เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryFayathi Sorap
ศูนย์อาหารกับเงิน 10 บาท ที่หายไป
  •      ขอบ่นหน่อยเถอะ บ่นในฐานะผู้บริโภคธรรมดาๆคนนึง บ่นแม้จะรู้ว่ามันคงไปไม่ถึงความรับรู้ของผู้มีอำนาจ นักข่าว หรือเจ้าของธุรกิจคนไหนก็ตาม
         คิดเสียว่าเป็นความคิดเห็นจากคนใช้บริการคนหนึ่งก็แล้วกัน



         เคยไปกินข้าว(ขอใช้ศัพท์ธรรมดาละกันนะ)ตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้ากันไหมคะ แล้วเคยสังเกตความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งของการให้บริการตามห้างฯบ้างรึเปล่า
         จำได้ว่า สมัยก่อนนั้นน่ะ เวลาเราไปกินข้าวแล้วแลกบัตรแทนเงินสด เมื่อแลกเงินแล้ว แลกเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น เช่น ไปแลกเงิน 100 บาท ก็จะได้บัตรพร้อมเงินในบัตรมูลค่า 100 บาท ไปเลืือกซื้ออาหารการกิน แล้วถ้ากินไม่ถึง 100 บาท เราก็นำบัตรไปแลกคืน เหลือเท่าไหร่ก็ได้คืนเท่านั้น แต่หากเราใช้จนเต็มมูลค่า กรณีนี้เราจะไม่ต้องแลกคืน แต่ร้านค้าร้านสุดท้ายจะเก็บบัตรเราไว้เลยด้วยเหตุผลที่ว่า "เอาไว้เลยนะคะ เงินหมดแล้วค่ะ" เราก็พยักหน้าค่ะๆไป 
         นั่นคือสิ่งที่พบเจอประจำในศูนย์อาหาร

         แต่ยุคนี้ ไม่ใช่
         เดี๋ยวนี้ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งจะตั้งกฎไว้ว่า เมื่อคุณแลกบัตรเงินสดเพื่อซื้อของในศูนย์อาหาร คุณจะต้องจ่ายค่ามัดจำบัตร 10 บาท เพราะฉะนั้น หากคุณแลกเงิน 100 บาท คุณจะสามารถใช้ได้เพียง 90 บาท ส่วนอีก 10 บาท ที่เหลือ จะคืนให้ตอนคุณนำบัตรมาแลกคืน

         ซึ่งเป็นนโยบายที่เราชิงชัง..เป็นอย่างมาก 



         สาเหตุที่เราไม่ชอบนโยบายนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ เพราะเรารู้สึกว่า มันทำให้มูลค่าของเงิน 100 บาท ของเรานั้น ลดลง คิดดูสิ เราต้องการเงิน 100 บาท เพื่อซื้ออาหารนะ แต่พอแลกบัตรปุ๊บ เงิน 100 บาท ของเรา กลับใช้สอยได้เพียง 90 เท่านั้น อย่างนี้ไม่เรียกถูกลดมูลค่าแล้วจะเรียกอะไร
         ถ้าบัตรใบเดียวยังไม่ทำให้ใครรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ลองนึกภาพว่าคุณไปกินข้าวกันเป็นกลุ่มห้าคน แต่ละคนแลกบัตรคนละใบ คราวนี้ แทนที่เงิน 500 บาท จะทำให้คุณซื้ออาหารได้ 500 บาท กลับกลายเป็นว่า พวกคุณมีเงินในการซื้ออาหาร 450 บาท เพราะเงิน 50 บาท ถูกยึดเป็นตัวประกันบัตรห้าใบ..ไปเสียฉิบ ( 50 บาท น่ะ ซื้อข้าวได้จานนึงเลยนะ) 
         แล้วถ้าเราต้องการเสียแค่ 10 บาท เราก็ต้องแลกแค่ใบเดียว ทีนี้ก็รอกันสนุก กว่าคนนั้นจะซื้อเสร็จ แล้วเดินเอาบัตรไปให้คนนี้ คนนี้ซื้อเสร็จ เดินกลับไปที่นั่งเอาบัตรให้อีกคน อีรุงตุงนังกันไปหมดกว่าจะได้อาหารครบ 
         น่าโมโหไหมล่ะ

         เราว่านโยบายแบบนี้เป็นนโยบายเอาเปรียบผู้บริโภค!!



         พอถามพนักงานๆ ก็บอกว่า ค่ามัดจำนี้จะคืนตอนแลกคืนค่ะ ถ้าลูกค้าเก็บบัตรไว้เลย ไม่นำบัตรมาแลกคืนก็จะไม่ได้คืน 10 บาท ส่วนนี้ 

         ประทานโทษ ถามลูกค้าแล้วหรือยังว่า เขาอยากได้บัตรคุณรึเปล่า??? 

         เออ ถ้าบัตรศูนย์อาหารมันเป็นบัตรประเภทเลี่ยมเพชรเลี่ยมทองทั้งแผ่น หรือมีรูปดารา นักร้อง การ์ตูน ชื่อดัง อันสวยสดงดงาม เออ แบบนี้สมควรกลัวว่าใครจะแฮปเอาไป ก็แหม ซื้อบัตรอาหาร 1 ใบ ใช้ให้เหลือ 90 บาท แล้วก็จิ๊กกลับบ้าน เสียไปแค่ 10 บาท ก็ได้รูปคริสเตียโน โรนัลโด, เทเลอร์ สวิฟ, โกฮังจากเรื่องดราก้อนบอล ฯลฯ อะไรแบบนี้ คิดอย่างไรก็คุ้ม
         ถ้าแบบนี้ค่อยน่าหวงหน่อย

         แต่นี่ กะแค่บัตรศูนย์อาหารที่เป็นลายของห้างเอง ใช้ประโยชน์(เท่าที่คิดออก)ได้แค่สองอย่าง คือคั่นหนังสือ กะขีดเส้นแทนไม้บรรทัด 
         ตรูจะเอาไปทำไมไม่ทราบ???! 

         ฉันกำเงินร้อยบาทไปแลกบัตรคุณ เพราะฉันอยากใช้เงิน 100 บาท โว้ย ไม่ได้อยากใช้แค่ 90 บาท 

         ไม่เข้าใจรึไง


         หรือว่าห้างฯเกรงว่า กรณีที่ใช้บัตรหมด แล้วทางร้านค้ายึดบัตรไปเนี่ย ร้านค้าจะไม่ยอมคืนบัตร?

         ก็อีกนั่นแหละ ร้านค้าจะเอาบัตรคุณไปทำไม (วะ) 

         แต่ถ้าหวงจริงๆว่าร้านอาหารต่างๆ พอเก็บบัตรไว้แล้วจะไม่คืน คุณเป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าของกิจการ คุณก็บริหารอำนาจสิ ออกนโยบายสิว่า ร้านค้าที่เก็บบัตรลูกค้าไว้เพราะมูลค่าเงินในบัตรเป็นศูนย์แล้ว ต้องส่งคืนทางศูนย์อาหารนะ ไม่ส่งคืนจะถูกปรับ ถูกลงโทษ ก็ว่ากันไป 

         ไม่ใช่มาลงเอากับผู้บริโภค!! 



         ตอนแรกก็มีห้างสรรพสินค้าเพียงไม่กี่ห้างหรอก ที่ทำแบบนี้ ไปๆมาๆ แทบจะหาห้างฯที่ไม่ทำแบบนี้ได้ยากยิ่ง เจอที่ไหนคืออยากมอบโล่ห์เกียรติคุณให้เลยทีเดียว ในฐานะที่ทำให้เงินเรามีค่าเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

         พอเจอหลายๆแห่งเข้า นี่ก็เริ่มหงุดหงิด ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 

         หรือว่า จริงๆแล้วบัตรศูนย์อาหารมันหายง่ายและบ่อยมากจนต้องออกกฎแบบนี้ 
         ว่าแต่ คนที่จิ๊กบัตรเขากลับบ้านนี่ คุณเอาบัตรไปทำไมคะ สะสม? ทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนนะรู้ไหม 

       
         อยากรู้สาเหตุจริงๆที่ศูนย์อาหารต้องออกกฎแบบนี้เหมือนกัน สาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเอาเปรียบผู้บริโภค อยากรู้ว่ามีไหม 

         ในทางกลับกัน ก็อยากรู้ว่า เมื่อผู้บริโภคไปใช้บริการศูนย์อาหารเหล่านี้ เขาแฮปปี้ดี๊ด๊ากับกฎใหม่ของพวกคุณ หรือเขาหงุดหงิดหัวร้อนแบบเรา
         ถึงจะรู้ว่าหัวร้อนไปก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี 



         เขียนมาถึงตรงนี้ก็เริ่มสงสัยว่า แล้วการออกกฎแบบนี้ของหลายๆบริษัท มันถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมากพอที่จะไปฟ้องร้องเอาผิด หรือเรียกค่าเสียหาย กับทางห้างสรรพสินค้า บ้างรึเปล่า? 
         เป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้ากันต่อไป
         แต่เอ กรณีตามที่เขียนอยู่นี่ ก็ไม่เข้าตามพรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา ๑๓ แฮะ เพราะไม่ได้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ของผู้บริโภคเลย ตกลงฟ้องไม่ได้จริงๆเหรอ??? 

         แต่ก็นะ ประเทศไทยนี่ คนไม่ค่อยจะชอบค้าความกันนัก ไม่แน่ว่าถ้าคนประเทศอื่นที่เขาฟ้องร้องกันเก่งๆ เจอนโยบายแบบนี้เข้าไป จะไปฟ้องร้องให้ห้างฯรับผิดหรือเลิกกฎได้บ้างรึเปล่า

         แต่ห้างฯก็อย่าชะล่าใจไป เดี๋ยวนี้คนหัวหมอมีมากขึ้น ใครเกิดคึกหาความหากฎหมายที่พอเข้ากันได้ฟ้องขึ้นมา คงได้อ่านคดีสนุกๆเพิ่มขึ้น 


     
         ดูเหมือนว่าบทความนี้จะไม่ค่อยมีสาระ มีแต่การบ่นและตั้งคำถาม คงเพราะตอนนี้ยายคนเขียนมันอารมณ์ไม่ค่อยจะดี เพราะปัญหาเยอะ งานก็เยอะ รถก็ติด คนที่เลือกก็ไม่ชนะ โน่นนี่นั่น เยอะแยะไปหมด อย่างไรก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ 

         แต่ก็แค่อยากลงความเห็นไว้หน่อย เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคคนหนึ่งที่มีต่อการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ ว่าเราไม่ได้เห็นด้วยในสิ่งที่คุณทำทั้งหมด ถึงแม้ว่าถึงแม้ตามนิสัยเราจะไม่ได้อยากหาเรื่องกับใครก็ตามที

        
         ทั้งนี้และทั้งนั้น นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว และเป็นการแสดงความเห็นในฐานะผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งเท่านั้น (ฟ้องอาญาตรูไม่ได้ ตรูมีสิทธิพูด และฟ้องแพ่งก็ไม่ได้ ตรูไม่ได้ระบุชื่ออันจะทำให้ใครเสียหาย และสิ่งที่ตรูพูดเป็นความจริง) 
         คุณผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเราก็ได้ มันเป็นสิทธิของคุณผู้อ่าน 

         และดูเหมือนว่า ต่อให้คุณผู้อ่านเห็นด้วยกับยายคนเขียนคนนี้ เราก็คงทำได้แค่บ่นให้กันและกันฟังเท่านั้น ไม่น่าจะทำได้มากกว่านี้


         เกิดเป็นคนก็ต้องอดทนแหละเนาะ

     
         สวัสดี


         ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่
         https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html
         ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
          จนกว่าจะพบกันใหม่
          สวัสดีค่ะ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in