เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ห้องหนังมืดFon Kansiri
United 93, World Trade Center เศร้าโศก อ่อนไหว เจ็บปวด เรื่อยไป
  • “AMERICA IS UNDER ATTACK: อเมริกาถูกโจมตี “ เจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาว ก้มตัวกระซิบข้างหูของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ขณะบุชกำลังนั่งอ่านหนังสือนิทาน ให้เด็กๆ โรงเรียนชั้นประถมแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดาฟัง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001


    แม้จะผ่านมานานหลายปี แต่ทุกคนยังคงจำเหตุการณ์ อันเจ็บปวดและระทึกขวัญคนทั่วโลก ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 กันยา ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ 4 ลำ (เลือกลำที่เดินทางไกล เพื่อให้มั่นใจว่ามีน้ำมันเต็มถัง เมื่อพุ่งชนเชื้อเพลิงจะได้เผาไหม้สร้างความเสียหายร้ายแรง) 2 ลำในนั้น ถูกจี้ให้บินพุ่งชนตึกแฝดเวิร์ดเทรด เซ็นเตอร์ ทั้งฝั่งเหนือใต้(สัญลักษณ์ของเศรษฐกิจทุนนิยม) ตึกถล่มภายในไม่กี่ชั่วโมง ส่วนอีกลำ จี้ชนกับอาคารเพนตากอน (สัญลักษณ์ทางการทหาร) ส่วนลำสุดท้ายคือเครื่องบิน ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ 93 ถูกจี้โดยมุ่งหมายให้ชนรัฐสภา หากแต่ลำสุดท้ายเป็นลำเดียวที่ไม่ถึงเป้าหมาย เครื่องบินตกในทุ่งหญ้า เนื่องจากผู้โดยสารในเครื่องตัดสินใจต่อสู้ขัดขวางคนร้ายไม่ให้เอาเครื่องชน เครื่องตกที่ทุ่งหญ้า เครื่องบินหมายเลข 93 จึงเป็นลำเดียวในเครื่องบิน 4 ลำ ที่แม้ไม่มีคนในเครื่องรอดชีวิต แต่ก็ไม่พุ่งชนเป้าหมาย ลดการสูญเสียอย่างมากมาย

    ความทรงจำเปรียบเสมือนสะเก็ดระเบิด ฝังในหัว กลัดหนองด้วยความทรงจำ
    United 93 เป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเที่ยวบินลำนี้ ผู้กำกับ พอล กรีนกลาส (Paul Greengrass) ศึกษาข้อมูลของทุกคนที่อยู่ในเครื่อง ใช้นักแสดงหน้าใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกับผู้โดยสาร ฟังเสียงโทรศัพท์ที่ผู้โดยสารโทรหาผู้เป็นที่รักภายในเครื่อง นำมาถ่ายทอดในหนังเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะจำลองเหตุการณ์ให้เหมือนจริง โดยหนังดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย ไม่มีเสียงประกอบ นำเสนอรูปแบบกึ่งสารคดี (Docu-drama) ช่วงต้นเล่าถึงความล่าช้าของการออกบินเนื่องจากการจราจรบนฟ้า และความวุ่นวายเมื่อเครื่องบินลำอื่นชนตึกแฝด สลับกับเหตุการณ์ในเครื่อง จากนั้นความตึงเครียดก็เริ่มขึ้น เมื่อโจรจี้เครื่องบินแทงผู้โดยสารคนแรก สังหารนักบิน และเข้าควบคุมเครื่องมุ่งหน้าสู่รัฐสภา

    เป็นจินตนาการที่ยากจะบรรยายหากเราเป็นผู้โดยสารที่คาดหวังเพียงการเดินท
    างธรรมดา แต่กลับตระหนักในวินาทีนั้นว่าเครื่องบินถูกจี้ บางคนโทรกลับบ้านเพื่อเล่าเหตุการณ์และได้รู้เพิ่มเติมว่า มีเครื่องบินลำอื่นที่พุ่งชนอาคารก่อนหน้านั้น ลูกเรือในเที่ยวบินมีลูกและครอบครัวรออยู่ที่บ้าน ผู้โดยสารบางคนพึ่งฉลองวันเกิดมาเมื่อไม่กี่เดือน บางคนเคยรอดชีวิตจากเหตุการณ์ล้างเผ่าพันธุ์ บางคนกำลังเดินทางไปสัมภาษณ์งาน บางคนกำลังกลับบ้าน จากคนแปลกหน้าที่มีวัตถุประสงค์และพื้นเพที่ต่างกัน กลับมีจุดร่วมของความหวาดกลัวและความต้องการเอาชีวิตรอด

    ผู้โดยสารชายคนหนึ่ง พูดในโทรศัพท์ทราบเหตุการณ์ณืเครื่องบินชนตึก และตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง โดยตอบโต้ผู้ก่อการร้าย ว่า "Are you guys ready? Okay Let's roll :ทุกคนพร้อมมั้ย โอเค ลุยกันเลย" ในช่วงครึ่งหลังของหนัง ผู้โดยสารรวมตัวกันโจมตีผู้ก่อการร้าย บุกไปในห้องนักบิน จับคันบังคับเพื่อให้ลงจอด ก่อนที่หนังจะมืดสนิท .... นับจากเหตุการณ์นั้น "Let's roll" กลายเป็นคำที่ใช้ติดเครื่องบินไอพ่นในอัฟกานิสถาน เพื่อเตือนทุกคนให้ระลึกถึงการยืดหยันไม่ยอมจำนนต่อการก่อการร้าย


    หนังอีกเรื่องได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ในเวลาใกล้กันคือ World Trade Center กำกับโดย โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) เล่าเรื่องการทำงานช่วยชีวิตของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เข้าไปช่วยผู้คนในตึกโดยไม่มีแผนการเตรียมตัวล่วงหน้าหลังจากเครื่องบินชน แต่แล้วตึกกลับถล่ม ส่งผลให้ทีมช่วยเหลือเกินครึ่งเสียชีวิต เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ 2 รายที่ตึกทับบริเวณช่วงล่าง ติดในซากตึกใต้ดิน ทั้งคู่อาการสาหัส ถูกอาคารทับร่างอย่างยาวนาน ระหว่างติดใน ตึก หนังเสนอบทสนทนาของตัวละครที่ปลุกเร้าไม่ให้อีกฝ่ายหลับและหมดลมหายใจ ทั้ง ภูมิหลัง ผู้คนที่เขารัก และความผูกพันในชีวิต ท้ายสุดเจ้าหน้าที่ทั้งสองรายได้รับการช่วยเหลือและรอดชีวิต โดยตัวละครในเรื่องเป็นคนที่มีชีวิตในเหตุการณ์จริง

    ผู้กำกับหยิบเรื่องราวของเจ้าหน้าที่มากมายที่ต้องทำงานอย่างหนักในการช่วยชีวิตผู้คนในห้วงเวลาวิกฤต ทำให้คนดูเข้าใจและเห็นอกเห็นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งยากลำบาก กดดัน และเสี่ยงภัย ต้องพบเจอความน่าสะเทือนใจมากมาย หลังเหตุการณ์ ซากปรักหักพังของตึก ถูกสร้างเป็น National Memorial เพื่อระลึกถึงโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของอเมริกันชน มีการจัดนิทรรศการเพื่อระลึกถึงผู้จากไป สิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานคือกล่องตั้งสูงหยิบจับสะดวกที่บรรจุกระดาษทิชชู่ให้ผู้เข้าชมได้ระบายความเศร้าผ่านน้ำตา เมื่อระลึกเหตุการณ์ที่ทำร้ายชีวิตและหัวใจของผู้คนนับพัน

    ท่ามกลางความสูญเสีย เกิดคำถามว่า อะไรเป็นเหตุผลหลักที่คนตัดสินใจก่อการร้าย ทั้งที่รู้ว่ามีผู้บริสุทธิ์มากมายต้องได้รับผลกระทบ หรือทั้งรู้ว่าต้องพลีชีพตนเอง นักจิตวิทยาจอห์น โฮเกน (John Horgan) ผู้ศึกษาจิตวิทยาของการก่อการร้ายเคยวิเคราะห์ไว้ว่า เหตุผลการก่อการร้าย มีทั้งเหตุผลหลักและเหตุผลรอง "push and pull factor" เหตุผลหลักมักเป็นความกราดเกรี้ยว ความเสียประโยชน์ การหลงผิด และการรู้สึกตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของฝ่ายตรงข้าม (โดยมูลเหตุของเหตุการณ์11 กันยาที่กลุ่มก่อการร้ายอ้างคือ การสนับสนุนอิสราเอลของสหรัฐอเมริกา การคงทหาร



    สหรัฐประจำการไว้ในซาอุดิอาระเบีย และการลงโทษต่ออิรัก) ส่วนเหตุผลรอง คือ ความล่อใจ เช่น ความตื่นเต้นจากการปฏิบัติการ การรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความไว้วางใจในทีม

    หายนะไม่ได้เกิดมาเฉยๆ แต่เกิดจากการตัดสินใจต่างๆเชื่อมโยงกัน เมื่อเรื่องการเมืองนำไปสู่ความรุนแรง เมื่อความศรัทธากลายเป็นความบ้าคลั่ง United 93, World Trade Center ถ่ายทอดเรื่องราวความกล้าหาญท่ามกลางความสับสนนี้ นำเสนอเหตุการณ์เดียวกันในมุมที่แตกต่าง สะท้อนให้เราเห็น ความโหดร้าย หดหู่ พร้อมกันนั้นก็สื่อข้อความที่ปลอบประโลมว่าท่ามกลางวิกฤตย่อมมีวีรบุรุษเกิดขึ้น โดย นิยามความเป็นวีรบุรุษ ในหนังทั้งสองนั้นแตกต่างจากนิยามทั่วไป วีรบุรุษทั้งสองเรื่องล้มเหลวในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าผู้โดยสารที่ไม่สามารถนำเครื่องบินลงจอดอย่างปลอดภัย หรือ ทีมตำรวจที่เสียชีวิตและบาดเจ็บภายในตึกก่อนที่จะได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่เหล่าผู้โดยสารและทีมตำรวจล้วนไม่รีรอลังเลที่จะทำสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ท่ามกลางปัญหา ทั้งสองกลุ่มดิ้นรน ต่อสู้ ไม่ย่อมให้ชีวิตอื่นต้องตกอยู่ในอันตราย ไม่ท้อถอยแม้จะไร้ซึ่งความหวัง

    วีรกรรมอันน่ายกย่องไม่ได้วัดแค่ผลลัพธ์ของความสำเร็จ ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคืออุดมการณ์ แม้ผลงานอาจไม่ชัดเจน แต่ความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นั้นคู่ควรต่อการระลึกถึง และยกย่องอย่างมิต้องสงสัย

    มีปัจจัยหลายอย่างในชีวิตที่เราเลือกไม่ได้ บางเหตุการณ์ถูกยัดเยียดเข้ามาโดยไม่ได้เตรียมใจ แต่สิ่งที่คนเราเลือกได้คือทางเดินของเราเอง เลือกที่จะไม่ยอมแพ้ เลือกที่จะทำสิ่งที่มีคุณค่า เลือกที่จะต่อสู้เพื่อได้เห็นวันรุ่งขึ้น

    เพราะ ชีวิตนั้นคุ้มค่าเสมอที่จะดำรงอยู่

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in