เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
No Cat Killed แมวตัวไหนที่ความสงสัยฆ่าrainbowflick17☂️
แกะวัฒนธรรมการทานอาหารหน้าสิ่งบันเทิง
  • ตำราลดน้ำหนักไม่เคยแนะนำการทานอาหารไปด้วยดูอย่างอื่นไปด้วย เพราะจะทำให้ทานมากกว่าปกติอย่างน้อย 1 ใน 3 เท่าโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงอย่างนั้น การยกข้าวไปกินหน้าทีวีก็ดูจะดึงดูดใจมากกว่ากินในครัวเป็นไหน ๆ คำถามที่น่าสงสัยจริง ๆ คือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เราไม่ยอมแตะมาม่าในถ้วยจนกว่าจะได้เปิดแลปท็อปเลือกซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ก่อน


    Virtual Socializing (การเข้าสังคมแบบเสมือนจริง)

    ถึงแม้จะยังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่าการเป็น "สัตว์สังคม" มีส่วนในการทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ขึ้นมา

    สังเกตได้ว่า ความรู้สึกอยากดูซ๊รีย์ไปด้วยทานข้าวไปด้วยคงไม่ได้รุนแรงมากเท่าไหร่ หากนั่งอยู่ในร้านอาหารกับเพื่อน (ถึงแม้ต่างคนอาจจะก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์ก็เถอะ) เพราะมีคนให้คุยด้วยอยู่แล้ว และการคุยนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความบันเทิงที่เราทำระหว่างจัดการกับอาหารบนจาน หรือถึงแม้จะไม่คุยกับเพื่อนเลย อย่างน้อยก็รู้ว่าฝั่งตรงข้ามมีคนอื่นอยู่ 

    คนอื่นในที่นี้จึงทำหน้าที่เป็นคนที่บอกว่าเรากำลังมีปฎิสัมพันธ์กับใครซักคน ซึ่งทำให้สัตว์สังคมอย่างเรารู้สึกสบายอกสบายใจขึ้นมา

    ถ้าพูดถึงวัฒนธรรม ในหลาย ๆ วัฒนธรรมก็ใช้เวลาบนโต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทานข้าว หรือหลังทานข้าว ในการพูดคุยสร้างปฎิสัมพันธ์กันด้วย


    *ที่ประเทศสเปนมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า Sobremesa (แปลตรงตัว Sobre = บน/เกี่ยวกับ ก็ได้ , Mesa = โต๊ะ) ซึ่งหมายความว่าหลังจากรับประทานอาหารแล้วก็จะยังนั่งต่อเพื่อพูดคุย คนไทยเองก็ชอบไม่ต่างกัน หรือคนจีน (เท่าที่เคยได้ยิน) ถึงจะไม่นิยมพูดเรื่องงานธุรกิจสำคัญ ๆ แต่ก็นิยมพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบเรื่องทั่ว ๆ ไป 
    (ภาพจาก Unsplash.com โดย Marvin Meyer)

    ดังนั้นเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และต้องทานข้าวคนเดียว เราจึงหันไปหาอะไรซักอย่างมาดู อาจเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว หรือเพื่อให้ตัวละครในเรื่องที่เรากำลังดูทำหน้าที่เป็นเหมือนคนหรือกลุ่มคนสมมุติที่เราอยู่ด้วย ซีรีส์จึงเข้ามาแทนที่ความรู้สึกเวลาได้ใช้เวลาร่วมกับใครซักคน เป็นการมีส่วนร่วมในสังคมแบบอ้อม ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของสัตว์สังคมนั่นเอง 

    ชาร์ล สเปนซ์ (Charles Spence) อาจารย์วิชาจิตวิทยาเชิงทดลอง (Experimental psychology) ที่ออกซ์ฟอร์ด เจ้าของหนังสือ Gastrophysics: The New Science of Eating ออกความเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เราอยากทานข้าวหน้าโทรทัศน์ โดยในโลกที่การทานอาหารกันพร้อมหน้าเป็นครอบครัวลดน้อยลง และคนใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้น  ทำให้คนต้องพยายามหาอะไรทำระหว่างทานอาหาร และคำตอบไปหยุดอยู่ที่การเปิดทีวีไม่ก็เปิดคอมพิวเตอร์ (oduntan, 2018)



  • ผลจากการทานระหว่างดู

    ถึงจะไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าทำไมเราชอบทานไปด้วยดูไปด้วย แต่ผลของการทานไปด้วยดูไปด้วยมีการศึกษากันมากมาย และมีคำตอบชัดเจน  เช่นทำให้
    • รับประทานอาหารเยอะขึ้น 
    • มีแนวโน้มทำให้อยากทานจุบจิบ เพราะไม่ได้ทานอย่างตั้งใจ ความรู้สึก 'พอใจ' ขณะทานจึงลดลงไป โดยเฉพาะความรู้สึกพอใจจากรสชาติของอาหาร ทำให้อาจจะอยากทานใหม่หลังจากนั้น

    (ภาพจาก unsplash.com โดย JESHOOTS.COM)


    Interesting related topic

    • - 먹방 (Mukbang) ไลฟ์ทานอาหาร วิดิโอทานอาหารโชว์ที่ฮิตในเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงปลาย 2000s 

  • References

    Enforex.com. (2019). La cultura de la sobremesa. [online] Available at: https://www.enforex.com/espanol/cultura/sobremesa-espana.html [Accessed 8 May 2019].

    Oduntan, C. (2019). Why We Can't Stop Looking at Our Screens When We Eat. [online] Vice. Available at: https://munchies.vice.com/en_uk/article/7xeyaz/why-we-cant-stop-looking-at-our-screens-when-we-eat [Accessed 8 May 2019].

    YouTube. (2019). Why you shouldn't watch TV while you eat. [online] Available at: https://www.youtube.com/watch?v=5am_C6ki67I [Accessed 8 May 2019].

    ภาพหน้าปก Unsplash ถ่ายโดย @Charlesdeluvio 

    ส่วนที่แปล แปลและเรียบเรียงส่วนไหนผิดขออภัยล่วงหน้า ทักมาบอกได้เลยนะคะ 


     Contact / ช่องทางการบอก 
    Twitter direct message : @rainbowflick17

    E-mail : [email protected]


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Lynli (@lynli)
ฮืออ เป็นความรู้เลยค่ะ ขอบคุณนะคะะ