ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ . . .
ถึงแม้อารมณ์จะสูญเสียความสามารถในการถ่ายทอดตัวมันเองในโลกของกล่องข้อความแต่มนุษย์ไม่ได้จำนนต่ออุปสรรคนี้นานนัก การเข้ามาของตัวอักขระพิเศษเพื่อใช้แทนอารมณ์อย่าง Emoticon และ Emoji เป็นก้าวแรกของมนุษย์ที่ใช้สร้างอารมณ์บนโลกของข้อความ อักขระพิเศษอย่างเช่น :-) หรือ :-( ถูกใช้เพื่อสื่อถึงสีหน้าของผู้ส่งสารหรือผู้รับสารในการสนทนา โลกของกล่องข้อความกลับมามีสีสันด้วยอารมณ์เสมือนเหล่านี้ นวัตกรรมด้านนี้ได้รับการต่อยอดจนกลายมาเป็น Stamp หรือ Sticker ที่เป็นรูปภาพ มีทั้งแบบที่เคลื่อนไหวได้และมีเสียง สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความโหยหาอารมณ์ในการสื่อสารบนโลกอินเตอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี เป็นเช่นนี้ข้อความที่ว่า “ความรักชนะทุกสิ่ง” ดูท่าจะจริงและทุกอย่างดูน่าจะจบลงอย่างสวยงามแต่ทว่าสิ่งที่นวัตกรรมเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนได้ยังคงมีอยู่
ผมขอพูดอย่างนี้ว่า ถึงแม้นวัตกรรมในปัจจุบันจะเข้ามาแทนที่อารมณ์ที่หายไปในการสื่อสารได้แทบจะสมบูรณ์แต่ความไม่ต่อเนื่องของการสนทนา (discontinuity of conversation) ยังถือเป็นอุปสรรคต่อการก่อตัวของความรักอย่างราบรื่นในโลกออนไลน์ แม้โลกออนไลน์จะอนุญาตให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างราบรื่นสักเพียงใด การสนทนากันในกล่องข้อความยังคงถูกกำหนดโดยผู้ส่งสารและผู้รับสาร การส่งข้อความที่ไม่ต่อเนื่องส่งผลต่อความมั่นใจของเราต่อคนที่เราคุยด้วย ในปริมณฑลออนไลน์ ไม่มีกำแพงใดๆ บังคับให้การสนทนาในแต่ละครั้งต้องจบลงอย่างสมบูรณ์และเป็นที่น่าพอใจกับทั้งสองฝ่าย ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บ่อยครั้งที่เรามักจะสงสัยในตัวของผู้ที่เข้ามาทักทายกับเราอย่างสม่ำเสมอและคุยกับเราอย่างต่อเนื่องยาวนานในกล่องข้อความว่าคนเหล่านี้ดูมีแนวโน้มที่จะปันใจให้เราหรือไม่ ซึ่งความไม่แน่ใจเช่นนี้ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าประหลาดใจเพราะก่อนที่เราจะสื่อสารความรักผ่านตัวอักษรในกล่องข้อความ “การจีบ” กันต่อหน้ายังต้องใช้ความต่อเนื่องและความยาวนานในลักษณะนี้เป็นตัวพิสูจน์แรงม้าที่มีต่อคนที่เราชอบ ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่าความรักในโลกออนไลน์ต้องทุ่มเทไม่ต่างอะไรกับการจีบกันในความเป็นจริงและอาจจะต้องเสียเวลามากกว่าในความเป็นจริงด้วยซ้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย
อุปสรรคประการที่สองในการสร้างความรักผ่านโลกตัวอักษรคือ การจีบกันในโลกพิมพ์ดีดไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง ผมอยากชี้ให้เห็นว่าในการตีความการสื่อสารกันโดยใช้ตัวอักษรและอารมณ์เสมือนนั้นผู้รับสารไม่ได้ตีความอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ในทางกลับกันผู้รับสารกลับตีความสิ่งที่ได้อ่านบนพื้นฐานของสัญลักษณ์ที่ใช้แทนความจริง พูดเช่นนี้อาจจะดูวิชาการไปเสียหน่อย ภาษาง่ายๆ คือ ทุกวันนี้ความรู้สึกที่ก่อตัวขึ้นในกล่องข้อความเกิดจากการ “มโน” อิงจากสิ่งที่เราได้อ่านและเห็นในกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งในทัศนะของผมไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริงก็ได้ ผมขอยกคำพูดของนักคิดที่เป็นแรงบันดาลใจของผมที่ใช้ในการอ้างเรื่องนี้เสียหน่อย
" If you say, I love you, then you have already fallen in love with the language, which is already a form of break up and infidelity. "
Jean Baudrillard
สิ่งนี้ก่อให้เกิด “ความทุกข์” แบบใหม่ๆ ของความรักในสังคมออนไลน์ ผมขอยกเหตุการณ์จำพวกได้รู้จักกับใครสักคนผ่านกล่องข้อความและพูดคุยกันราวกับว่าเข้าใจกันเป็นอย่างดีจนวันหนึ่งมีโอกาสได้เจอกัน ปฏิสัมพันธ์ตรงหน้ากลับยากลำบากและชวนน่าอึดอัดกว่าโลกของตัวอักษร อาจเป็นเพราะการพูดคุย การแสดงท่าทาง การปั้นสีหน้าในความเป็นจริงไม่ได้สื่อออกมาได้ไหลลื่นเหมือนในกล่องสี่เหลี่ยม เป็นต้น ผมพูดเช่นนี้เพื่อพิสูจน์สมมติฐานของผมที่กล่าวไว้ในส่วนแรกว่าธรรมชาติของการแสดงออกถึงความรักหรือความสนใจในอีกฝ่ายจำเป็นต้องอาศัยปฏิบัติการอันซับซ้อนของสัญญะ แววตา น้ำเสียง ท่าทางและเสื้อผ้าหน้าผม สิ่งเหล่านี้ถูกลดทอนให้ไร้เสียงในโลกของกล่องข้อความ ในทางกลับกัน กลับมีบทบาทอย่างยิ่งในความเป็นจริง ในท้ายที่สุดความรักที่ก่อตัวในโลกออนไลน์จึงจบลงด้วยการได้พบหน้ากันอยู่บ่อยครั้ง
ประการสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้คือ การตีความสัญญะจนก่อเกิดเป็นความรักที่ราบรื่นได้นั้นต้องการอาศัยความเข้าใจตรงกันของทั้งสองฝ่าย (double coincidence of comprehension) ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นภาพเช่น นาย A ชวนนางสาว B ไปกินข้าวโดยที่สองคนนี้รู้จักกันมาสักพักผ่านโลกออนไลน์และได้พูดคุยกันมาประมาณหนึ่ง นางสาว B รู้สึกว่านี่คือสัญญาณของความรัก เนื่องจากตนไม่เคยขอร้องให้มีการนัดกันใดๆ รู้สึกได้ว่านาย A มีใจให้ตนประมาณหนึ่ง ในขณะที่ความเป็นจริงนาย A ตั้งใจแค่อยากเจอตัวเพื่อดูว่านางสาว B มีนิสัยหรือบุคลิกในแบบที่ได้กล่าวอ้างไว้ในโลกออนไลน์หรือไม่ แน่นอนว่านางสาว B แต่งตัวเต็มยศด้วยความคาดหวังว่านี่จะเป็นเดทแรกที่น่าประทับใจในขณะที่นาย A ง่วนอยู่กับการหาร้านราคาถูกพอแค่ให้นั่งคุยกันได้ ประสบการณ์เจอกันครั้งแรกของสองคนนี้ไม่น่าจะอภิรมย์ใจนัก ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าในโลกตัวอักษร การเกิดความเข้าใจตรงกันของทั้งสองฝ่ายเป็นไปได้ยากทั้งในทั้งแง่ขนาดและความเข้มข้นเพราะตัวช่วยปรับความเข้าใจให้ตรงกันอย่าง น้ำเสียงหรืออวัจนภาษาเวลาพูดคุยไม่สามารถส่งผ่านไปได้ในโลกคลื่นสัญญาณไฟฟ้า “การตีความพลาด (misinterpretation)” จึงสามารถเกิดขึ้นบ่อยๆ ในทัศนะผมสิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันติดปากว่า “นก”
ผมเพียรเขียนบทความยาวเหยียดขนาดนี้เพื่อสรุปในท้ายที่สุดว่า ถึงแม้โลกของกล่องข้อความจะกลายเป็นรูปแบบของการปฏิสังสรรค์ใหม่ๆ แต่ข้อพิสูจน์ต่อความรักที่ต้องใช้ปฏิบัติการร่วมกันของสัญญะอันซับซ้อนนั้นไม่อาจจะถูกลดทอนให้อยู่ในรูปแบบของประติมากรรมทางอักขระได้อย่างสมบูรณ์
บทความของผมชิ้นนี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่งในการวิเคราะห์การดิ้นดับลงของความรักและอารมณ์ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์บนโลกของกล่องข้อความแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ผมเชื่อเหลือเกินว่าบทความชิ้นนี้จะกระตุ้นมุมมองให้ผู้อ่านได้กลับไปทบทวนคุณค่าของความรักและอุปสรรคที่ใช้ในการพิสูจน์แรงม้าในโลกไร้เส้นขอบฟ้าอีกครั้ง อีกทั้งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามุมมองที่ผมเสนอไปในบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานที่อธิบายสังคมในยุคหลังสมัยใหม่ต่อเรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in