ความสุขต่างรูปแบบของเด็กวัยรุ่น ที่แบกความรับผิดชอบไว้ต่างกัน
เพื่อน หรือเรียนกวดวิชาอย่างหนักเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ในช่วงเวลานั้นของเด็กสาวที่กำลังจะแนะนำให้รู้จัก เธอต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ออก และผันตัวเป็นผู้นำครอบครัว ที่ประกอบไปด้วยเธอและแม่ แต่ก่อนจะไปพูดคุยกับเธอ เราได้พูดคุยกับสามนักเขียนสาวของบันบุ๊คส์ถึงช่วงวัยนั้นด้วยว่าเขาทำอะไรกันอยู่
บันบุ๊คส์: ตอนอายุ 16 ทำอะไรกันอยู่บ้าง
ปลารี่: (พัชรกันย์ พิศาลสุพงศ์) เราเรียนอยู่ ม.5 นะ ตอนนั้นไม่ค่อยมีอะไรให้ทำมาก เรื่องที่จำได้ก็มีเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ เป็นสมาชิกเว็บบอร์ดการ์ตูนอยู่สองสามที่ ก็สนุกดีที่ได้คุยกับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน แล้วก็เป็นช่วงที่ msn กำลังพีคๆ ก็ได้รู้จักเพื่อนหลายคนทางอินเทอร์เน็ตที่ยังติดต่อถึงปัจจุบันนี้
แพร: (ฉัตรพร นิลธรรมชาติ) ช่วง 15 หยกๆ 16 หย่อนๆ เป็นช่วงที่เราต้องเริ่มตัดสินใจแล้วว่าจะเรียนคณะอะไร เหมือนเป็นช่วงเวลาที่ชี้ว่าเราจะเฉพาะด้านไปทางไหน เราเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ และตัดสินใจว่าจะเรียนศิลปะนี่แหละจะได้ไม่ต้องอ่านหนังสือ ตอนนั้นก็วุ่นอยู่กับเรื่องการตัดสินใจเข้าเรียนนี่แหละ
พัดชา: (พัดชา เอนกอายุวัฒน์) ตอนนั้นสิ่งที่ดูจะเป็นโจทย์ยิ่งใหญ่ในโลกรอบตัวเรา คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จากที่เป็นเด็กชิลๆ ก็ต้องมาถามตัวเองละว่าจะเอายังไง หลังจากครุ่นคิดก็ ตัดสินใจแน่วแน่ว่า 'ฉันจะเรียนคณะดนตรี!' ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้เรื่องดนตรีสากลอะไรกับเขาเลย ไม่มีใครคิดว่าพัดชาที่แค่อ่านโน้ตยังไม่เป็น โมสาร์ต บีโทเฟ่นก็ไม่รู้จัก จะมีทางเอ็นท์ฯ ติดได้เลย (ขนาดพัดชาเองมันยังคิดว่าสอบไม่ผ่านแน่ๆ)
มาถึงคิวของ พาย—ภาริอร วัชรศิริ หญิงสาวสุดสตรองที่มาพร้อมความร่าเริง ลุคเฮฮาสนุกสนาน แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าเธอต้องเข้มแข็งมากขนาดไหนเมื่อชีวิตของเธอพลิกผันจนแทบตั้งตัวไม่ทันบันบุ๊คส์: พายตอนอายุ 16 ชีวิตเป็นยังไง
พาย: ตอนอายุ 16 เหรอ เรากำลังปรับตัวขนานใหญ่อยู่ คือปีนั้นเป็นปีที่แม่เราป่วยเป็นอัมพฤกษ์ เราอยู่กับแม่สองคนนะ เลยจัดว่าเป็นปีที่พีคมาก มีครบทุกอารมณ์ ตั้งแต่ดิ่งสุดที่แม่ป่วย ไปจนถึงดีใจที่แม่รอด ทดสอบจิตใจมาก ได้ลองเรียนรู้และทำอะไรด้วยตัวเองหลายอย่าง ตั้งแต่เช็ดบ้านไปจนถึงเช็ดอึแม่ แถมยังต้องรับผิดชอบชีวิตให้ได้เหมือนกับเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเรื่องเงินหรือเรื่องเวลาก็ต้องบริหารให้ได้ด้วยตัวเองทั้งหมด
บันบุ๊คส์: โห...ถือว่าหนักมาก วัยรุ่นช่วงนั้นถ้าไม่ติดเพื่อนก็ต้องคิดเรื่องเรียนต่อมหาวิทยาลัย
พาย: ใช่ เพื่อนถือว่าเป็นอีกเรื่องหลักๆในชีวิตตอนนั้น ก็บอกลากันได้เลย เรากลับบ้านดึกไม่ได้ ไปค้างบ้านเพื่อนนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เลิกเรียนก็กลับบ้านอยู่กับแม่ ส่วนเรื่องเรียนต่อ ตอนนั้นหัวเราแบลงก์เลยอ่ะไปมีสติรู้ตื่นอีกทีคือ ม.6 ว่าอ้าวซวยละ ตกลงยังไงนะ มาโฟกัสแบบพีคๆ เลยคือ ม.6 แล้วพอตอนสอบแอดมิชชั่นเราก็หดหู่อีก เราดูคะแนนแล้วรู้แน่ๆ ว่าถ้าเลือกธรรมศาสตร์ติดแน่เป็นคณะที่เราอยากเรียนด้วย แต่มันดันไกลมาก แม่ก็เป็นแบบนี้ก็ไปไม่ได้ มันเป็นฟีลแบบ นี่ฉันไปธรรมศาสตร์ได้ แต่ฉันก็ไปไม่ได้ (ฮา)
บันบุ๊คส์: เฟลมั้ย
พาย: ช่วงแรกๆ เราออกแนวเครียดเพราะปรับตัวไม่ได้มากกว่า เราติดอยู่กับความหดหู่ มันมองไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นลู่ทางว่าแม่จะหายหรือดีกว่านี้ นึกออกไหมเวลาเพื่อนชวนไปไหนเราก็กลับดึกไม่ได้น่ะ ก็หดหู่แบบถ้าขนาดตอนนี้ยังไม่ได้แปลว่าไม่ได้ตลอดไปเลยรึเปล่า แบบไม่สามารถออกไปไหนกับเพื่อนได้ ไปเที่ยวค้างคืนก็ไม่ได้ตลอดเหรอ
บันบุ๊คส์: ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ยังไง
พาย: เหมือนต้องทำอะไรอยู่ฝ่ายเดียวนะ คือแม่ไม่ตอบสนองทางอารมณ์ใดๆ เลย เราโกรธ เสียใจ เครียดอะไรก็เพียงลำพังจริงๆ แม่ไม่สามารถช่วยได้ เพราะเขาอยู่ในสภาพที่ยังไม่ฟื้นตัวดีแบบสมบูรณ์ เหมือนเป็นความสัมพันธ์ฝ่ายเดียวแบบไม่มีการตอบกลับ
ตอนนี้อายุ 25 แล้ว เคยคิดมั้ยว่าเราจะผ่านมันมาได้ อะไรทำให้ผ่านมันมาได้
พาย: คือช่วงนั้นเราว่ามันเป็นปีแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดนะ เด็กไทยพูดอังกฤษไม่ได้ถูกส่งไปเมืองนอกจนพูดได้ฉันใด เราว่าสัญชาตญาณการเอาตัวรอดก็สอนให้เราทำได้ฉันนั้น (ฮา) เป็นฟีลแบบสู้ทั้งน้ำตา รู้สึกเหมือนแบกแม่ขึ้นหลังแล้วเดินขึ้นเขาคือจะเลือกทิ้งแม่แล้ววิ่งตัวปลิวไปก็ได้แต่ใจจริงๆ ทำไม่ลงหรอกเพราะแม่ไม่ได้เลี้ยงมาแบบนั้น อารมณ์ว่า เอาวะ! ถ้าไม่ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ ก็ต้องตายมันตรงนี้แหละ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องผ่านไปให้ได้ไง มันเป็นชอยส์เดียวที่มี (ฮา)
พาย—ภาริอร วัชรศิริ กับเรื่องราวที่ผ่านมาในช่วงชีวิตที่คอยบอกตัวเองตลอดว่า เอาวะ ฉันไหว ต้องไหวดิ เรื่องราวเต็มๆ ของพายจะถูกบันทึกลงใน ‘How i love my mother’ ความเรียงเล่มแรก ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กสาวที่มีแม่คอยตามดูแลทุกฝีก้าว กลับกลายสลับบทบาทฉับพลันเมื่อแม่ที่เป็นเสาหลักในครอบครัวเกิดล้มป่วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องที่เจอทั้งเหนื่อยและหนัก แต่ไม่ดราม่าแน่นอน เพราะพายเลือกที่จะมองและพูดถึงชีวิตของตัวเองกับแม่ในมุมที่ทำให้คุณหัวเราะและยิ้มให้กับเรื่องที่น่าร้องไห้ได้อย่างน่ารัก
พบเรื่องเต็มๆ จากพายที่งานสัปดาห์หนังสือฯ บูธบันบุ๊คส์ Y07 ตั้งแต่ 29 มีนาคม - 10 เมษายน 2559 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in