เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กาลครั้งหนึ่ง ณ ห้องสมุดฯ ห้วยขวางP. ANC
เรื่องวุ่น ๆ
  • สำหรับการฝึกงานที่ห้องสมุดห้วยขวาง หน้าที่หลักของพวกเราคือการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก ๆ ที่มาใช้บริการห้องสมุดในช่วงหลังเลิกเรียนทุกวัน ตั้งแต่วันอังคาร ถึงวันศุกร์ แล้วก็วันเสาร์จะจัดกิจกรรมช่วงบ่าย ทำแบบนี้วนซ้ำไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาการฝึกงาน

    หัวหน้างานหรือพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะไม่ได้กำหนดหัวข้อใด ๆ มาให้พวกเราเลย อยากทำอะไรตามใจเลยจ้า~ ซึ่งตรงนี้ก็มีข้อดีที่ทำให้เราไม่รู้สึกกดดัน ไม่เครียดกับการทำตามโจทย์ แต่มันก็ทำให้รู้สึกเคว้งอยู่บ้างเหมือนกัน ช่วงแรก ๆ พวกเราก็ไม่รู้จะทำอะไรดี แต่พอทำได้ซัก 1-2 สัปดาห์ ก็เริ่มจับทางได้ว่าเด็ก ๆ ที่นี่ชอบทำอะไรบ้าง ก็จะพยายามหากิจกรรมแบบนั้นมาให้น้องทำ หรือต้องเป็นกิจกรรมแบบไหนเราถึงจะคุมน้อง ๆ ไหวก็เอาอันนั้นมาทำ 

    ความยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเราไม่อยากให้กิจกรรมในแต่ละวันมันซ้ำกัน ดังนั้นตลอดระยะเวลาฝึกงานก็แทบจะไม่มีกิจกรรมซ้ำเลย! ยกเว้นบางอย่างที่พวกเราเห็นว่ามันสนุก น้องชอบ มีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ทำ (หรือวันนั้นสมองพี่ๆ มันตันมากแล้ว น้องเล่นกิจกรรมเดิมซ้ำไปก่อนนะ) แต่ก็มีแค่ 2-3 กิจกรรมเท่านั้นที่เอามาจัดซ้ำ ซึ่งน้องส่วนใหญ่ที่เคยทำไปแล้วก็ยังกลับมาทำอีก แปลว่าเราเลือกมาไม่ผิด! เด็กชอบจริง ๆ นะ

    เดิมทีเอกเราเคยพาไปจัดกิจกรรมตามโรงเรียน ตามมูลนิธิิิิิิิิิิิิิิิิิิิิอะไรทำนองนั้นมาก่อน ดังนั้นภาพที่เราคุ้นเคยก็คือ เด็ก ๆ มานั่งตาแป๋วเข้าแถวรอทำกิจกรรมหน้าห้อง มีคุณครูหรือพี่เลี้ยงคอยช่วยคุมอยู่ห่าง ๆ และยังมีอาจารย์ของเอกเรามาคอยให้ความช่วยเหลือ

    แต่ที่นี่มันไม่ง่ายแบบนั้น


    เรื่องวุ่นวายหมายเลข 1 : เงียบ ๆ หน่อยค่าาา

    การใช้เสียงในห้องสมุดถือเป็นเรื่องต้องห้าม ดังนั้นเราก็ต้องคอยคุมน้อง ๆ ไม่ให้เสียงดังจนเกินไปด้วย ถึงแม้ห้อง Kid’s Corner (หรือที่ปกติจะเรียกกันว่าห้องเด็ก) ที่เราใช้ในการจัดกิจกรรมจะเป็นห้องปิด แต่ก็ไม่ใช่ห้องเก็บเสียง ถ้าเสียงในห้องดังเกินไปมันก็เล็ดลอดออกไปนอกห้องได้อยู่ดี และเด็ก ๆ ที่อยู่ในห้องนี้ก็ไม่ได้มีแค่เด็กที่มาทำกิจกรรมกับเรา ยังมีคนที่มานั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน นั่งเล่น หรือวิ่งเล่นอยู่ด้วย

    โดยปกติแล้วน้องกลุ่มที่ทำกิจกรรมอยู่จะไม่ค่อยเสียงดังกันหรอก คนที่เสียงดังจะเป็นกลุ่มที่เล่นกับเพื่อนอยู่มากกว่า บางครั้งเราก็มัวแต่สนใจน้องที่ทำกิจกรรม รู้ตัวอีกทีก็จะมีพี่ยามเข้ามาดุน้องๆ ที่เล่นกันเสียงดัง พร้อมกับขู่ว่าถ้าเสียงดังอีกจะไล่ออกไปนอกห้องเด็ก ไม่ให้เข้ามาอีกเลยนะ ซึ่งพี่ยามไม่ได้แค่ขู่เฉย ๆ นะ แต่ถ้าเห็นคนเดิมทำเสียงดังหรือก่อความวุ่นวายซ้ำ ๆ ก็จะให้ออกไปจริง ๆ เลย ในความรู้สึกเราพี่ยามเขาก็ไม่ได้ดุมากหรือมีท่าทีรุนแรงเกินไปเลย แต่เราคิดว่าน่าจะเป็นเพราะอิมเมจของการเป็นยามมากกว่าที่ทำให้น้องกลัว แค่พี่ยามเดินมาน้องบางคนก็เริ่มสะกิดๆ กระซิบกระซาบกันกับเพื่อนแล้วว่า “ลุงยามมาแล้ว ๆ เบา ๆ หน่อย” ...ทำไมน้องไม่กลัวพี่แบบนี้บ้างอะคะ

    หรือบางครั้งก็เป็นพี่เจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาเตือนน้องเรื่องเสียง น้องก็จะหน้าจ๋อยกันไปเลย ซึ่งพวกเราเด็กฝึกงานทั้งหลายไม่สามารถทำได้ ต่อเราให้เก๊กหน้าโหดหรือทำเสียงเข้มแค่ไหน น้องก็จะเงียบ... เงียบไปสามวิ เพื่อหันมามองว่าใครเป็นคนพูดนะ หลังจากนั้นก็เริ่มส่งเสียงดัง วิ่งไล่กันต่อเหมือนเมื่อกี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น


    เรื่องวุ่นวายหมายเลข 2 : ใจเย็น ๆ นะคะ

    ในเวลาจัดกิจกรรมของที่นี่ เด็กจะค่อย ๆ ทยอยกันเข้ามา บางคนเลิกเรียนปุ๊บก็มาปั๊บ บางคนไปหาอะไรกินก่อนค่อยมา บางคนก็เรียนพิเศษทำให้เลิกช้ากว่าเพื่อน บางคนก็ขึ้นไปเล่มคอมพิวเตอร์ที่ชั้น 3 ก่อนแล้วค่อยลงมา บางคนเห็นเพื่อนทำแล้วอยากทำบ้างถึงจะเข้ามาทำ 

    ดังนั้นพวกเราก็เลยต้องหากิจกรรมที่ใช้เวลาไม่นานมาก และก็ไม่ซับซ้อน สามารถอธิบายหรือสอนซ้ำเป็นสิบยี่สิบรอบได้ (เว่อร์ไหม แต่มันคือเรื่องจริงนะ)

    บางทีกิจกรรมที่เราเลือกมามันเป็นกิจกรรมที่ต้องสอน ต้องคอยดูน้องทุกขั้นตอนอย่างงานประดิิิิิิิิิิิิิิิิิษฐ์หรือพับกระดาษ อันนี้จะวุ่นวายมาก ด้วยความที่น้องเข้ามาไม่พร้อมกัน บางทีเราสอนกลุ่มที่เข้ามาก่อนอยู่ บางทีกลุ่มที่เข้ามาทีหลังก็จะมาวอแว 

    "พี่ ๆๆ ทำอะไรอะ หนูอยากทำบ้าง"  

    "พี่!! สอนหนูก่อนสิ" 

    "เร็ว ๆ สิพี่ แม่ผมจะมารับแล้วนะ"

    "รอนานแล้วนะ เมื่อไหร่จะเสร็จอะพี่!!!"

    ...

    พอเป็นกิจกรรมแบบนี้ ปกติเเล้วเราก็จะแบ่งกันไป เราดูน้องกลุ่มนึง เพื่อนอีกคนคอยสอนอีกกลุ่ม ที่เหลือก็รอรับน้องกลุ่มใหม่นะ ประมาณนี้ ส่วนจำนวนเด็กในแต่ละกลุ่มก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของกิจกรรมด้วย บางอย่างที่ค่อนข้างยากมาก ๆ ก็อาจจะให้พี่คนนึงดูน้อง 2-3 คน หรืออันไหนที่ไม่ยากมากก็อาจให้คนนึงสอนน้องเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ไปเลย ส่วนที่เหลือก็คอยประกบคนที่ทำตามไม่ทัน แต่บางครั้งเด็กเข้ามาพร้อม ๆ กันเยอะมาก พี่ทุกคนก็มีงานอยู่ พอน้องที่มาทีหลังเริ่มโวยวาย พี่ก็ได้แต่ตอบน้องไปว่า 

    “รอก่อนนะ เดี๋ยวพี่สอนเพื่อนกลุ่มนี้เสร็จก่อน” 

    “ใจเย็นๆ นะคะ รอแป๊บนึงนะ”

    น้องก็ไม่ค่อยจะฟังกันเท่าไหร่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากต้องให้น้องรอจริงๆ ให้น้องหาหนังสืออ่าน เล่นกับเพื่อน หรือทำอย่างอื่นรอไปก่อน  จนกว่าจะมีพี่ว่างก็ค่อยเรียกน้องเข้ามาทำกิจกรรมต่อ 

    โดยส่วนตัวเราจะกระวนกระวายมากเวลาที่มีน้องมามุงรอบตัวเราเยอะ ๆ ในขณะที่กำลังสอนน้องอีกกลุ่มอยู่ ดังนั้นตอนที่เราบอกกับน้องว่าให้ใจเย็น ๆ มันก็เหมือนกับปลอบตัวเองไปกลาย ๆ ด้วยนั่นเอง


    เรื่องวุ่นวายหมายเลข 3 : วันนี้จะมีน้องมากี่คนนะ

    ในแต่ละวันเด็กที่จะมาทำกิจกรรมก็จะมีประมาณ 20-30 คน บางวันก็ไม่ถึง 20 คน บางวันที่พีคสุดก็จะมีถึง 40 กว่าคน ถ้าน้อยที่สุดที่เคยเจอก็คือไม่ถึง 7 คน แต่อันนี้เป็นส่วนของกิจกรรมวันเสาร์

    เนื่องด้วยแต่ละวันจำนวนน้อง ๆ ที่มาทำกิจกรรมกับเรามีไม่เท่ากัน ดังนั้นเราก็จะเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาด คือประมาณ 25 ชุด ต่อ 1 วัน ซึ่งก็ตามนั้นเลย บางวันก็เหลือ แต่บางวันก็ไม่พอ ถ้าเป็นกิจกรรมที่ไม่ยุ่งยากอย่าง Activity sheet ก็สามารถไปปริ๊นท์มาให้น้องเพิ่มได้เลย ถ้าเป็นกิจกรรมพับกระดาษหรืองานประดิษฐ์ก็อาจต้องใช้เวลาตัดกระดาษเพิ่มอีกนิด ส่วนใหญ่แล้วกิจกรรมที่เราจัดมันจะไม่ยุ่งยากอยู่แล้ว สามารถหาของมาเพิ่มได้เรื่อย ๆ แค่วิ่งเข้าวิ่งออกห้องเด็กกับห้องเก็บของนิดหน่อย ยกเว้นของที่หมดจากคลังของห้องสมุดแล้วและหาซื้อเพิ่มแถวนั้นไม่ได้

    แล้วก็บางครั้งจะมีน้องที่อยากทำกิจกรรมซ้ำทันทีเลย อย่างเช่น ให้น้องทำงานประดิษฐ์อะไรสักชิ้น น้องบางคนก็จะบอกว่าขอทำอีกได้ไหม จะเอาไปให้พี่ ให้น้อง ให้น้า ฯลฯ เราก็ต้องบอกเขาว่าไม่ได้นะ ของมันมีจำกัด แบ่งให้เพื่อน ๆ คนอื่นที่ยังไม่ได้ทำบ้างนะ ต้องรอจนไม่มีคนมาทำแล้วพี่ถึงจะให้น้องทำอีกอันได้ บางครั้งก็กำหนดเวลาให้เลย เช่น รอห้าโมงก่อนนะ แล้วเดี๋ยวพี่จะให้ทำอีกอัน ซึ่งตรงนี้แม้น้องบางคนจะงอแงอยู่บ้าง สุดท้ายก็ยินยอมให้ความร่วมมือ แต่ก็ยังถามทุกห้านาทีว่า...

    “กี่โมงแล้ว ห้าโมงหรือยังอะพี่”


    เรื่องวุ่นวายหมายเลข 4 : ตอนเด็ก ๆ เรายังทำได้เลย

    จากที่เรียนมาคือเด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการต่างกัน ทักษะและกิจกรรมที่ทำได้ก็จะต่างกัน เวลาคิดกิจกรรมก็ต้องให้เหมาะกับช่วงวัยของเด็็กใช่ไหม แต่ว่าที่นี่มีเด็กตั้งแต่อนุบาล ไปจนถึง ม.ต้น น้องอนุบาลที่เห็นหน้ากันเกือบทุกวันมีอยู่ 3 คน ส่วนน้อง ม. ต้น 2-3 คน ก็นาน ๆ ทีจะเข้ามา  แต่ที่มีเยอะจะเป็นน้องชั้นประถม โดยเฉพาะ ป. 3 ถึง ป. 6 

    ดังนั้นพวกเราก็เลยเลือกกิจกรรมที่อยู่กลางๆ เป็นประถมต้น บางกิจกรรมก็ระดับอนุบาลเลย แต่เป็นอนุบาลของต่างประเทศน่ะนะ... พอมาเป็นเด็กที่นี่ เรารู้สึกว่าทักษะพวกเขาค่อนข้างด้อยกว่า อย่างเช่น เด็ก ป. 4 - 5 ตัดกระดาษพับกระดาษไม่ค่อยได้ เกมเขาวงกตหรือเกมฝึกไหวพริบ การสังเกตอื่น ๆ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้ได้ ทำให้กิจกรรมบางอย่างต้องสอนนานมากกว่าจะเข้าใจ หรือบางอย่างพี่ ๆ ก็ต้องทำให้น้องไปเลย น้องบางคนที่เก่ง ๆ ทำได้ทุกอย่าง หรือสอนแค่ครั้งเดียวแล้วเข้าใจก็มี แต่ก็เป็นส่วนน้อย

    ช่วงแรก ๆ ที่คิดหากิจกรรมมาให้น้องทำ เราจะอิงจากตัวเองในวัยเด็กเป็นหลัก ว่าในวัยนี้เราชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง แต่บางครั้งเราเองก็ลืมนึกไปว่า เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างถ้าเป็นตัวเราเองตอนช่วงประถมปลาย เราก็ตัดกระดาษคล่องแล้ว พับกระดาษเป็นตัวนู้นตัวนี้ตามที่ผู้ใหญ่สอนหรือดูวิธีทำจากหนังสือได้ แต่กับน้อง ๆ ที่เราได้เจอในช่วงฝึกงาน เด็ก ป. 4 บางคนยังตัดกระดาษตามเส้นตรงสั้น ๆ ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ การพับกระดาษที่เราเคยคิดว่าง่ายก็กลายเป็นยากสำหรับน้อง ๆ หลาย ๆ คน ดังนั้นความคิดที่อยากจะทำโอริกามิยาก ๆ เก๋ ๆ อย่างดาบหรือมังกรที่เคยเจอใน YouTube จึงถูกพับไปในทันที 

    จากการคาดเดาของเรา คิดว่าคงเป็นเพราะการเลี้ยงดูเเละสภาพครอบครัวกับสภาพแวดล้อมของเด็กๆ แต่ละคนด้วยส่วนนึง อีกส่วนก็อาจเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้ Smartphone ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ เท่าที่เห็นเด็กที่ห้องสมุดถ้าเป็นเด็กโตหน่อยก็จะมีกันเกือบทุกคน เด็กอนุบาลบางคนยังมีเลย ดังนั้นในเมื่อเด็กสามารถเข้าถึงอะไรที่มันดูน่าตื่นเต้น น่าสนุก มีความหลากหลายมากกว่าผ่านการเล่นเกมหรือดู YouTube ได้ ทั้งยังดูได้เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา แสนสะดวกสบายแบบนี้ เด็กเขาก็จะสนใจแต่เกมกับ YouTube ของเขานั่นแหละ ยากมากที่กิจกรรมหรือการเล่นอื่น ๆ จะดึงความสนใจของเขามาได้


    แต่เหนือสิ่งอื่นใด 

    ของกินชนะทุกอย่าง

    ในการจัดกิจกรรมของห้องสมุดห้วยขวางจะมีขนมให้เป็นของรางวัล หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นตัวล่อให้น้องๆ มาทำกิจกรรมนั่นแหละ ถึงจะเป็นแค่ขนมธรรมดา ๆ แต่เด็กก็ให้ความสนใจ บางคนก่อนที่จะถามว่าวันนี้ทำอะไร ก็จะถามก่อนเลยว่าวันนี้มีขนมไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ทำ หรือบางคนก็ชอบทำเป็นเล่นตัว ไม่ทำดีกว่า...เอ้อ ทำก็ได้ อะไรทำนองนั้น ก็ตลกดี เอ็นดูนะ น้อง ๆ หลาย ๆ คนน่ารักมาก มาทำกิจกรรมทุกวัน บางทีก็รู้สึกเหมือนการที่น้องมาทำกิจกรรมกับเราเป็นการช่วยเราเลย บางทีก็คิดเล่น ๆ นะ ว่าเจ้านายที่แท้จริงของพี่ไม่ใช่พี่เจ้าหน้าที่หรอก แต่เป็นน้อง ๆ ทั้งหลายนี่แหละ


    เรื่องวุ่น ๆ ทั้งหมดนี้ถึงแม้เราจะรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงอะไร เรายังพอรับมือได้อยู่ ทำให้เราได้เรียนรู้วิธีรับมือกับเด็กหลายแบบ น้องบางคนเรียบร้อยว่านอนสอนง่าย บางคนเหมือนจะดื้อแต่พอเตือนไปก็ฟัง บางคนจงใจซนเพื่อปั่นหัวพวกพี่ๆ บางคนก็ดื้อแบบดื้อมากกก พูดอะไรไม่ฟังเลย แต่โชคดีที่แบบหลังนี่มีอยู่แค่ไม่กี่คน ไม่งั้นคงปวดหัวมากแน่ ๆ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in