เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Book reviewsilberic8
[book review] อ่านการแบ่งแยกเชื้อชาติผ่านมุมมองทางวิทยาศาสตร์ใน Superior: The Return of Race Science
  • cover:  an illustration from H. Strickland Constable's Ireland from One or Two Neglected Points of View
    รีวิวหนังสือ Superior: The Return of Race Science โดย Angela Saini



    “อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติไปได้อย่างไรถ้ามันเป็น ‘ความจริง’”

    “After all, it can’t be racist if it is a ‘fact’.”


    หนังสือเล่มนี้เล่าประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์เชื้อชาติ (Race Science) ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกเชื้อชาติทางกายภาพเพื่อสนับสนุนวาทกรรมของยุคล่าอาณานิคม การถูกดัดแปลงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของลัทธินาซี การเสื่อมความนิยมหลังสงคราม ความพยายามแบ่งแยกเชื้อชาติผ่านพันธุกรรม ไปจนถึงการแบ่งแยกสีผิวในโลกของการแพทย์ในปัจจุบัน โดยจะเห็นว่า ความพยายามค้นหาความแตกต่างทางชีววิทยาของเชื้อชาติเพื่อตอกย้ำความแตกต่างที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้นมีอยู่ตลอดเวลาแม้ในช่วงที่โลกกระแสหลักไม่ได้ให้ค่ากับเรื่องนี้แล้ว จนนำไปสู่การที่ลัทธิคนผิวขาวสูงส่งยิ่ง (white supremacy) กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในปัจจุบัน


    “ตัวข้อมูลเองไม่ได้สำคัญมากเท่ากับวิธีที่มันได้รับการเผยแพร่จากมุมมองที่มีอคติ”

    “The data itself doesn’t matter so much as how it can be spun.”


    แม้วิทยาศาสตร์เชื้อชาติจะถูกแปะป้ายว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่การนำเสนอแนวคิดต่างๆ ที่อ้างวิทยาศาสตร์ในเล่มนี้กลับพูดถึง “ความเชื่อ” “ความปรารถนา” รวมถึง “ความรู้สึก” ของผู้ที่รวบรวม วิเคราะห์ เรียบเรียง รายงานผลข้อมูลนี้ ผู้ที่บอกว่าตัวเอง “ไร้อคติ” มากพอสมควร นั่นทำให้แม้ว่าผลการศึกษาหลายชิ้นจะระบุชัดถึงความแตกต่างทางชีววิทยาเพียงผิวเผิน (หรือแทบไม่มีเลย) ของคนต่างชาติพันธุ์ แต่แนวคิดแบ่งแยกคนกลุ่มหนึ่งออกจากอีกกลุ่มหนึ่งยังคงแพร่หลาย เน้นย้ำว่าแท้จริงแล้วกลับเป็นอคติของผู้อยู่ในอำนาจเสียเองที่มีอิทธิพลเหนือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเป็นสิ่งที่กำหนดความ “ถูกต้อง” ของข้อมูลชุดหนึ่งเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของตนเอง จึงไม่น่าแปลกที่ความจริงในเรื่องเดียวกันของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันและการแบ่งแยกจะไม่หายไปไหนเลยหากยังมีคนที่มองสิ่งต่างๆ ผ่านเลนส์ของอคติอยู่


    เหตุนี้การตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเองจึงจำเป็นมาก หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่า การจะเชื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง “ความเต็มใจ” ที่จะเชื่อมักเป็นปัจจัยหลักเสมอ ดังนั้นการถอยออกมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่ออาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับความเชื่อที่ทำให้ตัวเองได้ประโยชน์หรือเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตน มีตอนหนึ่งที่บอกว่า การที่แนวคิดความแตกต่างทางชีววิทยายังอยู่ดีมาถึงในปัจจุบันก็เพราะมีคนในสังคมที่พร้อมจะยอมรับแนวคิดนี้อยู่เสมอ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต่อต้านการเหยียดประเภทต่างๆ จึงไม่ใช่เพียงการให้ “พื้นที่” คนที่ถูกกดทับได้แสดงความคิดเห็นหรือการ “รับฟัง” ปัญหาจากคนกลุ่มนั้นเท่านั้น แต่เป็นความสามารถและความตั้งใจในการตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเอง โดยเฉพาะความเชื่อที่ไปลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และการเปิดใจว่าเรื่องเล่าของคนอื่นเป็นเรื่องจริงต่างหาก


    แม้ว่าการลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับ “ความเชื่อ” เรื่องความแตกต่างทางชาติพันธุ์ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวและดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติที่แปรผกผันกับสถานะและอำนาจทางสังคมพอตัว แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมากเช่นกันในยุคสมัยที่การกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานได้รับความสนใจมากขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ที่ “ลึกๆ” แล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย


    เรื่องนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาการเหยียดเชื้อชาติในโลกตะวันตกที่ดีเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าอ่านแล้วให้ความหวังว่าเรื่องนี้จะสิ้นสุดได้ในเร็ววัน กลับกันเราคิดว่าเขาพยายามบอกเหมือนกับที่พวก anti-racist พร่ำบอกว่าเส้นทางนี้ยังอีกยาวไกลและต้องอาศัยความพยายามและกำลังใจมหาศาล แต่คิดว่าเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การเปิดใจของผู้คนจำนวนมากขึ้นได้


    โหลดเล่มนี้ฟรีมาจาก Versobook ตอนที่ประเด็น BLM ยังคุกรุ่น แต่อ่านตอนนี้หรือตอนไหนก็ยังคงอินได้ตราบใดที่การแบ่งแยกคนกลุ่มหนึ่งออกจากคนอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อผลประโยชน์คนบางกลุ่มยังคงดำเนินอยู่



    ปล.เห็นว่าเมื่อเร็วๆ นี้ในบ้านเราก็มีประเด็นอ.สายวิทย์ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าทำไมมีแต่อ.สายศิลป์ที่ลงชื่อรับรองในแถลงการณ์การแสดงออกของนศ.ด้วยน้ำเสียงประชดประชัน เลยจะบอกว่าในเล่มนี้ก็มีประเด็นเรื่องนักวิทยาศาสตร์ผู้ “หวังดี” อยากต่อต้าน racism แต่ด้วยความไม่รู้ดันไปต่ออายุมันเพราะไม่มีความรู้ทางสังคมศาสตร์เหมือนกัน คือประเด็นทางสังคมแบบนี้มันครอบคลุมศาสตร์หลายสาขา โดยเฉพาะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และความไม่รู้รายละเอียดในเรื่องนั้นของอ.สายวิทย์บางคนก็อาจทำให้เข้าใจอะไรๆ ผิดได้เหมือนกัน

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in