เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรียนรู้..เติบโต..บอกเล่าEndless
แฟชั่นกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
  •      ภาพลักษณ์ภายนอกเรียกได้ว่าเป็น first impression ของตัวบุคคลเลยก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่อยู่ภายในไม่ว่า จะเป็นความคิดและทัศนคติก็มีผลต่อภาพลักษณ์ภายนอกเช่นกัน ในหลายครั้งการเลือกเสื้อผ้าก็เป็นไปเพื่อสร้างอัตลักษณ์ เรียกได้ว่าเสื้อผ้าเปรียบเสมือนช่องทางหนึ่งที่ทําให้ผู้สวมใส่สามารถตอบสนองต่อความคิดความต้องการของตนเองได้ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายไม่เพียงแต่เป็นวัตถุเท่านั้นแต่มันกลายเป็นสิ่งที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น รสนิยม การดําเนินชีวิต ชนชั้นทางสังคมและกรอบความคิดทางสังคม

         

         ในปัจจุบันมิติทางด้านเพศมีความเปิดกว้างมากกว่าในอดีต ค่านิยมเดิมๆถูกนํากลับมาคิดทบทวนใหม่จนนํา ไปสู่การเปิดกว้างด้านจุดยืนของตัวบุคคลในการแสดงออกอย่างเสรีไม่ว่าจะทางด้านเพศหรือการแต่งตัว ทําให้แฟชั่น หรือแบรนด์ต่างๆเริ่มหันมาให้ความสนใจในการออกแบบเครื่องแต่งกายที่เป็น “Unisex” เพิ่มขึ้น ถ้าพูดอย่างเข้าใจ ง่ายก็คือ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ ไม่มี เพศมาเป็นข้อจํากัด ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงว่าจะต้องชายหรือหญิงเท่านั้น ที่สามารถสวมใส่ได้ ทําให้ฉีกกฎไปจากค่านิยมเดิมๆที่ผู้ชายจะต้องสวมกางเกงและกระโปรงเป็นของคู่ควรสําหรับผู้หญิงเท่านั้น ในบางกลุ่มของผู้มีอิทธิพลทางด้านสื่อได้นําแฟชั่น Unisex มาสวมใส่ในชีวิตประจําวันหรือการออกงานต่างๆ ทําให้เกิดแรงขับเคลื่อนบางอย่างทางสังคมอย่าง เจมส์ ธีรดนย์ หรือ เจมี่เจมส์ ดาราวัยรุ่นที่หันมาแต่งตัวสไตล์unisex มีการใส่รองเท้าส้นสูงหรือเครื่องประดับอย่างเช่นต่างหู สร้อยคอที่เด่นชัดมามิกซ์แอนด์แมตซ์ได้อย่างลงตัว และเจ้าตัวยังบอกอีกว่า “แฟชั่นคือสิ่งที่เราใส่แล้วมั่นใจและรู้สึกสนุกไปกับมัน เครื่องประดับมันก็คือเครื่องประดับ บางชิ้นมันคงไม่ได้ทำมาแค่ผู้หญิงเพียงเท่านั้นมันอยู่ที่ว่าเราจะหยิบมาใส่หรือเปล่า” ต่อด้วย Ezra Miller นักแสดงมากความสามารถ หรือเป็นที่รู้จักกันดีในภาพยนตร์ Fantastic Beasts ที่มักจะมีแฟชั่นให้ตื่นตาตื่นใจและประทับใจอยู่เสมอ เขาเองเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเปรียบเรื่องเพศของเขาเป็นเหมือน “ของเหลว” และเขาพอใจกับสรรพนามทั้งหมดไม่ว่าคุณจะเรียกเขาอย่างไร ทำให้แฟชั่นของเขาในการออกงานแต่ละครั้งเป็นที่ฮือฮาและนั่นเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าเขาได้ก้าวข้ามขอบเขตของแฟชั่นที่เอาเพศมากำหนดและตีกรอบไว้ ซึ่งทั้งสองบุคคลที่ยกมานี้ไม่เพียงแต่ก้าวข้ามขีดจำกัดทางด้านเสื้อผ้าเท่านั้นแต่ในการดูแลผิวพรรณ การแต่งหน้า พวกเขาเองก็ให้ความสนใจเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันการแต่งหน้าหรือการลุกขึ้นมาดูแลผิวพรรณตัวเองมันไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้นแต่ทุกคนสามารถทำมันได้ตราบเท่าที่ทุกคนอยากทำ เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายบุคคลที่ไม่ได้พูดถึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิมๆไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแต่งหน้า การแต่งกายหรือ ในเรื่องของทัศนคติ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีแม้บางคนอาจจะไม่ได้มีพื้นที่สื่อหรือเป็นผู้มีอิทธิพลทางด้านสื่อมากนักแต่จงเชื่อมั่นว่าคุณคือกระบอกเสียงที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

         หากมองในมุมมองทางปรัชญาแล้วอาจทําให้นึกถึงคํานิยามของGilles Lipovetsky ที่ว่า แฟชั่น คือ เครื่องมือทางสังคมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สามารถส่งผลกระทบต่อเราทุกคนได้ทั้งด้านความคิดและค่านิยม ในสมัยก่อนทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะถูกตีกรอบด้วยค่านิยมทางสังคมทําให้ใครก็ตามที่คิดจะแตกแถวต้องโดนข้อครหาจากสังคมจนกลายเป็นแรงกดดัน ผู้ชายต้องแต่งกายให้ดูเป็นผู้นําสุขุมส่วนผู้หญิงต้องแต่งกายด้วยชุดที่อ่อนโยนเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ 



         ในปี1914 กาเบรียล โคโค่ ชาแนล (Grabrielle Coco Chanel) ผู้ซึ่งคิดนอกกรอบและผลักดันให้
    ผู้หญิงหันมาใส่กางเกงซึ่งสวนทางกับกระแสหลักในช่วงนั้นที่ผู้หญิงต้องใส่คอเซ็ทและกระโปรงสุ่ม และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เลยก็คือ คอลเลกชั่น Le Smoking ของอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) นักออกแบบหัวสมัยใหม่ใน ปี1966 ซึ่งคอลเลกชั่นนี้ถือว่าเป็นการนําชุดที่ดูแข็งแกร่งซึ่งปกติผู้สวมใส่มักเป็นผู้ชายอย่างชุดทักซิโด้มาดัดแปลงให้เข้ากับสรีระของผู้หญิง จนกลายมาเป็นอิทธิพลอย่างต่อเนื่องในวงการแฟชั่น อย่างคอลเลคชั่น Men’s Skirt ของRick Owens , Gucci , Puma , Balenciaga เป็นต้น หากเรายังยึดติดอยู่กับค่านิยมเดิมๆไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความล้าหลังแต่อาจส่งผลไปถึงวงการและวัฏจักรแฟชั่นที่วนเวียนอยู่กับลูกเล่นเดิมๆไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใส่สูทของผู้หญิงหรือการใส่กระโปรงของผู้ชายในปัจจุบันจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแสดงจุดยืนทางสังคม เช่น เทรนด์ที่เคยเป็นกระแสอย่าง Androgynous หรือการแต่งกายไม่ตรงตามเพศสภาพเพื่อเป็นกระบอกเสียงส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมและเพิ่มความหลากหลายในโลกแฟชั่น 

         ด้วยความที่โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การใช้เพศสภาพมากําหนดบทบาทและการแต่งกายของตัวบุคคลอาจนับได้ว่าเป็นเรื่องที่ล้าหลัง ทุกวันนี้เราไม่ได้บริโภคเพียงวัตถุเท่านั้นแต่มันอาจหมายถึงการบริโภคสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแสดงจุดยืนไม่ใช่แค่เพื่อสร้างอัตลักษณ์อีกต่อไป และสิ่งที่เราหวังไว้อย่างยิ่ง คือ ไม่ปล่อยให้กระแสเหล่านี้เป็นเรื่องชั่วขณะ แต่ให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ทําให้หลายคนสลัดทัศนคติและค่านิยมเดิมๆทิ้งไป และการแต่งกายในลักษณะข้างต้นที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เพียงความเท่าเทียมทางเพศแต่มันหมายถึงความเท่าเทียมในการเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in