เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHAT WILL MATTER หุ่นยนต์ | สมอง | คนSALMONBOOKS
คำนำ



  • คำนำสำนักพิมพ์


    เราอ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ด้วยอาการประหวั่นพรั่นพรึง ลูบเนื้อลูบตัวดูแล้วพบว่าตัวเองขนลุก

    เปล่า—ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ไม่ได้หันมาเล่าเรื่องผีสางนางไม้ WHAT WILL MATTER หุ่นยนต์ l สมอง l คน เป็นหนังสือในชุดรวมบทความคัดสรรเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยีเช่นเดียวกับ MOSTLY CLOUDY มีเมฆเป็นส่วนมาก และ WAKE ME UP WHEN NOW ENDS ลืมตาในอนาคต เพียงแต่เนื้อหาบางบทบางตอนทำให้เรานึกถึงสิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อเรียกว่า หุ่นยนต์

    ทำไมการนึกถึงหุ่นยนต์จึงทำให้เรามีอาการเช่นนั้น?

    เราคิดหาคำตอบแล้วพบว่าต้องย้อนไปแสนไกล ย้อนกลับไปในช่วงที่หุ่นยนต์ยังเป็นแค่เพียงจินตนาการ มีตัวตนอยู่แค่ในเรื่องเล่า เมื่อมีคนคิดผลิต มันก็เป็นได้แค่หุ่นยนต์ที่ดูไม่ค่อยตรงกับสเปกในฝัน เป็นหุ่นยนต์ที่ทำอะไรได้แค่เล็กน้อย ไม่ใกล้เคียงกับหุ่นยนต์ที่จะมาช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นได้เลย

    จนเมื่อเรากะพริบตา หุ่นยนต์แบบในย่อหน้าที่แล้วก็หายไป

    จากที่แค่หยิบจับอะไรได้เล็กน้อย พูดได้แค่เพียงนิดหน่อย พวกมันคุยได้เป็นเรื่องเป็นราว หุ่นยนต์เริ่มคืบคลานมาแบ่งเบาหน้าที่การงานของมนุษย์ เป็นเหตุให้คนจำนวนหนึ่งต้องตกงาน กะพริบตาอีกที ระบบประมวลผลของหุ่นยนต์ก็พุ่งทะยานไปไกลกว่าสเปกในฝัน พวกมันมีภาษาของตัวเอง ลงมือทำในสิ่งที่ผู้ผลิตไม่ได้ตั้งค่าเอาไว้

    ราวกับว่าหุ่นยนต์มีชีวิตจิตใจและมีปัญญาของตัวเอง

    แล้วเราต้องรับมือยังไง—นั่นคือสิ่งที่เราสงสัยและอาจเป็นเหตุให้ขนลุก

    บทความ 39 เรื่องใน WHAT WILL MATTER หุ่นยนต์ l สมอง l คน อาจไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้กับเรา แต่การตั้งข้อสังเกตในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และการบันทึกความเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยีของทีปกรก็ทำให้เราเหมือนได้รับคู่มือมาหนึ่งเล่ม

    คู่มือที่บอกว่ามนุษย์อาจรู้ไม่เท่าทันหุ่นยนต์อีกต่อไปแล้ว แต่มนุษย์ก็ยังสามารถที่จะก้าวต่อไปในวันที่ปัญญาประดิษฐ์เป็นใหญ่ได้ โดยขนแขนไม่ต้องลุกชัน

    ด้วยวิธีอย่างไรนั้น เราขอให้คุณพบด้วยตัวเอง


    สำนักพิมพ์แซลมอน




  • คำนำผู้เขียน


    ความสามารถในการพยากรณ์อนาคตเป็นสิ่งที่มนุษย์ใฝ่หามาตั้งแต่อดีต หากคุณบอกได้ว่าอะไรกำลังจะมา อะไรกำลังจะสำคัญ สถานการณ์ที่คุณ หรือครอบครัว หรือประเทศ หรือโลกกำลังจะเผชิญในอีกสิบปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน—คุณก็สามารถเตรียมพร้อมรับมือ ฝึกฝน พัฒนา ป้องกัน หรือเก็งกำไรได้ หากคุณครองอนาคต คุณก็ครองโลก

    แต่ด้วยความที่อนาคตเป็นสิ่งเลื่อนไหลจับต้องยาก มันปรับเปลี่ยนไปตามตัวแปรเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เราก็อาจเคยได้ยินว่าเพียงผีเสื้อสะบัดปีก อีกครึ่งโลกก็เกิดพายุหมุน หรือกระทั่งอาจปรับเปลี่ยนด้วยความคิดที่ว่าเรารู้อนาคตนี้เอง ที่ทำให้เราไม่เคยจับมันให้มั่นคั้นมันให้ตายได้สักที

    ลองจินตนาการถึงโลกที่คุณรู้ว่าอีกหกเดือนราคาทองคำจะขึ้น คุณตุนซื้อทองไว้มากมาย ขณะเดียวกัน การที่คุณตุนซื้อทอง (แม้จะทีละเล็กละน้อย) ก็ส่งสัญญาณให้บริษัทบริหารหลักทรัพย์ซื้อทองไว้เช่นกัน ทำให้ราคาทองคำขึ้นในปัจจุบันแทนที่จะเป็นอนาคต อนาคตที่ ‘ราคาทองคำจะขึ้น’ ก็จะไม่เกิดขึ้นจริงอีกต่อไป ด้วยผลลัพธ์ที่เป็นห่วงโซ่ในลักษณะนี้ การรู้อนาคตจึงอาจไม่ได้สำคัญที่เพียง ‘รู้’ เท่านั้น แต่ยังสำคัญที่ต้อง ‘รู้มากกว่าคนอื่น’ ด้วย

    ในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้าและอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง จะทำให้ภาพของอนาคตผันผวนและพร่าเลือนมากขึ้น นักวิจัยไม่เคยเห็นชัดตรงกันว่า ‘จุดสุดขอบเทคโนโลยี’ (หรือบางคนก็เรียกว่า ‘จุดหลอมรวม’ หรือ Singularity) นั้นจะมาถึงเมื่อไร บางคนบอกว่าอีก 25 ปีบ้าง บางคนบอกว่าอีก 40 ปี หรือ 75 ปีบ้าง ในขณะที่บางคนบอกว่ามันจะไม่มาถึงในแบบที่เราคาดๆ กัน แต่มันจะมาถึงในแบบอื่น

    สิ่งที่แน่นอนก็คือ เมื่อมันเกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นในแบบที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว—ยุคของการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป มีวงจรการเจริญเติบโตช้าๆ นั้นไม่มีอีกแล้ว ลองเปรียบเทียบสิ่งประดิษฐ์ที่พลิกโฉมหน้ามนุษย์ไปอย่างโทรศัพท์ ที่ใช้เวลา 75 ปี ถึงจะมีจำนวนผู้ใช้ 50 ล้านคน กับเกม Angry Birds (2012) ที่ใช้เวลาเพียง 35 วัน ไต่ไปถึงหลักไมล์เดียวกัน เราจะเห็นได้ว่าในทุกวันนี้ การเติบโตนั้นจะเป็นแบบทีละเล็กทีละน้อย—ทีละเล็กทีละน้อย —แล้วระเบิดขึ้นในตูมเดียว! เมื่อคุณมีมวลชนที่มีน้ำหนักถึงระดับหนึ่ง การแพร่กระจายของสิ่งประดิษฐ์ของคุณก็จะทำงานเหมือนเชื้อไวรัสที่ไม่ได้เติบโตจากหนึ่งเป็นสองและเป็นสาม แต่เติบโตจากหนึ่งเป็นสองและเป็นสี่

    หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เป็นหนังสือพยากรณ์อนาคตที่ยังไม่เกิด มันเพียงทำหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์—คล้ายกับสแน็ปชอต— ของการเคลื่อนไหวที่จุดขอบเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราอาจเห็นบางสิ่งที่บทความกล่าวถึงกันทั่วไปแล้ว (นับจากเวลาที่บทความนั้นตีพิมพ์ก็อาจล่วงมาจนสิ่งนั้นไม่แปลกประหลาดอีกแล้ว) ในขณะที่บางสิ่งก็ยังคงอยู่ในห้วงความฝัน ทุกสแน็ปชอตอาจพูดถึงจุดประปรายตรงนั้นและตรงนี้ ซึ่งดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อผสานรวมกัน เราก็อาจเห็นโครงร่างคร่าวๆ หรือเห็นเงาเลือนรางของสิ่งที่เราเรียกว่าอนาคต

    นี่เป็นหนังสือรวบรวมบทความเทคโนโลยีลำดับที่สี่ในชีวิตนักเขียนของผม (วันพรุ่งนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว, MOSTLY CLOUDY มีเมฆเป็นส่วนมาก, WAKE ME UP WHEN NOW ENDS ลืมตาในอนาคต) ผมรู้สึกตื่นเต้นเสมอที่ได้เห็นว่าสิ่งที่ตนเคยคิดถึง เคยพูดถึง เคยเขียนถึงในอดีตนั้นกลายมาเป็นความจริงในปัจจุบันมากแค่ไหน ผมยังรู้สึกหวามใจทุกครั้งที่สิ่งประดิษฐ์จาก โดราเอมอน อวตารเป็นบางรูปร่างที่เราไม่คาดคิด

    งานเขียนด้านเทคโนโลยีเป็นงานเขียนที่คล้ายกับการจดบันทึกในแม่น้ำที่เชี่ยวกราก คุณพยายามจับน้ำบางส่วนให้อยู่นิ่งแต่คุณก็ทำได้ไม่ดีนัก เพราะธารน้ำไหลไปข้างหน้าอย่างรุนแรงเสมอ คุณจึงได้บันทึกแต่ภาพร่างของการเคลื่อนไหว และหวังว่าสิ่งที่เขียนนั้นจะไม่กลายเป็นน้ำเน่าเก่าเก็บในเวลาที่กำลังจะมาถึงเท่านั้น

    หวังว่าน้ำบ่อนี้จะไม่เก่าเกินไป

    ขอให้สนุกกับปัจจุบันและอนาคต


    ทีปกร วุฒิพิทยามงคล




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in