เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Art Supplies Review太閤 名人
[REVIEW] #รีวิวสีน้ำ Rembrandt กล่อง 24 สี ดีงามอย่างไรก็บอกต่อ
  • สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ดาสก็ห่างหายไปนานสำหรับการเขียนรีวิวเลยนะคะ
    ที่หายไปเพราะว่าไปเก็บข้อมูลจะมาเขียนรีวิวสีน้ำตัวนี้อยู่ค่ะ
    น่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่จะมาเขียนรีวิวสีน้ำเกรดอาร์ตติสแบบจริงจังเลยล่ะค่ะ
    ณ ตอนที่เขียนนี่ก็กำลังกังวลอยู่ว่าจะเขียนผิดเขียนถูกมั้ย
    ถ้าผิดพลาดประการใดก็รบกวนช่วยบอก เตือนเราให้แก้ไขด้วยนะคะ
    ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ ^^


    สีน้ำยี่ห้อ Rembrandt นี้เป็น 1 ในแบรนด์ย่อยจากแบรนด์ใหญ่ Royal Talens
    ที่ผลิตอุปกรณ์ศิลปะมากมาย อาทิเช่น สีน้ำ Van Gogh, 
    ปากกาตัดเส้นกันน้ำ Sakura Pigma หรือแม้แต่สีน้ำ Sakura Koi



    ข้อมูลเกี่ยวกับยี่ห้อและแหล่งหาซื้อ


    สีน้ำ Rembrandt ที่เราซื้อมาเป็นแบบกล่องเหล็ก 24 สี
    ซื้อจากร้านสมใจ เมญ่า เชียงใหม่ในราคา 3,500 บาท
    (ได้รับส่วนลดจากบัตรสมาชิกอีก 5% เหลือ 3,325 บาท)

    นอกจากนี้ยังมีขายที่ร้าน CWArt ทุกสาขาและทางออนไลน์อีกด้วย

    รูปร่างหน้าตากล่องภายนอกค่ะ ดูสวยหรูเลยทีเดียว

    ถอดกระดาษด้านนอกออก
    ตัวกล่องเป็นกระดาษแข็งทับด้วยกระดาษสีดำอีกชั้นหนึ่งค่ะ

    ภายในกล่อง หรูจนสามารถนำไปเป็นกล่องของขวัญได้เลยนะเนี่ย

    ด้านใต้มีคำคมเล็กน้อย


    *จริง ๆ ยี่ห้อนี้แถมพู่กันขน Red Sable เบอร์ 6 มาด้วยค่ะ
    แต่ยังไม่มีความรู้เพียงพอจะเขียน จึงขอไม่พูดถึงนะคะ*
    แหล่งหาซื้อพู่กัน Red Sable > CWArt

    ไหนมาดูตัวกล่องสีบ้าง...
    จะสังเกตได้ว่าเนื้อสีจะเงาสะท้อนแสง
    และอัดก้อนมาแข็ง ไม่เหลวเกาะขอบแพน

    เนื้อสีดูเงามาก คล้าย ๆ กับเนื้อพลาสติกเลย
    และจะมีโค้ดสีพิมพ์ติดแพนไว้

    กล่องเหล็กด้านนอกเคลือบด้วยสีดำด้าน
    ด้านในเป็นเคลือบสีขาวสีนวลเพื่อให้มองสีที่ผสมได้ง่าย
    จุดหมุนของกล่องมีความแข็งแรงทนทาน

    หลุมผสมสีของด้านที่มียี่ห้อมี 5 หลุมใหญ่
    และหลุมของอีกด้านมี 12 หลุ่มเล็ก





    ชาร์ตสีจากเว็ปของ Royal Talens นะคะ

    สามารถไปดูภาพขนาดใหญ่ได้ที่ > คลิก 


    จากในชาร์ตด้านบนนี้จะเป็นชาร์ตของทุกสีที่มีขายนะคะ
    ส่วนโค้ดสีของแบบกล่องเหล็ก 24 สี มีดังนี้

    207 Cadmium Yellow Lemon 
    208 Cadmium Yellow Light 
    210 Cadmium Yellow Deep 
    211 Cadmium Orange 
    227 Yellow Ochre 
    238 Gamboge 
     303 Cadmium Red Light 
    306 Cadmium Red Deep 
    336 Permanent Madder Lake 
    366 Quinacridone Rose 
    408 Raw Umber 
    409 Burnt Umber 
    411 Burnt Sienna 
    416 Sepia 
    506 Ultramarine Deep 
    508 Prussian Blue 
    511 Cobalt Blue 
    534 Cerulean Blue 
    616 Viridian 
    645 Hooker Green Deep 
    662 Permanent Green 
    708 Payne’s Gray 
    532 Mauve 
    623 Sap Green 

    ชาร์ตสีในกล่อง 24 สีค่ะ
    ภาพบนเป็นชาร์ตสีแบบสแกน ส่วนภาพล่างเป็นแบบถ่ายด้วยกล้องมือถือ




    อันนี้วิธีอ่านข้อมูลในชาร์ตสีของยี่ห้อนี้ค่ะ
    Payne's Grey = ชื่อสี
    +++ = ความทนแสง ซึ่งมีเครื่องหมาย + 3 ตัวหมายความว่าสามารถเก็บรักษาภายใต้สภาพแวดล้อมในพิพิธภัณฑ์ได้มากกว่า 100 ปี
    708 = หมายเลขของสี
    เครื่องหมายสี่เหลี่ยมมีเส้นทแยงตรงกลาง = เป็นคุณสมบัติแบบกึ่งใส ซึ่งสีที่มีคุณสมบัตินี้มีเพียง 26 สี ที่เหลือทั้งหมดจะเป็นคุณสมบัติแบบค่อนข้างใส
    1 = เลขบอก Series ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวกำหนดราคาด้วย ยิ่ง Series สูงยิ่งมีราคาแพงขึ้น
    PBk6/PB15 = เป็นหมายเลข Pigment ที่ถูกผสมในการผลิตสีนี้ โดย PBk หมายถึง Pigment Black และ PB หมายถึง Pigment Blue เลขที่ตามหลังตัวอักษรเหล่านี้จะเป็นหมายเลขสี หากอยากทราบว่าสีของแต่ละยี่ห้อมีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ ให้ดูที่หมายเลข Pigment 
    เครื่องหมายข้าวหลามตัด = จะมีต่อหลังบางสี ซึ่งหมายถึงเป็นสีที่มีคุณสมบัติติดแน่นกับกระดาษ (Adhesion)
    G = หมายถึงสีที่มีคุณสมบัติการตกตะกอน 


    เกี่ยวกับการใช้งาน


    ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับสียี่ห้อนี้คือ

    ยี่ห้อนี้เป็นยี่ห้อที่ดาสรู้สึกชอบ และถนัดมือมากที่สุดในทุกยี่ห้อที่เคยลองมา
    เรื่องของ Pigment เข้มข้นสมเป็นเกรดอาร์ตติส ในขณะเดียวกันก็ยังคงความใสไว้

    ในกล่อง 24 สีนี้ให้สีโทนเหลือง Cadmium มาเยอะมากซึ่งมีคุณสมบัติกึ่งใส (ถ้าเป็นยี่ห้ออื่นจะทึบไปเลย)
    ทำให้คนที่ชอบความใสมาก ๆ ของสีน้ำอาจจะไม่ค่อยชอบสักเท่าไร
    (อย่างถ้าเป็นดาส เวลาจะใช้สีเหลือง จะเลี่ยงไปใช้ Gamboge หรือ Ochre แทนเสียมากกว่า)

    เนื้อสีค่อนข้างเหนียวหนึบ ติดกับกระดาษได้ดี แม้จะเป็นเทคนิคเปียกบนเปียก สีก็จะไม่ค่อยไหลแพร่กระจายไปตามน้ำ จะค่อนข้างอยู่กับที่ (มีไหลบ้างเล็กน้อย)
    เหมาะสำหรับผู้ที่อยากฝึกเทคนิคเปียกบนเปียก เพราะจะสามารถคุมสีบนน้ำได้ง่าย

    เมื่อบีบสีจากหลอดลงในแพน สีจะเกาะตัวติดขอบแพนเมื่อแห้งเนื่องจากมีความหนึบ
    ซึ่งต่างจากยี่ห้ออื่นที่หากไม่เหลวตามรูปทรงแพนไปเลยก็จะแข็งตามรูปทรงตอนบีบสี

    มีครั้งหนึ่งในหน้าฝน ที่หอของดาสจะชื้นมาก เจ้ากล่องนี้ก็ไม่เคยแห้งเลย
    สีไหลมารวมกับแพนข้าง ๆ บ้างก็มี แต่ถ้าแดดกทม. ไม่ต้องห่วง ไม่น่าจะเจอปัญหานี้

    เพิ่่มเติมคือ
    - ชอบการตกตะกอนของสี Cerulean Blue มาก ๆ
    - สี Sepia จะออกเหลืองกว่ายี่ห้ออื่นนิดหน่อยหากผสมน้ำเยอะ
    - สี Payne's Grey ดูมีความใกล้เคียงกับสีดำมากกว่ายี่ห้ออื่นที่เคยใช้มา




    ตัวอย่างผลงานที่ระบาย

    เนื่องจากเป็นคนเขียนสีน้ำโทน Real สีที่ใช้จึงจะไปทางโทนหม่น ๆ ใช้สีเดิม ๆ และใช้ไม่ครบทุกสีในกล่องนะคะ ต้องขออภัยท่านผู้อ่านไว้ตรงนี้เลย



    เห็นตะกอนของ Cerulean Blue ตรงเงานิดนึงนั่นไหม น่ารักล่ะสิ ♥
    ตัวหัวหอมเลยใช้ Burnt Sienna ผสมน้ำเยอะ
    ส่วนตัวเส้นก็ใช้สีเดียวกันที่ผสมน้ำน้อยกว่า ตรงหัวและท้ายใช้สี Sepia
    เงาใช้สี Burnt Umber, Mauve และ Cerulean Blue
    (กระดาษ Canson Pochades ทำให้สีจางลงกว่าความจริงเล็กน้อย)


    จำไม่ได้ว่าตัวกระดาษห่อใช้สีอะไร แต่เดาว่าเป็น Gamboge ผสมน้ำจาง ๆ
    ตัวหนังสือและโลโก้ด้านในใช้สี Payne's Grey
    (กระดาษ Canson Pochades ทำให้สีจางลงกว่าความจริงเล็กน้อย)

    สีผิวใช้ Yellow Ochre และ Permanent madder lake ทำสีเบส
    เงาหน้า ผม ดวงตา ใช้สี Burnt Umber และ Sepia
    ปากใช้สี Permanent madder lake ผสมกับ Burnt Umber
    สีเสื้อ Cerulean Blue และ Payne's Grey

    จากที่บอกไปข้างบนว่าสีค่อนข้างหนึบ
    ส่วนของผมใช้เทคนิคเปียกบนเปียกเกือบทั้งหมด
    แต่สีจะค่อนข้างติดอยู่กับที่ มีเล็กน้อยเท่านั้นที่ไหลกระจายไปจุดอื่น
    (กระดาษ Fabriano Artistico ผิวหน้ากึ่งหยาบ)


    ตัวอาคารใช้ Burnt Sienna และ Burnt Umber เป็นหลัก
    หลังคาใช้ Sepia เงาใช้ Payne's Grey
    ต้นไม้ใช้ Sap Green แต้มแบบเปียกบนเปียกด้วย Sepia เล็กน้อย
    (กระดาษ Saunder Waterford ผิวหน้าหยาบ)


    งานนี้โทนสีจะคล้าย ๆ กับภาพข้างบน เพียงแต่จะผสมน้ำน้อยกว่า
    และมีสีสันของหนังสือเข้ามาเพิ่มเติม
    สีประตูสีเขียวใช้ Sap Green ผสมกับ Payne's Grey เพื่อทำให้สีเข้มขึ้น
    (กระดาษ Canson Montval ผิวหน้ากึ่งหยาบ)


    ในภาพใช้ Sap Green เฉย ๆ กับ Sap Green แบบผสม Payne's Grey เข้ามาแต้มเป็นเงาเข้ม
    (กระดาษ Bockingford ผิวหน้ากึ่งหยาบ)


    ตัวดอกไม้ใช้สี Permanent madder lake สีเดียว เล่นความจาง-เข้มเป็นแสงเงา
    ตรงเกสรใช้สี Sepia เข้ามาผสมเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเข้ม
    ใบไม้ใช้สี Sap Green เป็นพื้น และใช้สี Hooker Green Deep เพื่อเพิ่มความเข้ม
    พื้นหลังใช้ Cerulean Blue ผสมน้ำมาก ๆ
    (กระดาษ Saunder Waterford ผิวหน้าหยาบ)


    บริเวณสีเขียวมีการผสมกันระหว่าง Cadmium Yellow Lemon, Sap Green และ Hooker Green Deep
    สีแดงใช้สี Permanent Madder Lake และกระถางใช้สี Sepia ผสมน้ำ
    (กระดาษ Arches ผิวหน้าหยาบ)










    เอาล่ะค่ะ จบไปแล้วกับการเขียนรีวิวสีน้ำ Rembrandt ของดาสเอง
    ขอขอบคุณทุกท่านที่กดเข้ามาอ่านนะคะ
    ต้องขอโทษที่หายไปนานจริง ๆ ค่ะ
    เนื่องจากข้อมูลบางส่วนหายจึงใช้เวลาในการรวบรวมกลับมา
    (และชาร์ตสีก็ยังหายไป...)

    ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้นะคะ

    หากมีข้อเสนอแนะ แก้ไขข้อผิดพลาด อยากให้กำลังใจคนเขียน
    หรือจะบอกอะไรกับผู้เขียนก็สามารถคอมเม้นต์ทิ้งไว้ใต้บทความนี้ได้ค่ะ

    หรือจะเข้ามาติดตามเพจแทนก็ได้นะคะ :D


    ป.ล. ตอนนี้รับทำสมุดสีน้ำเย็บมืออยู่เน้อ ท่านใดสนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้ใน > คลิก
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in