เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Critical Society by Jack okKiattisak Wongliang
ความเป็นผู้หญิง ในละครเรื่อง เพลิงบุญ
  •          ต้องบอกก่อนเลยว่าการเขียนบทความนี้ขึ้นมา เกิดมาจากความต้องการสะท้อนสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นจากการดูละครเรื่องนี้ มันอาจเกิดมาจากทัศนคติของข้าพเจ้าส่วนใหญ่ ทั้งนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อจากนี้มันก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ที่จะชวนคุณผู้อ่านทุกท่านมาร่วมกันตกผลึกของความคิดจากละครเพราะการดูละครมันไม่ใช่เพียงแค่การมองเห็นแค่ความบันเทิง เราจะมาร่วมกันสะท้อนสิ่งที่ได้รับจากละครเรื่องนี้กันว่าอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ในละครเรื่องนี้

           การลาจอของเพลิงบุญเป็นที่น่าประทับใจและต้องขอปรบมือให้กับ ทั้งนักแสดงอย่าง เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ที่ถ่ายถอดบทบาทของใจเริงออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ชาวเน็ตและโลกออนไลน์ต่างยอมรับในบทบาทการแสดงของเธอที่เป็นตัวละครที่มีความน่าหมันไส้และน่าเห็นใจในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ทั้งทีมงานและนักแสดงทุกคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จกลายเป็นละครดราม่าแห่งปีที่ถูกกล่าวถึงในขณะนี้ ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องของเรากันดีกว่า

    ภาพจากละครเรื่อง เพลิงบุญ ปี พ.ศ. 2560 ออกอากาศทางช่อง 3 

    • พิมาลา ใจเริงสตรีสองขั้วภายใต้มายาคติ

               ต้องบอกก่อนเลยว่า นวนิยายในยุคปัจจุบันมีการเขียนคาแรกเตอร์ขงตัวละครที่แตกต่างกับอดีตเป็นอย่างมาก เพราะมีการสร้างปมให้ตัวละครให้มีการแสดงออกของพฤติกรรมว่ามีปมหรือมีสาเหตุมาจากอะไร มีเหตุผลอะไรที่ตัวละครนี้ถึงแสดงพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ออกมา ซึ่งแตกต่างจากนวนิยายในอดีต อย่างเช่น ทองเนื้อเก้า ที่ตัวเอกคือ ลำยอง ลำยองถือว่าเป็นหญิงชั่ว ที่มีพื้นฐานมาจากการเลี้ยงดู ครอบครัวที่มีปัญหาเกิดในสลัม ใช้ชีวิตตามอำเภอใจ หลายสามี ติดสุรา เมากลายเป็นผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ผู้หญิงไม่ดีและดีไม่ได้ถึงแม้ว่าจะมีลูกดีอย่างพระวันเฉลิมก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้แม่เป็นคนดีได้ซึ่งเราอาจจะเรียน ตัวละครประเภทนี้ ว่า Flat Character หรือตัวละครที่สามารถบอกได้เลยว่าดำหรือขาว นั่นหมายถึง แสดงเพียงคาแรกเตอร์เดียวออกมา 

    ภาพจากละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า ปี พ.ศ. 2556  ลำยอง รับบทโดย วรนุช ภิรมย์ภักดี ออกอากาศทางช่อง 3

              ในขณะที่ ใจเริงไม่ใช่ เพราะบทสรุปของใจเริง กลับกลายเป็นว่า ตอนจบผู้คนกับสงสารกับสภาพของใจเริงที่ต้องพบกับชะตากรรมที่มีความยากลำบากและต้องทนทุกข์ทรมานกับผู้ชายซาร์ดิสอย่าง     ปีเตอร์ แต่ด้วยในตอนท้ายของละครที่ ทำให้ตัวละครมีมโนสำนึกของการทำความดี (อาจใช้คำว่าสิ่งที่สังคมมองว่าดีอาจจะถูกกว่า) นั่นคือ การเสียสละหรือการซื้อของ ทำพินัยกรรมไว้ให้ลูกของตนเองและให้เพื่อนของตนเองอย่างพิมาลาเป็นผู้ดูแลมรดกของใจเริง ทำให้สิ่งที่เธอเคยทำมาถูกให้อภัยเพราะสิ่งนี้ 

    ใจเริง ปี พ.ศ. 2560 รับบทโดย เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ออกอากาศทางช่อง 3 

             


  •           หากเราลองมองใจเริงให้ดี เราจะพบว่า การเป็นแบบนี้ของใจเริง มีเหตุปัจจัยมาจากหลายส่วนมาก ทั้งพื้นฐานของครอบครัวเธอถูกเลี้ยงมาอย่างตามใจการได้ทุกอย่างที่ต้องการของเธอจึงทำให้เธอใช้ชีวิตภายใต้โลกทุนนิยมอย่างเต็มที่ จนกระทั่ง วันหนึ่งที่เธอเลือกแต่งงานกับผู้ชายอย่างเทิดพันธ์เพราะภายใต้โลกทุนนิยม คนเราก็มักจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง จนกระทั่งเทิดพันธ์ หมดตัวล้มละลายทำให้ผู้หญิงอย่างใจเริงไม่เหลืออะไร นอกจากนี้แล้วเทิดพันธ์ยังนอกใจใจเริงไปมีสัมพันธ์กับเลขาอย่าง สุกัญญา จนทำให้ใจเริงถึงกับโมโหทำลายงานเลี้ยงการปิดบริษัทของเทิดพันธ์ให้อับอาย ดังนั้นการที่ผู้เขียนสร้างเหตุปัจจัยหลายๆอย่างให้เหตุผลของตัวละครว่ามีสาเหตุปัจจัยมาจากอะไร ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะพบว่าตัวละครอย่าง ใจเริงจึงแตกต่างไปจากลำยอง เพราะใจเริงมีคาแรกเตอร์ที่ใช้ศัพท์ทางวรรณกรรม เรียกว่า  round character นั่นหมายถึง การที่ตัวละครไม่ได้มีด้านเดียวเสมอ หากแต่มีสาเหตุและมีคาแรกเตอร์ที่มีความหลากหลายซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตัวละครได้นั่นเอง
               นอกจากนี้ยังถือว่า ใจเริง ยังเป็นตัวแทนของ การเรียกร้องสิทธิสตรี นั่นคือ ในตอนท้ายของเรื่องใจเริงได้ตัดพ้อกับสุรทิน(รับบทโดยชาย ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ)  คนที่นำพาเธอไปพบปีเตอร์และพบจุดจบของชีวิต จะพบว่า ใจเริงได้แสดงออกถึงความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจ ภายใต้คำพูดที่ว่า

         “...ในเมื่อโลกนี้ไม่เห็นคุณค่าของความเป็นผู้หญิงอยู่แล้วถ้าต้องสนใจคุณค่า สนใจความดี ผู้หญิงจะไปทำหน้าทำนมให้ผู้ชายมาสนใจทำไม ผู้หญิงที่โคตรดีทุกอย่างยังโดนผู้ชายนอกใจมาแล้วเลยการมีคุณค่าจะมีประโยชน์อะไร...”

              จากคำพูดจากละครตรงนี้ เราจะพบว่าใจเริงแสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองที่รู้สึกถึงความกดขี่ของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง การที่ผู้หญิงต้องสร้างอะไรหลายๆอย่างทั้งรูปลักษณ์การวางตัว เพื่อให้ถูกยอมรับจากสังคมย่อมเป็นภาระอันหนักอึ้งสำหรับบางคน ดังนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้ทำตามกรอบประเพณีหรือตามที่สังคมกำหนดย่อมจะทำให้ถูกมองว่าเป็นหญิงชั่วอย่างเช่นใจเริงหากแต่แท้จริงแล้วผู้หญิงอย่างใจเริงกลับเข้าใจความเป็นผู้หญิงที่แท้จริง


    ตัวอย่างจากละครเรื่องเพลิงบุญ ปีพ.ศ. 2560 ออกอากาศทางช่อง 3

  •           ประเด็นถัดมา คือตัวละครที่ชื่อว่า พิมาลา ซึ่งเป็นนางเอกของเรื่อง พิมาลาเป็นตัวละครที่เป็น      ผู้หญิงที่เพียบพร้อมสมกับเป็นกุลสตรีหญิงไทย ที่สังคมไทยในอุดมคติปรารถนา เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะตรงกับคุณสมบัติที่ เรียกว่า สมบัติผู้ดี
    พิมาลา รับบทโดย เบลล่า-ราณี แคมเปน จากละครเรื่องเพลิงบุญปี พ.ศ. 2560 ออกอากาศทางช่อง 3

          จากหนังสือสมบัติผู้ดีของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี อธิบายเพิ่มเติมโดย ม.ล.ป้อง มาลากุล อธิบายคำว่า ผู้ดี หมายถึง บุคคลผู้มีความประพฤติดีทั้งทางกาย ทางวาจาและทางความคิด คือ ทำดี พูดดี คิดดี จากนิยามนี้ ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่า ตรงกับลักษณะของตัวละครอย่างพิมาลาอย่างชัดเจนคุณสมบัติที่เพียบพร้อมนี้ มีปัจจัยทั้งทางด้านครอบครัว ที่เลี้ยงดูมาอย่างอบอุ่นการให้ความรัก การให้รู้จักการเอาชนะอุปสรรคด้วยความอดทน การหาหนทางในการแก้ปัญหาตามครรลองคลองธรรม เป็นต้น 

         นอกจากนี้สังคมของพิมาลาทั้งเพื่อนร่วมงานของเธอที่ต่างก็ดูแลเอาใจใส่ให้กำลังใจ ติดตามเธอตลอดทำให้เธอสามารถก้าวข้ามผ่านสิ่งต่างๆ และดำเนินชีวิตตามกรอบที่สังคมต้องการ ท้ายสุดของเรื่อง เธอจึงได้ทุกอย่างที่เธอต้องการกลับคืน ทั้งสามีและความอบอุ่นของครอบครัว ทำให้เธอใช้คำพูดในตอนท้ายของเรื่องว่า “ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ” 

          ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นวนิยายหรือละครไทยยังคงอยู่ภายใต้กรอบของศีลธรรม ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัยก็ตาม มีละครบางเรื่องที่ฉีกแนวออกไปแต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่องทีวีดิจิตอล หรืออาจจะดูผ่านทางไลน์ทีวี ซึ่งถ้าเป็นช่องหลักของคนไทยอย่างที่เรารู้กัน ละครที่ออกมาจะถูกสร้างในรูปแบบหรือภายใต้กรอบของศีลธรรมส่วนใหญ่ นั่นคือการแย่งสามีของเพื่อนสนิท ทำให้เกิดความปั่นป่วนของเรื่องทำให้ใจเริงถูกมองว่าเป็นหญิงชั่วทั้งที่ความจริงแล้วตัวละครมีเหตุผลในตัวเองที่แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมา
           ท้ายสุดของเรื่องจึงจบด้วยการเสียชีวิตของใจเริง ส่วนพิมาลาก็ดูเป็นคนดียิ่งขึ้นไป เนื่องจากเธอให้อภัยใจเริงอย่างบริสุทธิ์ใจ ตามแบบสมบัติผู้ดีในข้อที่เรียกว่า มโนจริยา ที่ได้อธิบายว่า ความนึกคิดในทางที่ดี ในภาคเก้าของสมบัติผู้ดีที่อธิบายว่า ผู้ดีย่อมไม่ประพฤติชั่ว ในด้านมโนจริยา กล่าวว่า ผู้ดีย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น หมายความว่าเมื่อถูกใครว่าให้เจ็บใจหรือถูกทำร้ายด้วยประการใดก็ไม่ปองร้ายเขาผู้นั้นเป็นเพียงเจ็บแล้วจำพยายามมิให้มีเรื่องเช่นนั้นอีกพยายามหลีกเลี่ยงให้ไกลแสนไกลหรือหาทางผูกสมัครรักใคร่กับผู้นั้นได้ก็จะดียิ่งขึ้น เพราะการปองร้ายผู้อื่นอาจเป็นทางให้ประกอบอาชญากรรมซึ่งจะเท่ากับทำร้ายตนเองในที่สุด
          จากที่กล่าวมาพบว่า สมบัติผู้ดีที่เป็นแบบแผนของสังคมไทยได้คาดหวังผู้หญิงอย่างพิมาลา            ในทิศทางที่ควรจะเป็นส่งผลให้เธอพบตึความสุข เพราะเธอกอปรด้วยศีลธรรมและจรรยาในมายาคติ    ที่สังคมคาดหวังในทิศทางที่ควรจะเป็น ผู้หญิงอย่างพิมาลาจึงถูกยกย่อง ส่วนผู้หญิงที่ดำเนินชีวิตโดยไร้การวางแผนและไม่เป็นไปตามทิศทางที่สังคมต้องการจึงทำให้เธอพบกับความวินาศและจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ
         แต่อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็มิได้ละทิ้ง ทำให้ใจเริง ดูร้ายในสายตาของสังคม เพราะการสร้างมโนสำนึก   ในด้านการรักลูกและการรักเพื่อนของเธอ โดยการขายสมบัติและหาเงินมาโดยวิธีการที่เธอจะทำได้ ก่อนจะเสียชีวิต เธอได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ลูกของเธอ ภาพลักษณ์ของหญิงชั่วในตอนแรกจึงคลี่คลายลงในที่สุด พร้อมกับการให้อภัยของสังคม 

         ...ในขณะที่ใจเริงไม่สามารถมีตัวตนในสังคมได้ แต่เธออยู่ได้เพียงในพื้นที่ของความทรงจำเท่านั้น แต่คนที่มีจุดยืนคงจะเป็นผู้หญิงอย่างพิมาลาที่เธอเพียบพร้อมในกรอบที่สังคมคาดหวังนั่นเอง...

    บทสรุปท้ายสุดของใจเริง ภาพจากละครเรื่องเพลิงบุญ ปี พ.ศ. 2560 

          

         บทความนี้เป็นทัศนคติของข้าพเจ้าที่สะท้อนได้จากละคร มิได้มีจุดประสงค์อื่นแต่อย่างใดเพียงแต่อยากให้ผู้อ่านเกิดกระบวนการคิด และมองลงไปในละคร เพราะในทรรศนะของข้าพเจ้า มันมีมากกว่าความบันเทิง จึงฝากผู้อ่านทุกท่านฉุกคิดในประเด็นที่ข้าพเจ้าเสนอหากมีผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยไว้ ณ ตรงนี้

    กศว. เขียน

    ติดตามเรื่องราวอื่นๆผ่าน Critical Society by Jack ok 

    Facebook Album : นานาทรรศนะ (Critical Society by Jack ok)

                   

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in