหญ่นั่นทำให้ดิฉันสงสัยว่ามันเรียกว่าวัวได้จริงๆรึเปล่า ถ้ามันหงุดหงิดขึ้นมา ต้องมีคนไส้ไหลจากเขาของมันแน่ๆ 


    ร้านรวงต่างๆในถนนใน Mekele ส่วนใหญ่ยังเป็นคล้ายแบบร้านโชว์ห่วยในสมัยก่อน ที่จะมีหน้าร้านเล็กๆ มักมีคนนั่งหน้าบึ้ง เท้าคางหน้าร้าน ร้านละคน รอลูกค้าให้เข้าไปเลือกสินค้าอย่างเบื่อๆ  


    ร้านอาหารในเมือง ส่วนใหญ่รูปจะไม่ตรงปกเท่าไร


    ถ้าจะถือว่ามีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งก็คือบรรดาร้านอาหาร ที่จะมีป้ายเขียนรูปอาหารชัดเจนปะอยู่หน้าร้าน แต่ร้านอาหารแทบทุกร้าน มองเข้าไปต้องตกแต่งร้านให้มืดๆ สลัวๆ และมีหญ้าสีเขียวๆเส้นยาวๆ รองอยู่เต็มพื้น ปูที่ทางเข้าของร้าน บางร้านปูทั่วทั้งร้าน (บางร้านใช้หญ้าจริง บางร้านใช้ฝอยพลาสติก) 



    ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมร้านอาหารทุกร้านต้องทำให้มืดๆ ด้วย ที่เดาได้น่าจะเป็นวัฒนธรรมการการกินข้าวนอกบ้านของคนที่นี ที่ให้ความเคารพกับบรรพบุรุษชาวชนเผ่าสมัยก่อน ที่มีชีวิตในกระโจมกลางทะเลทราย ที่ต้องปิดมิดชิดบังแสงจากภายนอก เวลาเชิญแขกมากินข้าวที่บ้าน มันเลยต้องมืดๆนิดนึง แล้วปูหญ้าสีเขียวๆกันฝุ่นทรายที่พื้นกระจายขึ้นมาเวลาแขกเหยียบ  ร้านอาหารในปัจจุบันเลยเป็นอย่างนี้



  • ตลาดกลางเมืองหรือ grand barzar มีของทุกอย่างรวมทั้งหญ้าที่เอาไว้ปูพื้นร้านอาหารด้วย

    และที่อยู่กลางใจเมือง เป้าหมายการเดินของดิฉันวันนี้คือ  Grand Bazar 

    ตลาดขนาดใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า ที่มากมาย หลากหลายชนิดที่สุดของชาวเมือง Mekele และผู้คนในแถบนี้ 

    สภาพความจอแจเต็มพิกัด เริ่มที่รถสามล้อที่จอดเรียงรายกันเต็มที่ มีคนขายของแบกะดินริมฟุตบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชผลทางการเกษตร ผู้ค้ารายย่อยที่กำเอารากสมุนไพรมาหนึ่งหอบก็อาศัยพื้นที่แค่หนึ่งกระดาษลัง ไปจนถึงผู้ขายรายใหญ่ที่มาพร้อมคนขายหลายคน ขนหญ้าสีเขียวมาเป็นกองพะเนินกินพื้นที่หัวมุมถนนไปทั้งหมด 

    บางร้านถึงกับเอากระสอบข้าว และกระสอบธัญพืชใหญ่ๆ ราวสิบกระสอบ มาตั้งตักขายกลางแดดเปรี้ยงๆๆก็มี

    สำหรับร้านในห้องหับก็แยกเป็นสัดเป็นส่วน ความหลากหลายของสินค้ามีไปตั้งแต่เมล็ดกาแฟ, เครื่องเทศทำอาหาร , ปุ๋ย, แว่นตา, กล้วย  ไปจนถึงเหล็กเส้น  และทุกร้านจะมีอย่างน้อยหนึ่งคน มานั่งหน้าบูดเท้าคางอยู่ที่หน้าร้านเป็นเอกลักษณ์ (ร้านไหนไม่มีเขาจะนั่งหน้าบูดอยู่ข้างใน) 


    ร้านขายน้ำผึ้ง ที่นี่นิยมทานน้ำผึ้งกันมาก


     ร้านที่ดิฉันชอบที่สุดคงจะเป็นร้านขายน้ำผึ้ง ที่ดิฉันไม่เคยเห็นมาก่อน เขาจะบรรจุน้ำผึ้งลงไปในถังพลาสติกสีน้ำเงินขุ่นใบใหญ่  กักตุนไว้ในร้าน มืดๆ (ร้านน้ำผึ้งหลายร้านจะเป็นร้านที่เอาแผ่นกระดาษมาปะกั้นแสงให้ร้านมืดกว่าปกติ )  ก่อนจะแบ่งขายในถังสีน้ำเงินในที่เล็กกว่าปิดสนิทอย่างดี ที่ดิฉันสังเกตเห็นคือ มีร้าน honey shop ในตลาดค่อนข้างเยอะมากๆเป็นล่ำเป็นสัน  กระปุกใหญ่ๆน่าจะเอาไว้ขายส่ง แสดงว่าคนที่นี่ชอบทานน้ำผึ้งมากทีเดียว 


    ร้านขายเหล็กเส้นยังมีเลยค่ะคุณ

    ที่ฉันประทับใจอีกอย่าหนึ่งของตลาดนี้คือ โซนที่ดิฉันเรียกว่า “ตรอกพลาสติก” ทั้งซอยทุกอย่างที่ทำจากพลาสติก ทั้งถัง กะละมัง กระโถน ถังขยะ ตระกร้า ที่รดน้ำต้นไม้ กระติก เก้าอี้ ตระกร้า ที่ถูพื้น และอะไรอีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ทำมาจากพลาสติก น่าจะรวมอยู่ที่นั่นหมด มันไม่ใช่แค่ร้านเดียว(หรืออาจจะเป็นร้านเดียว) ที่ขายพลาสติกเหมือนกันทั้งซอยขนาดนั้น  สงสัยนิดนึงว่า พวกเค้าเคยเขม่นกันบ้างไหมว่าร้านไหนขายดีกว่า หรือมีความรู้สึกไหมว่าร้านของตัวเองแตกต่างจากร้านข้างๆยังไง ในเมื่อของแทบทุกชิ้นเหมือนกันทุก Product ขนาดนั้น  (กรณีเดียวกันกับร้านขายเสื้อผ้าในตลาดนัดบ้านเรา) ร้านแถบนี้คงพึ่งพาเศรษฐกิจแบบสุ่ม ลูกค้าเดินเข้าร้านไหนก็ขายได้ ลูกค้าจะหลับตาเดินแล้วปั่นจิ้งหรีด ลืมตาหน้าร้านไหน ก็ได้ของเหมือนกัน  


    ร้านในตรอกพลาสติก
    การค้าแบบทางตรงก็มี เช่นคนปลูกข้าวโพดก็มากองขายกันแบกะดินโต้งๆ แบบดั้งเดิม ไม่มีหน้าร้าน
    เมล็ดพืช เมล็ดข้าว ใดๆ ก็ขายกัน
    "หนีห่าววว ซื้อลอตเตอรี่เอธิโอเปียไหม รวยพรุ่งนี้"
    แฟชั่นของที่นี่ นิยมเดรชสีขาวๆ
    หลายส่วนกำลังพัฒนา มีโครงการก่อสร้างมากมาย ที่กำลังจะเกิดขึ้น


    ขัดใจอยู่อย่างนึงเวลาเดินในเมืองอย่างนี้ ดิฉันดูโดดเด่นมาก ท่ามกลางผู้คนมากมาย ไม่ใช่เพราะความสวย แต่เป็นเพราะความเอเชียที่ฟ้องบนใบหน้า อยากจะกลมกลืนไปในเมือง อยากจะไม่โดด แต่ก็ทำไม่ได้ จะได้ยินเสียงตะโกนเรียก “หนีห่าววววววววว” ดังออกจากทุกร้านที่ดิฉันเดินผ่าน เคยคิดนะคะ ว่าตัวเองหน้าไม่เหมือนคนจีนสักหน่อย แต่ในสายตาคนแอฟริกัน ดิฉันก็แค่อาหมวยคนนึงเท่านั้น 

    (เพลงไชน่าดอลล์ขึ้นเลยค่ะ ต้า ชั่ว ชั้า ชั่ว ปู่เยี่ยวหลาย)


    เสียงหนีห่าววว นั่นทำให้ทุกคนมองมาที่ฉัน ผู้หญิงที่โพกผ้าแบบสตรีมุสลิมดูจะเลี่ยงการเข้าหาดิฉัน แต่เด็กเล็กๆหลายคน ร่าเริงกันใหญ่ ที่เห็นของแปลก และเข้ามารุมคุยกับดิฉันด้วยภาษา Tigranya ดิฉันฟังไม่ออก แต่รู้ว่าเด็กๆ คงอยากจะถามว่าฉันมาจากไหน มาทำอะไรที่นี่  เด็กที่นี่ค่อนข้างเฟรนลี่กับนักท่องเที่ยว ซึ่งผู้ใหญ่จะคอยห้ามอารมณ์ว่าอย่าไปยุ่ง กับอีหมวยนั่น เดี๋ยวมันจับกิน


    แต่หนีห่าวมากๆเข้า

    ดิฉันก็ทนไม่ไหว

    ตะโกนกลับไปว่า

    “Wrong!!!!!!!!!!!  I’m not Chinese”

    พวกเขาหยุดสักพัก อึ้งไปพักนึง

    เหมือนดิฉันจะชนะ 

    แต่แล้วก็ตะโกนใส่ดิฉันด้วยคำใหม่


    “โคนิฉิวะ!!!!!!!!”  


    อ่านบทก่อนหน้า บทที่ 7  < ผู้โดยสารคนเดียวในสนามบิน>


    อ่านบทต่อไป บทที่ 9 < เพื่อนร่วมทางไปนรก>





เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in