เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หนังชีวิตI-love-thee
Our Youth In Taiwan ทานตะวันตัวร้ายกับ(นาย)เผด็จการ
  • Our Youth In Taiwan คือหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่ฉายในงานเทศภาพยนตร์สารคดีไต้หวัน2019 (Taiwan Documentary Film Festival In Thailand 2019) ที่จัดขึ้นตั้งแต่ 30 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน ผลงานการกำกับของ Fu Yue ที่เล่าเรื่องราวของ ไช่ ป๋ออี่ (Cai Bo Yi) และ เฉิน เว่ยถิง (Chen Wei Ting) 2นักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษาทานตะวัน (Sunflower Student Movement) ที่เกิดขึ้นในไต้หวันช่วงปี 2014 โดยสารคดีนี้ได้เริ่มเล่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2013 จนถึงปัจจุบันคือราวๆปี 2018

    'ป๋ออี่' เป็นนักศึกษาจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้มีโอกาสมาเรียนที่ไต้หวันเธอได้พบเห็นสิ่งต่างๆมากมายที่ผิดแผกไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของเธอประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆระดับท้องถิ่นอย่างการเวนคืนที่ดิน การขึ้นค่าเทอมไปจนถึงเรื่องระดับประเทศอย่างความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ (Cross-Strait Service Trade Agreement)

    ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนการต่อต้านรัฐบาลจีนแบบอ้อมๆเธอมักจะเข้าร่วมการชุมนุมอยู่ร่ำไปถึงแม้ว่ามันจะสุ่มเสียงต่อสถานภาพการเป็นคนต่างชาติบนดินแดนนี้ก็ตามหลายครั้งต้องปกปิดใบหน้า หรือถือกล้องถ่ายภาพเหตุการณ์ในฐานะของผู้สังเกตการณ์ทั้งๆที่ในใจเธออยากจะทำมากกว่านั้นก็ตาม เธอเขียนทั้งบทความและหนังสือ 'I Am in Taiwan' ที่บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้มาสัมผัสความเป็นประชาธิปไตยในไต้หวันโดยเธอหวังว่าการกระทำของเธอนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศบ้านเกิดของเธอให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างใจต้องการ

  • ส่วน 'เว่ยถิง' คือนักศึกษาชาวไต้หวันที่เป็นดาวเด่นผู้ยืนหยัดต่อต้านจีนที่มักจะได้เห็นเขาเป็นหนึ่งในแกนนำหรือทัพหน้าแทบทุกครั้งเมื่อมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลจีน ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในแกนนำขบวนการนักศึกษาทานตะวันที่เข้ายึดสภานิติบัญญัติไต้หวันในปี 2014 ด้วยเช่นกัน เว่ยถิงได้เดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่รวมถึงฮ่องกงด้วยเช่นกันเพื่อเรียนรู้สถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งเขาก็พบว่าเมื่อเทียบกันแล้วทั้งฮ่องกงและจีนเองยังถือได้ว่ามีอิสระในการแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารงานของรัฐบาลน้อยไต้หวันในตอนนั้น

    เว่ยถิงยังเคยได้พบกับ 'โจชัว หว่อง' ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการร่มที่เกิดขึ้นในฮ่องกงที่เราคุ้นเคยกันดีซึ่งถ้าจะบอกว่า โจชัว หว่อง คือ เว่ยถิง สาขาฮ่องกงก็คงไม่ผิดนัก แต่จากสารคดีนี้ทำให้เราได้รู้ว่าทั้งสองคนนี้มีคาแรกเตอร์ในการทำงานที่ต่างกันถึงแม้จะมีอุดมการณ์เดียวกันก็ตาม ในขณะที่เว่ยถิงเป็นเหมือนกระทิงเลือดร้อนที่บุกแหลก แต่โจชัวกลับดูสุขุมกว่ารู้ลิมิตของความเป็นไปได้และมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน

    นอกจากเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้วเรายังได้เห็นความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ป๋ออี่ ที่เป็นนักศึกษาจีนได้มาเข้าร่วมขบวนการนี้เพื่อประชาธิปไตยเช่นเดียวกับชาวไต้หวัน แต่เธอกลับต้องทนฟังคำปลุกระดมและด่าทอคนจีนซึ่งก็รวมถึงตัวเธอด้วยจากปากของคนพวกนี้อยู่ร่วมสัปดาห์ เธอลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานสโมสรนักศึกษาแต่กลับถูกกีดกันเพราะเชื้อชาติที่ต่างจากพวกเขา

  • เว่ยถิงเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่แกนนำรวมถึงตัวเขาได้ทำลงไปนั้นก็ไม่ต่างจากสิ่งที่รัฐบาลทำเมื่อผู้ร่วมอุดมการณ์มีจำนวนมากและมีความคิดที่แตกออกเป็นหลายทาง การจะฟังความคิดเห็นของทุกคนและนำมาใช้ดูเป็นเรื่องยาก และเริ่มรู้สึกว่าความประชาธิปไตยที่แท้จริงมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด รวมไปถึงสิ่งเลวร้ายที่เขาเคยทำมาในอดีตส่งผลให้เขาไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจจริงแค่ไหนก็ตาม

    หนังยังแสดงออกถึงความ coming-of-age ของซับเจกต์ทั้งสองที่เริ่มรู้สึกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เขาและเธอต้องการนั้นดูจะใหญ่เกินตัวและเป็นไปได้ยาก จึงทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะไม่เดินทางต่อในเส้นทางสายนั้น แต่กลับเลือกที่จะทำมันในรูปแบบที่พวกเขาพอจะทำได้แทน ซึ่งสะท้อนให้ Fu Yue ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้เข้าใจว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตัวเราในตอนนี้กับตัวเราในอีกห้าปีข้างหน้าอาจจะไม่ใช่คนเดียวกัน เพราะฉะนั้นอย่าได้คาดหวังกับอนาคตหรือเลือกที่จะฝากความหวังไว้กับคนอื่น




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in