เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Lazy Pace StoryPituphoom
Nara Marathon Diary – Epilogue : บทส่งท้าย ยินดีที่ได้รู้จัก
  • “ในเมืองที่ฝูงกวางมารยาทดีแววตาไร้เดียงสาเดินปะปนทักทายและสร้างความสุขให้แก่ผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร ในเมืองแห่งนั้นเองที่ผมได้ลิ้มลองรสชาติเนื้อกวางเสียบไม้ย่างเป็นครั้งแรก เมืองนั้นคือนาระ”

    1.

    อาจจะฟังดูแปลกอยู่บ้างถ้านึกว่าผมเคยวิ่งมาราธอนมาแล้วก็หลายครั้งแต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ทำแบบนี้

    นาระมาราธอนครั้งนี้คือครั้งแรกที่ได้ทดลองปล่อยให้ขาของผมวิ่งไปอย่างอิสระด้วยจังหวะก้าวที่กำหนดโดยแรงโน้มถ่วงของโลก ปล่อยให้สองขาก้าวสลับซ้ายขวาอย่างรวดเร็วไปตามทางลงเนินบนเส้นทางวิ่งผ่านแนวเขาที่สลับขึ้นลง หากจะมีฝืนหรือยั้งให้ช้าลงบ้างก็แค่ตอนที่ต้องหยุดหรือหลบเพื่อนร่วมทางที่วิ่งอยู่ข้างหน้า ภาพตัวเองที่เคลื่อนผ่านนักวิ่งคนอื่นไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเร็วได้ขนาดนี้มาก่อน ลมที่ปะทะใบหน้าและแรงต้านจากมวลอากาศที่เหมือนจะหนักหน่วงขึ้น แต่จังหวะก้าวกลับรู้สึกเบาจนเหมือนจะลอยอยู่บนปลายเท้า และไม่มีความกลัวที่จะสะดุดล้มผุดขึ้นมาในความคิดแม้แต่น้อย

    รู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยออกจากข้อจำกัดเดิมที่ตัวเองสร้างขึ้นมา จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่รู้สึกแบบนี้

    นึกถึงชีวิตบ้านนอกวัยประถมที่สวนสนุกหมายถึงทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว การได้วิ่งลงเนินโดยปล่อยให้แรงโน้มถ่วงของโลกทำหน้าที่เร่งความเร็ว แม้เป็นเพียงระยะทางสั้นๆ และไม่ได้แข่งกับใครแต่ก็ทำให้สนุกได้ไม่น้อย ความรู้สึกเช่นเดียวกันกับครั้งที่กระโดดเล่นน้ำในบึงที่ลึกท่วมหัวกับเพื่อนๆ ทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็นแต่ก็รอดชีวิตกลับมาถึงบ้านโดยไม่มีใครรู้ ครั้งที่ยังกล้าพอที่จะถือประทัดที่จุดไว้ในมือแล้วขว้างออกไปก่อนที่มันจะระเบิดซึ่งนั่นก็ทำให้ดูเท่ห์เอาการในสายตาของเพื่อนๆ (หรืออาจจะแค่ในความคิดของผมก็เถอะ) มันคือเวลาในช่วงชีวิตที่ความไม่รู้อนุญาตให้ทดลองทำอะไรได้หลายๆ อย่าง มันคือชีวิตเสรีไปโดยธรรมชาติที่ยังไม่โดนประสบการณ์ชีวิตหลากหลายหน้าตาเข้ามาหน่วงรั้งเอาไว้

     

    แรงโน้มถ่วงของโลกที่นาระ ดึงเอาความทรงจำกระจัดกระจายในอดีตขึ้นมาปัดฝุ่นให้ได้กลับมาทำความรู้จักมันอีกครั้ง

     

     

    2.

    จะเป็นเพราะบรรยากาศพาไป จะเป็นเพราะฤทธิ์ของสุราสองสามแก้ว หรือเพราะความคาดหวังในระดับที่เรียกได้ว่าไม่คาดหวังอะไรเลยก็เถอะ แต่นั่นทำให้ผมแปลกใจไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อพบว่าร้านมุซาชิร้านนี้ที่ดูจะเป็นเพียงร้านเหล้าเล็ก ๆ ไม่โดดเด่นอะไร กลับมีเมนูที่จัดได้ว่ารสชาติดีเอามาก ๆ อยู่เหมือนกัน

    ผมชี้ไปที่ชื่ออาหารอย่างหนึ่งในเมนูเพื่อถามด้วยความสงสัย ชื่อภาษาอังกฤษที่เขียนกำกับไว้ว่า “Hormone” ทำให้จิตใจด้านมืดของผมพาไปถึงเรื่องสองแง่สองง่ามได้พลันหนึ่ง แต่หากจะพิจารณาให้ดีจากภาษาอังกฤษสไตล์ญี่ปุ่นที่พบได้ทั่วไปแล้ว ผมควรจะคาดหวังถึงเมนูอาหารที่มีเครื่องในสัตว์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งก็คงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เมื่อฮารุอธิบายด้วยการชี้นิ้ววนไปที่ช่วงท้องและลำตัว นัยว่าคงหมายถึงสิ่งที่อยู่ข้างในนั้น

    ฮารุยืนยันหนักแน่นว่าอร่อยแน่นอน แม้จะไม่มีรูปภาพประกอบการตัดสินใจแต่นั่นก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะทดลองรสชาติแปลกใหม่ในคืนสุดท้ายของผมที่โอซาก้า

    เครื่องใน(ที่ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าหมูหรือวัว)สองสามชนิดถูกทำให้สุกด้วยการลวกโดยไม่หลงเหลือกลิ่นคาวหรือกลิ่นสาบรุนแรง คลุกเคล้ามาในซอสมิโซะที่ถูกปรุงรสมาอย่างพอดีซึ่งมีรสหวานเล็กน้อยและความเผ็ดร้อนอ่อนๆ ของขิงหรือวาซาบิอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ก่อนจะโรยด้วยต้นหอมซอยเพื่อตัดรสชาติและเพิ่มความสดชื่นเบาๆ ให้กับอาหารจานนั้น ซึ่งปริมาณที่เสิร์ฟมาในถ้วยเล็ก ๆ ขนาดอุ้งมือนั้น ถ้าเรียกว่ากับแกล้มคงจะเหมาะกว่า

    ตอนที่ผมได้กิน “hormone” ถ้วยนั้น พร้อมกับสาเกหนึ่งแก้ว ผมรู้สึกได้ถึงฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินในร่างกาย

     

    การทดลองครั้งนี้มันอร่อย ผมได้รู้จักอาหารญี่ปุ่นจานใหม่ และตอนนี้ผมมีความสุข

     

     

    3.

    ชิโนบุ ซาโต้ ชายวัยกลางคนในชุดสูทผูกเน็คไทสีเทาเข้ม เขาสวมแว่นตากรอบบางสีดำและมีกระเป๋าหนังสำหรับใส่เอกสารสีดำใบหนาวางอยู่ข้างๆ ลักษณะภายนอกเหมือนพนักงานบริษัทญี่ปุ่นทั่วไปที่ดูจะมีความเนี้ยบในการแต่งตัวและลักษณะท่าทางที่ดูจะเรียบร้อยสำรวมกว่าคนโอซาก้าทั่วไป หรืออาจจะเพราะว่าเขามาจากจังหวัดเฮียวโกก็เป็นได้

    แม้เขาจะพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย แต่ก็สามารถสนทนาอย่างรู้เรื่องกับผมได้เป็นชั่วโมง ด้วยความช่วยเหลือจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Google Translate

    แอพพลิเคชั่นเล็ก ๆ นี้ในโทรศัพท์มือถือของ ชิโนบุ ซาโต้ ทำให้คนในร้านรวมถึงตัวผมเองก็ต่างตื่นเต้นกับความสามารถของมัน เมื่อเขาหยิบขึ้นมาใช้หลังจากที่เห็นว่าการสนทนาระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่นเป็นไปอย่างค่อนข้างทุลักทุเล แม้ผมจะรู้จัก Google Translate เป็นอย่างดี แต่กลับไม่เคยคิดถึงฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์เอามาก ๆ และมีมานานแล้ว อย่างการแปลข้อความจากเสียงพูดเลยแม้แต่น้อย

    ชิโนบุ ซาโต้ เปิดโลกใหม่ให้ผมด้วยสิ่งที่คุ้นเคยในโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่หน้าจอมีรอยแตกของเขา และตอนนั้นดูเหมือนทุกคนจะพยายามทดลองพูดใส่โทรศัพท์แล้วผลัดกันส่งให้กันอ่าน แม้จะเป็นข้อความหรือประโยคธรรมดาทั่วไป แต่การถ่ายทอดความหมายด้วยวิธีการที่แปลกใหม่ออกไปกลับสร้างความเพลิดเพลินได้ไม่น้อย

     

    ในคืนที่อากาศยังเย็นเยียบคืนนั้น เมื่อบรรยากาศในร้านถูกเติมด้วยความอบอุ่นจากเสียงหัวเราะ พร้อมกับฤทธิ์สุราที่ร่ำเข้าไปจำนวนหนึ่ง ชิโนบุ ซาโต้ ชายวัยกลางคนบุคลิกสงบเสงี่ยมจากจังหวัดเฮียวโกที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ในสนามแข่งช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ บุรุษคนแรกที่นำ Google Translate เข้ามาใช้ในร้านมุซาชิแห่งนี้ ในตอนนั้นเขาดูสนุกสนานผ่อนคลายและเปิดเผยขึ้นมากเลยทีเดียว

     

    และผมเองเพลิดเพลินกับความรู้ใหม่นี้ไม่น้อยเช่นกัน

     

     

    4.

    ดึกมากแล้วตอนที่สาเกแก้วนั้นถูกนำมาเสิร์ฟไว้ข้างหน้าผม แม้ตั้งใจว่าจะจบคืนนี้ตั้งแต่เครื่องดื่มแก้วที่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธน้ำใจของ ชิโนบุ ซาโต้ ที่ตั้งใจสั่งมาให้ผมทดลองชิมดูไม่ได้ สิ่งที่อยู่ในแก้วนั้นมันคือ ชิโสะสาเก ซึ่งเป็นสาเกที่มีกลิ่นหอมของใบชิโสะและรสชาติดีเลยทีเดียว

    ใบชิโสะที่ปกติแล้วเรามักจะเห็นเป็นเพียงแค่ใบไม้สำหรับประดับจานอาหารญี่ปุ่นให้ดูสวยงาม แม้จะกินได้แต่ก็มีกลิ่นฉุนแรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของใบไม้ชนิดนี้ สำหรับหลายคนแล้วอาจจะเรียกได้ว่ากลิ่นเหม็นเลยทีเดียวและผมเองก็ไม่ได้ชื่นชอบกลิ่นของใบชิโสะนี้เท่าไรนัก แต่เมื่อมันกลายมาเป็นกลิ่นของเหล้าสาเกแก้วที่วางอยู่ตรงหน้าของผมตอนนี้ กลับทำให้รสชาติสาเกแก้วนั้นมีความน่าสนใจไม่น้อยจนสาเกทั่วไปดูจะด้อยลงไปในความคิดของผมตอนนั้น

    ชิโสะสาเกรสชาติแปลกใหม่แก้วนั้นเหมือนเป็นตัวแทนของมิตรภาพระหว่างผมกับเขา และความเป็นเพื่อนของผมกับ ชิโนบุ ซาโต้ ก็ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

     

    ด้วยการ add friend ใน facebook กันเป็นที่เรียบร้อย

     

     

    5.

    เมื่อโอเด้งจังเดินเข้ามาในร้าน หญิงสาวที่มีชื่อเล่นเหมือนอาหารคนนี้รูปร่างเล็กผอมบางจนเหมือนว่าจะโดนลมแรงพัดหอบเอาไปได้ง่ายๆ ใบหน้าเรียวรูปไข่กับผมสีน้ำตาลที่ตัดสั้นคล้ายเด็กผู้ชาย แม้วิธีการพูดจาดูราบเนิบแต่ก็ดูมีเสน่ห์บางอย่าง จนดึงดูดให้ ชิโนบุ ซาโต้ สนใจที่จะสนทนากับเธอด้วยท่าทางอ่อนโยนอยู่นานพอควร

    เธอไม่ใช่พนักงานของร้านนี้ เธอไม่ใช่ลูกค้าของที่ร้าน แต่เธอคือพนักงานของร้านทาโกะยากิบาร์ในย่านนั้น และเข้ามาชักชวนลูกค้าในร้านมุซาชิให้ไปดื่มต่อที่ร้านของเธอ

    น่าจะเป็นเวลาเกือบตีสามแล้วในตอนนั้น ตอนที่ชิโนบุ ซาโต้ ตัดสินใจไปต่ออีกร้านตามคำชวนของโอเด้งจัง

     

    “พรุ่งนี้ไม่ไปทำงานรึไง” ผมเก็บความสงสัยนี้ไว้ในใจแต่ไม่ได้ถามชิโนบุ ซาโต้ ออกไป

     

    หากนึกถึงภาพที่เห็นได้ทุกคืนโดยเฉพาะในย่านนัมบะใจกลางเมืองโอซาก้า ร้านดื่มกินตอนกลางคืนแบบนี้มักจะแน่นไปด้วยผู้คนในชุดพนักงานออฟฟิศทั้งชายหญิงจำนวนมากที่ต่างก็ใช้เวลาสนุกสนานไปกับการสนทนาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายชนิด จากร้านนี้ไปแวะเข้าร้านนั้นแล้วไปต่ออีกร้านจนดึกดื่นหรืออาจจะลากยาวไปจนถึงตอนเช้า จนมักจะปรากฏให้เห็นคนญี่ปุ่นในชุดทำงานที่เมาไม่ได้สตินอนอยู่ตามข้างทางหรือตามสถานีรถไฟจนชินตา เหมือนเป็นการตอกย้ำให้เห็นระดับความปลอดภัยของสังคมญี่ปุ่นถึงขั้นที่ว่า เมาแล้ว จะนอนตรงไหนก็ได้

    และน่าแปลกใจอีกว่าด้วยระดับความเมามายขนาดนั้น คนเหล่านั้นยังสามารถตื่นไปทำงานต่อในตอนเช้าได้ตามปกติอีกต่างหาก ผมคิดว่า ชิโนบุ ซาโต้ ก็คงมีความสามารถแบบนั้นเช่นเดียวกัน

     

    “ไปด้วยกันสิ 3,000 เยน ดื่มกินได้ไม่อั้นนะ” โอเด้งจังหันมาชวนผมให้ไปต่อที่ร้านทาโกะยากิบาร์

    “คุณสองคนเป็นเพื่อนกันไม่ใช่เหรอ” เมื่อเห็นผมทำท่าทางครุ่นคิด โอเด้งจังเลยยิงถามคำถามที่ยากจะปฏิเสธ เพราะมันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนที่ยืนยันความเป็นเพื่อนของผมกับชิโนบุ ซาโต้ ใน facebook ที่พึ่ง add friend กันไปเมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้

    “ไม่ดีกว่า เพราะตอนนี้ผมง่วงมาก” ผมปฏิเสธไปพร้อมยืนยันด้วยการทำท่าง่วงนอน โดยไม่ได้บอกความจริงอีกข้อว่าผมเหลือเงินในกระเป๋าไม่ถึงสามพันเยน

    ก่อนที่ ชิโนบุ ซาโต้ จะร่ำลาผมออกไปพร้อมกับโอเด้งจัง เขาบอกชื่อร้าน Tokushima Ramen ร้านราเมนแบบฉบับของจังหวัดโทกุชิมะที่อยู่ในย่านโดทงบุริแห่งนี้ แม้ไม่ใช่ร้านที่มีชื่อเสียงมากนักแต่เขายืนยันให้ให้ผมต้องไปลองกินให้ได้

    ถึงแม้ผมจะมั่นใจว่าเคยไปกินราเมนร้านที่เขาแนะนำนี้มาก่อนแล้ว แต่ครั้งนั้นก็เป็นเพียงการเดินเข้าไปแบบสุ่มเลือกโดยไม่รู้ที่มาที่ไปของร้านว่ามาจากจังหวัดโทคุชิมะ ซึ่งมีความพิเศษอยู่ที่น้ำซุปอันเข้มข้นแตกต่างจากราเมนทั่วไป

    ผมตกปากรับคำแนะนำที่หวังดีของเขาว่าพรุ่งนี้ก่อนบินกลับเมืองไทยผมจะลองไปกินดู เพื่อลองดูว่าการกลับไปร้านเดิมอีกครั้งในความรับรู้ใหม่ จะทำให้ประสบการณ์ของการกินมันแตกต่างออกไปได้มากแค่ไหน

     

     

    6.

    ตีสามคืนนั้น ถนนโดทงบุริที่มีชีวิตชีวาในตอนหัวค่ำตอนนี้ดูเงียบเหงาลงมาก ต่างจากบรรยากาศที่ยังแน่นไปด้วยเสียงพูดคุยสนุกสนานในร้าน “มุซาชิ” แห่งนี้ตอนที่ผมเดินออกมา

    จริง ๆ แล้วตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่เราได้แนะนำตัวทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางการ

    หญิงสาวชาวโอซาก้าโดยกำเนิด ดวงตาค่อนข้างเล็กแต่แฝงความมุ่งมั่นและขี้เล่นไปพร้อมกัน ท่าทางกระฉับกระเฉงมีพลังงานเหลือเฟือ พูดจาเสียงดังฉะฉานเกือบจะถึงขั้นโวยวาย แต่ก็ยังคงท่วงท่าน่ารักแบบสาวญี่ปุ่นไว้อยู่บ้าง และซายะคือชื่อของเธอ

     

    จะเป็นสิ่งไหนกันแน่ระหว่างความกลมกลืนหรือความแตกต่าง ที่ทำให้ผมรู้สึกยินดีกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการมาเยือนที่แห่งนี้ หากความแตกต่างที่มากไปอาจจะทำให้คล้ายดูแปลกแยกจนไม่สามารถเรียนรู้อะไรจากผู้คนท้องถิ่น หรือหากกลมกลืนจนแนบเนียนเกินไป ทุกสิ่งอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้มีแง่มุมที่พิเศษให้น่าจดจำ

    ความพอดีจากทั้งสองด้านคงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการเดินทางในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แบบนี้ กลมกลืนพอที่จะไม่ถูกขีดเส้นแบ่งไว้ในฝั่งของคนนอก แต่ก็ยังแตกต่างพอที่จะทำให้สนุกไปกับการทำความรู้จักแม้เพียงเรื่องราวธรรมดาสามัญ

     

     

     

    “ฮาจิเมะมะชิเตะ โยโรชิคุโอนิไกชิมัส”  คำพูดสุดท้ายของผมกับซายะ

    แม้การจากลาคือสิ่งที่อยู่คู่กับการเดินทาง ทุกครั้งก็ยังมีร่องรอยของความทรงจำใหม่หลงเหลือให้จดจำด้วยความยินดี

    .

    .

    แต่ผมคิดว่านี่ไม่ใช่คำบอกลา

    “ยินดีที่ได้รู้จัก ฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ”



    mylazypace.com


     


     

    ตอนอื่นๆ

    Nara Marathon Diary – Part1 : โอโคโนมิยากิ และ เกี๊ยวซ่า

    Nara Marathon Diary Part 2 : ตะคริวและกลิ่นปุ๋ย ในความทรงจำกระจัดกระจาย

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in