เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
องค์-การ-ระหว่าง-ประเทศChaitawat Marc Seephongsai
"องค์การ" กับ "องค์กร"

  •           ตอนแรกที่คิดจะเขียนถึงเรื่องของ "องค์การระหว่างประเทศ" ก็ได้แต่นั่งคิด นอนคิด เดินคิด อาบน้ำก็ยังคิด นั่ง_ก็คิด ว่าจะเขียนเรื่องราวเหล่านี้ออกมาอย่างไร ให้เป็นที่น่าสนใจ และไม่น่าเบื่อ ณ เวลานี้ที่กำลังพิมพ์อยู่ก็ยังคงคิดอยู่เลยว่าจะทำยังไงให้เนื้อหาไม่น่าเบื่อดีวะ และก็คิดต่อไปอีกว่าทำไมกูต้องเขียนเรื่องขององค์การระหว่างประเทศด้วยวะเนี่ย

              แต่ก็นะ เอาเป็นว่าเขียนมาถึงย่อหน้าที่ 2 ขนาดนี้แล้วก็จะเขียนต่อไปแล้วกัน ถึงมันจะอ่านแล้วไม่ตลกก็ตามที

              เรื่องราวขององค์การระหว่างประเทศ หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่า "องค์การ" กับ "องค์กร" แม่งต่างกันยังไงวะ แล้วไอ้ องค์การระหว่างประเทศเนี่ย มันควรจะเรียกว่า "องค์การระหว่างประเทศ" หรือควรเรียกว่า "องค์กรระหว่างประเทศ" กันแน่ สำหรับผู้เขียนเองก็ยังตอบไม่ได้เลย (ผู้อ่านคงคิดแล้วมึงจะเขียนทำไม)

             เอาเป็นว่าเนื้อหาให้ตอนที่ 1 นี้ ขออุทิศให้กับการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง "องค์การ" กับ "องค์กร" เพื่อป้องกันความสับสนในการอ่านตอนต่อ ๆ ไปในถายภาคหน้าก็แล้วกัน

              "องค์กร" เป็นศัพท์บัญญัติที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Organ" หมายถึง ส่วนประกอบย่อยของหน่วยใหญ่ ทำหน้าที่สัมพันธ์กันหรือขึ้นต่อกันและกัน (ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕) 

              "องค์การ" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "Organization" หมายถึง ศูนย์กลางของกิจการที่รวมประกอบกันขึ้นเป็นหน่วย หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ หลายๆ "องค์กร" รวมกันเข้ามา จะกลายเป็น “องค์การ” ทันที (องค์กร + องค์กร + องค์กร = องค์การ)

              เพราะฉะนั้น การที่หลายคนมารวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้วทำภารกิจอะไรสักอย่างร่วมกัน เช่น กปปส. นปช. ยังไม่ถือว่าเป็นองค์กร เพราะ “องค์กร” จะต้องเป็นส่วนย่อยของ “องค์การ” และมีหน้าที่เฉพาะของตน

             "องค์การ" มีหน้าที่เอา "องค์กร" ต่างๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกันนั้นมารวมเข้าด้วยกัน และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ให้สามารถดำเนินงานตามหน้าที่ร่วมกันได้อย่างเป็นระเบียบ คล้าย ๆ กับเครื่องจักรนาฬิกาแต่ละชิ้นที่มีหน้าที่ต่างๆ เหมือนกับ "องค์กร" และเมื่อนำเอาเครื่องจักรแต่ละชิ้นมาประกอบกัน มันก็จะทำให้นาฬิกานั้นเดินไปได้อย่างมีระเบียบเป็น "องค์การ" และหน่วยงานที่จะถือว่าเป็น "องค์การ" ได้ จะต้องมีการจัดระเบียบงานถูกต้องตามกระบวนการดังกล่าวมาแล้วเท่านั้น

              ซึ่งทุกวันนี้มีการนำคำว่า "องค์กร" ไปใช้ในความหมายของ "องค์การ" อย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น บริษัท โรงงาน สำนักงาน ส่วนราชการ มูลนิธิ วัด ฯลฯ แต่ความจริงตามแนวความคิดทางวิชาการ โดยเฉพาะทางสังคมวิทยา องค์การจะมีความหมายที่กว้างกว่านั้น แต่ในด้านสังคมวิทยาถือว่า องค์การมีอยู่ 2 ระดับคือ

                   1) ระดับต้นหรือองค์การปฐมภูมิ (primary organization)
                   2) ระดับสองหรือองค์การทุติยภูมิ (secondary organization)

              องค์การระดับต้นเกิดขึ้นในสังคมโดยอัตโนมัติ เช่นครอบครัว ประชาคม กลุ่มมิตรสหาย เครือญาติ ฯลฯ ซึ่งมีแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกแบบส่วนตัว หรือไม่เป็นทางการ (informal หรือ personal) ใครที่ไม่คุ้นกับแนวความคิดสังคมวิทยา ก็จะไม่เรียกสถาบันเหล่านี้ว่าเป็น “องค์การ” เพราะเข้าใจหรือรู้จักองค์การในความหมายขององค์การระดับ 2 เท่านั้น

              หากมองจากมุมของประวัติศาสตร์ สถาบันสังคมโบราณอาจจะมีแต่สังคมชั้นต้นเป็นส่วนใหญ่ ตามข้อเท็จจริงแล้ว หากไม่นับวิวัฒนาการขององค์การในกองทัพ องค์การระดับสองโดยเฉพาะองค์การธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่แยกตัวออกไปจากธุรกิจครอบครัวเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หลังจากสังคมนั้นๆ มีการปฏิวัติหรือพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มขึ้นในสังคมสมัยใหม่ หรือในศตวรรษที่ 18 นี้เอง

             และต้องตามให้ทันด้วยว่า องค์การสมัยใหม่มีองค์ประกอบมากกว่ากลุ่มคนที่มีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน เพราะยังมีองค์ประกอบอื่น เช่น เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร เทคโนโลยี ฯลฯ จะเห็นได้ว่า หากเราจะพูดหรือเขียนภาษาไทยถึงคำว่า “organization” เราต้องพูดและเขียนด้วยคำว่า “องค์การ” ไม่ใช่ “องค์กร”

              ถ้าอุปมาอุปมัยเป็นตัวบุคคล องค์การเปรียบเสมือนผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ส่วนองค์กรยังเป็นเสมือนผู้เยาว์ หรือผู้ที่ต้องอยู่ในอุปการะ (dependent) หรือถ้าพูดถึงสถานภาพตามกฎหมาย องค์การน่าจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ส่วนองค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับองค์การในรูปใดรูปหนึ่ง

              เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว หากยังไม่เข้าใจถึงความต่างระหว่าง "องค์การ" กับ "องค์กร" ก็อย่าพยายามฝืนทำความเข้าใจมันอีกเลย ปล่อยมันผ่าน ๆ ไปเถอะ เพราะในปัจจุบัน เหล่านักวิชาการยังคงเถียงกันไม่จบไม่สิ้นระหว่านิยามของ องค์การ กับ องค์กร หากถามนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ที่เรียนมาในสาขาที่ต่างกัน อย่าง รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา บริหารธุรกิจ ฯลฯ ก็คงให้นิยามของ องค์การ และ องค์กร ที่มีความแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะสาขารัฐศาสตร์ ขนาด การเมืองการปกครอง การระหว่างประเทศ และรัฐประสาสนศาสตร์ ยังนิยาม องค์การ และ องค์กร ไม่เหมือนกันเลย

              อย่างไรก็ดี คุณผู้อ่านก็ลองเลือกสมาทานเอานิยามของ องค์การ และ องค์กร ที่ตัวเองสนใจและคิดว่าใช่ที่สุดสำหรับตัวเราก็แล้วกัน แต่สำหรับงานชุด องค์-การ-ระหว่าง-ประเทศ นี้ขอใช้นิยามของ องค์กร และ องค์การ ตามที่ได้เขียนเอาไว้ก็แล้วกัน

    ที่มาข้อมูล
    1.http://www.oknation.net/blog/DrPatom/2009/02/06/entry-1
    2.http://www.pleplejung.com/2015/03/organ-or-organization

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in