เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Review: LGBTQ Filmsisamare
[Review+วิเคราะห์] Your Name Engraved Herein เมื่อความสัมพันธ์ถูกกำหนดด้วยบริบททางสังคม

  • -SPOILER ALERT! บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์-

    ขอต้อนรับ The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia (วันต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศและคนข้ามเพศสากล) ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2021 นี้ ด้วยการแนะนำภาพยนตร์ LGBTQ สัญชาติไต้หวันที่ควรดู การันตีรางวัล Best Cinematography และ Best Original Film Song จาก GOLDEN HORSE AWARDS 2020 เรื่อง "Your Name Engraved Herein (刻在你心底的名字)" หรือชื่อภาษาไทยว่า "ชื่อที่สลักไว้ใต้หัวใจ" ที่ได้ออกอากาศผ่าน NETFLIX ไปเมื่อ 23 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา 

    ความน่าสนใจของภาพยนตร์ไม่ได้อยู่ที่ว่าเพราะการเล่าความเป็นไต้หวันหรือเรื่องราวความรักของ LGBTQ ก่อนที่จะมาเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (Same-Sex Marriage) แต่เป็นการนำเสนอความสัมพันธ์ของคนใน LGBTQ Community ที่ไม่ได้รับการยอมรับ และถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาปผ่านบริบทและโครงสร้างทางสังคมในช่วง 1980ของไต้หวันในอดีตที่ทำให้เห็นแตกต่างจากไต้หวันในปัจจุบัน

    Disclaimer: เนื้อหาการรีวิวภาพยนตร์และบทวิเคราะห์ต่อไปนี้ เป็นนำเสนอมุมมองผ่านความคิดตัวผู้เขียนเท่านั้น - This is just my opinion, so you might not agree with this review.

    --------------------------------

    Your Name Engraved Herein เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัยมัธยมปลายสองคนที่เป็นเพื่อนสนิทกันในในยุค 80s ภาพยนตร์บอกเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครระหว่าง Chang Jia-han (A-han) และ Wang Bo Te (Birdy) ฟังดูเหมือนจะเป็นเพียงภาพยนตร์ coming of age ทั่วไปที่เริ่มต้นเรื่องราวด้วยมิตรภาพ ความบ้าบิ่นของวัยเยาว์ ก้าวข้ามผ่านความสับสนทางความรู้สึกแปรเปลี่ยนเป็นความรัก แต่มันอาจเกินความคาดหมายของคุณ เพราะเนื้อหาของหนังที่มีความยาวเกือบสองชั่วโมงนั้นมีการสอดแทรกประเด็นที่น่าสนใจ สภาพสังคมของไต้หวันในยุคเก่าที่ยังไม่มีการตื่นตัวทางสังคม ยุคที่การรักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้าม ผ่านเรื่องราวภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของไต้หวัน โครงสร้างทางสังคมที่เข้มงวด และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในยุคของการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากยุคเผด็จการที่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยได้อย่างน่าสนใจ วันนี้เราจึงขอหยิบยกบางประเด็นที่ได้วิเคราะห์ไว้มาให้ได้อ่านกัน

    เริ่มต้นเรื่องราวในช่วงการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในไต้หวัน

    ภาพยนตร์เริ่มต้นเรื่องราวในปี 1987 ซึ่งในปีนั้นไต้หวันเพิ่งมีการยกเลิก “กฎอัยการศึก” (martial law) หลังจากที่ถูกประกาศใช้มาอย่างยาวนานกว่า 38 ปี (1949 - 1987) ที่ไต้หวันถูกปกครองแบบเผด็จการภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang; KMT) ที่เป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมของสาธารณรัฐจีน

    ขอเล่าย้อนไปในยุคก่อนหน้าที่มีการปกครองรูปแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในไต้หวันที่มีการสืบทอดอำนาจทางการเมือง การใช้อำนาจควบคุมและผลิตสื่อการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) รวมถึงจำกัดเสรีภาพของประชาชนห้ามไม่ให้มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ทำให้เกิดอุบัติการณ์ 228 ที่ชาวไต้หวันที่เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ที่มีการคาดการประมาณ 28,000 คน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ White Terror ในปี 1947 ที่รัฐบาลเริ่มปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงและเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชไต้หวันขึ้น จนในที่สุดรัฐบาลต้องมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมอย่างยาวนาน จึงทำให้ไม่มีใครสามารถพูดถึงอุบัติการณ์ 228 ได้อีก

    แม้ในเรื่องจะมีการกล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ทำให้เห็นว่าสังคมในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการแล้ว ผู้คนในไต้หวันเริ่มมีความหวังในการออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ความจริงแล้ว แนวคิดของระบบ อคติ และความเชื่อในบางสิ่งที่ฝังรากลึก มันไม่ได้หายไปในทันทีชั่วข้ามคืน

    เหมือนที่ Birdy ได้พูดอย่างไม่เข้าใจว่าทำไมโดนจำกัดสิทธิโดนห้ามไม่ให้ร้องเพลง ไหนบอกยกเลิกกกฎอัยการศึกแล้ว? แต่ A-han ตอบกลับไปว่า...

    “Do you think the world has changed? Actually, it hasn't changed a bit.”
    -นายคิดว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วเหรอ? ที่จริงมันไม่ได้เปลี่ยนไปเลยสักนิด-

    ผู้นำทางการเมืองและลัทธิบูชาบุคคล

    หลังจากการยกเลิกกฎอัยการศึกไม่นาน A-han และ Birdy เป็นตัวแทนโรงเรียนเดินทางไปไทเป เพื่อร่วมพิธีแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของประธานาธิบดี Chiang Ching-kuo—สืบทอดอำนาจต่อจาก Chiang Kai-shek ผู้เป็นพ่อ จะเห็นได้ว่ามีคนอีกหลายกลุ่มที่มาร่วมงานและแสดงความเสียใจการจากไปของผู้นำทางการเมือง ด้วยบรรยากาศที่หม่นหมองเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ทำให้ทั้งคู่ต้องพยายามทำตัวเศร้าและแสร้งร้องไห้เพื่อสวดภาวนาให้เขาไปด้วย ทั้งที่ไม่รู้ว่าเขาทำความดีงามอะไรไว้ บทในซีนนี้ยังแฝงการจิกกัดได้อย่างแนบเนียน

    -I may not know the great things he did, but I think he was great.

    -ถึงผมจะไม่รู้ว่าเขาทำความดีอะไรไว้ แต่คิดว่าเขาคงเป็นคนดีแน่นอน-

    -Because everyone liked him a lot.

    -เพราะทุกคนชื่นชมเขามาก-

    การแสดงออกในเหตุการณ์นี้ยังทำให้เห็นอีกว่า แม้บุคคลนั้นจะเป็นผู้นำเผด็จการที่เลวร้ายแค่ไหนก็ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าเขาคือผู้วางรากฐานความเจริญและการสร้างชาติในไต้หวัน ผลพวงจาก Propaganda ในยุคนั้นด้วยการสร้างภาพลักษณ์ในอุดมคติ และวีรกรรมที่น่าเคารพ จนกลายเป็น Cult of Personality ที่ฝักรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่จางหาย

    การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของสังคม

    • ครอบครัว

    เรื่องราวของภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกดทับความเป็นมนุษย์ ผ่านแนวคิดอนุรักษนิยม (conservatism) ในสังคมไต้หวันเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วที่สะท้อนความเชื่อในกำหนดกฎเกณฑ์ทุกอย่างให้เป็นไปตามบรรทัดฐาน จารีตประเพณี และศาสนา เห็นได้ชัดถึงระบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ที่เริ่มตั้งแต่ครอบครัวที่พ่อแม่มีความคาดหวังต่อลูกชายที่ต้องแต่งงานมีลูกหลานสืบสกุลต่อไปเรื่อยๆ ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ บทตอกย้ำแนวคิดนี้ด้วยการสนทนาระหว่าง A-han และแม่ของเขาเอง

    Why did you marry him? -ทำไมแม่แต่งงานกับเขา
    If I didn't, how would I give birth to you? -ถ้าแม่ไม่แต่งแล้วจะมีลูกได้อย่างไร?
    So you don't love him.-งั้นแม่ก็ไม่ได้รักเขาสิ
    Love? At our age? We just met each other. -อายุปูนนี้แล้วจะรักอะไรกันก็แค่คนมาเจอกัน 
    So it was merely procreation.-งั้นก็เป็นแค่การเพิ่มจำนวน
    What do you mean by procreation? -อะไรคือการเพิ่มจำนวน?
    It means having babies.-ก็แปลว่าการมีลูกไง

    จากที่กล่าวมายังชี้ชัดให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่ยังยึดโยงความสำคัญของการแต่งงาน เรียกได้ว่าส่วนหนึ่งของความคาดหวังของครอบครัว เมื่อมีครอบครัวก็ต้องมีลูก โดยที่ไม่จำเป็นต้องรักกันก็ได้ เหมือนที่แม่ได้พูดกับ A-han ต่ออีกว่า "ลูกจะไปรู้อะไรเรื่องความรัก นานไปก็รักกันเอง" ดังนั้นการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองให้พ่อแม่ที่คาดหวังให้ลูกชายแต่งงานมีครอบครัวรับรู้ในสมัยนั้นแทบเป็นไปไม่ได้

    ขอพูดถึงบริบทสังคมยุคปัจจุบันที่มีความเปิดกว้างเรื่องเพศที่มากขึ้น แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมมันยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงและยอมรับอย่างแท้จริง ทำให้หลายคนต้องพยายามสวมบทบาทการเป็นเพศตามกรอบของสังคม ซึ่งถ้าหากเปิดเผยรสนิยมทางเพศเชื่อว่าพ่อแม่ต้องผิดหวังอย่างแน่นอน ในขณะที่บางครอบครัวก็เริ่มยอมรับในเพศสภาวะของลูก แต่ก็ยังคาดหวังให้ลูกแต่งงานอยู่ดี หรืออ้างเรื่องศีลธรรมอันดีว่าเป็นเพศไหนก็ได้ แค่เป็นคนดีก็พอ แม้ดูย้อนแย้งแต่นั่นอาจเป็นเพราะความคาดหวังมันเริ่มต้นตั้งแต่การแต่งงานสร้างครอบครัว เช่นความพยายามที่จะให้กำเนิดลูกชายสืบเชื้อสาย มันยังไม่หลุดออกจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตและครอบครัวของระบบความคิด patriarchy

    • การศึกษา

    การใช้ชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนคาทอลิกที่มีการควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารและอาจารย์ประจำหอพักในโรงเรียน ผ่านการกำหนดกฎและการรักษาระเบียบวินัยอย่างเข้มงวดด้วยการทำโทษทางร่างกาย

    แม้ว่าหลังการยกเลิกกฎอัยการศึก โรงเรียนคาทอลิกที่เดิมเป็นโรงเรียนชายล้วน ได้มีการเปิดรับนักเรียนหญิงเข้ามาเป็นรูปแบบ Mixed-sex education แต่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในโรงเรียนยังเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเคร่งครัด มีกฎห้ามคบหากันอย่างเคร่งครัดระหว่างนักเรียนชายหญิง อย่างเช่นในตอนที่ Birdy ทำบอลลูนเพื่อสารภาพรักต่อ Ban-Ban หลัังจากนั้นไม่นานก็โดนทำโทษด้วยการประกาศกักบริเวณนักเรียนชาย แต่นักเรียนหญิงกลับต้องถูกไล่ออก นั่นยังแสดงถึงความไม่เท่าเทียมในการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศอีกด้วย

    โดยไม่ต้องพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน เพราะหากแสดงออกอย่างเปิดเผย ก็มักจะโดนดูถูกและถูกรังแกอย่างรุนแรง นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นเกย์ต้องแบกรับ และพยายามเก็บซ่อนตัวตนไว้ให้เป็นไปตามค่านิยมของสังคม สวมบทบาทการเป็นเพศชายและคบหากับผู้หญิง เพียงเพราะรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยถ้าต้องแสดงตัวตน

    แม้กระทั่งการที่โรงเรียนแนะนำให้นักเรียนเลือกสายวิชาเอกเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อการสอบเข้าศึกษาต่อได้มากกว่า เพราะเชื่อว่ามีโอกาสในอาชีพการงานที่ดีกว่าสายศิลป์ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พ่อของ Chang Jia-han โกรธมากที่เขาย้ายวิชาเอกจากสายวิทย์ไปเลือกสายศิลป์ แต่อย่างไรก็ตาม การควบคุมกำหนดหน้าที่ของนักเรียนให้เรียนอย่างเข้มงวด เด็กมีหน้าที่ตั้งใจเรียนก็พอ เพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และยังคงเป็นอีกหนึ่งของความคาดหวังของครอบครัวในสมัยนั้น สุดท้ายมันกลายเป็นค่านิยมของสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง

    • ศาสนา
    การสอดแทรกประเด็นการรักร่วมเพศว่าเป็นการผิดบาปในทางศาสนา บทสนทนาระหว่างคุณพ่อ (บาทหลวง) Oliver ผู้ที่เป็นทั้งครูประจำวงโยธวาทิต และคนที่ A-han เชื่อใจ การระบายความรู้สึกเริ่มต้นด้วยความไม่เข้าใจกลายเป็นความโกรธที่มาพร้อมกับคำถามที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด อิจฉา และคับแค้นใจในความไม่เท่าเทียม

    -So you can like girls, but I can't like boys? Is your love bigger than the love I give?
    -คุณชอบผู้หญิงได้ แต่ผมชอบผู้ชายไม่ได้สินะ ความรักของคุณยิ่งใหญ่กว่าผมเหรอ?-
    -What's the difference between your love and mine? Tell me the difference! 
    -ความรักของคุณกับผมมันต่างกันตรงไหน?-
    ---
    -Help me go to hell then. I'd rather go to hell now.
    -งั้นช่วยส่งผมลงนรกที ผมยอมตกนรกดีกว่า-
    -Don't all homosexuals deserve to go to hell?
    -พวกรักเพศเดียวกันสมควรตกนรกไม่ใช่เหรอ?-
    -Maybe more people would understand me in hell.
    -ในนรกอาจมีคนเข้าใจผมมากกว่านี้-


    • สังคม
     

    อีกหนึ่งซีนที่น่าสนใจคือการที่ทั้งคู่ได้พบเห็นผู้ประท้วงคนหนึ่งบนสะพานลอยที่ถือป้ายบอกว่า ‘MARRIAGE IS A HUMAN RIGHT. HOMOSEXUALITY IS NOT A DISEASE!’ (การแต่งงานเป็นสิทธิมนุษยชน รักเพศเดียวกันไม่ใช่โรค!) นั่นคือการปรากฏตัวช่วงเวลาสั้นๆในภาพยนตร์ของ Chi Chia-wei—นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเกย์คนแรกในไต้หวันที่ออกรายการทางโทรทัศน์แห่งชาติมาตั้งแต่ปี 1986 ขณะที่คนในสมัยนั้นมองว่าเป็นพวกนอกรีต หรือเรียกร้องความสนใจ (ปัจจุบันเขายังคงเป็นนักรณรงค์เรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมในการสมรสของ LGBTQ) แต่สุดท้ายก็ถูกตำรวจควบคุมตัวไปไม่ให้เขามาถือป้ายประท้วงอีก ถึง Birdy จะพยายามเข้าไปห้ามก็ไม่เป็นผล หลังจากเรื่องนั้น เหมือนเป็นการเริ่มต้นสะกิดความรู้สึกในแง่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ รวมถึงความกังวลใจ ผ่านบทสนทนาที่เหมือนแทรกเข้ามาให้ดูตลกแต่กลับดูตลกร้ายเสียเองอย่างการที่ Birdy พูดถึงพ่อ

    -Sometimes I feel like I'm one of those unneeded people. 

    -บางครั้งฉันก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ไม่มีใครต้องการ-

    -It's like what my dad says, "It's useless to raise you. I should've strangled you when you were born."

    -เหมือนที่พ่อฉันเคยพูดว่า "แกมันคนไร้ประโยชน์ ตอนแกเกิดฉันน่าจะบีบคอให้ตาย"-

    หรือการพูดถึงความรักผ่านเงื่อนไขของสังคมที่ว่าการเป็นแบบที่ทั้งคู่เป็นอยูู่ก็มีลูกด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว

    -You and I can't have babies anyway.

    -ยังไงนายกับฉันก็มีลููกด้วยกันไม่ได้-

    ทำความเข้าใจความสัมพันธ์และพฤติกรรมของตัวละคร

    การทำความเข้าใจตัวละครทั้งในตอนเริ่มต้นของเรื่อง และในตอนจบอาจดูเหมือนง่าย เพราะตัวละครหลักเป็นเพียงเด็กนักเรียนมัธยมปลายสองคนที่เป็นเพื่อนสนิทกันและทั้งคู่เป็น "เกย์" แต่ด้วยความที่ทั้งคู่มีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างแตกต่างกัน และปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม เมื่อมีเรื่องความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ความคิดของตัวละครเริ่มซับซ้อนมากขึ้นบวกกับปัจจัย Socio-cultural Influences ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลี้ยงดูจากครอบครัว ความเชื่อ วัฒนธรรม และบรรทัดฐานของสังคมที่ส่งผลต่อความคาดหวังในตัวบุคคล 

    อย่าง Chang Jia-han (A-han) เด็กหนุ่มที่เข้มงวดต่อระเบียบวินัย แต่เมื่อได้มาเป็นเพื่อน และมีความรู้สึกดี ๆ ต่อ Wang Bo Te (Birdy) ที่มีพฤติกรรมกล้าบ้าบิ่น และไม่ชอบอยู่ในกฎระเบียบ มันทำให้เห็นความแตกต่างในแง่ของการยอมรับตัวตนและความรู้สึกที่แท้จริง กลับกลายเป็น A-han ที่มีความกล้ามากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุผลของการที่ Birdy พยายามตีตัวออกห่าง A-han แล้วคบหากับ Ban-Ban นั้นเป็นการพยายามปกปิดตัวตนและปกป้องคนที่เขารักไปด้วย เพราะเขาเชื่อว่าการอยู่ร่วมกันจะนำไปสู่ความเลวร้ายภายใต้แรงกดดันทางสังคมในเวลานั้นและเขาทนไม่ได้ที่เห็นคนที่รักต้องเจ็บปวด จากที่เห็นมีคนรักเพศเดียวกันถูกรังแก และโดนจับกุมตัวไป

    นอกจากเรื่องราวของบทที่น่าสนใจแล้วที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังขอชื่นชมในส่วนของการใช้มุมภาพ พื้นที่ และการใช้โทนสีที่ถูกย้อมเป็นยุคเก่าที่ดูหม่นหมองที่สื่อถึงความอึดอัดของตัวละครที่ถูกกดทับจากเงื่อนไขทางสังคม เพราะเมื่อคุณไม่ใช่เพศในบรรทัดฐานของสังคม (ชาย-หญิง) ในยุคนั้น และการที่คนในสังคมมีมุมมองคับแคบในเรื่องเพศ พื้นที่ในการแสดงออกความเป็นเพศจึงมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถแสดงออกถึงการเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่

    --------------------------------

    แต่อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ก็เป็นเพียงการถ่ายทอดเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่จบลงในไม่กี่ชั่วโมง แต่หลังจากนี้บทต่อไปคงเป็นการตีความและการเปิดรับตามมุมมองของคนดู สุดท้ายแล้วสิ่งที่งดงามของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการได้ส่งสารที่จะสื่อไปยังผู้ชมและคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ เหมือนที่ผู้กำกับ Kuang-Hui Liu ได้พูดไว้ว่า The LGBT communities need a movie like this to tell them, 'You are allowed to love, you are not guilty.'


    Your Name Engraved Herein | Official Trailer | Netflix

    Your Name Engraved Herein | Official Trailer | Netflix



    ขอบคุณที่อ่านจนจบ และขอบคุณน้องโรสที่ดันหลังให้เปิดการวิเคราะห์ครั้งนี้
    คิดเห็นอย่างไรสามารถ discuss กันได้เสมอ

    isamare.

    หวังว่า Your Name Engraved Herein ชื่อที่สลักไว้ใต้หัวใจ จะเป็นภาพยนตร์ที่สลักไว้ในหัวใจใครหลาย ๆ คนนะ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in