** SPOILERS AHEAD**
สิ่งแรกที่เราทำหลังจากดูภาพยนตร์เรื่องดาวคะนองจบคือ หลับ
ส่วนหนึ่งอาจมาจากร่างกายที่อ่อนเพลีย แต่มั่นใจว่าอีกส่วนมาจากตัวหนังที่ดำเนินเนิบช้า แต่ละฉากใช้เวลานาน และมีหลายส่วนที่เราดูแล้วงง พยายามจะหาคำตอบก็หาไม่ได้ทั้งหมดว่าหนังพยายามจะสื่อสารอะไรกับเรา
แม้จะไม่เข้าใจเนื้อหา แต่ก็เกิดความรู้สึกและคำถามขึ้นมากมายตั้งแต่ฉากแรกๆ เช่น ฉากกองถ่ายที่จำลองภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา แทรกด้วยภาพนิ่งสีขาวดำจากตากล้องเบื้องหลัง ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตกลงภาพนั้นมาจากในกองถ่าย หรือมาจากภาพประวัติศาสตร์จริง
หรือฉากที่แอนไปเจอกับตัวเธออีกคนในป่า วิ่งไปจนพบกับเห็ดที่เป็นประกายวิบวับแล้วสลบไป เราได้พบแอนอีกครั้งตอนที่เธอตื่นมาร้องไห้กลางดึกและเกิดความสงสัยว่า แอนร้องไห้ทำไม
พอมาในครึ่งหลังของภาพยนตร์ที่มีตัวละครอีกชุด เล่นซ้ำบทของแอนและแต้วในชุดแรกไปด้วย พร้อมกับฉากของสายป่านกับเป้ที่เพิ่มเข้ามาอย่างไม่มีจุดเชื่อม ทำให้เราสงสัยว่าตกลงในหนังเรื่องนี้มีหนังซ้อนอยู่อีกกี่เรื่อง
เมื่อได้มาฟังการบรรยายของอาจารย์ชุติมาที่ชี้ให้เห็นว่าหนังที่ดูไม่เกี่ยวกับ 6 ตุลาเสียเท่าไร แท้จริงแล้วเกี่ยวทั้งเรื่อง จึงไขข้อสงสัยได้ทั้งหมด และเราเห็นด้วยว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกุลนิยามไว้ว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง”
การรับรู้อย่างจำกัดจากภาพที่ดูชัดเจน: รัฐกับการทำให้ 6 ตุลาถูกลืม
การที่ผู้สร้างให้เห็นภาพ 6 ตุลาอย่างเด่นชัดในฉากแรก แล้วไม่เห็นอีกเลย เป็นเพราะสำหรับคนในรุ่นเรา ภาพจำเรามีแค่นั้นจริงๆ ถ้าจะให้คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์อธิบายถึงที่มาที่ไปของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ คงมีน้อยคนที่สามารถอธิบายได้อย่างละเอียด ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้ประสบกับมันโดยตรง และสาเหตุที่สำคัญคือรัฐจำกัดการรับรู้ของเรา
สัญลักษณ์ของการถูกจำกัดการรับรู้ สังเกตได้จากหลายฉากในเรื่องที่จะเห็นกรอบประตูหรือหน้าต่าง มีทั้งมุมมองที่เรามองตัวละครผ่านกรอบของกระจกใส หรือบางฉากก็เป็นตัวละครเองที่มองออกไปนอกหน้าต่างใส การมองเห็นของเราและตัวละครจึงมีขอบเขตจำกัด
เวลาตัวละครมองออกไปนอกหน้าต่าง เขาคิดว่าเขาได้เห็นทุกอย่างก็จริง แต่ในมุมคนดู เมื่อมองจากข้างนอกจะรู้สึกเหมือนตัวละครถูกขังไว้ในกรอบหรือกรง และเรายังเห็นเงาสะท้อนจากกระจกที่ซ้อนทับภาพตัวละครด้วย เปรียบได้กับการที่รัฐตีเส้นเขตแดนเหตุการณ์ 6 ตุลาให้เราได้รับรู้แค่ที่เขาต้องการ และยังหาภาพอื่นมาทับซ้อนให้เหตุการณ์จริงดูมัวกว่าเดิม
อดีตที่กระจัดกระจายและความคลุมเครือของความจริง
รัฐพยายามปิดบังและชวนให้เราลืมเลือนเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้ชิ้นส่วนของเหตุการณ์นั้นกระจัดกระจาย แม้มีความพยายามจะรวบรวมและนำมาต่อกันแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำความเข้าใจมันได้อย่างสมบูรณ์ เหมือนกับในภาพยนตร์ที่ลำดับภาพแบบชวนให้สับสนว่าแต่ละฉากเกี่ยวกันอย่างไร ทำให้เราไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย รู้สึกเบื่อ เฉื่อยชาและพ่ายแพ้ต่อความง่วงไปในที่สุด ไม่ต่างไปจากความรู้สึกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาดูมีหลักฐานกระจายอยู่จากหลายภาคส่วน เอามาต่อกันแล้วเจอความไม่สม่ำเสมอของเรื่องราว ทำให้บางคนเลือกปล่อยผ่านไป
นอกจากนี้ อดีตที่กระจัดกระจายยังมีลักษณะเหมือนกับความทรงจำ 6 ตุลาแบบที่อาจารย์ธงชัยอธิบายไว้ว่าจำได้อย่างแจ่มชัด แต่มาในรูปแบบภาพ เสียง หรือตัวอักษร ไม่ใช่ภาพต่อเนื่องที่สามารถถ่ายทอดให้คนโดยง่าย อาจเป็นเพราะความทรงจำนั้นเจ็บปวดเกินไปที่จะจำทุกอย่าง แต่ก็ฝังใจมากพอที่ไม่สามารถลบออกไปได้
หลายฉากใน ดาวคะนอง ทำให้เราเกิดคำถามว่าเรื่องใดเป็นเรื่องจริง ทั้งฉากแสดงเลียนแบบ 6 ตุลา ฉากที่มีสายป่านกับเป้หลายๆ ฉากที่ทำให้เรางงว่าส่วนใดคือภาพยนตร์ที่พวกเขาถ่าย และส่วนใดคือเหตุการณ์ใน ดาวคะนอง รวมทั้งมีความไม่เข้ากันในบางฉาก เช่น เอ็มวีเพลงที่เป้ร้อง มีคนจริง แต่ปลาและน้ำเป็นของปลอม มีกีตาร์จริงแต่คล้องด้วยสายกีตาร์ที่แปลกไป ภาพที่ดูไม่เข้าพวกเหล่านี้เหมือนกับหลักฐานจากเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ทำให้เราสับสนว่าหลักฐานใดจริงหรือเท็จ เช่น ฝั่งหนึ่งบอกว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องการล้มกษัตริย์ ในขณะที่อีกฝั่งบอกว่าพวกเขาเพียงต้องการประชาธิปไตย
ความสงสัยที่เกิดขึ้น ส่งผลได้หลายแบบ บางคนอาจรู้สึกว่ามันซับซ้อนเกินไปที่จะเข้าใจ และละทิ้งเรื่องนี้ไปเลย บางคนอาจอยากหาความจริงต่อ พอพบแล้วยิ่งงงก็อาจล้มเลิกการทำความเข้าใจหน้านี้ของประวัติศาสตร์ หรือบางคนแม้จะยังไม่เข้าใจอย่างแจ่มชัด แต่รู้สึกเจ็บปวดไปกับภาพความรุนแรงที่เห็นได้
ชุดตัวละครคู่: เสียงสะท้อนจากอดีต
ฉากที่มีตัวละครแอนกับแต้วในครึ่งแรกกับครึ่งหลังมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนี้
ครึ่งแรกสีซีด เหมือนเป็นภาพความทรงจำในอดีต มุมกล้องอึดอัดกว่าเพราะไม่ให้คนดูเห็นบางอย่างที่ตัวละครเห็น เช่น ลักษณะภายในห้องนอน ส่วนสีในครึ่งหลังจะสดใสกว่ามาก ดูเหมือนเป็นภาพปัจจุบัน มุมกล้องดูเหมือนถ่ายให้เห็นภาพกว้างขึ้น แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือบทพูดและสีหน้าของตัวละคร สิ่งที่น่าสังเกตคือสีหน้าที่ยังจมอยู่ในความทุกข์มาโดยตลอด แม้ว่าจะเรื่องจะดำเนินไปและเปลี่ยนนักแสดง การตกอยู่ในความทุกข์นี้เชื่อมโยงกับ 6 ตุลาได้ว่า เวลาที่ผ่านไปนานหรือปัจจุบันที่เราเหมือนจะรับรู้เกี่ยวกับบาดแผลในครั้งนั้นมากขึ้น ก็ไม่ทำให้ความทุกข์นั้นหายไป บาดแผลยังคงเจ็บปวดและยังส่งผ่านมาถึงเราได้
การแสดงของแอนกับแต้วช่วงต้น ดูฝืนและแข็งทื่อกว่าเมื่อเทียบกับการแสดงจากนักแสดงมืออาชีพในช่วงหลัง บทพูดในช่วงแรกดูไม่เข้าปากตัวละคร เหมือนจะไม่ใช่จังหวะที่คนในชีวิตจริงสนทนา แต่ช่วงหลังดูลื่นไหลกว่ามาก ตอบได้ยากว่าช่วงใดคือเรื่องจริง แต่นั่นทำให้เราตั้งคำถามกับแก่นของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา หลักฐานบางอย่างที่ได้รับการเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก หรือถูกใส่ในแบบเรียน ล้วนเป็นข้อมูลที่ได้รับการเรียบเรียงมาอย่างดีและดูน่าเชื่อถือ แต่เมื่อลองค้นหานอกจากสื่อเหล่านั้น ก็จะพบชิ้นส่วนที่ดูไม่เข้าพวก และดูเหมือนเป็นเรื่องเล่าคนละชุดกัน แต่ก็ไม่ง่ายที่จะตัดสินชี้ขาดว่าหลักฐานเหล่านั้นไม่จริง
ฉากดังกล่าว แสดงให้เห็นพลังของเสียงสะท้อนจากอดีตที่แม้จะเหลือเป็นชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ยังสามารถส่งผ่านความรู้สึกเจ็บปวดได้
ความเงียบและความรู้สึกที่ไม่สามารถเอ่ยได้
ความเงียบที่เกิดขึ้นระหว่างดูดาวคะนอง สำหรับเราเป็นความเงียบที่ดังมาก สังเกตได้ว่าเรื่องนี้มีบทพูดน้อยมากเทียบกับหนังทั่วไป
สิ่งที่ดังขึ้นมาตลอดคือความรู้สึกอึดอัดและสงสัย เวลาเราเห็นสีหน้าตัวละครที่ดูเหมือนอมทุกข์ แม้จะไม่รู้แน่ชัดถึงที่มาของพวกเขา แต่เรารู้สึกร่วมไปกับตัวละครได้ เช่น ฉากที่แอนนอนร้องไห้คนเดียว แอนไม่ได้บอกเราเลยว่าเธอเศร้าจากอะไร แต่พอเห็นแล้วเรานึกถึงเวลาที่ตัวเองเศร้าแล้วทำอะไรไม่ได้นอกจากนอนร้องไห้อยู่คนเดียวเช่นกัน การเห็นว่าคนอื่น แม้ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในจอ ต้องผ่านอะไรคล้ายกับเรา ก็ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง และสามารถรู้สึกเข้าอกเข้าใจ (empathize) ตัวละครนั้นได้
นอกจากนี้ ยังมีอารมณ์ที่ไม่สามารถเอ่ยออกมาได้ เราสังเกตเห็นชัดเจนสองครั้ง คือฉากก่อนเปิดชื่อเรื่องที่นักศึกษาหญิงชายนั่งอยู่คู่กัน หญิงสาวเหมือนจะหันพูดอะไรบางอย่างกับเพื่อนชาย แต่สุดท้ายเธอก็ไม่พูดและหันหน้ากลับมา อีกฉากหนึ่งคือฉากที่ปีเตอร์ถามตั๊กว่ารักเขาไหม แต่ตั๊กตอบด้วยการมองไปทางอื่นและหันกลับมายิ้มบางๆ
การสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ปล่อยให้ความเงียบและอารมณ์สื่อสารแทน แสดงให้เห็นถึงพลังของความเงียบ และการใช้เวลาอยู่กับมัน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นทั้งกับผู้ชมและกับตัวละคร แม้จะไม่ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของอารมณ์ในภาพยนตร์ ก็สามารถเชื่อมโยงความรู้สึกตนเองเข้ากับตัวละครได้
ความรู้สึกอึดอัดและคับข้องใจเมื่อดูฉากเงียบ เป็นเพราะเราไม่เคยต้องอยู่กับความเงียบนานขนาดนี้ แต่ภาวะการตกอยู่ในความเงียบนั้นเกิดขึ้นกับ 6 ตุลา มานานกว่าการชมภาพยนตร์หลายเท่า
การลืมอดีตอย่างรวดเร็ว
เมื่อผู้กำกับได้รับแจ้งว่าปีเตอร์เสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา เธอมีอาการตกใจเล็กน้อย แต่ก็ยังให้ลูกน้องตัดต่อหนังต่อไป แสดงให้เห็นถึงการปัดความสูญเสียออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไปข้างหน้า หนังที่ลงทุนไปยังต้องผลิตต่อให้เสร็จ เทียบได้กับมุมมองความสูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา สำหรับหลายคนอาจรู้สึกว่ามีคนตายก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว บวกกับสังคมสมัยใหม่ที่ไม่ให้ค่ากับการจมอยู่ในความทุกข์ หรือแม้แต่การรำลึกถึงหรือการไว้อาลัยให้กับชีวิตที่จากไป การก้าวข้ามความโศกเศร้าจากการสูญเสียได้เร็วจึงเป็นนิสัยที่พึงประสงค์ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐต้องการให้ประชาชนรู้สึกกับ 6 ตุลา
ข้อสังเกตเพิ่มเติม: นิรนามผู้เก็บกวาด
ตัวละครหญิงชนชั้นล่างที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดไปตลอดทั้งเรื่อง ตีความได้ว่าเป็นตัวแทนของลูกจ้างที่คอยเก็บกวาดความเสียหายตามคำสั่งของเจ้านาย สีหน้าที่เรียบเฉยติดอมทุกข์ของเธอเป็นตัวบอกว่าเธอไม่ได้รู้สึกถูกเติมเต็มจากอาชีพ แต่ทำเพราะต้องทำ อาจเหมือนกับลูกน้องของผู้มีอิทธิพลในการเมืองไทย ที่เป็นคนลงไปตามเช็ดล้างความเลวร้ายและบาดแผลที่เจ้านายของตนสร้างขึ้น โดยเราไม่รู้เลยว่าคนเหล่านี้มีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไร เขาคิดอะไรอยู่บ้าง และเขาต้องการอะไรจริงๆ ในชีวิต
ข้อสังเกตเพิ่มเติม: เพลงรักเนื้อหาเศร้ากับบาดแผล 6 ตุลา
เราตั้งข้อสังเกตว่าเพลงที่มีเนื้อร้องทั้ง 3 เพลงในภาพยนตร์ ล้วนเป็นเพลงรักที่มีเนื้อหาออกไปทางเศร้า ดูจากเนื้อเพลง “ฉันเป็นดวงจันทร์ที่ถูกเมฆบัง” จากเพลงดวงจันทร์ (แอนร้องตอนไฟดับ) หรือ “ดวงใจ ใยหนีหน้า โถแก้วตา มาหมางเมิน เคยแนบแอบอกเพลิน กลับหมางเมิน เหมือนไม่เคย” จาก เพลงเหมือนไม่เคย (เปิดคลอในรถกระบะที่ปีเตอร์ขับ) นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเว้าวอน ต้องการรับรู้ความจริง จากเนื้อที่ว่า “ที่รักจ๋า อย่าโกหกฉันเลย” ร้องซ้ำไปซ้ำมาจากเพลง Lie
เนื้อหาในเพลงสะท้อนอารมณ์ของการตกอยู่ในความเศร้าที่มาจากการถูกปิดบังจากความจริง หรือการถูกลืม ถูกทำเหมือนเหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้น เหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่บาดแผลจากความเลวร้ายในครั้งนั้นยังทำให้เกิดอารมณ์เจ็บปวดและโศกเศร้าอยู่ และถ้าเหตุการณ์พูดได้ มันคงจะร่ำร้องขอให้คนไม่ลืมมันเหมือนกัน ส่วนเพลง Lie อาจสะท้อนความรู้สึกของคนในปัจจุบันที่อยากหลุดออกไปจากการถูกยัดเยียดข้อมูลลวงจากรัฐบาล
สรุป
ความไม่เข้าใจที่เกิดจากการชมภาพยนตร์ ดาวคะนอง ทำให้เราเข้าใจ 6 ตุลามากขึ้น โดยได้เห็นว่า 6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่แม้จะจบไปแล้ว แต่ยังเป็นอดีตที่มีพลัง การตกอยู่ในความเงียบของเหตุการณ์ส่งต่อความรู้สึกเจ็บปวดผ่านมายังรุ่นเราได้ และอดีตที่กระจัดกระจายในภาพยนตร์ มีลักษณะไม่ต่างจากหลักฐานเกี่ยวกับ 6 ตุลาในปัจจุบัน ที่เราดูหนังไม่เข้าใจเพราะชิ้นส่วนที่ต่อกันไม่ติด เหมือนกับการที่เราไม่เข้าใจหรือยังสับสนว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาเกี่ยวกับอะไรกันแน่ นอกจากนี้ยังทำให้เราเห็นความพร่าเลือนของความจริง ไม่แน่ใจว่าภาพใดคือภาพที่สร้างขึ้น ภาพใดคือภาพจริง แต่ถึงเราจะไม่รู้ว่าอะไรจริงแท้ อารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ ทั้งความโศกเศร้า ความอึดอัดก็ยังส่งมาถึงเราได้ และยังสามารถรู้สึกเข้าอกเข้าใจหรือเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับอารมณ์ที่ตัวละครเผชิญได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in