ย้อนกลับไป ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2เยอรมันกวาดต้อนชาวยิว สร้างค่ายกักกัน สังหารและ บังคับนักโทษให้ใช้แรงงานเหตุผลของชะตากรรม เพียงเพราะ คนเหล่านั้นคือชาวยิวเชื้อชาติที่ชาวเยอรมันเชื่อว่าต้อยต่ำ และเป็นเหตุผลให้การแพ้สงคราม ,ย้อนกลับไปไม่กี่สิบปี ประเทศรวันดาประธานาธิปดีฮูตูถูกลอบสังหาร ชาวฮูตูโกรธแค้นถือมีดและปืน เดินออกมาตามถนนไล่ดูบัตรประจำตัวว่าใครเป็นชาวทุตซี่ ไล่ฆ่า ทำร้าย และข่มขืน ด้วยโทษว่าเป็นพวกที่แย่งดินแดนและสังหารประธานาธิบดีของพวกเขา
Hotel Rawanda และSchindler's list นำเสนอภาพความโหดร้ายของความขัดแย้งที่แสนสะเทือนใจมีฉากใน Hotel Rawanda ที่ตัวเอกขับรถไปตามถนน รถแล่นกระดอนเหมือนทับสิ่งกีดขวางเมื่อลงไปดูก็พบสาเหตุ เพราะรถแล่นทับศพที่เกลื่อนเต็มถนน
บางครั้งเวลาเราดูหนังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เราจะเกิดคำถามว่า อะไรคือต้นตอที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดความรู้สึกเกลียดชังคนอีกกลุ่มจนสามารถทำร้ายกันได้?
หากเราพยายามหาเหตุผลให้กับความโหดร้ายของมนุษย์โรงเรียนแห่งหนึ่งอาจทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้น
เช้าวันหนึ่งในห้องเรียนคุณครูประจำชั้น ประกาศกับนักเรียนว่า "ตั้งแต่นี้เราจะเล่นเกมกัน โดยมีกฎแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตาสีฟ้า และกลุ่มตาสีน้ำตาล ,สมมติให้ กลุ่มที่มีตาสีฟ้าจะเป็นกลุ่มที่ 'ดีกว่า'คือ มีสิทธิเยอะกว่า, สูงส่งกว่า"
ตอนแรกเด็กทุกคนสนุกกับการเล่นนี้แต่ต่อมาทุกคนก็เริ่มจริงจัง เด็กตาสีฟ้าได้พักนานขึ้น ในขณะที่ตาสีน้ำตาลได้ออกจากห้องแค่ช่วงเวลาที่กำหนดเมื่อเด็กตาน้ำตาลทำผิดจะโดนประณามอย่างรุนแรง เด็กเริ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่มกลุ่มเด็กตาสีฟ้าเริ่มดูถูก และแบ่งชนชั้น 'กลุ่มเด็กตาสีน้ำตาล'อย่างชัดเจนทั้งที่เด็กต่างกลุ่มบางคนเคยเป็นเพื่อนสนิทกันด้วยซ้ำ(ท้ายสุดครูสั่งให้ยกเลิกเกมนี้ เด็กๆจึงกลับเป็นเหมือนเดิม)
การทดลองนี้เรียกว่า "Blue eyes- Brown eyesexperiment" ทำให้เรารู้ว่าสมองของมนุษย์มีแนวโน้มประเมินคุณค่าของคนโดยการจัดกลุ่มเมื่อจัดกลุ่มแล้ว จะประเมินว่าเราเป็นกลุ่มไหน พวกใครจากนั้นใจเราจะเอาใจไปผูกกับกลุ่ม เราจะรู้สึกภูมิใจเมื่อกลุ่มเราดีกว่าได้ประโยชน์กว่ากลุ่มอื่น (ingroup bias) และมีแนวโน้มจะปฎิบัติไม่ดีกับอีกกลุ่ม (Dehumanization) นอกจากนี้ ยิ่งเราเห็นเขาเป็นกลุ่มอื่นมากขึ้นเราจะเห็นความแตกต่างของคนในกลุ่มตรงข้ามลดลง (เห็นเขาเป็น'กลุ่ม' แล้วทุกคนในนั้นเหมือนกันหมดแต่ละคนไม่มีความปัจเจก) อย่างใน Hotel Rawanda ที่พวกฮูตูเรียกชนเผ่าทุตซี่ว่า"พวกแมลงสาบ" และทหารนาซีที่เลือกฆ่าชาวยิวเพราะถือว่าพวกเขาทั้งหมดเป็น กลุ่มชนชาติยิว ไม่ใช่ มนุษย์หรือเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง การแบ่งแยกจึงเป็นสัญชาตญาณอันน่ากลัวของมนุษย์ที่ทำให้ห้ำหั่นกันเองจนย่อยยับไปทั้งสองฝ่าย
หนังสะท้อนเรื่องราวการแบ่งแยกของคนทำร้ายกันเพียงเพราะความแตกต่างเป็นเหมือนเสียงที่เคยย้ำเตือนให้เรารู้เสมอว่า ทุกคนมีด้านมืดในตัวเองและมีแนวโน้มทำตามกลุ่มของตัวเองแม้จะผิดต่อความถูกต้องและอาจลุกลามเกิดเป็นความโหดร้ายที่คาดไม่ถึง หรือบางครั้งมันก็เกิดขึ้นใกล้ตัวกว่าที่เราคิดยังมีเด็กมหาวิทยาลัยที่จับกลุ่มนินทาแล้วตัดสินใจที่จะเกลียดเพื่อนกลุ่มหนึ่ง, มีกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ชิงชังฝ่ายตรงข้ามอย่างสุดขั้วหัวใจมีแม้กระทั่ง คนที่เอามีดฟันกันเพียงเพราะอีกฝ่ายมีศาสนาที่ไม่เหมือนตน
ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Schindler'slist) เป็นสมาชิกพรรคนาซีในช่วงสงครามเขาสามารถมีชีวิตอย่างสุขสบายไปวันๆ หากวันหนึ่งเขาและภรรยาเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเด็กน้อยชาวยิวชุดแดง (เป็นสีเดียวในหนังขาวดำเรื่องนี้แสดงถึงความสะเทือนใจผ่านสายตาของออสการ์) เดินอย่างเดียวดายท่ามกลาง การกราดยิงข้าวของที่โดนทำลาย หนังขับความเป็นปัจเจกของเหยื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มาอยู่ในรูปเด็กน้อยไร้เดียวสาว่าสมควรแล้วหรือที่เด็กคนนี้จะมีชะตากรรมเช่นนี้ นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวละครตัดสินใจเสี่ยงชีวิตช่วยชาวยิว
พอล รูเซซา เบกินา (Hotel Rawanda)เป็นชาวฮูตูที่มีภรรยาเป็นชาวทุตซี่ เขาเป็นเจ้าของโรงแรมหรู ในแรกเริ่ม พอลเป็นแค่คนธรรมดาที่พยายามปกป้องครอบครัวจากการถูกสังหารต่อมาเขาเริ่มปกป้องเพื่อนบ้าน เด็กกำพร้า และชาวบ้านทั่วไปแม้ว่าตัวเขาเองจะเสี่ยงชีวิตด้วยก็ตาม
ตัวละครทั้งสองใช้ไหวพริบของการเจรจาธุรกิจปกป้องคนที่เดือดร้อน (ติดสินบนทหาร จ้างคนมาทำงานเพื่อไม่ให้โดนส่งไปที่ค่ายกักกัน) สังเกตว่าในฉากแรกของหนังเราจะเห็นตัวละครเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ต่อมามีพัฒนาการ เมื่ออยู่ท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์ทีบีบคั้นให้ตัดสินใจ ทั้งคู่มีทางเลือกที่จะเอาตัวรอด แต่พวกเขาเลือกที่จะหันหลังให้กับการเมินเฉยแล้วทุ่มเทกำลังกายและใจเพื่อรักษาชีวิตที่เขาประเมินแล้วว่ามีค่ากว่าทรัพย์ใดๆ
นั้นทำให้เราเข้าใจว่า แม้สถานการณ์จะบีบให้เราเห็นแก่ตัวบีบให้เกลียดชัง แต่หากเชื่อมั่นและกล้าพอที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างเต็มความสามารถเราสามารถเป็นความหวัง เหมือนเป็นแสงเทียนริบหรี่ท่ามกลางความมืดมิด ที่ให้ความอบอุ่น และจุดเทียนเล่มอื่นให้สว่างเพื่อผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายไปได้
พอล และ ออสการ์ เป็นคนที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์พวกเขาได้ช่วยชีวิตคนหลายร้อยคนให้ได้เห็นวันใหม่ ทำให้เราตระหนักว่า วีรบุรุษไม่จำเป็นต้องพิเศษ วีรบุรุษตัวจริงสามารถเป็นแค่คนธรรมดาที่เสี่ยงชีวิตเพื่อผู้อื่น ...ก็เป็นได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in